ความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีผลต่อการจัดการ

ความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม

ความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นเป็นประสงค์หลักประการหนึ่งของปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อปี 2510 โดยในปฏิญญากรุงเทพฯ ได้กล่าวถึง ความร่วมมือในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านสังคม และวัฒนธรรม ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกนั้น การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในระดับประชาชน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช จากประเทศอาณานิคมตะวันตก

จริงอยู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการติดต่อค้าขาย และดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันมาช้านาน ตลอดหลายศตวรรษไม่มีใครที่เป็นคนแปลกหน้าระหว่างกัน แต่ในช่วงยุคอาณานิคมทำให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ห่างเหินกันออกไป ประชาชนติดต่อค้าขายกันน้อยลงจนทำให้การกลับมาประติดประต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นสิ่งจำเป็น ดังจะเห็นได้ว่าในระยะ 20 ปี แรกของการมีอาเซียนนั้น การแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างกันกลายเป็นกิจกรรมหลักประการหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน

ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมของสมาคมอาเซียน ได้พัฒนามาตามลำดับ และก้าวสูงขึ้นสู่อีกระดับหนึ่งอย่างชัดเจน ในปี 2540 เมื่ออาเซียนได้ประกาศ วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ซึ่งเน้นให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในด้านวัฒนธรรม สวัสดิการสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในกรอบของสหประชาชาติ ที่หันมาให้ความสำคัญต่อ มรดกทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน สิทฺธิเด็กและสตรี และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้ อาเซียนยังไม่ได้กำหนดกรอบหรือกิจกรรมเพื่อความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว ที่ชัดเจนนัก ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของคำแถลงการณ์ หรือถ้อยแถลง สนับสนุนหลักการสากลต่าง ๆ ในการประชุมประจำปี ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือระดับผู้นำอาเซียน

จนกระทั่งปี 2552 ที่มีการจัดทำร่างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) หรือ ASCC Blueprint ที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ โดยมีเป้าประสงค์ และรายละเอียดอย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดแผนการดำเนินการมากถึง 339 แผนงาน ครอบคลุมในด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา ระบบสวัสดิการสังคม เพื่อประชากรทุกกลุ่ม การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน การร่วมมือกับภาคประชาสังคม (civil society) และการสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งมีการอธิบายว่า การมีแผนงานเหล่านี้ วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อการสร้างประชาคม ที่มีคนเป็นศูนย์กลาง (people-centred) มีความรับผิดชอบต่อสังคม (socially responsible) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (environmentally friendly) ทั้งนี้ ASCC Blueprint ได้กำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ไว้ 6 ด้านด้วยกัน คือ

1. การพัฒนามนุษย์ (Human Development)

2. สวัสดิการสังคมและการคุ้มครองมนุษย์ (Social Welfare and Protection)

3. สิทธิและความยุติธรรมในสังคม (Social Justice and Rights)

4. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Environmental Sustainability)

5. การสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน (Building ASEAN Identity) และ

6. การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก (Narrowing the Development Gap)

ซึ่งในปี 2556 ได้มีการประเมินผลการดำเนินงานครึ่งทางของ ASCC Blueprint และประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนได้แถลงว่าได้เริ่มดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ตามแผนงานที่กำหนดไว้ในเอกสาร ASCC Blueprint อาทิ ส่งเสริมให้เยาวชนทุกคน (ร้อยละ 100) ในทุกประเทศสมาชิก  ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ให้มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและเป็นสีเขียว ด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน จัดทำนโยบายระดับภูมิภาคในเรื่องสภาวะโลกร้อน หรือ (ASEAN Climate change Initiative) และการส่งเสริมการร่วมมือกับภาคประชาสังคม (Civil Society) โดยจัดให้มีการประชุม หรือจัดให้มีเวทีสำหรับประชาสังคมอาเซียน (ASEAN Civil Society) เพื่อนำไปสู่การมีคนเป็นศูนย์กลาง (People-Centred) อย่างแท้จริง ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของสมาคมอาเซียน (ASEAN Identity) เพื่อให้มีคนเป็นศูนย์กลาง (people-centred) โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกีฬา SEA Games การเฉลิมฉลองวันอาเซียน (ASEAN Day) และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสมาคมอาเซียน ทั้งในระดับชุมชน และสถานการศึกษาในท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยการจัดตั้งสมาคมอาเซียน (ASEAN Association) ขึ้นในทุกประเทศสมาชิก เพื่อดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องของภัยพิบัติ และโรคระบาดต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกฯ ก็เป็นอีกหลาย ๆ ด้านที่ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในกรอบของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทำให้ในปัจจุบันอาเซียน มีความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างมีระเบียบแบบแผน และอย่างเป็นทางการมากขึ้น อาทิ การจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานอาเซียน สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance – AHA Centre) การจัดทำ แผนปฏิบัติการของอาเซียน เพื่อร่วมกันตอบโต้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Action Plan on Joint Response to Climate Change) การจัดตั้ง คณะกรรมาธิการอาเซียน เพื่อส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิสตรี และเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children – ACWC) การจัดทำ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการกำจัดการใช้ความรุนแรงกับสตรีและเด็ก (ASEAN Declaration on the Elimination of Violence Against Women and Children) และการจัดทำปฏิญญาว่าด้วยเอกภาพของอาเซียนในความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Declaration on ASEAN Unity in Cultural Diversity)

เรื่องต่าง ๆ ข้างต้น มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาที่ทับซ้อนกัน อาทิ การบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาพลังงานและอาหาร การบริหารจัดการโรคติดต่อชนิดใหม่ๆ การลดความยากจน และการแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงิน

นอกเหนือจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น เรื่องหนึ่งที่ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และรวมถึงประเทศคู่เจรจา คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้ แม้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน จะได้มีถ้อยแถลงยืนยันถึงท่าทีที่เคารพและสนับสนุนหลักการสากลในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2536 ตามแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 26 แต่ความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้ ก็ไม่ได้มีผลคืบหน้ามากนัก ในตอนต้น เพราะกว่าสมาชิกอาเซียนจะได้มีการหารือกันอย่างจริงจังในเรื่องสิทธิมนุษยชน อีกครั้งหนึ่งก็คือในปี 2540 เมื่อที่ประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียน ได้ให้การรับรองเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ซึ่งได้ประกาศเจตนาไว้อย่างชัดเจนที่จะส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)

ประเทศสมาชิกอาเซียน จะได้หารือกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ก็คือ ในการจัดทำร่างของกฎบัตรอาเซียน อันมีผลบังคับใช้ในปี 2551 ซึ่งน้อยคนนักที่จะทราบว่า ความสำเร็จของสมาคมอาเซียนในเรื่องนี้ เกิดจากการผลักดันของประเทศไทย

“อีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทย เป็นผู้นำในการผลักดันในกรอบของการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centred) คือเราผลักดันให้อาเซียนจัดตั้ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน (ASEAN human rights body – AHRB) ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในขณะนั้น หลายประเทศยังไม่พร้อม แต่ในขณะเดียวกัน ทุกประเทศสมาชิกก็ตระหนักดีว่า หลายประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะประเทศตะวันตก กำลังเฝ้าดูอาเซียนอยู่ ว่าจะสามารถมีมาตรฐานที่เป็นสากลได้มากน้อยเพียงใดในเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุด ทุกประเทศสมาชิกก็เห็นพ้องกัน ให้มีการระบุไว้ในมาตราที่ 14 ของกฎบัตรอาเซียน ว่าจะต้องมีการจัดตั้งองค์การในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลักดันอย่างชัดเจน โดยมีฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน

ต่อมาเมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นสมาชิกในคณะทำงานระดับสูง (High-Level Panel) ผู้จัดทำร่างอำนาจหน้าที่ (TOR) ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนดังกล่าว ผมก็ได้พูดในที่ประชุมว่า ไม่ว่าอาเซียนจะจัดตั้งองค์กรในลักษณะใดขึ้นมา ก็ควรทำให้ดีที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของอาเซียน ดังนั้น หากจัดตั้งองค์กรที่ดีไม่ได้ ก็ไม่ควรจัดตั้งองค์กรใดในเรื่องนี้ขึ้นมาเลยแต่แรก

ซึ่งต่อมาในปี 2552 ก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) และต่อมาในปี 2555 ก็มีการประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration) ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติหลักของสมาคมอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มาจนทุกวันนี้

และแม้ว่าผลงานในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและอาเซียนควรจะมีความภาคภูมิใจ ถึงกระนั้น ผมก็ยังเชื่อว่าอาเซียน น่าจะก้าวไปได้ไกลได้อีกในเรื่องนี้ เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมีสองเสาหลัก คือ การส่งเสริม (promotion) และการปกป้อง (protection) ในขณะนี้ท่าทีของอาเซียนยังคงเป็นเรื่องการส่งเสริมมากกว่าการปกป้อง ซึ่งในอนาคตอาเซียนจะต้องทำในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถมีมาตรฐานที่เป็นสากลอย่างแท้จริง”

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้อาเซียน มีความตำหนัก และให้ความสำคัญมากขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมของสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของการให้คนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานของภาครัฐ ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งล้วนมีความสำคัญในการที่จะช่วยให้อาเซียนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของโลก และยังสามารถคงความสำคัญของการเป็นองค์กรความร่วมมือในระดับภูมิภาคไว้ได้

“ในปัจจุบันอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อไปในอนาคตรัฐบาลของทุกประเทศสมาชิกจะต้องพึ่งพาทุกภาคส่วนของสังคมในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ทางเดียวที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นประชาคมอาเซียน ก็คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งเรื่องนี้ นอกจากประเทศไทยจะเป็นผู้ผลักดันในการประชุมอาเซียนทุกระดับ มานานปีแล้ว ยังผลักดันเรื่องดังกล่าวในประเทศไทย โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ในทุกระดับอีกด้วย”

บุษฎี สันติพิทักษ์