เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน

ศิลปะการใช้ภาษาและวรรณศิลป์ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1

ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย  

          แม้ว่าเรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงจะเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทยที่บันทึกด้วยลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงและเป็นลายสือไทยที่เก่าแก่มากก็ตาม  แต่ก็มีศิลปะการประพันธ์ที่ไพเราะ   มีคุณค่าเชิงภาษา  ทำให้ชนชาติไทย  มีภาษาเขียนอย่างเป็นทางการ    ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  และความเป็นปึกแผ่นในชนชาติไทย   ภาษาที่ใช้มีความไพเราะสละสลวย  มีลีลาท่วงทำนองที่น่าฟัง ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย  คล้องจองกัน   มีจังหวะและน้ำหนักที่สมดุลกันมาก  มีการเล่นเสียงพยัญชนะ  และใช้ภาพพจน์คำเปรียบเทียบ   ดังนี้

                    1. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย

                              ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสารไปยังคนหมู่มากที่มีความรู้ต่างระดับกัน คือจากผู้ปกครองไปสู่ชนชั้นใต้ปกครอง จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำราชาศัพท์ คำภาษาเขมร คำภาษาบาลี สันสกฤต  ใช้คำสามัญที่มีลักษณะเป็นภาษาพูดแทน ดังมีรายละเอียดดังนี้

                              1. การใช้คำพยางค์เดียวและเป็นคำไทยแท้

                                        ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มักใช้คำพยางค์เดียวและเป็นคำไทยแท้ เช่น ช้าง  ขอ  ลูก  เมีย  เยีย  ข้าว  ไพร่  ฟ้า  ข้า  ไท  ป่า  หมาก พลู ฯลฯ มีคำคู่บ้าง เช่น ป่าหมากป่าพลู มีถ้อยมีความ ได้เงือนได้ทอง ฯลฯ ภาษาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน

                              2. การใช้ประโยคความเดียว

                                        ภาษาในวรรณคดีสุโขทัยใช้รูปประโยคความเดียวขนาดสั้นหลายประโยคต่อเนื่องกัน โดยใช้คำเชื่อมต่าง ๆ น้อยกว่าภาษาสมัยปัจจุบันมาก รูปประโยคเช่นนี้ทำให้ต้องใช้ข้อความซ้ำกันในกลุ่มประโยคที่ต่อเนื่องกัน และเป็นการแจกแจงเรียงลำดับรายละเอียดของข้อมูลทีละส่วน เช่น

                     “พ่อกู ชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง

การใช้ประโยคความเดียวดังกล่าวทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายเพราะจับใจความและจดจำได้ง่ายเหมาะจะใช้สื่อสารไปยังคนหมู่มากได้ดี

                    2. ใช้ภาษาที่สร้างจินตภาพ

                              เป็นภาษาที่สร้างจินตภาพได้ชัดเจน ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างภาพขึ้นในใจได้ มีผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเห็นภาพและเชื่อถือตามข้อความที่เสนอมา วรรณคดีเรื่องนี้มีการใช้ภาษาที่สร้าง

จินตภาพ 3 ลักษณะ คือ การใช้คำให้เกิดภาพพจน์ การใช้ความเปรียบ และการอธิบายนามธรรมเป็นรูปธรรม

1.      การใช้คำให้เกิดภาพพจน์

ภาษาที่ใช้ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 งดงามทางด้านการให้ภาพพจน์ที่สามารถสื่อความ

ได้อย่างลึกซึ้ง คมคาย ตรงไปตรงมา ซึ่งพบการใช้ภาพพจน์ประเภทอุปมาเพียง ชนิดเดียว มีคำใช้เปรียบเทียบเพียงคำเดียวคือคำว่า ดั่ง เช่น   กูพร่ำบำเรอแก่พี่กูดั่งบำเรอแก่พ่อกู

                    2.  การใช้ความเปรียบ

                              การใช้ความเปรียบเป็นการโยงความรู้ของผู้อ่านเข้ากับประสบการณ์เดิมทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ เกิดจินตนาการดียิ่งขึ้น การใช้ความเปรียบในวรรณคดีสมัยสุโขทัย เช่น ตระพังโพยสีใสกินดีดังกินน้ำโขงเมื่อแล้ง เปรียบเทียบว่าน้ำในสระตระพังโพยสีใสเหมือนน้ำในแม่น้ำโขงหน้าแล้ง

                    3.  การอธิบายนามธรรมเป็นรูปธรรม

                    เมื่อต้องการอธิบายหรือขยายความสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งมักไม่มีคำไทยใช้ในสมัยนั้น ผู้แต่งก็มีวิธีการในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมโดยบรรยายให้ต่อเนื่องกันเป็นพวกหรือกลุ่ม เช่น เป็นเหตุการณ์หรืออาการที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนเพื่อสื่อความถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น

          การเข้ามาสวามิภักดิ์    ใช้คำว่า  ขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่

          การอนุเคราะห์ สถาปนารัฐ   ใช้คำว่า  ช่วยเหนือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มี

    ปั่วบ่มีนาง บ่มีเงือนบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวงเป็น   บ้านเป็นเมือง

(ศิลาจารึกบรรทัดที่  28 - 29 ด้านที่ 1   )

          ความยุติธรรม  ใช้คำว่า  แล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”   (ศิลาจารึกบรรทัดที่  26 ด้านที่ 1   )

               3. การใช้ภาษาที่มีความคล้องจอง

                              ภาษาในวรรณคดีเรื่องนี้ที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งคือมีการใช้คำที่มีความคล้องจองกัน เพื่อการฟัง ฉะนั้นการใช้คำคล้องจองจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้จำได้ง่ายขึ้น อีกประการหนึ่งการใช้คำคล้องจองก็อาจจะแสดงให้เห็นธรรมชาติของภาษาไทยที่ใช้คำคล้องจองในภาษาพูดอยู่แล้ว ลักษณะภาษาที่มีคำคล้องจอง ได้แก่

                              1.  การใช้คำสัมผัส   เช่น

                    เพื่อนจูงวัวไปค้า                    ขี่ม้าไปขาย

                    คนใดขี่ช้างมาหา          พาเมืองมาสู่    (ศิลาจารึกหลักที่ ๑)

                              2.  การซ้ำคำ

                                        การซ้ำคำทำให้ถ้อยคำเกิดจังหวะและช่วยเน้นย้ำข้อความทำให้เกิดจินตนาการและความรู้สึก เช่น

          ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น...

          ...มันบ่มีช้าง   บ่มีม้า    บ่มีปั่ว   บ่มีนาง    บ่มีเงือน   บ่มีทอง ให้แก่มัน   ช่วยมันตวง เป็นบ้านเป็นเมือง    ได้ข้าเสือก   ข้าเสือ    หัวพุ่งหัวรบก็ดี    บ่ฆ่าบ่ตี...

          ...ไพร่ฟ้าหน้าปก   กลางบ้านกลางเมือง    มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ    มันจักกล่าวเถิงเจ้า

เถิงขุนบ่ไร้...

                              3.  การซ้ำชุดคำ

                    การซ้ำชุดคำ คือ การซ้ำกลุ่มคำเดียวกันตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไปมีผลเช่นเดียวกันกับการซ้ำคำ เช่น  ...กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู...

          ...ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า...

                              4.  การใช้คำซ้อนที่คล้องจองกัน  เช่น

                                        1.  มีสัมผัสคล้องจองในคำซ้อน 

                    เจ็บท้องข้องใจ            ไพร่ฟ้าหน้าใส             ผิดแผกแสกกว้าง                  

                    ล้มตายหายกว่า           ตีหนังวังช้าง

                                        2.  มีการซ้ำคำซ้ำข้อความในคำซ้อน  เช่น

                    ข้าเสือกข้าเสือ                      ลูกเจ้าลูกขุน               มีถ้อยมีความ

                    หัวพุ่งหัวรบ                          ป่าหมากป่าพลู            กินอร่อยกินดี

          4.  การใช้คำภาษาต่างประเทศ

                    ภาษาต่างประเทศที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีสมัยสุโขทัย ได้แก่ ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร

          ตัวอย่าง คำภาษาเขมร    เช่น คำแหง  ทรง  บำเรอ

ตัวอย่าง

คำภาษาบาลี   เช่น  เจดี   สีล

ตัวอย่าง

คำภาษาสันสกฤต   เช่น  สมุทร  

ตัวอย่าง

คำภาษามอญ  เช่น ชวา  ม่าย

ตัวอย่าง

คำภาษาเปอร์เซีย  เช่น  ปสาน  Bazaar  (ตลาด)

          คำภาษาต่างประเทศที่ปรากฏในใน ศิลาจารึกหลักที่ 1 พบน้อยมาก

          5. การใช้คำเก่า

                    การใช้คำเก่าโบราณ และบางคำเป็นคำเก่าในภาษาถิ่น เช่น เถิง ท่วย แย้ม (หัว) เทียร ฯลฯ

                    จึงกล่าวได้ว่า  ศิลปะการใช้ถ้อยคำหรือความงามด้านวรรณศิลป์ในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง  มีความไพเราะสละสลวย  มีลีลาและท่วงทำนองที่น่าฟัง  มีการใช้ถ้อยคำทีคล้องจองกัน  คำมีจังหวะและน้ำหนักที่สมดุลกัน   มีการเล่นเสียงพยัญชนะและใช้ภาพพจน์ความเปรียบทำให้เกิดจินตภาพ   การใช้ภาษาอย่างมีวรรณศิลป์ดังกล่าวจึงทำให้หลักศิลาจารึกนี้  มีคุณค่าเป็นมรดกของชาติและเป็นมรดก

ความทรงจำโลก ตามที่ยูเนสโกได้ยกย่องไว้