องค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ มีอะไรบ้าง

เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์เราทุกคนตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ตลอดจนเติบโต และเข้าสู่ปลายทางของชีวิต ปรารถนาที่จะมีชีวิต ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขกันทุกคน ดูอย่างทารกน้อยยังต้องการให้คุณพ่อ คุณแม่หรือใครต่อใครประคบประหงมเอาอกเอาใจ เด็กวัยไร้เดียงยังอยากมีของเล่นที่สวย ๆ งาม ๆ และชีวิตอย่างสนุกสนานกับเพื่อน ๆข้างบ้าน คนหนุ่มคนสาวอยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ได้เที่ยวนอกบ้าน ห้างสรรพสินค้า ดูหนัง ฟังเพลง และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆทั้งโทรศัพท์มือถือ I pad I phone หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทันสมัย คนทำงานมีรายได้อยากมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด ทั้งบ้าน ทั้งรถ เครื่องประดับ คนจน ๆก็อยากร่ำรวย มีโชค มีลาภ คนร่ำรวยแล้วก็อยากร่ำรวยขึ้นกว่าเดิม คนชราหรือผู้สูงอายุ ก็ยังอยากให้ลูกหลานเอาอกเอาใจ ยังไม่อยากตาย ซึ่งทุกคนทุกวัยที่กล่าวมาแล้วล้วนจะเห็นว่า ทุกชีวิตต้องการแต่ความสุข ทั้งสิ้น

ในทางกลับกัน ยังมีคำถามถามว่า ความสุขที่เรารู้สึกได้และเห็นว่ามีความสบายในชั่วครู่ชั่วยาม หรือเพียงระยะหนึ่งนั้น เป็นความสุขของชีวิตที่มีคุณภาพหรือ คุณภาพชีวิตหรือไม่

หากเรามองภาพแค่คนร่ำรวยคนหนึ่ง มีคฤหาสน์หลังใหญ่ ขับรถเบ๊นซ์ พาครอบครัวไปทานหูฉลามน้ำแดงที่ภัตตาคารหรู และจากนั้นก็ไปช้อปปิ้งต่อ ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า ยี่ห้อแบรนด์เนม และเดินพูดคุยกันอย่างสนุกสนานนั้น ภาพที่เห็นเราอาจสรุปได้ว่าเขามีชีวิตอย่างมีความสุข

แต่อีกภาพหนึ่งของชีวิตเศรษฐีพันล้านคนหนึ่ง นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียงคนป่วยไข้ด้วยโรคมะเร็งตับขั้นสุดท้าย ในพยาบาลเอกชนหรูแห่งหนึ่ง ห้อมล้อมด้วยภรรยา และลูก ๆ ที่มาให้กำลังใจกลับมองว่าที่ผ่านมาของของการใช้ชีวิตอยู่กับเงินร้อยล้าน พันล้านกลับไม่มีความสุขเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น ชีวิตที่มีความสุข หรือชีวิตที่ดี มีคุณภาพนั้นเป็นอย่างไร

ความหมาย คุณภาพชีวิต

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2525 ได้ให้ความหมาย คุณภาพชีวิตว่า ประกอบด้วย คำ 2 คำ คือ “คุณภาพ” หมายถึง ลักษณะความดีประจำตัวของบุคคลหรือสิ่งของ และ “ชีวิต”หมายถึง ความเป็นอยู่ ดังนั้น คุณภาพชีวิต จึงหมายถึง ลักษณะความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน :2525)โอแรน(Oram 1985:179) กล่าวว่า คุณภาพ

ชีวิตมีความหมายเช่นเดียวกับความผาสุก ซึ่งเป็นการรับรู้ของบุคคลต่อการมีชีวิตอยู่ตามประสบการณ์ของความพึงพอใจ ความรู้สึก เป็นความสุขภายในจิตใจ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2528:4) ได้ให้คำจำกัดความของคุณภาพชีวิตไว้ว่า คุณภาพชีวิต คือ ชีวิตดีมีคุณภาพสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุข และชีวิตที่มีคุณภาพนั้นจะรู้ได้โดยการที่คนหรือในชุมชนนั้นได้บรรลุเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน หรือความต้องการพื้นฐานที่คนหรือชุมชนจะมีหรือจำเป็น เพื่อให้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติพอสมควรในช่วงเวลาหนึ่ง

บดี ชนะมั่น (2530:821) กล่าวถึงคุณภาพชีวิตว่า หมายถึง สภาพความเป็นอยู่ในทางที่ดีทั้งในแง่ของส่วนบุคคล ครอบครัว และชุมชน

ลัดดาวัลย์ สิงห์คำฟู (2532:38) ให้ความหมายของคุณภาพชีวิตไว้ว่า หมายถึง ความรู้สึกพึงพอใจ และมีความสุขในชีวิตของแต่ละบุคคล ตามสถานที่ตนดำรงอยู่ เป็นการรับรู้ และตัดสินใจโดยบุคคลนั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว คุณภาพชีวิต หมายถึง การมีชีวิตที่สุขสบายหรือมีความผาสุก และการที่ชีวิตจะมีความสุขหรือผาสุกได้นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง เชิงวัตถุวิสัย(Objective) ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และเชิงจิตวิสัย (Subjective) ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม ความพึงพอใจในชีวิต

องค์ประกอบของคุณภาพชีวิต

ฟลานาแกน(Flanagan 1987:138-147) กล่าวถึงองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตอันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์จำแนกได้ 5 ประการ ได้แก่

1. มีความสุขสบายทั้งทางด้านร่างกาย และวัตถุ ทางด้านร่างกาย ได้แก่ การมีสุขภาพ

สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทางด้านวัตถุ ได้แก่ การมีบ้านน่าอยู่ มีอาหารที่ดี มีเครื่องอำนวยความสะดวก

2. มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น เช่น ความสัมพันธ์กับคู่สมรส บิดามารดา ญาติพี่น้อง

เพื่อนฝูง และบุคคลอื่น ๆ นอกจากนี้ การมีบุตรและการเลี้ยงดูบุตรก็ถือเป็นความสัมพันธ์ด้านนี้ด้วย

3. การมีกิจกรรมในสังคมและชุมชน การได้มีโอกาสช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่นใน

สังคม

4. มีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ และมีความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ตามพัฒนาการ เช่น การมี

พัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้ และสนใจการเรียน การเข้าใจตนเอง รู้จุดบกพร่องของตน มีงานที่น่าสนใจทำ ได้รับผลตอบแทนที่ดี และการแสดงออกในทางสร้างสรรค์

5. มีสันทนาการ เช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ดูกีฬา และสิ่งบันเทิงอื่น ๆ และมีส่วนร่วม

ในสังคม

จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของคุณภาพชีวิต ประกอบด้วยปัจจัยทั้งด้านตนเอง และสังคมรอบ ๆ ตัวที่มีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน

การพัฒนาตนสู่คุณภาพชีวิตที่ดี หรือชีวิตผาสุก

การมีชีวิตหรือใช้ชีวิตให้มีคุณภาพหรือความผาสุกของชีวิต ย่อมเป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน และสังคม เพื่อให้การดำรงอยู่มีความสุข สงบร่วมกัน ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงเป็นการพัฒนาที่เริ่มต้นจากการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปรับปรุงการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องและรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนา ดังต่อไปนี้

1. พัฒนาทางกาย ให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกาย ให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และความพิการใด ๆ

2. พัฒนาทางอารมณ์ สร้างสุขภาพจิต และบริหารอารมณ์ให้มีความสนุกสนานร่าเริง ไม่มีความเครียดหรือวิตกกังวลต่อการเรียน หรือต่อการปฏิบัติงาน ในหน้าที่รับผิดชอบ มีแต่ความเจริญหู เจริญตา เจริญใจ มองโลกในแง่ดีตลอดไป

3. พัฒนาทางสังคม สร้างความยอมรับ และยกย่องจากสังคม และ เคารพนับถือการยอมรับความรู้สึกเป็นเจ้าของ และความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

4. พัฒนาทางความคิด เรียนรู้ เพิ่มเติม เพิ่มทักษะความรู้ให้กับตนเอง เพื่อที่จะได้ที่จะได้รู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการคิดค้นหาวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาทั้งหลาย ให้ตัวเองได้ดำรงชีพอยู่อย่างสุขสบาย

5. พัฒนาทางจิตใจ เสียสละ หรืออุทิศตนให้เป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อชุมชน เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ มีความมั่นใจว่าชีวิตนี้มีคุณค่ามีความสุขหรือมีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต ได้รับความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย

6. พัฒนาทางปัญญา พัฒนาทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถคิดพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งปัญญาจะแตกฉานในบุคคลได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเล่าเรียนมีความสนใจเอาใจใส่ต่อวิชาความรู้ที่ครูอาจารย์อบรมสั่งสอนเพื่อให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและนำไปพัฒนาชีวิตที่มีคุณค่าต่อไปภายภาคหน้า

7.พัฒนาทางวินัย สร้างวินัยในตนเอง เคารพและปฏิบัติต่อภาระหน้าที่ต่าง ๆที่มีอยู่ให้อยู่ในกรอบของข้อบังคับของกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดขึ้น ไม่ประพฤติตนออกนอกลู่นอก

การสร้างชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตดี มีความสุข มี 3 ลักษณะ

1. ปฏิบัติการแก้จนแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน โดยใช้หลักการแบบประสาน 2 พลัง คือ

พลังจากภายในชุมชน (inside-out) โดยกระบวนการแผนชุมชน และพลังจากภายนอก(outside-in) โดยชุดปฏิบัติการแก้จน ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน (people partipation) และประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people centered)

2. ส่งเสริมวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม “ยึด

ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ยึดหลัก “การทำงานร่วม” (work with, not work for) “การเรียนรู้จากการปฏิบัติ” (learning by doing) เป็นหลัก และใช้เทคนิค “การกระตุ้นความคิด สร้างจิตสำนึก” และเริ่มต้นด้วย “ตัวชี้วัด 6X2 เป็นเป้าหมาย

3. การพัฒนาผู้นำชุมชนและอาสาสมัคร โดยการพัฒนาความสามารถของผู้นำชุมชน/

ผู้นำกลุ่ม/องค์กรชุมชน ผู้นำเครือข่ายองค์กรชุมชน อาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนให้มีภาวะผู้นำ จิตใจอาสาสมัคร รวมทั้งมีความรู้และทักษะในการทำงานชุมชน

การมุ่งสู่ชุมชน และสังคมคุณภาพ

เป้าหมายหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคือการทำให้คนมีความสุข อันประกอบด้วยการมีสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวที่อบอุ่น มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสังคมที่สันติและเอื้ออาทร และในเมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชน สังคมย่อมมีสงบสุข และเป็นหนทางสู่การสร้างสังคมคุณภาพ กล่าวคือ

1)การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในระบบ และนอกระบบ และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน โดยเริ่มต้นจากชุมชน ที่มีการพัฒนาให้มีความรู้และจริยธรรม เริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด และให้ความสำคัญแก่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ครอบครัวที่อบอุ่น และ

สถานศึกษาที่เอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดด้วยการปลูกฝังความรู้ที่ทันโลกและคุณค่าที่ดีของวัฒนธรรมไทย

2) การเป็นสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน ไม่ทอดทิ้งกัน

3) ระบบบริหารจัดการสาธารณสุขทั่วถึง มีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยมีระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

4) ประชาชนมีความมั่นคงในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และมีสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เหมาะสม เช่น การมีสวนสุขภาพในชุมชน เป็นต้น

5) ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

6) มีความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ปลอดขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิเด็กและสตรี

7) การมีหลักประกันด้านรายได้และระบบการออมในช่วงวัยทำงานที่เพียงพอสำหรับช่วงวัยชรา รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย สนับสนุนครอบครัวให้เข้มแข็งสามารถดูแลสมาชิกได้อย่างมีคุณภาพ

ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความผาสุก และสร้างสังคมคุณภาพ จึงเป็นเรื่องของคนทุกคน ทั้งระดับปัจเจกบุคล ชุมชนและสังคม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างระบบให้สมดุลและดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของระบบสังคม ทั้งนี้เพราะชีวิตที่ดีย่อมอยู่ภายใต้สังคมที่มีความสุข และในขณะเดียวกันสังคมดีมีคุณภาพขึ้นอยู่กับคนมีคุณภาพ

เอกสารอ้างอิง

นิรันดร์ จงวุฒิเวศน์.(2550).กถาพัฒนากร.กรมการพัฒนาชุมชน.บริษัท รำไทยเพรส จำกัด.

กรุงเทพฯ

http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/snamcn/Rattanavadee_Julayanont/Fulltext.pdf www.sirinun.com/lesson2/a2.php