พัฒนาการ ด้าน การเมือง การปกครอง สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง

การสถาปนาพระราชวงศ์จักรี
และการสถาปนา
กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

1.1 การสถาปนาพระราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ภายหลังที่ได้ทรงกลับจากกรุงกัมพูชาเพราะในกรุงธนบุรีเกิดจลาจล เมื่อถึงกรุงธนบุรี บรรดาขุนนางทั้งน้อยใหญ่ทั้งหลายก็พากันอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ เรียกร้องให้แก้ไขวิกฤตการณ์ พร้อมกันนั้นก็พากันอัญเชิญให้พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยสืบต่อไป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325

ภายหลังสถานการณ์ได้กลับคืนสู่ความสงบปกติดังเดิมแล้ว สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกทรงพิจารณาเห็นว่า ก่อนจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมควรจะย้ายราชธานีไปอยู่ฝากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสียก่อน บริเวณที่ทรงเลือกสำหรับสร้างพระราชวังขึ้น เคยเป็นสถานที่การค้าขายกับชาวต่างประเทศในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีนามเดิมว่า “บางกอก” ซึ่งในขณะนั้นเป็นทำเลที่อยู่ของชาวจีน เมื่อได้ที่ดังกล่าว ทรงชดเชยค่าเสียหายให้พอสมควรแล้ว ทรงขอให้ชาวจีนย้ายไปอยู่สำเพ็ง เมื่อชาวจีนอพยพไปแล้ว บริเวณที่ดินที่เหลือเป็นที่ว่างจึงโปรดให้สร้างรั้วไม้แทนกำแพงขึ้น และสร้างพลับพลาไม้ขึ้นชั่วคราว เพื่อจะได้ทรงจัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้อย่างรวดเร็วในบริเวณที่จะทรงก่อสร้างพระราชวัง และพระราชธานีเป็นการถาวรต่อไป

หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2325 ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา ได้ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกขึ้นเป็น “ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี” ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ” แต่ในสมัยปัจจุบันผู้คนนิยมเรียกพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”

ในเวลาเดียวกันนั้นก็ได้ทรงสถาปนาเจ้าพระยาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชา เป็นพระมหาอุปราชากรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่าตำแหน่งวังหน้า และทรงสถาปนาพระยาสุริยอภัย พระราชนัดดา เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เวศน์ แต่ภายหลังทรงเห็นว่ายังไม่สมควรแก่ความชอบที่มี จึงโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็น… “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” หรือที่เรียกว่าตำแหน่งวังหลัง และได้ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร นอกจากนี้จึงได้ทรงสถาปนาพระยาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายขึ้นเป็นเจ้าโดยถ้วนหน้าทั่วทุกพระองค์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 แต่ในขณะนั้นยังมิได้สร้างพระราชวังใหม่ ได้ประทับพระองค์พระราชวังเดิมไปก่อน ต่อมาภายหลังเมื่อได้ลงมือก่อสร้างพลับพลาที่ประทับในบริเวณฟากตะวันออก และได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2325 แล้วการก่อสร้างพระราชวังเป็นราชธานีแห่งใหม่ได้ดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2328 หลังจากนั้นได้โปรดให้มีการสมโภชพระนคร และทำพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ได้พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ หรือที่คนยุคปัจจุบันเรียกว่า…กรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

1.2 สาเหตุการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้งที่กรุงรัตนโกสินทร์ :
การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้งอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์ มีเหตุผลดังนี้
1) เมืองธนบุรีเป็นเมืองที่มีการสร้างป้อมปราการเอาไว้ทั้งสองฝั่ง โดยเอาแม่น้ำไว้กลางเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก มีประโยชน์ก็ตรงที่อาจเอาเรือรบไว้ในเมือง เมื่อเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด แต่การรักษาเมืองคนข้างในจะถ่ายเทกำลังเข้ารบพุ่งรักษาหน้าที่ได้ไม่ทันท่วงที เพราะต้องข้ามแม่น้ำ แต่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งกว้างและลึกจึงทำสะพานข้ามไม่ได้ ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนครจะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้ 2) กรุงธนบุรีอยู่ในท้องทุ่ง น้ำเซาะทำให้ตลิ่งพังได้ง่าย 3) บริเวณพระราชวังเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีคับแคบไม่สะดวกต่อการขยายพระราชวังให้กว้างออกไป เพราะถูกขนาบด้วยวัดอรุณราชวรารามและวัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด)

1.3 เหตุผลการเมืองทำเลที่ตั้งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา :
กรณีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปรารถนาเลือกบริเวณฟากตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชธานีแห่งใหม่ ที่มีความเหมาะสมกว่าที่ตั้งกรุงธนบุรีเดิมนั้นพอสรุปเหตุผลได้ดังนี้
1) ทางฝั่งกรุงเทพฯ เป็นชัยภูมิเหมาะ เพราะเป็นหัวแหลม ถ้าสร้างเมืองแต่พวกเดียวจะได้แม่น้ำใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตกและด้านใต้ เพียงแต่ขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น ถึงแม้ว่าข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้ 2) เนื่องด้วยทางฝั่งตะวันออกนี้พื้นที่นอกคูเมืองเดิมเป็นที่ลุ่มที่เกิดจากการตื้นเขินของทะเล ข้าศึกจะยกทัพมาทางนี้คงจะกระทำได้ยาก ฉะนั้นการป้องกันพระนครจะได้มุ่งป้องกันเพียงด้านฝั่งตะวันตกเพียงด้านเดียว 3) ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ใหม่ สันนิษฐานว่าชุมชนใหญ่ในขณะนั้นคงมีแต่ชาวจีนที่เกาะกลุ่มกันใหญ่ จึงเป็นการยากที่จะหาพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างพระราชวังให้เป็นศูนย์กลางการปกครองเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา

ลักษณะการปกครอง
ราชอาณาจักร
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2325-2394)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดการปกครองราชอาณาจักรยังคงยึดถือประเพณีการปกครองตามแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยกรุงธนบุรี มีการปรับปรุงบ้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งสมุหกลาโหมจะได้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ ดังรายละเอียดดังนี้

2.1 การปกครองส่วนกลาง : การปกครองส่วนกลางนั้นมีการแบ่งหน้าที่หน่วยราชการมีคุมบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การบังคับบัญชาของเสนาบดีเป็น 6 กรม คือ
1) กรมมหาดไทย มีอัครเสนาบดีตำแหน่งสมุหนายกเป็นผู้บังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบในบริหารฝ่ายทหารและพลเรือนในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ยศและราชทินนามของสมุหนายก ได้แก่ พระยารัตนพิพิธ และเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เป็นต้น 2) กรมกลาโหม มีอัครเสนาบดีตำแหน่งสมุหพระกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบในราชการฝ่ายทหารและพลเรือนในหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด ยศและราชทินนามของสมุหพระกลาโหม ได้แก่ เจ้าพระยามหาเสนาบดี 3) กรมเมือง มีพระยายมราชเป็นเสนาบดี มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ตัดสินคดีความต่างๆ ในเขตราชธานี 4) กรมวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดี มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบราชการที่เกี่ยวข้องกับพระราชมณเฑียร พระราชวัง พระราชพิธีต่างๆ และตัดสินคดีความเขตพระราชวัง 5) กรมท่า มีเจ้าพระยาพระคลังเป็นเสนาบดี มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์หลวง ติดต่อรับรองชาวต่างประเทศที่มาติดต่อค้าขายและดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเล ฝั่งตะวันออกด้วย 6) กรมนา มีพระยาพลเทพเป็นเสนาบดี มีหน้าที่รักษานาหลวง เก็บข้าวดำนาจากราษฎรรวม พิจารณาคดีเกี่ยวกับพื้นที่และโคกระบือด้วย

2.2 การปกครองในส่วนภูมิภาค : รูปแบบการปกครองในส่วนภูมิภาคนั้น การควบคุมบังคับบัญชาหัวเมืองต่างๆ ส่วนภูมิภาคจะขึ้นกับ “อัครเสนาบดี” ทั้งสองตำแหน่ง คือสมุหนายก และสมุหพระกลาโหม กับเสนาบดีกรมท่า ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และหัวเมืองชายทะเล ฝั่งตะวันออกดังได้กล่าวแล้วตอนต้น
นอกจากนี้หัวเมืองต่างๆ เหล่านี้ยังแบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆ ตามความสำคัญทางยุทธศาสตร์และราษฎร ดังนี้

1.หัวเมืองชั้นใน เป็นหน่วยปกครองที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง มีฐานะเป็นเมืองจัตวา มีเจ้าเมืองหรือผู้รั้งเมืองดูแล 2.หัวเมืองชั้นนอก แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ 1) หัวเมืองใหญ่ : ประกอบด้วย หัวเมืองที่อยู่ห่างไกล แบ่งออกเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี หัวเมืองเหล่านี้อยู่ใต้การปกครองของเมืองหลวง 2) หัวเมืองชั้นรอง : หัวเมืองขึ้นกับหัวเมืองใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันมีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแล 3) หัวเมืองชายแดน : หัวเมืองต่างชาติต่างภาษาอยู่ชายแดนติดกับประเทศอื่น ให้เป็นเมืองประเทศราช มีเจ้านายชนชาตินั้นทำการปกครองกันเองตามจารีตประเพณีของชนชาตินั้นๆ

การปกครองในท้องที่ต่างๆ คงอาศัยตามแบบประเพณีสำคัญ คือ ประกอบด้วย “หมู่บ้าน” หรือ “บ้าน” แต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ใหญ่บ้านซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้งเป็นหัวหน้า หลายหมู่บ้านรวมเป็น “ตำบล” แต่ละตำบลจะมี “กำนัน” ซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้งเป็นหัวหน้า ตัว “กำนัน” จะมีบรรดาศักดิ์เป็น “พัน” หลายตำบลรวมกันเป็น “แขวง”

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคนั้น :

พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้แต่งตั้ง “เจ้าเมือง” และ “ยกกระบัตรเมือง” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงตัดทอนอำนาจเจ้าเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการที่สำคัญๆ ทุกตำแหน่ง เป็นตำแหน่งปลัด จะได้รับการแต่งตั้งจากกรมมหาดไทย กรมกลาโหม หรือกรมท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับเขตการปกครองที่เมืองนั้นๆ ตั้งอยู่ ตำแหน่งมหาดไทยแต่งตั้งจากกรมมหาดไทย ตำแหน่งยกกระบัตรและข้าราชการอื่นๆ แต่งตั้งทางกรมวัง ข้าราชอื่นๆ เช่น เมือง วัง คลัง นา ก็ได้รับการแต่งตั้งทางกรมที่มีชื่อเดียวกันจากในกรุงเทพฯ แม้ข้าราชการแขวงก็ได้รับการแต่งตั้งจากเมืองหลวงเช่นกัน

สภาพกระบวนยุติธรรม
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2325-2394)

สืบเนื่องกฎหมายไทยต้องสูญหายถูกทำลายไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310 เป็นอันมาก ดังนั้นเมื่อมายุคกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้รวบรวมกฎหมายมาตรวจชำระ เลือกเอาแต่ที่จะใช้ตรวจทานให้ตรงกันแล้วเขียนเป็นฉบับหลวงขึ้น 3 ฉบับ ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว เป็นสำคัญทุกเล่มสมุด และโปรดให้รักษาไว้ที่หอหลวงศาลาลูกขุนในและศาลแห่งละฉบับ ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่จะขอลอกคัดสำเนาเอาไปได้แต่ในการชี้ขาดถือเอาฉบับหลวงเป็นสำคัญในด้านการร่างพิจารณาและพิพากษาคดีคงยึดตามประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการใช้บุคคลจำพวกเป็นพนักงานตุลาการ คือ พราหมณ์ ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและขุนนางฝ่ายไทย พราหมณ์จึงเป็นชาวต่างประเทศจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวงมี 12 คน มีหัวหน้าเป็นพระมหาราชครูปุโรหิต และพระมหาราชครูมหิธร คือ ศักดินาเจ้าพระยา หน้าที่ของลูกขุน ณ ศาลหลวงชี้ขาดกฎหมาย และจะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับพนักงานที่เป็นไทย
การปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคปรับปรุงประเทศเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบในตะวันตก

1.การปรับปรุงการเมืองการปกครองในรัชกาลที่ 4
1.1 สาเหตุการปรับปรุงการปกครอง : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มปรับปรุงการปกครองให้สอดคล้องกับแนวคิดตะวันตก เพราะสาเหตุดังนี้ 1) ทรงได้รับแนวคิดจากตะวันตกซึ่งพระองค์มีโอกาสได้สัมผัสและคุ้นเคยด้วย 2) ทรงพยายามปรับปรุงการปกครองเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย และเป็นพื้นฐานที่จะได้มีการเปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อรักษาเอกราชของประเทศชาติให้พ้นจากการครอบครองของประเทศตะวันตกที่กำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในขณะนั้น

1.2 ลักษณะปรับปรุงการปกครอง : รัชกาลที่ 4 ทรงริเริ่มปรับการปกครองเท่าที่ทรงสามารถกระทำได้ดังนี้ คือ
ประการที่ 1 ออกประกาศต่างๆ ให้ราษฎรได้ทราบที่เรียกว่า… “ประกาศรัชกาลที่ 4” เพื่อให้ราษฎรได้ทราบและข้าราชการได้ทราบถึงระเบียบแบบแผนการปฏิบัติของผู้คนในสังคมอย่างถูกต้อง ประการที่สอง โปรดให้ราษฎรเข้าเฝ้าถวายฎีกาแด่พระองค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เดือนละ 4 ครั้ง และโปรดให้ตุลาการชำระความให้สำเร็จโดยเร็ว ประการที่สาม ที่สำคัญมาก คือ ทรงประกาศให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการทำการเลือกตั้งตำแหน่ง “มหาราชครูปุโรหิตจารย์” และตำแหน่ง “พระมหาราชครูมหิธร” อันเป็นตำแหน่งที่ว่างลง แทนที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งด้วยอำนาจของพระองค์เอง นับเป็นก้าวใหม่ของการ “เลือกตั้ง” ข้าราชการบางตำแหน่ง และประการสุดท้ายที่สำคัญยิ่ง คือทรงเปลี่ยนแปลงพิธีถวายน้ำพิพัฒน์สัตยา ด้วยการที่พระองค์ทรงเสวยน้ำพิพัฒน์สัตยาร่วมกับข้าราชการและทรงปฏิญาณความซื่อสัตย์ของพระองค์ต่อข้าราชการทั้งปวงด้วย เพระแต่เดิมบรรดาขุนนาง ข้าราชการเป็นผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณแต่เพียงฝ่ายเดียว

นับได้ว่าพระองค์ทรงมีความคิดที่ทันสมัยและก้าวหน้า ให้ทัดเทียมกับชาวตะวันตก คือ ความเท่าเทียมกัน Equity ไงเล่าครับ

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีพัฒนาการด้านการเมืองการปกครองอย่างไร

- การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด - การปกครองส่วนกลาง มีลักษณะดังนี้ คือ มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง และมีจตุสดมภ์ทั้ง 4 ฝ่าย ภายใต้การดูแลของสมุหนายก - การปกครองส่วนภูมิภาค ได้มีการแบ่งหัวเมืองเป็น 3 ประเภท คือหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช

การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ มีรูปแบบใด

ลักษณะการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึง รัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยโดยมีมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการปกครองแบบใด

แม้ว่าการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์จะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระราชกรณียกิจบางประการของพระมหากษัตริย์ก็ถือได้ว่าเป็นการปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในสมัยพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินการดังต่อไปนี้

พัฒนาการด้านต่างๆของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ มีอะไรบ้าง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์อาจแบ่งได้เป็น 3 ยุคคือ - ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการป้องกันและฟื้นฟูบ้านเมือง.
พัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครอง ... .
พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ ... .
พัฒนาการทางด้านสังคม.