กาลกิณี 4 ประการ มี วิธี แก้ไข อย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์

กาลกิณี 4 ประการ มี วิธี แก้ไข อย่างไร

เรื่องของน้ำกับผู้นำ : กระจกเงา โดยอัศศิริ ธรรมโชติ [email protected]

              

ในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องน้ำท่วมโลก กล่าวว่า โนอาห์เป็นผู้ที่พระเจ้าไว้วางพระทัยให้ต่อเรือนำเรือไปกับครอบครัวพร้อมด้วยสัตว์จำเป็นตามที่พระเจ้าทรงบัญชา มนุษย์และสัตว์จึงเหลือรอดมาได้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

                ว่าพระเจ้าพิโรธที่มนุษย์ก่อแต่บาปกรรมทำชั่วจึงบันดาลให้น้ำท่วมโลก ทำลายสิ่งมีชีวิตชั่วๆ ให้หมดไปจากโลกนี้ ยกเว้นโนอาห์ที่ยังได้รับความเมตตากรุณาจากพระผู้เป็นเจ้าอยู่ โลกจึงเป็นหนี้บุญคุณของคนผู้เป็นผู้นำอย่างโนอาห์อยู่มาก

                พระเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกในครั้งนั้นติดต่อกันนานถึง 40 วัน 40 คืน น้ำจึงท่วมโลกกวาดล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้จนหมด เหลือแต่เรือของโนอาห์ ว่าโนอาห์ต้องลอยเรืออยู่นานถึง 5 เดือน น้ำจึงได้ลดลงจนขึ้นฝั่งได้

                นับว่าโลกและชีวิตทั้งหลายบนโลกนี้ยังโชคดีอยู่ที่มีผู้นำอย่างโนอาห์

                เรื่องน้ำท่วมโลกนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปแม้แต่ในตำนานโยนก เชียงแสนของไทยเราก็กล่าวว่า เทพเจ้าพญาแถนก็ทรงบันดาลให้เกิดน้ำท่วมโลก ท่วมเมืองลุ่ม เมื่อน้ำลดแล้วพญานาคราชถึงได้มาขุดควักหนองน้ำขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำโขงกับหนองแส เป็นต้น

                หนองแสเป็นปฐมเมืองที่ชื่อว่า สุวรรณโคมคำ ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก

                ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงแคว้นโยนกนาคราชเชียงแสนว่า พญาสิงหนวัติ เป็นผู้สร้างเมืองสุวรรณโคมคำขึ้นเมื่อกว่าพันปีก่อน ด้วยความช่วยเหลือจากพญานาคราชขุดควักคลองและแม่น้ำขึ้น นอกจากนี้ว่า พญานาคราชทั้งสองยังได้แต่งคูเมืองและสร้างเขื่อนแข็งแรงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองนี้ไว้ให้โดยเฉพาะอีกด้วย

                เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ หรือว่าเมืองสุวรรณโคมคำนี้ว่าได้เจริญรุ่งเรืองและมีเจ้านครสืบต่อกันโดยลำดับต่อมาอีกนาน ก่อนที่จะถึงกาลล่มลงเพราะน้ำภายในชั่วคืนเดียวเท่านั้น

                เหตุที่เมืองจะถึงกาลวิบัติว่า เป็นเพราะเจ้าเมืองปล่อยให้เมืองมีแต่พวกต่ำช้าเลวทรามและกักขฬะ จนทำให้พญานาคราชทั้งสองผู้พิทักษ์เมืองอยู่เกิดความพิโรธ พังทลายเขื่อนกั้นน้ำลงมาในคืนหนึ่ง น้ำจึงได้ทะลักไหลเข้าท่วมเมืองคนตายเกือบหมดทั้งไพร่และอำมาตย์ แม้เจ้าเมืองก็ไม่รอด ส่วนพวกที่รอดอยู่ก็ต้องพากันหนีตายอพยพไปอยู่ที่อื่น

                เมืองสุวรรณโคมคำจึงนับว่าเป็นตัวอย่างของเมืองและผู้นำที่ต้องชะตากรรมด้วยการถูกน้ำลงโทษให้ต้องสาบสูญหายไปจากประวัติศาสตร์

                แต่สำหรับเจ้าเมืองหรือว่าผู้นำที่ต้องมีอันเป็นไปเพราะถูกน้ำลงโทษอย่างสาหัสสากรรจ์นั้น ไม่น่าจะมีใครเกินพระไชยสุริยาที่ได้ปรากฏอยู่ในคำกลอนวรรณคดีของสุนทรภู่

                ว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ไว้ในหนังสือตำราเรียนเล่มหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีคำกลอนกล่าวเอาไว้ชัดว่า

 

“ผีป่ามากระทำ        มะระณะกำม์เชาบูรี
 น้ำป่าเข้าธานี            ก็ไม่มีที่อาไศย
 ข้าเฝ้าเหล่าเสนา        หนีไปหาพาราไกล
 ชีบาล่าลี้ไป            ไม่มีใครในธานี”...

                ในกาพย์พระไชยสุริยานี้เป็นเรื่องของน้ำป่าเข้าท่วมเมืองสาวัตถีของพระไชยสุริยาจนไม่มีที่อาศัย แม้แต่พระหรือชีบาก็ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น ทิ้งให้เมืองร้างไม่มีผู้คนอีกต่อไป

                เจ้าเมืองหรือผู้นำอย่างพระไชยสุริยาก็ต้องพาพระญาติวงศ์ลงเรือสำเภาเร่ร่อนไปในทะเลอย่างไร้จุดหมาย ก่อนที่จะเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดพายุจมเรือลงอีกในเวลาต่อมา พระไชยสุริยานับว่าเป็นผู้นำที่ต้องตกระกำลำบากเพราะน้ำ

                ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่พระไชยสุริยาเป็นผู้นำที่

                “ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี   กลอกกลับอัปรีย์  บูรีจึงล่มจมไป”

                เมืองสาวัตถีของพระไชยสุริยาก่อนที่จะล่มจมลงนั้น สุนทรภู่ได้บรรยายเอาไว้ว่า มีแต่

                “ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา”

                นับว่าเป็นเมืองบาปหนา น้ำฟ้าดินจึงได้ลงโทษ ด้วยเกิดเหตุเป็นกาลกิณี 4 ประการคือ

                1.เห็นผิดเป็นชอบ 2.อันธพาลครองเมือง 3.ข่มเหงรังแกฆ่าฟันกันเอง 4.โลภมากและมีแต่จับผิดริษยากันไปมา

                ดังคำกลอนที่ว่า

                “พาราสาวะถี    ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ”...

                เมื่อได้เห็นผู้นำไทยซึ่งมีหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำในเวลานี้ ต่างก็ว่ากันไปคนละทิศคนละทางแล้ว รีบขนของหนีน้ำกันไว้ก่อนก็ดีครับ