ที่ มา การถวาย ผ้าอาบ น้ำฝน

นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และการเวียนเทียนที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างยึดถือปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอย่างพร้อมเพรียงแล้ว “การถวายผ้าอาบน้ำฝน” ยังถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมอันดีงามที่มีเรื่องราวเล่าขานถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และอานิสงส์อันยิ่งใหญ่แห่งการนำถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

ที่ มา การถวาย ผ้าอาบ น้ำฝน

ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง 4 พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีผ้าอาบน้ำฝนจึงออกมาสรงน้ำฝนโดยร่างเปลือยกายอยู่ พอดีกับนางวิสาขามหาอุบาสิกาสั่งให้นางทาสีไปนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่า ในอารามมีแต่พวกชีเปลือย (อาชีวกนอกพระพุทธศาสนา) ไม่มีภิกษุอยู่จึงกลับบ้าน ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันนั้นแล้ว จึงได้โอกาสอันควรทูลขอพรต่อพระศาสดา โดยนางวิสาขาได้ให้เหตุผลการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า เพื่อให้ใช้ปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ที่ดูไม่งามดังกล่าว ดังนั้น นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ที่ มา การถวาย ผ้าอาบ น้ำฝน

ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ได้เป็นผืนที่ 4 นอกเหนือจากไตรจีวรและทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายได้ก่อนเข้าพรรษา 1 เดือน ที่เรียกว่าผ้าอาบน้ำฝนเพราะเป็นผ้าที่ถวายกันในต้นฤดูฝน

การถวายผ้าอาบน้ำฝนมีความเชื่อที่ถือกันมานานว่า ผู้ใดที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้กับพระภิกษุสงฆ์ จะถือว่าเป็นการทำบุญที่ช่วยทำนุบำรุงและสนับสนุนพระศาสนาให้คงอยู่สืบไป และเพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องลำบากในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน แต่จะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาและช่วยเผยแผ่ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป และผู้ทื่ได้บริจาคผ้าอาบน้ำฝน ก็จะได้พบแต่ความสุขความเจริญ จะมั่งมีด้วยทรัพย์สินเงินทองและบริวารมากมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (20)

ผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนคนแรก

ตอบไว้ก่อนว่าคือนางวิสาขา มหาอุบาสิกา

ประวัตินางวิสาขา ได้เล่าไว้ในตอนว่าด้วย “อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก” และในที่อื่นมาหลายครั้งแล้ว ขออนุญาตฉายซ้ำ ณ ที่นี้อีก อย่าหาว่าซ้ำซากเลย เพราะถึงแม้จะใช้ข้อมูลเดิม วิธีนำเสนอก็ไม่เหมือนเดิมดอกครับ

หรือว่าไง?

นางวิสาขาเป็นธิดาธนัญชัยเศรษฐี เมืองแคว้นภัคคะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังเด็ก

ได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีผู้ไม่นับถือพระพุทธศาสนาแห่งเมืองสาวัตถี ย้ายมาอยู่ตระกูลสามี นางก็ยังทำบุญในพระพุทธศาสนาเหมือนเดิม เพราะพระอริยบุคคลระดับนี้ ย่อมมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง

วันหนึ่งเกิดเรื่องทะเลาะกับบิดาสามีถึงขั้นฟ้องขับไล่นางออกจากตระกูลสามี เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งมายืนอุ้มบาตรอยู่หน้าบ้าน ขณะเศรษฐีบิดาสามีรับประทานอาหารอยู่ นางกระซิบกับภิกษุรูปนั้นให้ไปโปรดข้างหน้า เพราะคุณพ่อนาง (บิดาสามี) กำลัง “กินของเก่า” อยู่

คณะผู้พิจารณาความตัดสินว่านางไม่มีความผิด เพราะตามคำอธิบายของนาง “กินของเก่า” หมายถึง กินบุญเก่า มิใช่คำหยาบหรือด่าว่าเสียดสีแต่ประการใด บิดาสามีก็ยอมไม่เอาเรื่องต่อไป การณ์กลับเป็นว่า หลังจากนั้นไม่นาน บิดาสามีกลับมีความเลื่อมใสในตัวลูกสะใภ้มากขึ้น จนถึงกับหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามลูกสะใภ้

ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาได้สมญานามคล้ายๆ สร้อยนามเพิ่มขึ้นว่า วิสาขา มิคารมาตา (นางวิสาขาผู้เป็นบิดาแห่งมิคารเศรษฐี)

ลูกสะใภ้ได้กลายเป็น “แม่” ของพ่อสามี มิใช่ธรรมดานะครับ

ในระหว่างนั้นพระสงฆ์ได้รับอนุญาตให้มีผ้าเพียง 3 ผืน เรียกไตรจีวร คือผ้านุ่ง เรียกอันตรวาสก หรือผ้าสบง ผ้าห่มคลุมเรียก อุตตราสงค์ หรือผ้าจีวร ผ้าห่มซ้อนเรียกว่าสังฆาฏิ 3 ผืนแค่นั้นจริงๆ ผ้าอาบน้ำหรือผ้าขาวม้า (ผ้าขะม้า) ไม่มี เพิ่งจะมีในเวลาต่อมา ก็ต้องยกเครดิตให้นางวิสาขา มหาอุบาสิกา คนนี้แหละครับ

วันหนึ่งนางตระเตรียมภัตตาหารไว้รอถวายพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ทำอยู่ประจำ เตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระคุณเจ้าก็ไม่มาสักที จึงบอกสาวใช้ให้ไปดูซิว่า ทำไมพระคุณเจ้ายังไม่มา

บังเอิญตอนนั้นฝนตก พระคุณเจ้าทั้งหลายก็พากันอาบน้ำฝนกัน ก่อนจะเข้าบ้านเพื่อฉันภัตตาหารตามที่นิมนต์ สาวใช้เห็นเข้าก็ตกใจวิ่งหน้าตื่นไปรายงานนายหญิงว่า “ที่วัดไม่มีภิกษุเลยเจ้าค่ะ”

“ไม่มีได้อย่างไร ก็ฉันนิมนต์ท่านไว้แล้ว ท่านก็รับปากแล้ว ไม่มีสักรูปเลยหรือ” นางวิสาขาถามย้ำ

“มีค่ะ แต่ไม่ใช่พระภิกษุ” สาวใช้ตอบ

“เป็นใคร”

“ชีเปลือยเจ้าค่ะ ชีเปลือยเต็มวัดเลย”

นางวิสาขาตกใจ นึกว่าวัดพระเชตวันถูกพวกนิครนถ์ยึดไปซะแล้ว ไม่น่าเป็นไปได้ จึงตรงดิ่งไปยังวัดพระเชตวันด้วยความร้อนใจ ไปเห็นพระคุณเจ้าบางรูปกำลังอาบน้ำในชุดวันเกิดอยู่ บางรูปก็อาบน้ำเสร็จแล้ว นุ่งห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว

จนถึง “บางอ้อ” ที่สาวใช้ว่าในวัดมีแต่พวกชีเปลือยก็คืออย่างนี้นี่เอง (ก็เปลือยจริงๆ นี่คะ)

เมื่อพระท่านมีผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น เวลาอาบน้ำก็ต้องเปลือยกายอาบเป็นธรรมดา นางวิสาขาเห็นว่า พระสมณศากยบุตรควรจะ “เรียบร้อย” กว่านี้ หาไม่ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกนิครนถ์ จึงนำความคิดเรื่องผ้าอาบน้ำฝนไปกราบทูลพระพุทธองค์ และขอพรให้ทรงอนุญาตให้นางได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าทรงเห็นดีด้วยกับข้อเสนอของนางวิสาขา จึงตรัสอนุญาตให้ชาวบ้านถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุได้ตั้งแต่บัดนั้นมา นางวิสาขาจึงเป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่มีใครเห็น “ชีเปลือย” ในวัดพระเชตวันอีกเลย