การพัฒนาอย่างยั่งยืน คืออะไร

ผู้เขียนศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

การพัฒนาที่ยั่งยืน : ต้องทำอย่างไร

เพื่อตอบคำถามว่า อย่างไรเรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน? ผู้เขียนขออธิบายตามกรอบของกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (World Commission on Environment and Development) ที่ได้เขียนรายงานใช้ซึ่งเรียกว่า Our Commission Future

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) นี้ปรากฏว่าไปๆ มาๆ ก็ไปเน้นเป้าหมายเก่าอย่างเดิมนี่แหละ คือ เป้าหมายทางเศรษฐกิจ แต่ตั้งเงื่อนไขขึ้นมาโดยเอาสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นตัวคุมความเจริญทางเศรษฐกิจอีกทีหนึ่ง หมายความว่า ให้ความเจริญคู่กับสิ่งแวดล้อม (Environment) คือ มีปัจจัยอีกตัวหนึ่งเสริมเข้ามา ได้แก่ สิ่งแวดล้อม จึงมีการพัฒนา (development) คู่กับสิ่งแวดล้อมรองรับ หรือพูดอีกภาษาหนึ่งว่า เจริญไปโดยไม่รังแกธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น จึงมีศัพท์อีกคู่หนึ่งเข้ามา คือให้ “เศรษฐกิจ” คู่กับ “ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” หรือ “ระบบนิเวศ” ได้คำที่มาเข้าคู่กันอีกคู่หนึ่ง คือ คำว่า economy (เศรษฐกิจ) กับ ecology (นิเวศวิทย์) จำง่ายมาก ในลักษณะดังกล่าวต้องมาคิดว่าเราเห็นด้วยหรือไม่ว่าเพียงแค่ 2 คู่นี้ คือ เพียงให้เศรษฐกิจ (economy) กับนิเวศวิทย์ (ecology) มาคู่กันหรือการพัฒนา (development) กับสิ่งแวดล้อม (environment) มาคู่กันมักจะยั่งยืน (Sustainable) จริงหรือเปล่า

การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้มีลักษณะเป็นการพัฒนาที่เป็นบูรณาการ (Integrated) คือ ทำให้เกิดเป็นองค์รวม (holistic) หมายความว่าองค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกันครบองค์ และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ มีดุลยภาพ (Balance) ลักษณะที่เป็นบูรณาการ หรือทำให้เกิดองค์รวมเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เอาภารกิจคุ้มครองแหล่งธรรมชาติมาบูรณาการเข้ากับภารกิจในการแก้ไขบรรเทาปัญหาความยากจน ถ้าสองอย่างมาบูรณาการกันได้ ก็ถือว่าเป็นลักษณะการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจจะต้องถูกบูรณาการเข้าด้วยกัน อันนี้คือการบูรณาการ “ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจ” แล้วก็จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า ภาวะยั่งยืนในทางเศรษฐกิจและในทางสภาพแวดล้อมนั้นก็คือ การผูกสิ่งแวดล้อม (environment) กับการพัฒนา (development) เข้าด้วยกันอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น พูดอีกความหมายหนึ่งก็คือ “การทำให้กิจกรรมของมนุษย์สอดกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ” อันนี้เป็นความหมายที่ซ่อนลึกลงไปซึ่งเป็นตัวรากฐานของการ “พัฒนาแบบยั่งยืน”

สรุปได้ว่า เป็นอันว่าองค์การโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาทั้งหลายได้เห็นพร้อมกันว่าการพัฒนาแบบเดิมนั้นมีปัญหามาก จะนำโลกไปสู่หายนะแน่นอน ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นและกระบวนในการพัฒนาจะต้องเปลี่ยนหมด การพัฒนาในความหมายเดิมนั้นจะพูดอย่างไรก็ไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอุตสาหกรรม เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกระทั่งบางคนให้ความหมายของการพัฒนา (development) อย่างง่ายๆ ว่า คือ การเปลี่ยนสังคม จากสังคมก่อนอุตสาหกรรม มาเป็นอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ คือการทำให้เป็นอุตสาหกรรม เขาจึงใช้คำว่าประเทศอุตสาหกรรม (industrial country หรือ industrialized country) แทนคำว่าประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) ได้ คือ คำว่าประเทศพัฒนาแล้วก็มีความหมายเท่ากับประเทศอุตสาหกรรมนั่นเอง

ที่ว่ามานี้ คือ ทรรศนะขององค์การโลกตามความหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เพราะฉะนั้นสังคมใดจะพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมแบบเดิมก็ถือว่าผิดพลาดตามความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ที่องค์การโลกได้ประกาศขึ้นมานี้

เมื่อมีการวิเคราะห์สังเคราะห์พบว่า ความผิดพลาดนั้นมี 2 ส่วน คือ ความผิดพลาดในการพัฒนาอย่างหนึ่ง และความผิดพลาดในการจัดการกับสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง สองอย่างเท่านี้ไม่หนีไปไหน เพราะเขาบอกไว้แล้วว่าศัพท์สำคัญมี 2 คำ คือ “การพัฒนา” (development) กับ “สิ่งแวดล้อม” (environment) ซึ่งเรียกได้ว่า 1) ความผิดพลาดของการพัฒนา failure of development 2) ความผิดพลาดในการจัดการสิ่งแวดล้อม failure in the Management of our environment

จุดที่เป็นปัญหาคืออะไรก็นำจุดนั้นมาเป็นเป้าของการแก้ปัญหา เป้าของการแก้ปัญหาตามปกติก็ต้องเร่งไปที่ 3 ส่วนของปัญหาที่ผู้เขียนได้พูดถึงตอนต้นมาแล้ว คือ ก) เรื่องสิ่งที่หมดไป คือ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลง เรียกว่า depletion ข) เรื่องของเสียที่คนใส่เข้าไปให้แก่โลก จะเป็นสารพิษ หรืออะไรก็ได้ เช่น ขยะ เรียกว่า pollution ค) เรื่อง “คน” ที่เป็นผู้ก่อปัญหาเหล่านี้ เรียกว่า population

การแก้ปัญหาจะต้องพุ่งเป้ามาที่ 3 อย่าง คือ 1) Populationโดยเฉพาะ Overpopulation คือ ปัญหาประชากรที่มากจะล้นโลก ซึ่งจะต้องลด หรือควบคุมด้วยการ “วางแผนครอบครัว” เป็นต้น 2) Depletion คือ การร่อยหรอสูญสิ้นไปของทรัพยากรซึ่งจะต้องหยุดยั้งการทำลายทรัพยากร และฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา 3) Pollution คือ มลภาวะของเสียซึ่งต้องกำจัดทำให้ลดน้อยลง หรือทำให้หมดไป

จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ก็ต้องค้นหาเหตุปัจจัยแล้วจัดการตรงนั้น ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบในการแก้ปัญหามีอะไรบ้าง? ก็ดูที่การพัฒนาเดิมว่าทำกันมาอย่างไร ได้บอกแล้วว่า “แกนกลาง” ของการพัฒนาแบบเดิมก็มี “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับเศรษฐกิจ” เราก็เอาปัจจัยเหล่านี้แหละมาเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา กล่าวคือ 1) วิทยาศาสตร์ 2) เทคโนโลยี 3) กิจกรรมทางเศรษฐกิจ

วิทยาศาสตร์ : ก็ต้องค้นหาความรู้ที่จะเอามาใช้ป้องกันแก้ปัญหา เปลี่ยนจากแต่ก่อนนี้ที่มุ่งแต่ค้นหาความรู้ที่จะเอามาสร้างเทคโนโลยี สำหรับการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เพื่อจะเอาทรัพยากรมาใช้ ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์แบบรับใช้อุตสาหกรรม ต่อไปนี้จะแก้ปัญหาก็เอาวิทยาศาสตร์มาใช้ใหม่ ด้วยการค้นหาความรู้ในทางที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา

เทคโนโลยี : ก็ต้องมีทิศทางใหม่ คือ ทั้งผลิตและใช้ในความมุ่งหมายอย่างใหม่ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ให้เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง

เศรษฐกิจ : หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผลิตและการบริโภค เป็นต้น จะต้องเป็นไปในแนวทางที่ไม่ทำลายทรัพยากร ไม่ก่อของเสียมากเกินไป และมีการแบ่งปันเฉลี่ยรายได้ให้สม่ำเสมอ เพราะถ้าคนในโลกนี้มีรายได้ไม่สม่ำเสมอกัน เช่น ในโลกที่ด้อยพัฒนา ถ้าคนยากจนมากนัก ก็จะต้องไปบุกรุกทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป เช่น ทำลายป่า เป็นต้น แต่ถ้ามีการกระจายรายได้เฉลี่ยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่สม่ำเสมอกัน ก็จะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ตกลงว่า องค์ประกอบที่เป็นแกนกลางของการพัฒนาแบบเดิมที่เป็นปัญหานั้นแหละ เราก็นำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการแก้ปัญหาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้หันเหไปในทิศทางที่ถูกต้อง อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง จะต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ รวมอย่างนี้เป็นแกนกลางที่เราใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแบบย้อนกลับ เหมือนเอาหนามบ่งหนาม

แต่ในการดำเนินการในการแก้ปัญหายังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นด้วย โดยเฉพาะ “การเมือง” เช่น นโยบายของรัฐ การออกกฎหมาย การเก็บภาษีและงบประมาณ เป็นต้น และสำคัญที่สุดคือ “การศึกษา” ดังเคยเน้นมาแล้ว และจะพูดถึงอีกต่อไป

เรามามองดูว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ เขาทำกันอย่างไร? ปรากฏว่าในระหว่างนี้ มีคนคิดกันต่างๆ โดยทั้งพวกหัวใหม่และหัวเก่า

พวกหัวเก่าก็ยังยืนยันความคิดในแบบการแก้ปัญหาแบบเดิม มนุษย์เรามีความสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ไม่ต้องกลัว เพราะฉะนั้นก็ทำไปตามวิถีเดิมๆ คือ ผลิตและบริโภคต่อไปอย่างเดิมนั้นแหละ ความปรารถนาเพราะมีความหวังว่า เมื่อเรารู้ปัญหาอย่างนี้แล้ว เราจะสามารถผลิตเทคโนโลยีแก้ปัญหาได้ทั้งหมด โดยผลิตเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม และเอาเทคโนโลยีบางอย่างมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาขยะ ต่อไปไม่ยากถ้าใช้เทคโนโลยีปริวรรต (recycle) เสียทำให้มันกลายเป็นของดี

นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางชีววิทยา (biotechnology) ที่กำลังเจริญมากขณะนี้ก็เป็นความหวังอันหนึ่งของมนุษยชาติที่สามารถเปลี่ยนยีนของมนุษย์ สัตว์ พืชได้ เราก็สร้างพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ขึ้นมาใหม่ขึ้นมาให้มีพืชชนิดที่มีผลผลิตเหลือเฟือกันต่อไป แล้วก็ไม่ต้องกลัวปัญหามลภาวะ เราใช้เทคโนโลยีแก้ไขได้ เพราะฉะนั้น ก็กินใช้กันต่อไปตามเดิมไงเล่าครับ (ติดตามวิธีพัฒนาที่ยั่งยืนที่ยอมรับกันทั่วไป ฉบับหน้า)