อาณาจักรตามพรลิงค์ วัฒนธรรม

ในช่วงที่อาณาจักรนครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาบนคาบสมุทรมลายู ทั้งนี้โดยมีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกาและยอมรับนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ภายหลังพระภิกษุสงฆ์จากนครศรี -ธรรมราชก็ได้พระพุทธศาสนานิกายนึ้ขึ้นไปเผยแพร่ยังกรุงสุโขทัยด้วยเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ อันเป็นผลให้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้ฝังรากลึกลงในสังคมไทยนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ขอบเขตอาณาจักรตามพรลิงค์
แต่ละยุคสมัยไม่เท่ากัน แต่พอจะเห็นภาพคร่าว ๆ ของอาณาเขตได้
ในยุคแรก ๆ อาณาจักรตามพรลิงค์มีอาณาเขตตั้งแต่อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ลงไปถึงอำเภอเชียรใหญ่ และลึกเข้าไปภายในแผ่นดินถึงอำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสะกา อำเภอทุ่งสง ทั้งหมดอยู่ในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ ในคาบสมุทรมลายู
ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรตามพรลิงค์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักรนครศรีธรรมราช สามารถรวบรวมบรรดาแว่นแคว้นน้อยใหญ่ในภาคใต้และคาบสมุทรมลายูได้ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็เสื่อมลง และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในที่สุด (ข้อน่าคิด : ในประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ไม่เคยยอมรับอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยแม้แต่น้อย เป็นเพียงความสัมพันธไมตรีอันดีทางด้านพระพุทธศาสนาที่อาณาจักรนครศรีธรรมราช เผยแพร่ไปให้อาณาจักสุโขทัยเท่านั้น ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ระบุขอบเขตอาณาจักรสุโขทัยเสียจนใหญ่โตเกินความจริง ซึ่งมีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอื่นๆ ไปทั้งคาบสมุทรอินโดจีนที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากอาณาจักรใหญ่ที่อยู่รายรอบสุโขทัย ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของสุโขทัยทั้งสิ้น)

ที่ตั้งของเมืองหลวง
ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชปรากฏว่ามีร่องรอยเมืองโบราณ ตลอดจนชุมชนโบราณอยู่หลายแห่งด้วยกัน จากหลักฐานทางด้านโบราณคดี (จากการสำรวจและขุดค้น) ในเมืองโบราณเหล่านี้ สันนิษฐานว่าเมืองหลวงของอาณาจักรคงมีการโยกย้ายหลายครั้งตามลำดับดังนี้
๑. เมืองบ้านท่าเรือ (ติดเขตตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช) เป็นที่ตั้งเมืองยุคแรก เมืองบ้านท่าเรือ ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางทะเลมาก มีลำน้ำออกสู่ทะเลได้โดยสะดวก เรือเดินทะเลสามารถเข้าถึงแต่เป็นเมืองขนาดเล็ก มีพื้นที่ทำนาเพาะปลูกได้น้อย โบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบ เช่น เครื่องมือหินขัดในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เทวสถานในศาสนาพราหมณ์ –ฮินดู พระพุทธรูป ลูกปัด เป็นต้น
๒. เมืองพระเวียง (ติดเขตตำบลศาลามีชัย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช) เป็นที่ตั้งเมืองหลวงในยุคที่สองเป็นเมืองขนาดใหญ่ขึ้น อยู่ในทำเลที่มีพื้นที่ทำนาและเพาะปลูกมากขึ้น สามารถเลี้ยงพลเมืองจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นได้ โบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบในเขตเมืองพระเวียงมีอายุเก่าถัดมาจากเมืองบ้านท่าเรือ
๓. เมืองนครศรีธรรมราช (บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน) เป็นที่ตั้งเมืองยุคที่สาม เป็นเมืองขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาตอนต้น โบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบส่วนใหญ่มีอายุในสมัยอยุธยาส่วนที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัยพบไม่มากนัก
ส่วนสถานที่ตั้งชุมชนโบราณพบหลายแห่ง กระจายอยู่ในท้องถิ่นที่อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอทุ่งสง

เมืองรอง ได้แก่


๑. เมืองไชยา ตั้งอยู่ถัดลงไปทางด้านใต้ ศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับเมืองตามพรลิงค์ ในระยะแรกต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน แต่บางสมัยเมืองไชยา (ในช่วงที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย) ก็สามารถผนวกตามพรลิงค์อยู่ใต้อำนาจ ต่อมาในยุคหลังเมืองไชยากลับขึ้นกับอาณาจักรตามพรลิงค์ในฐานะเมืองอุปราช และคงจะอยู่ในฐานะดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
๒. เมืองสทิงพระ คือ บริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลา ในท้องที่จังหวัดสงขลาและพัทลุง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา

เมืองบริวาร และ เมืองขึ้น

เมืองบริวาร ได้แก่ เมืองสิบสองนักกษัตร ที่ปรากฎในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เช่น เมืองกระบุรี ชุมพร บางสะพาน เวียงสระ ตะกั่วป่า ถลาง ตรัง คลองท่อม ปะเหลียน สายบุรี สงขลา บันทายสมอ เป็นต้น
เมืองขึ้น ได้แก่ หัวเมืองมลายู เช่น เมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส ปัตตานี เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชในยุครุ่งเรืองสามารถแผ่อาณาเขตครอบครองแหลมมลายูได้เกือบทั้งหมด

ชื่อเรีัยกของอาณาจักรตามพรลิงค์

คำว่า ตามพรลิงค์ และ นครศรีธรรมราช เป็นคำเก่ามีมาแต่เดิม ปรากฎในเอกสารหลายฉบับทั้งของไทยและของต่างชาติ แต่ละคำต่างมีเรียกเพี้ยนแตกต่างกันออกไปตามสำเนียงภาษาของแต่ละชนชาติที่เข้ามาในระยะเวลาแตกต่างกัน ได้แก่
๑. ตามพลิงคม หรือ ตมพลิงคม (Tambalingam) เป็นคำเรียกเก่าสุดโดยชาวอินเดีย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๘ (มีอยู่ในคัมภีร์ภาษาบาลี ชื่อ มหานิเทศ ที่กล่าวถึงการเดินทางของนักเผชิญโชคว่าหากต้องการความร่ำรวยก็ให้ไปยังดินแดนเหล่านี้)
๒. ตามพรลิงค (Tambralinga) เป็นคำเรียกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑
๓. มัทธมาลิงคัม (Madamalingam) เป็นคำเรียกในศิลาจารึกของกษัตริย์องค์สำคัญของอินเดียภาคใต้ คือ พระเจ้าราเชนทรโจฬัะที่ ๑ (ศิลาจารึกมีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓ – ๑๕๗๔) กล่าวถึงชื่อเมืองที่พระองค์ทรงส่งกองทัพเรือไปโจมตีได้ แต่เรียกชื่อเพี้ยนไป)
๔. ตัน-มา-ลิง (Tan – ma – ling) เป็นชื่อที่นักจดหมายเหตุจีนได้เขียนไว้

๕.ตมลิงคาม (Tamalingama) เป็นชื่อที่ชาวลังกาเรียก (อยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหล ชื่อ Sanne)
๖. ศรีธรรมราช เป็นชื่อในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ พบที่วัด
เวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาชื่อนี้ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย พ.ศ. ๑๘๓๕
๗. สิริธรรมนคร ปรากฎในหนังสือบาลีเรื่อง จามเทวีวงศ์ ที่พระโพธิรังสี พระเถระชาวเชียงใหม่ แต่งขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (หมายถึงชื่อเมืองหรือนคร ถ้าชื่อพระมหากษัตริย์ก็จะเรียกว่าพระเจ้าสิริธรรมนคร หรือพระเจ้าสิริธรรมราช และยังปรากฎในหนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ และในหนังสือ นิทานพระพุทธสิงห์ เรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมาราช)
๘. ลิกอร์ (Ligor) เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นชาติแรกเรียก บางครั้งก็เรียกว่า ละกอร์ (Lagor) เพี้ยนมาจากคำว่า นคร ซึ่งเป็นชื่อย่อของเมืองนครศรีธรรมราช
๙. นครศรีธรรมราช เป็นชื่อที่คนไทยฝ่ายเหนือเรียก (ศรีธรรมราช เป็นคำเรียกตำแหน่งเจ้าเมือง แต่ใช้เรียกเป็นชื่อเมืองด้วย) และเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

ศาสนาในอาณาจักรตามพรลิงค์
จากหลักฐานด้านเอกสารและหลักฐานทางด้านโบราณคดี พบว่าอาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช มีผู้นับถือศาสนาด้วยกัน ๒ ศาสนา คือ
๑. ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู โดยเฉพาะลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด) ดังได้พบร่องรอยเทวสถาน แท่งศิวลึงค์ และแท่นฐานรองรับเป็นจำนวนมาก กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูลัทธิไศวนิกายได้รับการนับถือในอาณาจักรตามพรลิงค์ในระยะแรก ๆ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูลัทธิไวษณพนิกายด้วย
๒. พระพุทธศาสนา นับถือทั้งนิกายหินยานหรือเถรวาท นิกายมหายาน และ
ลัทธิลังกาวงศ์ ในแต่ละช่วงเวลา คือ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนับถือกันมากประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระพุทธศาสนานิกายมหายานหรืออาจริยวาทนับถือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ส่วนนิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์นับถือหลังจากติดต่อกับลังกาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

จดหมายเหตุจีน
ระบุว่า อาณาจักรตามพรลิงค์ ส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนใน พ.ศ.1291,1310,1311,1356,1358 และพ.ศ.1361 ต่อมาได้มีการเรียกชื่ออาณาจักรตามพรลิงค์ใหม่ว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสร้อยพระนามของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช กษัตริย์ผู้มีฐานันดรสูงศักดิ์ยิ่ง ในจดหมายจีนได้ระบุว่า กาลเวลาต่อมาต่ออาณาจักรตามพรลิงค์ดังกล่าว ได้พัฒนามาเป็นอาณาจักรสยามต่อมา

Advertisement

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

ถูกใจ กำลังโหลด...

อาณาจักรตามพรลิงค์ เป็นอย่างไร

อาณาจักรตามพรลิงค์ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ต่อมาใน พ.ศ. 1318 อาณาจักรตามพรลิงค์และเมืองไชยาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย และพ.ศ. 1568 ได้ถูกอาณาจักรโจฬะยกกองทัพเรือเข้ายึดครอง ในปีพ.ศ. 1658 ได้มีการส่งคณะทูตไปเฝ้าฮ่องเต้ฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ้อง ที่เมืองไคฟง

มรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์คืออะไร

เงินนโมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของอาณาจักรตามพรลิงค์ที่มีคุณค่าทั้งในรูปแบบของเงินตราและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหนึ่งในวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

อาณาจักรตามพรลิงค์มีความสำคัญอย่างไร

แคว้นตามพรลิงค์ มีกษัตริย์สำคัญคือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และ พระเจ้าจันทรภาณุ แคว้นตามพรลิงค์นี้เป็น เส้นทางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ไปยังแคว้นสุโขทัยและดินแดนทั่วแหลมมลายู เนื่องจากแคว้นตามพร ลิงค์กับศรีลังกามีความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้องมาแต่สมัยโบราณ

อาณาจักรตามพรลิงค์ได้รับอิทธิพลจากศาสนาใด

อาณาจักรตามพรลิงค์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาณาจักรตามพรลิงค์ศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก รับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเป็นครั้งแรก อาณาจักรตามพรลิงค์เสื่อมอำนาจลงโดยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยและต่อมาได้อยู่ภายใต้อาณาจักรอยุธยา