พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับ

รหัสชุดข้อมูล

TLD-002-107

ชื่อ - สกุล

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เกิด

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310

เสียชีวิต

วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระนามเดิม ฉิม พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310  ณ ตำบลอัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม

พ.ศ. 2325 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ต่อมา พ.ศ. 2349 พระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 2 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อพ.ศ. 2352  ขณะมีพระชนมพรรษา 42 พรรษา  

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้แทนพระองค์ไปกำกับราชการ ควบคุมดูแลส่วนราชการต่าง ๆ ที่สำคัญ  ทรงตราพระราชกำหนดและบทลงโทษเรื่องการสูบ การซื้อและการขายฝิ่น  ทรงกำหนดการเข้ารับราชการของพลเมือง  และทรงส่งเสริมข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามความถนัดของตน  ในการเก็บภาษีอากรนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บเฉพาะธุรกิจที่มีรายได้มาก ๆ เช่น  ภาษีจากโรงเหล้า  ภาษีปากเรือจากการค้าขายกับต่างประเทศ  อากรค่าบ่อน  ภาษีด่าน  ภาษีตลาด  เป็นต้น  ในรัชสมัยนี้การเดินเรือค้าขายของไทยรุ่งเรืองมาก  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงประจำเรือกำปั่นหลวงที่ไปค้าขายต่างประเทศเป็นรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลางวงจักรบนพื้นธงสีแดง  ซึ่งใช้เป็นธงชาติไทยมากระทั่งเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ 

ในด้านศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงการเรียนภาษาบาลี  การทำสังคายนาบทสวดมนต์  รวบรวมและซ่อมแซมพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ  และส่งสมณทูตไปลังกา  ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่งทั้งในพระนครและเมืองต่าง ๆ เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  ฯลฯ

ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ทรงฟื้นฟูประเพณีและพิธีกรรมหลายอย่าง  เช่น  พระราชพิธีลงสรง  พระราชพิธีวิสาขบูชา  โดยเฉพาะพระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้กระทำเมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดในพ.ศ.2354   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสนพระราชหฤทัยทางด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ  ทางด้านประติมากรรม  ได้ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก  ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม  และได้ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นรูปธรรมชาติที่งดงามยิ่ง  

ทางด้านดุริยางคศิลป์  ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน  (บุหลันเลื่อยลอยฟ้า  หรือสรรเสริญพระจันทร์)  ซึ่งเป็นเพลงไทยเดิมที่ไพเราะและเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่สมัยหนึ่ง  

ทางด้านวรรณศิลป์  ทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์คำประพันธ์เป็นอย่างยิ่ง  ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง  นอกจากนี้ยังโปรดให้ประชุมกวีช่วยกันแต่ง  แก้ไข  และปรับปรุงบทละครให้ไพเราะ น่าฟังสอดรับกับจังหวะและกระบวนรำ ทำให้การละครและวรรณคดีในสมัยนี้เจริญรุ่งเรือง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2367  พระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา  ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี

ผลงาน / งานประพันธ์

1. บทละครเรื่องอิเหนา

2. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวนจนถึงทศกัณฐ์ล้ม  และตอนฆ่านางสีดาจนถึงอภิเษกที่เขาไกรลาส

3. บทพากย์รามเกียรติ์  ตอนนางลอย  นาคบาศ  พรหมาสตร์ และเอราวัณ

4. บทจับระบำเรื่องรามเกียรติ์  ตอนพระนารายณ์อวตาร พิราพ  และนารายณ์ปราบนนทุก (พิมพ์รวมอยู่ใน บทละครเบ็ดเตล็ดเรื่องรามเกียรติ์*)

5. บทละครเรื่องไชยเชษฐ์  ตอนนางสุวิญชาถูกขับไล่  พระไชยเชษฐ์ตามนางสุวิญชา  พระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหล   และตอนอภิเษกพระไชยเชษฐ์

6. บทละครเรื่องคาวี  ตอนท้าวสันนุราชหานางผมหอม   ท้าวสันนุราชชุบตัว  นางคันธมาลีขึ้นเฝ้า   และตอนพระคาวีรบไวยทัต

7. บทละครเรื่องมณีพิชัย  ตอนพราหมณ์ยอพระกลิ่นขอพระมณีพิชัยไปเป็นทาส

8. บทละครเรื่องสังข์ทอง  ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต   ท้าวสามนต์ให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่  พระสังข์ได้นางรจนา   ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาเนื้อหาปลา  พระสังข์ตีคลี  และตอนท้าวยศวิมลตามพระสังข์

9. บทละครเรื่องไกรทอง ตอนนางวิมาลาตามไกรทองมาจากถ้ำ  และตอนไกรทองตามนางวิมาลากลับไปถ้ำ

10. กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน

11. เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน   ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม   นางวันทองหึงนางลาวทอง  และตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างได้นางแก้วกิริยา 

ผู้เรียบเรียง

ลักษณา โตวิวัฒน์,กุสุมา รักษมณี

เอกสารอ้างอิง

ธรรมสภา และสถาบันบันลือธรรม (ผู้จัดพิมพ์).  พระราชธรรม  พระราชประวัติ  พระราชกรณียกิจ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย.  ม.ป.ท., 2543. (จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  และเพื่อให้พสกนิกรชาวสยามดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้า)

เปลื้อง  ณ นคร.  ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา.  พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช, 2523

คำสำคัญ