เหตุใดธรรมจักรและกวางหมอบจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา

เหตุใดธรรมจักรและกวางหมอบจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา

หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์และต้นไม้ต่างๆ ในปริมณฑล 4 สัปดาห์ พอขึ้นสัปดาห์ที่ 5 ทรงพิจารณาว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งคัมภีรภาพมาก ยากที่บุคคลผู้ติดอยู่ในอาลัย (กิเลส คือ โลภ โกรธ หลง) จะเข้าใจได้ เบื้องแรกไม่ทรงคิดที่จะเสด็จออกไปสอนใคร เกรงว่าจะเหนื่อยเปล่า แต่เพราะพระมหากรุณาสงสารสัตว์โลก ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ ซึ่งบุคคลแรกที่ทรงมีพระประสงค์จะไปแสดงธรรมโปรดคือ พระอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตรแต่เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพไปก่อนหน้านั้น 7 วันจึงตัดสินพระทัยจะไปโปรดปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า  ซึ่งเคยอุปัฏฐากรับใช้พระองค์ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่เมื่อเห็นพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาจึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพารานสี (ปัจจุบันคือเมืองสารนาถ รัฐอุตรประเทศ)

เมื่อพระพุทธเจ้าอธิบายให้ปัญจวัคคีย์ทราบว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วและปัญจวัคคีย์ยินยอมรับฟัง พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปฐมเทศนาที่เรียกว่า ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ให้ฟัง มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง ทรงชี้ว่ามีทางสุดโต่งสองทางที่บรรพชิตไม่พึงปฏิบัติ คือ การหมกมุ่นในกามอันเป็นทางหย่อนเกินไป และการทรมานตนให้ลำบากอันเป็นทางตึงเกินไป ซึ่งการกระทำทั้งสองทางนี้ไม่สามารถทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถาวร

ขั้นที่สอง ทรงแสดงทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฎิปทา คือ อริยมรรคมีองค์แปดประการ ได้แก่เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ สติชอบและสมาธิชอบ

ขั้นที่สาม ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างพิสดารและครบวงจรว่าพระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งนี้อย่างไร

ขั้นที่สี่ เป็นผลจากการแสดงธรรมจบลง โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ เข้าใจแจ่มแจ้งว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับสลายเป็นธรรมดา พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณธัญญะรู้แล้วหนอ” โกณฑัญญะได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ประทานการบวชให้ด้วยการอุปสมบทที่เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ขั้นที่ห้า กล่าวถึงเทพทั้งหลายตั้งแต่ภุมมเทวดาได้ป่าวร้องบอกต่อกันไปจนถึงหมู่พรหมว่า พุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อ คือ ธรรมที่ไม่มีใครไม่ว่าสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ไม่สามารถหมุนกลับได้

เหตุใดธรรมจักรและกวางหมอบจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา

พระพุทธองค์ทรงมีพระดำริจะไม่เสด็จไปสอนใครชั่วขณะจิตหนึ่ง ท้าวสหัมบดีพรหมได้มาอัญเชิญให้พระพุทธองค์เสด็จไปสอน โดยกล่าวว่าสัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมจักเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ ความหมายของท้าวสหัมบดีพรหม คือ บุคคลผู้มีพื้นความรู้ความสามารถเข้าใจยังมีอยู่

พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาเปรียบเทียบกับดอกบัวสามเหล่า คือ ดอกอุบล ดอกประทุม และดอกบุณฑริก ซึ่งเจริญงอกงามในสามระดับ และทรงเห็นว่าสัตว์โลกที่มีระดับสติปัญญา ที่จะเข้าใจพระธรรมมีอยู่จริง จึงได้ทรงรับคำอาราธนาของเท้าสหัมบดีพรหม ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 ข้อที่ 9 หน้า 11ว่า มีบัว 3 ระดับเท่านั้นและต่อมา พระอรรถกถาจารได้เพิ่มเข้ามาอีกระดับเรียกว่าดอกบัว 4 เหล่า

เหตุใดธรรมจักรและกวางหมอบจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา

 รูปธรรมจักรกับกวางหมอบ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา

เหตุที่พระธรรมเทศนานี้มีชื่อว่า ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร (สูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม)

 เป็นการเปรียบเทียบกับทางโลกคือ พระมหาราชผู้ยิ่งใหญ่เมื่อต้องการเป็นใหญ่เหนือแว่นแคว้นทั้งหลาย จะทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอุปการไปยังเมืองต่างๆ เมื่อม้าผ่านไปยังเมืองใด ถ้าเจ้าเมืองนั้นยังเกรงบารมีก็จะส่งเครื่องบรรณาการมายอมสยบเป็นเมืองขึ้น แต่ถ้าไม่ยินยอมก็จะฆ่าม้านั้นเสีย และพระมหาราชพระองค์นั้น ก็จะยกทัพไปปราบผู้แข็งข้อ ล้อรถศึกของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ผ่านไปในทิศทางใด ยากที่ใครๆจะต้านทานได้ฉันใด เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม อันว่าด้วยอริยสัจ 4 ประการ ที่ไม่เคยมีใครประกาศมาก่อน เท่ากับทรงหมุนกงล้อแห่งธรรมที่ไม่มีใครคัดค้านได้ ล้อแห่งธรรมนี้หมุนไปยังทิศทางใด ก็จะขจัดทำลายอวิชชาออกจากใจผู้คน ให้ได้พบกับแสงสว่างแห่งชีวิตในที่สุดฉันนั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนานี้จึงเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร 

วิดีโอ YouTube