โพลเดอร์ polder เกิดจากกระบวนการใด

เฉลยแบบทดสอบ สาระภูมิศาสตร์ ชุดที่ 2

1) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 5238 IV **

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฏิบัติการ (แผนที่)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ซึ่งเชื่อว่านักเรียนทุกคนที่เห็นโจทย์ครั้งแรก (รวมถึงครูแป๊ป 55) ก็จะอึ้งเล็กๆ กับโจทย์นี้ และงงว่าในเนื้อหาที่เราเรียนๆ กันมา มีเรียนเรื่องนี้ด้วยหรือ แต่ครูแป๊ปอยากบอกว่า..ไม่ต้องแปลกใจไป นี่แหละโจทย์แบบไทยๆ อย่างไรก็ตามหากเราค่อยๆ พิจารณาจากระวางตำแหน่งที่โจทย์ให้มา อาจจะพอเดาคำตอบได้บางส่วน แต่หากนักเรียนคนไหนโชคดีมีพื้นฐานความรู้เรื่องนี้อยู่ ก็ฟันคะแนนได้ไม่ยากเลย…

เข้าถึงเนื้อหา : สำหรับคำอธิบายการอ่านระวางติดต่อแผนที่นี้ ครูแป๊ปได้มาจาก กระทู้ใน Pantip ของคุณ เด็กโขทัย ซึ่งได้อธิบายตามภาพ ดังนี้

โพลเดอร์ polder เกิดจากกระบวนการใด

  1. ในการอ่านสารบัญระวางติดต่อแผนที่นั้น เราจะอ่านแบบวนตามเข็มนาฬิกา โดยใช้เลขโรมัน คือ I II III IV 
  2. 4 ตารางย่อย นับเป็น 1 ตารางใหญ่ 
  3. 5238 จะมี 4 ช่องเล็กๆ คือ 5238 I 5238 II 5238 III และ 5238 IV เวลาอ่านจะอ่านหมุนตามเข็มนาฬิกา
  4. แนวแกน Y ตัวเลขที่เปลี่ยน คือ 2 ตัวหลัง ถ้าขึ้นบนเลขจะเพิ่ม ถ้าลงล่างเลขจะลด
  5. แนวแกน X ตัวเลขที่เปลี่ยน คือ 2 ตัวหน้า ถ้าไปทางขวา เลขจะเพิ่ม ถ้าไปทางซ้าย เลขจะลด

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาคำอธิบายการอ่านสารบัญระวางติดต่อแผนที่ที่ครูแป๊ปยกมาอธิบาย นักเรียนคงจะเห็นชัดเจนแล้วว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ตรงกับ ตัวเลือกที่ 2 5238 IV ดังภาพประกอบการเฉลยนี้

โพลเดอร์ polder เกิดจากกระบวนการใด

2) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ภาพถ่ายทางอากาศ *

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฎิบัติการ (เครื่องมือทางภูมิศาสตร์)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้นำเรื่องอากาศยานไร้คนขับมาเชื่อมโยงกับเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ คำว่าอากาศยานไร้คนขับ นับเป็นคำที่นักเรียนน่าจะคุ้นหูกันอยู่ในปัจจุบัน เรียกกันว่าโดรน เนื่องจากมีการนำมาใช้ทั้งในเชิงสำรวจรวมถึงการถ่ายภาพจากมุมสูงกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการหาคำตอบจากโจทย์นี้จึงทำได้อย่างง่ายดายมาก

เข้าถึงเนื้อหา : อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) หรือมักเรียกกันว่า โดรน (Drone) หมายถึง อากาศยานที่ไม่มีคนขับ โดยจะถูกควบคุมจากบุคคลในภาคพื้นดินหรืออาจจะบินได้ด้วยตัวเองโดยอาศัยโปรแกรมซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อนกว่า ทั้งนี้ UAV จะมีรูปร่าง ขนาด รูปแบบ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ในด้านการใช้งาน เริ่มแรก UAV จะใช้ในการทหาร เช่น สอดแนมพื้นที่แวดล้อมของข้าศึก หรือติดอาวุธเข้าไปโจมตีศัตรูจากระยะไกล ต่อมา UAV ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มนำมาใช้งานด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอจากมุมสูง การเกษตร-ฉีดปุ๋ย พ่นสารเคมี การขนส่งสินค้า เก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ช่วยชีวิตผู้ประสบภัยในพื้นที่เข้าถึงได้ยาก

สรุปคำตอบ : จากความหมายและหลักการทำงานคร่าวๆ ของ UAV ตามที่ได้กล่าวไป จะเห็นได้ชัดเจนว่า มันสามารถนำมาใช้แทน ภาพถ่ายทางอากาศ (ตัวเลือกที่ 1) ได้ ด้วยหลักการทำงานของมันที่สามารถถ่ายภาพบนที่สูงได้ ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าผลผลิตที่ได้ออกมามันก็คือ ภาพถ่ายทางอากาศ นั่นเอง และกรณีการเกิดสึนามิ ตามที่โจทย์ให้มาเราก็สามารถใช้ UAV เข้าไปสำรวจพื้นที่เสียหายในลักษณะการเก็บภาพมุมสูงได้เหมือนภาพถ่ายทางอากาศทุกประการ

3) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 ดินดอนสามเหลี่ยม พบบริเวณที่แม่น้ำไหลออกทะเล เหมาะสำหรับเลี้ยงกุ้งกุลาดำ **

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ครูแป๊ปเพิ่มตัวเลือกเข้าไป 1 ตัวเลือก จากข้อสอบระบบ Entrance เก่า ในเดือน มี.ค. 46 ถามเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากแม่น้ำ และกิจกรรมที่เหมาะสม เป็นข้อสอบที่บูรณาการภูมิศาสตร์กายภาพ กับภูมิศาสตร์วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ก่อนหาคำตอบจากโจทย์นี้ นักเรียนจะต้องแน่ใจก่อนว่านักเรียนเข้าใจลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏในตัวเลือกทุกตัวแล้ว เพราะหากนักเรียนไม่เข้าใจลักษณะแล้ว นักเรียนก็อาจเชื่อมโยงสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจผิดได้เช่นกัน

วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิประเทศกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ถูกต้อง ได้แก่

ตัวเลือกที่ 1 มีทะเลสาบรูปแอก แม่น้ำโค้งตวัด เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน >> ทะเลสาบรูปแอก ส่วนใหญ่เกิดบริเวณตอนปลายของทางน้ำ ซึ่งน้ำจะไหลช้าและคดเคี้ยว เกิดการกัดเซาะพื้นที่ริมตลิ่งด้านหนึ่งและไปทับถมในพื้นที่อีกฝั่งหนึ่ง นานวันเข้าแม่น้ำจึงขาดออกจากทางเดิม เกิดเป็นทะเลสาบรูปแอกขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งเหมาะต่อการตั้งถิ่นฐาน พื้นที่ซึ่งเหมาะต่อการตั้งถิ่นฐานควรเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ (ที่ราบน้ำท่วมถึง) มากกว่า

ตัวเลือกที่ 2 ลานตะพักลำน้ำ มีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึง เหมาะสำหรับปลูกข้าว >> ลานตะพักลำน้ำ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำส่วนที่อยู่ห่างจากลำน้ำออกไป และมีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึง เกิดจากน้ำกัดเซาะตลิ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได ดินจะไม่มีน้ำท่วมขัง และเหมาะจะเอาไว้ปลูกพืชไร่ ไม่ใช่ปลูกข้าว

ตัวเลือกที่ 4 ที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นที่สะสมของวัสดุน้ำพาทุกขนาด เหมาะแก่การยกร่องปลูกไม้ผล >> ที่ราบน้ำท่วมถึง เกิดจากการทับถมของโคลนตะกอนต่างๆ ดินจะอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะต่อการปลูกข้าว ไม่ใช่ไม้ผล

ตัวเลือกที่ 5 โกรกธาร เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำบริเวณริมตลิ่ง เหมาะในการทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว >> คำอธิบายนี้ถูกในกรณีการใช้ประโยชน์จากโกรกธาร ในลักษณะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ผิดที่กระบวนการเกิด โกรกธารจะเกิดบริเวณแม่น้ำในช่วงวัยอ่อน (ต้นน้ำ) โดยเกิดจากกระบวนการกัดเซาะของแม่น้ำในแนวก้นน้ำเป็นแนวลึก จนพื้นที่เปิดกว้างออกเป็นเหมือนรูปตัว V ตัวอย่างของโกรกธาร เช่น ออบหลวง ที่เชียงใหม่

สรุปคำตอบ : จากการวิเคราะห์ตัวเลือก ตัวเลือกที่เหลือเป็นคำตอบของข้อนี้ คือ ตัวเลือกที่ 3 ดินดอนสามเหลี่ยม พบบริเวณที่แม่น้ำไหลออกทะเล เหมาะสำหรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหาดโคลนเลน (ตะกอนน้ำจืดกับน้ำเค็มทับถมรวมกัน น้ำจะมีรสกร่อย) ลักษณะพื้นที่สามารถเลี้ยงกุ้งกุลาดำ รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆ เช่น หอย ปู ปลา ได้ โดยการเลี้ยงควรเป็นการเลี้ยงสัตว์หลายๆ ชนิดรวมกัน ไม่ควรเลี้ยงชนิดเดียว เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศได้ เช่นหากเราเลี้ยงแต่กุ้งอย่างเดียว กุ้งจะแย่งอาหารของสัตว์ชนิดอื่นจนหมด ปริมาณกุ้งจะมีมากไป         

4) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 พฤษภาคม **

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งก็ถือว่าเป็นประเด็นที่มักถูกหยิบมาถามอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นข้อสอบ O-Net หรือวิชาสามัญ การหาคำตอบจากโจทย์นี้ พื้นฐานที่สุด คือ นักเรียนต้องทราบก่อนว่าพายุหมุนที่โจทย์ให้ตำแหน่งสถานที่เกิดมา คือ พายุอะไร พอทราบแล้ว การเชื่อมโยงหาตัวเลือกที่เป็นคำตอบก็จะง่ายมากขึ้น

เข้าถึงเนื้อหา : จากตำแหน่งที่ตั้งซึ่งโจทย์กำหนดมาให้ คือ ชายฝั่งระหว่างอ่าวเบงกอลกับเมียนมา ก็ชัดเจนว่า พายุหมุนนี้คือ พายุไซโคลน (Cyclone) ระยะเวลาการเกิดพายุไซโคลนจะอยู่ในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง พฤศจิกายน

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาข้างต้น สรุปได้ชัดเจนว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบจากโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 4 พฤษภาคม

เสริมความรู้ : นอกจากพายุไซโคลนแล้ว ยังมีพายุหมุนเขตร้อนอื่นๆ ได้แก่ พายุเฮอริเคน ซึ่งจะก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวเม็กซิโก และทะเลแคริบเบียน ระยะเวลาการเกิดจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน แต่จะก่อตัวมากสุดในช่วงปลายสิงหาคมถึงกันยายน / พายุไต้ฝุ่น จะเกิดบริเวณทะเลจีนใต้ ระยะเวลาการเกิดจะอยู่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงมกราคม

5) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ออกแบบให้อยู่ทางทิศใต้ของตัวบ้าน (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับที่ตั้งบ้านโดยให้ปัจจัยเรื่องตำแหน่งที่ตั้งมาเพียงปัจจัยเดียว จัดว่าเป็นข้อสอบที่ยากทีเดียว หากนักเรียนอ่านนัยยะที่โจทย์สื่อไม่ออกว่าเขาจะวัดอะไรเรา ต้องดูที่เนื้อหาไหน โอกาสหาคำตอบได้จะไม่มีเลย การหาคำตอบจากโจทย์ข้อนี้ นักเรียนจะต้องใช้ความเข้าใจในเรื่องพิกัดภูมิศาสตร์ร่วมกับเรื่องการเคลื่อนที่ของลม ทิศทางของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นโลก เป็นหลัก

เข้าถึงเนื้อหา : การหาคำตอบจากโจทย์นี้ นักเรียนจะต้องเข้าใจในองค์ความรู้เหล่านี้

        1) ทางโคจรและธรรมชาติของแสงแดด >> จากตำแหน่งที่โจทย์กำหนดมาให้ คือ 15 องศาเหนือ ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับตำแหน่งพื้นที่ของประเทศไทย ตำแหน่งดังกล่าวจะอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ซึ่งถือว่าเข้ามาเป็นซีกโลกเหนือแล้ว ส่งผลให้แสงแดดทำมุมเฉียงมาจากทิศทางใต้มากกว่า พื้นที่บริเวณนี้จึงได้รับอิทธิพลของแสงแดดที่ส่องมาจากทิศใต้มากกว่าแสงแดดที่ส่องมาจากทิศเหนือ ทั้งนี้หากแยกตามฤดูกาล ทางเดินของแสงแดดจะมีความต่างกันอีก คือ

           เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ดวงอาทิตย์จะโคจรอ้อมไปทางทิศเหนือ (ทิศที่ได้รับแสงอาทิตย์มาก คือ ทิศตะวันออกในช่วงเช้าและตะวันตกในช่วงบ่าย ทิศเหนือจะได้รับแสงอาทิตย์บางส่วนด้วยเช่นกัน จากการโคจรอ้อมของดวงอาทิตย์ ในขณะที่ทิศใต้ ได้รับเพียงเล็กน้อย)

           เดือนกันยายนถึงเดือนเมษายน ดวงอาทิตย์จะโคจรอ้อมไปทางทิศใต้ (ทิศที่ได้รับแสงอาทิตย์มาก คือ ทิศตะวันออกในช่วงเช้าและตะวันตกในช่วงบ่าย ทิศใต้จะได้รับแสงอาทิตย์บางส่วนด้วยเช่นกัน จากการโคจรอ้อมของดวงอาทิตย์ ในขณะที่ทิศเหนือ ได้รับเพียงเล็กน้อย)

           สรุป : แสงแดดจากทิศใต้จะมีอิทธิพลต่อพื้นที่ 15 องศาเหนือตามที่โจทย์กำหนดมาให้มากที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าทิศแดดเกิดคร่อมในช่วงฤดูร้อน แสงแดดที่ส่องทำมุมค่อนข้างต่ำและยังส่องเป็นเวลานาน

        2) ทิศทางและธรรมชาติของลม >> ด้วยเหตุที่พื้นที่ 15 องศาเหนือ ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่รับลมโดยตรง โดยจะมีลมมรสุมรวมถึงลมประจำถิ่นอยู่ 2 ทิศทางหลักๆ คือ ช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์จะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ (คือ ลมข้าวเบาและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) ช่วงฤดูร้อนราวเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคมจะพัดกลับจากทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทิศใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (คือ ลมตะเภาและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้)

           สรุป : ด้วยเหตุที่พื้นที่ 15 องศาเหนือ อยู่ในเขตร้อน ฤดูร้อนกินเวลายาวนานกว่าฤดูหนาว ทิศใต้จึงถือว่ามีอิทธิพลในเรื่องทิศทางลมมากกว่า

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่สรุปมาให้ทั้งหมดนี้ คงทำให้นักเรียนเห็นได้ชัดเจนว่า ด้วยสภาพธรรมชาติของพื้นที่ตามตำแหน่งที่ตั้งซึ่งโจทย์กำหนดมา ทิศที่เหมาะสมในการออกแบบระเบียงใต้ชายคาเพื่อให้ได้รับลมและแสงแดดมากที่สุดจึงควรเป็น ตัวเลือกที่ 4 ออกแบบให้อยู่ทางทิศใต้ของตัวบ้าน อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทิศเหนือจะออกแบบไม่ได้ แต่เราจะพิจารณาจากช่วงฤดูกาลรวมถึงช่วงเวลาที่แสงส่องเข้ามาในพื้นที่รวมประกอบด้วย แม้จะไม่ได้ตรงกับที่โจทย์ต้องการ 100% ว่ารับได้ดีตลอดปี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะออกแบบได้ขนาดนั้น เงื่อนไขจากสภาพธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนด

กรณีทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ไม่ควรออกแบบ เนื่องจากการรับแสงจะมีมากเกินไป อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากทิศทางลมจะเห็นว่าไม่ตรงทิศทางหากเทียบกับทิศใต้ (หรือเหนือ)

6) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 พื้นที่อยู่ใกล้เขตภูเขาหินใหม่ซึ่งทอดตัวผ่านทางตะวันตกของพม่า *

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (ภัยธรรมชาติ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย การหาคำตอบจากโจทย์นี้นักเรียนจะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกซึ่งมีผลต่อการเกิดแผ่นดินไหวประกอบ จากนั้นจึงค่อยโยงไปที่ตัวเลือกเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุด

วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกที่ไม่ใช่สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือและภาคตะวันตก มีดังนี้

ตัวเลือกที่ 1 พื้นที่เป็นภูเขาไฟมาก่อน >> ส่วนใหญ่ภูเขาไฟจะตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และก็เป็นภูเขาไฟสิ้นพลังแล้ว ไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้

ตัวเลือกที่ 2 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินเก่าและหินกลางเก่ากลางใหม่ >> พื้นที่ที่จะมีผลต่อการเกิดแผ่นดินไหว คือพื้นที่ซึ่งมีโครงสร้างเป็นหินใหม่ ซึ่งลักษณะของพื้นที่ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่เสมอ ไม่นิ่งเหมือนพื้นที่ซึ่งมีโครงสร้างเป็นหินเก่าหรือหินกลาง

ตัวเลือกที่ 3 เป็นเขตที่เปลือกโลกถูกแรงกดทับจากภูเขามากที่สุด >> ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว

ตัวเลือกที่ 4 อยู่ในบริเวณที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ขยับชนกันอยู่เสมอ >> พื้นที่ของประเทศไทยปรากฎรอยแยกของเปลือกโลกบางพื้นที่จริง แต่พื้นที่ของประเทศเราไม่ได้อยู่ในจุดที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ขยับชนกันอยู่เสมอ บริเวณดังกล่าวจะอยู่ตรงบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นจุดที่เปลือกโลกอินโดออสเตรเลียนชนกับเปลือกโลกยูเรเซีย

สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก ตัวเลือกที่เหลือเป็นคำตอบของโจทย์นี้ก็คือ ตัวเลือกที่ 4 พื้นที่อยู่ใกล้เขตภูเขาหินใหม่ซึ่งทอดตัวผ่านทางตะวันตกของพม่า โดยพื้นที่ทางตะวันตกของพม่าเป็นบริเวณที่ปรากฏรอยแยกของเปลือกโลกขนาดใหญ่ เมื่อแผ่นเปลือกโลกที่แยกกันอยู่เคลื่อนที่อาจก่อให้เกิดการชน การมุด ของแผ่นเปลือกโลกแล้วเกิดเป็นแผ่นดินไหวตามมาได้ เมื่อนักเรียนเปิดแผนที่ดูนักเรียนจะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของภูเขาขนาดใหญ่มากมาย เป็นจุดรวมเขาที่เรียกกันว่า ปาร์มีนอต (Pamir Knot) ทิวเขาหรือเทือกเขาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเทือกเขาที่มีโครงสร้างแบบหินใหม่ ตัวเปลือกโลกจะมีการเคลื่อนตัวอยู่เสมอ และทุกครั้งที่เกิดการเคลื่อนจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนมายังภาคเหนือ ภาคตะวันตก รวมถึงภาคใต้ของไทยได้  

เสริมความรู้แผ่นดินไหวในประเทศไทย นอกจากจะเกิดจากสาเหตุข้างต้นที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้แล้ว แผ่นดินไหวของไทยยังอาจเกิดขึ้นได้จากรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลังในประเทศไทย 15 แห่งซึ่งส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ด้วย แม้จะมีโอกาสในการเกิดได้น้อยก็ตาม รอยเลื่อนทั้ง 15 นี้ ที่เด่นๆ เช่น รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนคลองมะลุ่ย

7) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เพื่อสนองการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายของมนุษย์ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่อันเกิดจากการกระทำของมนุษย์)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์วิเคราะห์ให้นักเรียนมองหาเหตุผลที่แท้จริงของการที่มนุษย์เข้าไปเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของโลก บางตัวเลือกจะง่ายในการตัดออกเพราะดูไม่สมเหตุสมผล แต่บางตัวจะมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน พยายามพิจารณาคำตอบจากตัวเลือกที่ให้เหตุผลได้ชัดเจนครอบคลุมที่สุดเป็นหลัก

วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุและเป้าหมายที่มนุษย์การเข้าไปเปลี่ยนแปลงลักษณะกายภาพของพื้นผิวโลก

ตัวเลือกที่ 1 เพื่อจะรักษาสมดุลของเปลือกโลก >> เปลือกโลกมีการปรับสมดุลในตัวของมันเอง การเข้าไปปรับของมนุษย์ คือ การเข้าไปทำลายสมดุล

ตัวเลือกที่ 2 เพื่อคงไว้ซึ่งระบบนิเวศทางธรรมชาติ >> เหตุผลเป็นไปในลักษณะเดียวกับตัวเลือกที่ 1 ยิ่งมนุษย์เข้าไปปรับเท่าไร เท่ากับว่าระบบนิเวศยิ่งถูกทำลายลงเท่านั้น

ตัวเลือกที่ 5 เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพกายภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุทางธรรมชาติ >> ต่อให้มนุษย์จะปรับเพียงใดก็ไม่มีทางปรับได้หมด กรณีที่ชัดเจน คือ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ก็ยังคงต้องตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นที่ดังกล่าว อาจหาหนทางในการปรับสภาพพื้นที่แก้ไขได้บ้างในเชิงวิศวกรรมแต่การจะเข้าไปเปลี่ยนกายภาพเพื่อเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีทางทำได้ทั้งหมด

ตัวเลือกที่ 3 เพื่อเลี่ยงภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ >> เหตุผลคล้ายตัวเลือกที่ 5 ปัจจุบันมนุษย์มีการพัฒนาเทคนิคในหลายๆ ด้าน เพื่อหาทางเลี่ยงภัย แต่การเข้าไปเปลี่ยนแปลงลักษณะกายภาพเลยยังมีไม่มากนัก อีกอย่างการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเหตุผลในการเลี่ยงภัยอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่มนุษย์จะได้ด้วย

สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นสาเหตุและเป้าหมายซึ่งชัดเจนที่สุดในการที่มนุษย์เข้าไปเปลี่ยนแปลงลักษณะกายภาพ คือ ตัวเลือกที่ 4 เพื่อสนองการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายของมนุษย์โดยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การสร้างระบบโพลเดอร์ (Polder) ของเนเธอร์แลนด์ ก็เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยของคนในพื้นที่ การสร้างท่าอากาศยานนานาชาติคันไซของญี่ปุ่นผ่านการถมทะเล ก็เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของชาวญี่ปุ่น การถางพื้นที่ป่าในหลากหลายพื้นที่ก็เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของคนในบริเวณนั้น

8) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 การสร้างคลองสุเอซและคลองปานามาเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทร (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่อันเกิดจากการกระทำของมนุษย์)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 ในประเด็นเกี่ยวกับลักษณะพื้นที่ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ตัวคำถามเชื่อมโยงได้ทั้งเนื้อหาส่วนภูมิศาสตร์กายภาพและเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเป็นลักษณะแนววิเคราะห์ แต่ละตัวเลือกที่โจทย์ให้มาเป็นตัวลวงถือว่าไม่ได้ยากมากนัก หากนักเรียนผ่านการทำข้อสอบเก่าๆ มาบ้าง พวกนี้ต้องผ่านหมดแล้วแน่นอน ค่อยๆ พิจารณาทีละตัวเลือกแล้วจะเห็นคำตอบจากโจทย์

เข้าถึงเนื้อหา : เนื่องจากโจทย์มีการกล่าวถึง คำว่า ภูมิสังคม ดังนั้น เราจะมาทำความเข้าใจคำๆ นี้กันคร่าวๆ ก่อนไปวิเคราะห์ตัวเลือกกัน ภูมิสังคม หมายถึง สภาพทางกายภาพ ลักษณะของพื้นที่ วิถีชีวิต ค่านิยม ความหลากหลายของวัฒนธรรม ประเพณี ที่อยู่รอบๆ ท้องถิ่นที่อยู่อาศัยนั้นๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง ตามลักษณะกายภาพของพื้นที่  

วิเคราะห์ตัวเลือก : การเปลี่ยนแปลงทางภายภาพอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในตัวเลือกเหล่านี้ ยังเกิดผลต่อการเกิดภูมิสังคมใหม่ไม่กว้างขวาง

ตัวเลือกที่ 1 การสร้างรีสอร์ทเกาะรูปต้นปาล์มในเอเชียตะวันออก >> จริงๆ แล้วตัวเลือกนี้บอกถึงพื้นที่ที่เกิดผิด รีสอร์ทเกาะรูปต้นปาล์ม อยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์หรือในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ใช่เอเชียตะวันออก โดยเกาะรูปต้นปาล์มนี้เกิดขึ้นจากการถมทะเล จุดประสงค์หลักคือเพื่อทำรีสอร์ท ในประเด็นนี้ก็ชัดเจนว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลหลักต่อรัฐที่ทำเรื่องนี้ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และบรรดามหาเศรษฐีที่มาซื้อหรือใช้พื้นที่เป็นหลัก ดังนั้นผลในเชิงเป็นภูมิสังคมใหม่จึงยังไม่กว้างนัก มองเฉพาะกลุ่ม

ตัวเลือกที่ 2 การสร้างโพลเดอร์ทำการเกษตรและตั้งถิ่นฐานในทวีปยุโรป >> Polder คือ ระบบผันน้ำ ออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีพื้นที่ถึงร้อยละ 26 ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยตัวระบบจะประกอบด้วยการทำพนัง (dike) ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม และขุดคลองเล็กนอกพนัง จากนั้นจึงวางระบบ Polder โดยติดตั้งระบบปั๊มน้ำและกังหันลม ผันน้ำท่วมออกสู่คลองนอกพนังจนมีพื้นที่แห้ง เมื่อพื้นที่แห้งแล้วก็จะสามารถนำพื้นที่นั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร จากลักษณะการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดังกล่าว จะชัดเจนว่ามีผลเฉพาะพื้นที่และกลุ่มคนเป็นหลัก คือ ในเนเธอร์แลนด์ (หรือประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบผันน้ำนี้) และมุ่งที่เกษตรกรรวมถึงคนในชุมชน

ตัวเลือกที่ 3 การสร้างเขื่อนสามผาที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเอเชียตะวันออก และตัวเลือกที่ 4 การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่น้ำของแต่ละประเทศทั่วโลก >> 2 ตัวเลือกนี้ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในลักษณะเดียวกัน คือ การสร้างเขื่อน ซึ่งจุดมุ่งเน้นคือมองเฉพาะกลุ่มคนในรัฐหรือประเทศนั้นๆ เป็นหลัก แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ การผลิตกระแสไฟฟ้า ในด้านการเกิดภูมิสังคมใหม่ ที่ชัดเจน คือ การเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือชุมชนใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่สร้างเขื่อนเป็นหลัก นั่นเอง

สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจะเห็นได้ว่า การกระทำของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดภูมิสังคมใหม่ลักษณะต่างๆ กว้างขวางที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 5 การสร้างคลองสุเอซและคลองปานามาเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทร โดยคลองทั้งสองเกิดจากการสร้างขึ้นของมนุษย์ หรือที่เรียกกันว่า ภูมิศาสตร์ประดิษฐ์ ภายหลังการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพดังกล่าว ได้ก่อเกิดภูมิสังคมใหม่ๆ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ไม่เฉพาะเพียงคนของคนประเทศที่สร้าง คือ อียิปต์ในกรณีคลองสุเอซ และปานามาในกรณีคลองปานามา แต่ยังส่งผลต่อชาวต่างชาติอีกมาก ภูมิสังคมที่เกิดใหม่ เช่น ท่าเรือ ชุมชนการค้าทางทะเล บริษัทเดินเรือ 

9) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 อนุสัญญารอตเตอร์ดัม (Rotterdam Convention) (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้นำประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเชื่อมโยงกับเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื้อหานี้มักถูกหยิบยกมาออกข้อสอบอยู่เสมอ ไม่ยากเกินไป ข้อตกลงเหล่านี้ล้วนอยู่ในเนื้อหาที่เราเรียนหรือทบทวนกันมาแล้วทั้งนั้นค่อยๆ พิจารณาที่ตัวเลือกจะพบคำตอบได้ไม่ยาก

วิเคราะห์ตัวเลือก : ข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวเลือกที่ 1 ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) >> ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นมาแทนที่พิธีสารเกียวโตที่หมดอายุไป เนื้อหาหลักเกี่ยวกับควบคุมการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในแก๊สเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดโลกร้อน ดังนั้นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง

ตัวเลือกที่ 2 พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Convention) >> ข้อตกลงเกี่ยวกับการลดและเลิกการใช้สารเคมีที่จะก่อให้เกิดการทำลายชั้นโอโซน ซึ่งได้แก่ CFCs / HFC HFCs / Harlon เมื่อพูดถึงเรื่องชั้นโอโซนยังไงก็ต้องเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแน่นอน

ตัวเลือกที่ 3 แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) >> เป็นแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่างๆ โดยการพัฒนานี้ก็เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง เพราะการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ก็จะนำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในที่สุด

ตัวเลือกที่ 4 อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (The Biological Diversity Convention) >> ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันปัญหาการสูญเสียระบบนิเวศของโลกในป่าเขตร้อน เน้นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จากเนื้อหาที่พูดถึงเรื่องระบบนิเวศ จึงชัดเจนว่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 อนุสัญญารอตเตอร์ดัม (Rotterdam Convention) โดยวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อควบคุมการนำเข้าส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเหมาะสม เน้นที่สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืขและสัตว์ จากลักษณะดังกล่าวเมื่อเทียบกับข้อกำหนดในตัวเลือก จะเห็นได้ว่าเนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

10) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 รวมกลุ่มกันสร้าง “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” โดยซื้อขายกันภายในตลาดท้องถิ่น (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม 

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามในเนื้อหายอดฮิตของ part สิ่งแวดล้อม คือ เรื่องภาวะโลกร้อน มารอบนี้โยงเข้ากับเรื่องการอนุรักษ์ โดยเป็นลักษณะแนววิเคราะห์ บางตัวเลือกจะง่ายมากในการดึงออกเมื่อเห็นครั้งแรก แต่ก็จะมีบางตัวเลือกที่ใกล้เคียงกันมากๆ ตรงนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ดีๆ หรือรู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ผ่านแนวการอนุรักษ์นั้นๆ มิฉะนั้นก็อาจทำให้เลือกตัวเลือกผิดไปได้เช่นกัน

วิเคราะห์ตัวเลือก : อย่างที่ครูแป๊ปได้กล่าวไปในส่วนวิเคราะห์ข้อสอบ บางตัวเลือกจะง่ายมากในการดึงออก ดังนั้นเราจะตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อหยุดโลกร้อนที่ดีออกไปก่อน

ตัวเลือกที่ 1 ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารจากผู้ผลิตที่ได้รับฉลากลดโลกร้อน >> เพียงแค่ฉลากยังไม่สามารถระบุถึงการแก้ปัญหาเรื่องลดโลกร้อนได้ชัดเจน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับฉลากแบบนี้ก็มีตั้งมาก แต่ถามว่าเราจะมั่นใจในฉลากเหล่านี้ได้อย่างไร อีกเรื่องเรื่องลดโลกร้อน ไม่ได้มองแค่การผลิตอาหาร ยังมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอื่นๆ อีกมากที่กระบวนการผลิตหรือบริโภคมีผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

ตัวเลือกที่ 2 รณรงค์ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำมาจากพลาสติก >> ในความเป็นจริงแนวทางนี้ทำได้จริงแค่บางผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น ไม่ใช้ถุงพลาสติกหันไปใช้ถุงผ้าแทน แต่ยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์มากที่ยังคงต้องใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบหลัก ดังนั้นจึงถือเป็นแนวทางที่ดีไม่ได้

ตัวเลือกที่ 5 ริเริ่มใช้พลังงานทางเลือก เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าเฉพาะจุด เป็นต้น >> แนวทางนี้มีการนำมาใช้มากในปัจจุบัน แต่หากถามว่าทดแทนพลังงานจากแร่เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้หมดไหม คำตอบคือไม่มีทาง อีกทั้งพลังงานทางเลือกหลายประเภทก็มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ต้นทุนของการใช้ คุณภาพของพลังงานที่จะนำมาใช้

สรุปคำตอบ : ตอนนี้เราจะเหลือ 2 ตัวเลือก ซึ่งมีโอกาสเป็นคำตอบของโจทย์นี้ ซึ่งครูแป๊ปเลือกตอบ ตัวเลือกที่ 3 รวมกลุ่มกันสร้าง “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” โดยซื้อขายกันภายในตลาดท้องถิ่น ด้วยเหตุที่ว่าความหมายของ ผลิตภัณฑ์สีเขียว คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นที่การอนุรักษ์ทรัพยากร และลดการปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิต กระบวนการใช้ ภายใต้หลัก 4R คือ Reduce ลดของเสีย Reuse ใช้ซ้ำ Recycle นำมาปรับใช้ใหม่ Repair ซ่อมบำรุง พิจารณาจากความหมายนี้จึงชัดเจนและถือว่าครอบคลุมกว่า ตัวเลือกที่ 4 นำหลักการ การลดทอน การใช้ซ้ำ การแปรใช้ใหม่ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร ใช้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มใด และกลุ่มบุคคลใดใช้