ความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่น 2565

ไทย-ญี่ปุ่น : คิชิดะ ฟูมิโอะ นายกฯ ญี่ปุ่น เยือนไทย ในโอกาส 135 ปี สัมพันธ์ 2 ชาติ

1 พฤษภาคม 2022

ความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่น 2565

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่าง 1 - 2 พ.ค. 2565 ถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายคิชิดะหลังเข้ารับหน้าที่เมื่อ พ.ย. 2564

รัฐบาลไทย จัดพิธีต้อนรับ นายคิชิดะ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 2 พ.ค. เวลา 16.00 น. ก่อนร่วมหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ ซึ่งจะมี พิธีลงนามความตกลงในวันเดียวกัน ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพ

  • นายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น รับปากกระจายความมั่งคั่งด้วย "ทุนนิยมใหม่"
  • การบุกยูเครนจะทำให้ญี่ปุ่นหานิวเคลียร์มาใช้หรือไม่
  • ยูนิโคล่กลับลำ หลังถูกวิจารณ์หนัก ยุติธุรกิจในรัสเซียชั่วคราว
  • เรื่องน่ารู้ของ ฟูมิโอะ คิชิดะ ว่าที่นายกฯ ญี่ปุ่นอีกสมัย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่าง 1 - 2 พ.ค. 2565

การเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีขึ้นในโอกาสการครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และ 10 ปีของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ รวมถึงเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองโอกาสครบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นใน 2566

บีบีซีไทยรวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นในกิจการด้านต่าง ๆ

ญี่ปุ่น ปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย

ภายหลังจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ปรับมาตรการเดินทางเข้าเมือง ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยและฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มตามข้อกำหนดของญี่ปุ่น จะได้ผ่อนผันไม่ต้องกักตัว มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป

การอนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้เพิ่มเติม ได้แก่ ผู้เดินทางระยะสั้น (ต่ำกว่า 3 เดือน) เพื่อดำเนินธุรกิจและทำงาน ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นใหม่เพื่อพำนักในญี่ปุ่นระยะยาวต้องยื่นคำร้องขอวีซ่า อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้

ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 ญี่ปุ่นระงับการยกเว้นวีซ่าเข้าญี่ปุ่น 15 วันสำหรับคนไทยชั่วคราว และยกเลิกวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูต-สถานกงสุลใหญ่ออกให้ก่อน 28 มี.ค. 2563

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อย้อนดูการเปิดรับการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น การยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวให้แก่คนไทยเป็นเวลา 14 วัน เกิดขึ้นในปี 2556 ในสมัยนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ โดยไทยเป็นชาติที่ 4 ของอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย

หลังจากยกเว้นวีซ่าแล้ว สถิติคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า จากเดิมระหว่างปี 2553-2555 มีตัวเลขปีละตั้งแต่ 140,000-260,000 คน ปี 2556 เพิ่มเป็น กว่า 400,000 คน

เว็บไซต์มาร์เกตเทียร์ ออนไลน์ (marketeeronline) รายงานตัวเลขของปี 2560 โดยอ้างอิงจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) พบว่าใน 2 เดือนแรกของปี 2561 นั้น มี คนไทยเที่ยวญี่ปุ่น ถึงเดือนละ 82,000 คน พอถึงสิ้นปี JNTO ได้ประกาศตัวเลขสถิติว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ย. 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นเกิน 1,000,000 คน ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวิติศาสตร์การท่องเที่ยวระหว่างไทยและญี่ปุ่น

สองนายกฯ คุยอะไรกันบ้าง

เพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า สรุป 6 ประเด็นสำคัญ ในการหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อ 2 พ.ค. จากเอกสารแถลงข่าวฉบับเต็ม ดังนี้

  • การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย - ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และครบรอบ 10 ปี หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย - ญี่ปุ่น
  • การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย - ญี่ปุ่น ระยะ 5 ปี ทั้งในด้านความเชื่อมโยงด้าน supply chain ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย
  • การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต่างเห็นพ้องเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น
  • การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม รวมถึงการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการยุติธรรมระหว่างกัน
  • การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค อาทิ การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ญี่ปุ่น และกรอบ ACMECS
  • การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเน้นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด

ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย

ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น รายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เมื่อต้นปี 2564 ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยและไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของญี่ปุ่นโดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2563 กว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความสัมพันธ์ทางการค้าอันยาวนานของไทย มีขึ้นในยุคแรก เมื่อสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม อันเป็นยุคที่หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2497

  • เรื่องน่ารู้ของ ฟูมิโอะ คิชิดะ ว่าที่นายกฯ ญี่ปุ่นอีกสมัย
  • แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎรกับ "เจแปนโมเดล"

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในหอการค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 1,685 บริษัท ณ สิ้นสุดปี 2564 โดยสัดส่วนของอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตที่บริษัทผลิตในประเทศและสำนักงานญี่ปุ่นที่มีถิ่นฐานในไทย 44.2% บริษัทผลิตในประเทศ 43.3% การพาณิชย์และการค้าระหว่างประเทศ 21.8% ยานต์ยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 13.9% เครื่องใช้ไฟฟ้าละเครื่องจักร 11%

นอกจากหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ แล้ว ยังมีองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization-JETRO) หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2502 อันมีส่วนผลักดันเพิ่มการนำเข้าของสินค้าไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นและเผยแพร่บรรยากาศที่ดีของการลงทุนในประเทศไทย

ในด้านสถานการณ์การลงทุน รายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุสถิติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปี 2562 ญี่ปุ่นมีโครงการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดสัดส่วน 23% จำนวน 227 โครงการ มูลค่า 73,102 ล้านบาท ในกิจการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรกล และธุรกิจบริหาร

ด้านบริษัทไทยที่ไปลงทุนที่ญี่ปุ่นในสินค้าอาหารได้แก่ ซีพีเอฟ เบทาโกร พีเคสยาม นอกจากนี้ยังมีสินค้าสปา เสื้อผ้า และโรงแรม เป็นต้น

ที่มาของภาพ, AFP/Gett Images

คำบรรยายภาพ,

โรงงานประกอบและผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดญี่ปุ่น ปี 2563

  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2,158 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ไก่แปรรูป 1,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 903.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 874 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เคมีภัณฑ์ 702 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น ปี 2563

  • เครื่องจักรและส่วนประกอบ 4,707 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 3,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 3,216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ 2,926 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เคมีภัณฑ์ 2,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศว่าธำรงสัมพันธภาพมานานยาวกว่า 600 ปี มิตรภาพระหว่างประเทศทั้งสอง แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง เมื่อ ก.ย. 2550 ญี่ปุ่นและไทยได้จัดงานฉลองครบรอบ 120 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 2430

ไทยและญี่ปุ่นยังมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศเป็นพื้นฐาน ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เติบโตแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวกิจการของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยนับแต่ทศวรรษ 60

ในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยหลายด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การให้กู้เงินเยนรวมถึงโครงการมิยะซะวะ การให้เงินสินเชื่อของธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งญี่ปุ่น การให้การรับประกันการค้า ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นต้น ความช่วยเหลือเหล่านี้มีมูลค่ากว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับแรกในหมู่ประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ยังได้บันทึกเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนของบุคคลสำคัญของทั้งสองประเทศ ได้แก่

ปี 2543 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงร่วมพระราชพิธีศพสมเด็จพระราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น และทรงเป็นพระราชอาคันตุกะพระองค์เดียวจากต่างประเทศที่ทรงได้เข้าร่วมงานพิธี

ปี 2544 เดือน ส.ค. เจ้าชายอากิชิโนและเจ้าหญิงคิโกะ เสด็จมาประเทศไทยเพื่อทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ต่อมาเดือน ก.ย. กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยกักคุชูอิน

ด้านการแลกเปลี่ยนการเยือนของระดับผู้นำประเทศ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2542 นายเคอิโซ โอบุชิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสการมาเยือนประเทศอาเซียน หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยอีกหลายคนยังมีการสานสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเรื่อยมา เช่น ปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ และหารือกับจุนอิชิโร โคะอิซุมิ นายกฯ ญี่ปุ่นในสมัยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2561