ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ด้านนวัตกรรม

หากผู้อ่านได้เคยอ่านการทูตระดับท้องถิ่น: บทเรียนความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ญี่ปุ่นตอนที่ 1 มาแล้วคงจะได้เห็นภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่นตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นในไทย ลักษณะความสัมพันธ์ในปัจจุบันของไทยกับญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถดำเนินบทบาทเชิงรุกในการจัดกิจกรรมในไทยซึ่งเป็นบทเรียนที่ทำให้ไทยควรจะสร้างบทบาทและเสริมความแข็งแกร่งให้กับท้องถิ่นมากขึ้น และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ในตอนที่ 2 เราจะมาดูตัวอย่างความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่นที่น่าสนใจ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงบทบาทของหน่วยงานทั้งฝ่ายไทย และญี่ปุ่นมากขึ้น

สำหรับหลักเกณฑ์ในการจับคู่เมืองของทั้งสองฝ่ายนั้น ปกติแล้วจะพิจารณาโดย 2 รูปแบบหลัก แบบแรกคือเลือกเมืองที่มีความต้องการหรือผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น เพื่อพัฒนาการค้า การลงทุน หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือต้องการที่จะแก้ไขปัญหาระหว่างกัน ซึ่งบางเมืองอาจเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจ บางเมืองอาจเน้นการรักษาสภาพแวดล้อม แบบที่สองคือ เลือกเมืองที่มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น เทศบาลนครยโสธร จังหวัดยโสธร และเมืองชิชิบุ จังหวัดไซตามะมีวัฒนธรรมประเพณีจุดบั้งไฟเหมือนกัน ทั้ง 2 เมืองจึงสถาปนาความสัมพันธ์เป็น “เมืองคู่แฝดทางวัฒนธรรม” (twin cities) ระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ด้านนวัตกรรม

ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่นที่น่าสนใจ ตัวย่างเช่น กรุงเทพมหานคร-จังหวัดฟุคุโอคะ(Fukuoka) ที่สถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร (friendship relations) ระหว่างกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากนายวาตารุ อาโสะ (Wataru Aso) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฟุคุโอคะที่มีความกระตือรือร้นในการสร้างความสัมพันธ์กับเมืองในต่างประเทศ และกรุงเทพมหานครก็เป็นหนึ่งในเมืองที่จังหวัดฟุคุโอคะ(Fukuoka) ได้เข้ามาสานความสัมพันธ์ด้วยในสาขาต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการพัฒนาเยาวชน และในปัจจุบันจังหวัดฟุคุโอกะมีความโดดเด่นในหลายด้าน มีนโยบายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้การบริหารจัดการสังคมผู้สูงอายุ และมีนโยบายสร้างเมืองที่สะดวกสบายสาหรับผู้สูงอายุ (Comfortable City for Elderly) อีกทั้งมีการจัดฝึกอบรมและต้อนรับการเยือนจากหลายประเทศในเอเชีย

ในด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดฟุคุโอคะมีเมืองคิตะคิวชูซึ่งเป็นเมืองนิเวศน์ (Eco-Town) 10 ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติเนื่องจากประสบความสาเร็จในการกำจัดมลพิษในสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลกระทบจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในทศวรรษ 1960 เมืองคิตะคิวชูได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนเมืองสีเทา (Gray City) ให้เป็นเมืองสีเขียว (Green City) ได้สำเร็จในทศวรรษที่ 1970 เมือง คิตะคิวชูมียุทธศาสตร์ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่ช่วยในการลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย


จังหวัดฟุคุโอคะยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเกมส์ ยานยนต์ เซมิคอนดัคเตอร์ เป็นต้น และมีความต้องการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิตัล เนื่องจากมีบริษัทด้านดิจิตัลเข้ามาลงทุนในจังหวัดฟุคุโอคะมาก และด้วยความโดดเด่นในหลายด้านของจังหวัดฟุคุโอกะ ทำให้กรุงเทพมหานครเองก็ต้องการสานสัมพันธ์กับจังหวัดฟุคุโอคะ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถนำความรู้ รวมถึงประสบการณ์ในเรื่องต่างๆมาประยุกต์ใช้ได้ เป็นทางลัดที่ทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณในการลองผิดลองถูก เพราะสำหรับจังหวัดฟุคุโอกะ นอกจากเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ก็มีความตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้ในสิ่งที่จังหวัดฟุคุโอคะเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่จังหวัดฟุคุโอคะประสบมาก่อน เพื่อให้กรุงเทพมหานครทางานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็คือด้านการบริหารจัดการสังคมผู้สูงอายุ และ ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ประเด็นสังคมผู้สูงนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองในขณะนี้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ และจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมในทุกด้าน ซึ่งในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครอยู่ในระหว่างศึกษาข้อเสนอของจังหวัดฟุคุโอคะที่เรียกว่า “ฟุคุโอคะโมเดล (Fukuoka Model)” จังหวัดฟุคุโอคะได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และคำแนะนาเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้าน พร้อมกับจัดทำข้อเสนอระบบเทคโนโลยีที่ช่วยในการดูแลผู้สูงอายุให้กับแต่ละชุมชนใน กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานโครงการ “การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกันในกรุงเทพมหานคร” (Preventive Long – Term Care) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกัน เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุให้กับบุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร และชุมชน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ด้านนวัตกรรม

ในประเด็นความร่วมมือที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการป้องกันภัยพิบัติได้มีการจัดอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมของฟุคุโอคะที่กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมจากทั้งจากจังหวัดฟุคุโอคะและฝ่ายไทยมาบรรยาย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีการแปลหนังสือประกอบการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งใช้ในโรงเรียนประถมของจังหวัดฟุคุโอคะเป็นภาษาไทยเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร (Provision of Supplementary Readers on Environmental Education) นอกจากนี้จังหวัดฟุคุโอคะ ยังมีความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางด้านวิชาการในการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบฝังกลบขยะมูลฝอยชุมชนสาหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก (Waste Landfill Planning Assistant for Thailand) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศอีกด้วย


จังหวัดฟุคุโอกะ มีการจัดตั้งสำนักงานในกรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2010  เพื่อสนับสนุนธุรกิจของจังหวัดฟุคุโอคะในไทยรวมถึงประเทศอื่นๆในอาเซียน มีการให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลแก่บริษัทท้องถิ่นตนที่ต้องการมาลงทุนในไทย หรือที่ได้ประกอบกิจการในไทยแล้ว และมีการจัดทำ Facebook ที่ชื่อว่า “Fukuoka Prefectural Government Japan, Bangkok Office” เพื่อประชาสัมพันธ์การทำกิจกรรมของจังหวัดในไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการประสานงานความร่วมมือระหว่างจังหวัดฟุคุโอคะกับฝ่ายไทยและจัดกิจกรรมด้านต่างๆ

ในด้านการท่องเที่ยว เช่น การไปออกบูทในงาน Fair ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจังหวัดฟุคุโอคะ ทั้งงาน Fair ที่หน่วยงานไทยและหน่วยงานญี่ปุ่นจัดขึ้น การจัดทำ Facebook ที่ชื่อว่า “Fukuoka วันนี้” มีจัดการเล่นเกมชิงรางวัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวใน Facebook การจัดโครงการ Fukuoka Fam Trip ซึ่งเป็นโครงการแนะนาสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก และร้านอาหารต่างๆในจังหวัดฟุคุโอคะโดยมีบริษัททัวร์เข้าร่วม เป็นต้น

ด้านส่งเสริมการศึกษาในจังหวัดฟุคุโอคะ เช่น การออกบูทเกี่ยวกับการศึกษาในจังหวัดฟุคุโอคะในงา Japan Education Fair (Thailand) เพื่อประชาสัมพันธ์สถาบันการศึกษาในจังหวัดฟุคุโอคะ การจัดงาน “Japan-Fukuoka Day” ในโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร

รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่น งาน S Kawaii Festival! and Girls Contest with Fukuoka Cool Japan งาน Fukuoka Cool Japan Faco in Bangkok การประกวด Thai Kawaii Ambassador ซึ่งเป็นโครงการคัดเลือกเด็กสาวชาวไทยมาทาหน้าที่เป็นทูตไมตรีเผยแพร่แฟชั่นคาวาอี้ (Kawaii) ของญี่ปุ่นออกสู่เอเชียผ่านทางเว็บไซต์และนิตยสารแฟชั่น รวมทั้งเดินแฟชั่นโชว์ที่จังหวัดฟุคุโอคะ

สำหรับในอนาคต ทางฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้นักธุรกิจของฟุคุโอคะเข้ามาลงทุน ในโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจังหวัดฟุคุโอคะจะนำโครงการ EEC ไปเผยแพร่ให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการสานสัมพันธ์ให้มากขึ้นในทุกมิติ

จากบทเรียนความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมประเด็นอื่นทั้งทางด้านสังคม และ สิ่งแวดล้อมอีกด้วย ไทยจึงควรรักษาความสัมพันธ์อันดีนี้ไว้ และนำประสบการณ์ที่ได้จากญี่ปุ่นมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น

————————————————————–

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “ความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น :สถานะและความเป็นไปได้ในอนาคต”

หัวหน้าโครงการ: กิตติ ประเสริฐสุข และคณะ
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เรียบเรียง กมลพรรณ แดงเปี่ยม กราฟิก ณปภัช เสโนฤทธิ์ตรวจภาษาและความถูกต้อง ญาณิตา เหลืองคงอยู่