ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มีอะไรบ้าง

         ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมยุคปัจจุบันซึ่งมนุษย์พยายามควบคุมสิ่งแวดล้อม  ต้องการความสะดวกสบาย  โดยอยู่บนพื้นฐานกระบวนการทางอุตสาหกรรมเป็นกระแสหลัก  ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง  โดยเฉพาะของเสีย (Waste) ที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลได้ทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในรูปของแข็ง  ของเหลวและก๊าซ  ของเสียที่ทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมมี  2  ลักษณะ คือ ของเสียที่เกิดจากการสงเคราะห์ทางเคมี  เป็นวัสดุใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนตามธรรมชาติ  เมื่อทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมแล้วธรรมชาติไม่สามารถกำจัดได้  เช่น พลาสติก   ยูรีเทน  น้ำมันเครื่อง เป็นต้น แม้ทิ้งเพียงเล็กน้อยธรรมชาติก็ไม่สามารถกำจัดได้  และ ของเสียอีกลักษณะหนึ่งเป็นของเสียที่เริ่มต้นได้มาจากธรรมชาติ  เช่น เศษแป้งหรือน้ำตาลจากโรงงานทำอาหาร เป็นต้น เมื่อทิ้งปริมาณไม่มากสิ่งแวดล้อมสามารถกำจัดให้หมดไปได้ แต่ถ้าปริมาณมากก็ไม่สามารถกำจัดได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์ทิ้งลงไปเหล่านี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไปจากเดิมแน่นอน   ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับมาหามนุษย์ในที่สุดได้   ดังนั้นวิถีการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อความสมดุลทางธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมในอนาคต

มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลย์ของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้น ๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลย์ของตัวเองได้


กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า “ทศวรรษแห่งการพัฒนา” นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น

• ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ

• ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา

• ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย

สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม
สาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ
1. การเพิ่มของประชากร (Population growth) ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน
2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Economic Growth & Technological Progress) ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น

ผลที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผลสืบเนื่องอันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ
1. ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด อาทิ ป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำ
2. ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษในน้ำ ในอากาศและเสียง มลพิษในอาหาร สารเคมี อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมของชาติ
เมื่อประชากรของโลกเกิดมามีชีวิตอยู่บนโลก ธรรมชาติได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดไว้ให้แล้ว แต่โดยที่เรามีสมองแทนเขี้ยวเล็บ ที่สัตว์มีไว้เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลก จึงทำให้มีการคิดค้นแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งหากว่าประชากรของโลกจะมีจำนวนเท่าเดิม หรืออย่างน้อยก็น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันสักเพียงครึ่งเดียวการจัดการกับธรรมชาติของประชากรโลกก็คงไม่กระทบกระเทือน กับธรรมชาติมากนัก แต่ที่เป็นคนอยู่ในวันนี้ก็คือว่า ประชากรของโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากจนต้องอยู่กันอย่างแออัดในที่ ๆ เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอยู่ และต่างได้จัดการกับธรรมชาติโดยขาดความระมัดระวัง จนถึงวันนี้ประชากรโลกไม่อาจเลือกสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่านี้ได้ เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังคงก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และนอกจากนั้นค่านิยมของสังคมได้บีบบังคับให้ประชากรต้องแข่งขันกันในการดำรงอยู่ จนกลายเป็นความฟุ่มเฟื่อย และเมื่อแต่ละคนแต่ละครอบครัวได้สั่งสมค่านิยมเหล่านี้ให้กับตัวเอง ผลก็คือทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจนเห็นได้ชัด

ประเทศไทยก็ไม่แตกต่างไปจากที่กล่าวมา และสภาพของความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ฐานะของประเทศก้าวรุดไปข้างหน้า การพัฒนาโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้านเดียวนั้นได้ทำให้สภาพแวดล้อมของชาติตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจนเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเหลืออยู่เพียง 25% ของพื้นที่ประเทศ การลดลงอย่างรวดเร็วของพื้นที่ป่าไม้นั้น เกิดจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาที่ดิน ซึ่งมีการใช้ที่ผิด ๆ อยู่เสมอ ๆ ปัจจุบันพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ถูกใช้เพื่อการเกษตรโดยขาดการวางแผน ซึ่งทำให้ยากต่อการป้องกันและแก้ไขความเสื่อมของดิน หรือการนำพื้นที่ดินที่เหมาะสมต่อการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของชุมชน ตลอดจนความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำเหมืองแร่ในป่าสงวนหรือการสร้างเขื่อนในเขตป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการปล่อยของเสียจากแหล่งชุมชน จากโรงงานอุตสาหกรรม จนทำให้แหล่งน้ำเสื่อมคุณภาพ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำที่สะอาด ปัญหามลพิษของอากาศ ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ปริมาณของสารพิษ อาทิ คาร์บอนมานอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ตะกั่ว และฝุ่นละอองปะปนอยู่ในอากาศมาก จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและทรัพย์สิน ปัญหาเสียงอึกทึก ที่เกิดจากยานพาหนะโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดอยู่ในชุมชนใหญ่ ๆ ที่มีประชากรอยู่หนาแน่น อาทิ กรุงเทพฯ เป็นต้น ปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดจากการทิ้งของเสียจากชุมชนที่มีอัตรามากเกินกว่าจะเก็บทำลายได้หมด นอกจากนี้การทิ้งขยะมูลฝอยแบบมักง่ายยังได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อาทิ น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ ปัญหาสารเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่ใช้ปราบศัตรูพืชและสารพิษที่เป็นโลหะหนักจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ สารเคมีที่ใช้ในอาหาร ซึ่งบางชนิดใช้เวลานานกว่าจะสลายตัวจากการสำรวจได้พบสารพิษตกค้างอยู่ในผักในดินที่เพาะปลูก ในแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ ซึ่งได้มีการสะสมตัวเองเพิ่มมากขึ้นจนส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงเกินความปลอดภัยต่อชีวิต
ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในวันนี้ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้ต่อไป เพราะความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมมีผลโดยตรงต่อชาติบ้านเมือง ประเทศจะไม่สามารถทำการพัฒนาสิ่งใดได้อีก หากว่าไม่มีทรัพยากรเหลืออยู่อีก ดังนั้นรัฐจึงจะต้องดำเนินการจัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้องและรอบคอบไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องคำนึงว่าทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัดนั้นเปรียบเสมือนเป็นต้นทุนของชาติ เพราะฉะนั้นในการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ จึงควรคำนึงในแง่ที่ว่าเป็นการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จ่าย ซึ่งจะต้องจัดให้เหมาะสมกับต้นทุนเพื่อความอยู่รอดของชาติ และเพื่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ความสำคัญประการหนึ่งในการที่จะรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติเอาไว้ให้ได้ก็คือ การจะต้องเข้าใจว่า ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น การใช้วิธีการแก้ไขเป็นจุด ๆ ไปนั้นไม่เป็นการช่วยให้ปัญหานั้นยุติลงได้ ซึ่งสามารถให้ผลดีได้เพียงชั่วคราว แต่อาจกลายเป็นปัญหาให้เกิดกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้อีก การแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้นจะต้องใช้หลักวิชาของนิเวศวิทยามาช่วยในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเพื่อที่จะให้สิ่งแวดล้อมของชาติ ไม่ถูกทำลายให้เสื่อมโทรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อที่จะรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติให้ดีไว้ตลอดไป