ลายสือไทย” คืออักษรที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์ไว้เมื่อ พ.ศ.1826 อยากทราบว่าข้อใดถูก

gในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีข้อความตอนหนึ่งที่บอกเอาไว้แบบชัดเจน จนไม่มีเม้มเลยว่า

“…เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี 1205 ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจ ในใจ แลใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึงมีเพื่อพ่อขุนนั้นใส่ไว้…”

1205 ศก ในจารึกเป็นมหาศักราช ซึ่งแปลงเป็นพุทธศักราชได้ง่ายๆ ด้วยการเอาบวกด้วยตัวเลข 621 ดังนั้นข้อความในจารึกตอนนี้จึงอาจแปลเป็นภาษาไทย อย่างปัจจุบันได้ความว่า เมื่อก่อนนี้ยังไม่มีตัวอักษรไทย จนกระทั่ง พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงจึงประดิษฐ์ขึ้น แล้วก็เอามาจารึกเอาไว้ในหินก้อนนี้นั่นแหละ

‘ตัวอักษรไทย’ หรือที่ในจารึกหลักนี้เรียกว่า ‘ลายสือไท’ นั้น จึงมีประวัติที่ความเป็นมาที่ชัดเจนเสียยิ่งกว่าการรับชมภาพยนตร์จากแผ่น Blu-ray เพราะเราไม่เพียงรู้ว่า ตัวอักษรชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ไหนเท่านั้น แต่ยังรู้อีกว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ (หรือสั่งให้ประดิษฐ์) ตัวอักษรชนิดนี้ขึ้น และอันที่จริงเรารู้เสียด้วยซ้ำไปว่า พ่อ, แม่ และพี่ชาย ของผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรชื่ออะไรกันบ้าง เพราะพ่อขุนรามคำแหงก็ทรงประกาศพระองค์ไว้ตั้งแต่ตอนต้นสุดของจารึกหลักนี้ด้วยว่า พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง แถมพี่กูยังชื่อบานเมืองอีกต่างหาก

แต่อันที่จริงแล้ว พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ทรงประกาศแค่ว่า พ่อ แม่ และพี่ของพระองค์ชื่ออะไรเท่านั้นนะครับ เพราะพระองค์ก็บอกเอาไว้ชัดๆ ด้วยว่า อักษรของกูเรียกว่า ‘ลายสือไท’ หรืออักษรของชาวไทย ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดดี เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีอักษรใดๆ ในโลกที่จะลุกขึ้นมาประกาศกร้าวว่า กูเป็นตัวอักษรของคนชาติไหนกันหรอก?

เชื่อกันว่า ‘ตัวอักษร’ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ ‘ตัวอักษรลิ่ม’ หรืออักษร ‘คูนิฟอร์ม’ (cuneiform) ของชาวสุเมเรียน ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ราบลุ่มอันอุดมของแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติส หรือที่เรียกกันว่า เมโสโปเตเมีย ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยถ้าจะชี้เป้าลงไปให้ชัดๆ เลยก็คือ บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอิรักในปัจจุบันนั่นแหละ

และก็ว่ากันด้วยว่า ‘อักษรลิ่ม’ พวกนี้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยในการจดจำ หรือบันทึกบัญชีสิ่งของด้วยวิธีที่คล้ายชวเลข หรือภาษาโทรเลข แต่การจดบันทึกที่ว่าก็เป็นที่นิยมนับตั้งแต่เริ่มพบหลักฐานครั้งแรกเมื่อเฉียดๆ 5,400 ปีที่แล้ว และยังใช้กันอย่างแพร่หลาย จนพัฒนารูปแบบแตกต่างกันออกไปทั่วดินแดนเมโสโปเตเมีย ในอาณาจักร และยุคสมัยต่างๆ โดยเฉพาะพวกอัคคาเดียน และอัสสิเรียน ในที่สุด

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ถึงแม้ อักษรคูนิฟอร์ม จะถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยพวกสุเมเรียน ซึ่งเป็นสังคมเมืองที่ซับซ้อนแห่งแรกๆ ของเมโสโปเตเมีย แต่อักษรชนิดนี้ไม่ใช่ของชาวสุเมเรียนเท่านั้น ใครๆ ที่ใช้อักษรลิ่มนั้นก็เรียกว่า อักษรคูนิฟอร์มได้ทั้งหมด เพราะคำว่า ‘คูนิฟอร์ม’ นั้นเป็นคำเรียกในสมัยหลัง ที่พวกฝรั่งเอาไปใช้เรียกตัวอักษรประเภทนี้ต่างหาก

เพราะคำว่า ‘คูนิฟอร์ม’ ถูกผูกขึ้นมาใหม่จากรากในภาษาละตินคือคำว่า ‘cuneus’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ลิ่ม’ นั่นเอง

แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า อักษรพวกนี้จะถูกชนชาวต่างๆ ในดินแดนเมโสโปเตเมียยุคกระโน้น เรียกว่าอะไร แต่เดาได้อย่างหนึ่งว่า คงจะไม่ได้ถูกเรียกด้วยชื่อของรัฐชาติ หรือชนชาติไหนเป็นการเฉพาะ เหมือนอย่าง ‘ลายสือไท’ ของพ่อขุนรามคำแหง เพราะเอาเข้าจริงแล้ว อักษรลิ่มพวกนี้ก็ถูกใช้ร่วมๆ กันไปหมด

ตัวอย่างง่ายๆ เราอาจจะเห็นจากตัวอักษร ที่คนไทยเราชอบเรียกว่า ตัวอักษรภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ที่พวกฝรั่งก็ไม่ได้เรียกตัวอักษรเหล่านี้อย่างเดียวกับพี่ไทยเราเสียหน่อย ตัวอักษรเหล่านี้ถูกใช้เขียนทั้งโดยพวกผู้ดีอิงเกอลันด์ และอเมริกันชน แถมยังใช้ปนๆ กัน เพิ่มสัญลักษณ์โน่นนี่ทั้งในภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และอีกให้เพียบ โดยที่เขาก็เรียกอักษรเหล่านี้โดยสืบย้อนจากความทรงจำบางอย่างว่าเป็น ‘อักษรโรมัน’ ต่างหาก

แต่พวกโรมันก็ไม่ได้เรียกอักษรของตัวเองว่า ‘อักษรโรมัน’ อีกอยู่ดี ตัวอักษรเหล่านี้ถูกใช้จกบันทึกภาษาละติน บางทีจึงมีการเรียกอักษรเหล่านี้ว่า ‘อักษรละติน’ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับชนชาติอะไรเลย แต่เกี่ยวกับภาษาที่ไม่ได้มีชนชาติใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะเจาะจง และก็ยังมีคนเรียกตัวอักษรเหล่านี้ว่า อักษรละติน มาจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ด้วย

ตัวอักษรที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ‘ตัวอักษรเฮียโรกลิฟิก’ (hieroglyphics) ที่พวกอียิปต์มีใช้มาตั้งแต่เมื่อราว 5,200 ปีที่แล้ว ซึ่งนักอ่านภาษาโบราณบางท่านอ้างว่า ได้รับอิทธิพลมาจากตัวอักษรลิ่ม

แต่อักษรเฮียโรกลิฟิคไม่ได้มีหน้าที่ในฐานะเครื่องช่วยจำสำหรับการทำบัญชี อย่างของพวกสุเมเรียน แต่ถูกใช้ในแง่ง่ามของคติความเชื่อทางศาสนาต่างหาก โดยสามารถจะพิสูจน์กันได้ง่ายๆ จากการที่พบอักษรพวกนี้อยู่ในศาสนสถาน และสุสาน อย่างพิระมิดนี่แหละ

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เจ้าคำว่า ‘เฮียโรกลิฟิก’ นั้นเป็นคำที่ผูกขึ้นมาจากรากในภาษากรีกสองคำ ได้แก่ ‘hieros’ ที่แปลว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘glypho’ ที่แปลว่า ‘จารึก’ ซึ่งผมคงจะไม่ต้องบอกนะครับว่ารวมความแล้วมันแปลว่าอะไร?

และผู้ที่ผูกศัพท์คำนี้ขึ้นมาด้วยภาษากรีกก็คือ ชาวกรีกนี่เอง ติตุส ฟลาวิอุส คลีเมนส์ (Titus Flavius Clemens) หรือที่มักจะเรียกกันว่า คลีเมนส์ แห่งอเล็กซานเดรีย นักเทววิทยาชาวคริสเตียน ที่ลืมตาขึ้นดูโลกที่เมืองเอเธนส์ เมื่อราวๆ พ.ศ. 693 คือใครคนนั้น และจากคำที่ท่านได้ผูกขึ้นมาใช้เรียกตัวอักษรเหล่านี้แล้ว ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ตัวอักษรเหล่านี้มีหน้าที่การใช้งาน และสถานภาพอย่างไรในยุคของท่าน เพราะตัวอักษรพวกนี้ยังถูกใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงช่วง พ.ศ. 939 เลยทีเดียว

ดังนั้นสำหรับเจ้าของตัวอักษรพวกนี้คือชาวอียิปต์โบราณเอง จึงไม่ได้เรียกพวกมันว่า ‘เฮียโรกลิฟิก’ หรอกนะครับ พวกเขาเรียกตัวอักษรเหล่านี้ว่า ‘มิดิว เนตเชอร์’ (medew netcher หรือที่สะกดตามอักขรวิธีโบราณว่า mdw mTr) ซึ่งก็แปลว่า ‘คำพูดของพระเจ้า’ ต่างหาก

ที่เรียกว่าเป็นคำพูดของพระเจ้า ก็แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของตัวอักษร และหน้าที่การใช้งานที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่พวกอียิปต์สมัยโน้นยังมีความเชื่อที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า ตัวอักษรเหล่านี้เป็นของที่เทพเจ้าธอธ (Thoth) เทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา ที่มีเศียรเป็นนกกระสา ประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วก็ประทานมาให้กับมนุษย์โลกใช้เลยทีเดียว

สำหรับพวกอียิปต์โบราณ ที่มีตัวอักษรใช้ห่างจากอักษรลิ่มของพวกสุเมเรียนไม่กี่ร้อยปีนั้น ตัวอักษรของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในการสื่อสารกับพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ที่จะใช้จดบันทึกอะไรในเชิงการค้าอย่างของสุเมเรียน

แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นอักษรลิ่ม, เฮียโรกลิฟิค หรืออักษรละติน ก็คือ ตัวอักษรเหล่านี้ทั้งหมดนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรที่เรียกว่า ‘ชาติ’ อย่าง ‘ลายสือไท’ เลย

อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ อักษรที่เป็นต้นแบบของอักษรจีนในปัจจุบัน โดยการขุดค้นในแถบพื้นที่มณฑลซีอาน ประเทศจีนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ทราบว่าโปรโตไทป์ของตัวอักษรจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 6,000 ปีมาแล้ว เบียด ‘ตัวอักษรลิ่ม’ ของพวกสุเมเรียน เจ้าของตำแหน่งตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคนเดิมเสียจนตกขอบเวที

(แต่นี่ก็เป็นเพียงความฟากที่ดังมาจากฝ่ายจีนเท่านั้นนะครับ เอาเข้าจริงแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจได้นักว่า ตัวอักษรของจีนนั้นเก่าแก่ไปถึงขนาดที่พวกเขาเคลมจริงๆ หรือเปล่า?)

หลักฐานที่ได้จากการขุดค้น และวิจัยทางด้านโบราณคดีช่วยให้เราทราบว่า แต่เดิมตัวอักษรโบราณของจีนน่าจะเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อเชิงศาสนาเพราะโดยมากพบอยู่บนกระดูกเสี่ยงทาย หรือกระดองเต่า (อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานว่าชาวจีนโบราณใช้ตัวอักษรทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยหรือไม่?) ดังนั้นหน้าที่ของตัวอักษรพวกนี้จึงเกี่ยวข้องอยู่กับความเชื่อ ใกล้เคียงกันกับอักษรเฮียโรกลิฟิกของพวกอียิปต์ และคงไม่ได้ถูกเรียกว่าอักษรจีนแน่ เพราะคำว่า ‘จีน’ ไม่ใช่คำที่พวกอาเฮีย อาอึ้มเขาใช้เรียกพวกตัวเอง พวกเขาเรียกตัวเองเป็นชาวฮั่น ตามชื่อราชวงศ์อันยิ่งใหญ่ของพวกเฮียๆ เขา (และชื่อราชวงศ์นั้นย่อมไม่ใช่ชื่อชนชาติแน่)

เอาเข้าจริงแล้ว ‘ลายสือไทย’ ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี่จึงนับได้ว่าเป็นตัวอักษรที่ทำตัวเวรี่ยูนีคนะครับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอักษรอื่นๆ เพราะไม่ว่า ตัวอักษรเหล่านี้จะถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง อย่างที่ตัวบทในจารึกอ้างเอาไว้ หรือถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยรัชกาลที่ 4 อย่างที่มีปราชญ์ และนักวิชาการหลายท่านสงสัยใจเป็นอย่างยิ่ง ลายสือไทก็คงจะเป็นตัวอักษรชนิดเดียวในโลก ที่ประกาศตัวว่า กูเป็นอักษรของชนชาติไหน มาตั้งแต่เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรพวกนี้แล้ว 😛

Illustration by Kodchakorn Thammachart

You might also like

Share this article