To kill a mockingbird หน งส อ ม อ สอง

หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและอารมณ์ขัน แม้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสังคมเช่นการข่มขืนและการแบ่งแยกสีผิว แอตติคัส ฟินช์ ตัวเอกซึ่งเป็นบิดาของผู้บรรยายในเรื่อง ได้กลายเป็นต้นแบบของทนายความผู้ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นต้นแบบทางคุณธรรมของผู้อ่านมากมาย บทวิจารณ์บทหนึ่งกล่าวถึงอิทธิพลของนวนิยายเรื่องนี้ว่า "ผู้บริสุทธิ์ อาจนับได้ว่าเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดที่กล่าวถึงเรื่องการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา และตัวละครหลัก แอตติคัส ฟินช์ ถือเป็นฮีโร่ผู้ต่อสู้กับการแบ่งสีผิวในนิยายที่คงอยู่ยาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20"

แก่นเรื่องของ ผู้บริสุทธิ์ เกี่ยวข้องกับความไม่ยุติธรรมระหว่างเชื้อชาติและการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าลียังกล่าวถึงปัญหาชนชั้น ความกล้าหาญ และความกรุณา และบทบาทของเพศสถานะทางตอนใต้ของอเมริกา หนังสือเล่มนี้ถูกใช้สอนในโรงเรียนจำนวนมากในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเน้นให้เห็นถึงความอดทนและการต่อสู้กับอคติ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริสุทธิ์ ก็ถูกเรียกร้องให้ถอดถอนออกจากห้องเรียนและห้องสมุดหลายครั้ง เนื่องจากการใช้คำเรียกคนต่างเชื้อชาติ และผู้เขียนก็รับรู้ตั้งแต่หนังสือตีพิมพ์ว่าแม้หนังสือจะเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ผู้อ่านหลายคนไม่พอใจกับวิธีการกล่าวถึงคนผิวดำในเรื่อง

หนังสือของลีถูกวิจารณ์โดยหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างน้อย 30 ฉบับ ซึ่งบทวิจารณ์แตกต่างกันอย่างมากตามวิธีการตัดสิน ในปี พ.ศ. 2549 บรรณารักษ์อังกฤษได้จัดอันดับให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในอันดับสูงกว่าคัมภีร์ไบเบิลใน"รายชื่อหนังสือที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรอ่านก่อนตาย" หนังสือเล่มนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง พิพากอธรรม ในปี พ.ศ. 2505 และได้รับรางวัลออสการ์ 3 รางวัล ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 การแสดงนวนิยายเรื่องนี้ถูกจัดขึ้นทุกปีที่มอนโรวิลล์ รัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฮาร์เปอร์ ลี จนถึงทุกวันนี้หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ถูกตีพิมพ์เล่มเดียวของลี และถึงแม้เธอจะตอบเกี่ยวกับผลกระทบของหนังสือมาตลอด แต่เธอก็ไม่แสดงตัวต่อสาธารณชนในฐานะตัวของเธอเองตั้งแต่ พ.ศ. 2507

ประวัติเบื้องหลังและการตีพิมพ์[แก้]

ฮาร์เปอร์ ลี เกิดใน พ.ศ. 2469 และเติบโตมาในเมืองทางใต้ของมอนโรวิลล์ รัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นที่ที่เธอกลายเป็นเพื่อนสนิทของทรูแมน คาโพตี นักเขียนชื่อดัง เธอเข้าเรียนที่วิทยาลัยฮันติงดอน ในเมืองมอนต์กอเมอรี รัฐแอละแบมา (พ.ศ. 2487–88) และเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแอละแบมา (พ.ศ. 2488–92) ระหว่างที่เรียนอยู่ เธอเขียนให้กับนิตยสารวรรณกรรม Huntress ที่ฮันติงดอน และนิตยสารตลก Rammer Jammer ที่มหาวิทยาลัยแอละแบมา ที่วิทยาลัยทั้งสองแห่ง เธอเขียนเรื่องสั้นและบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยกล่าวถึงในสถานศึกษาเหล่านี้ในระยะเวลานั้น ในปี พ.ศ. 2493 ลีย้ายไปมหานครนิวยอร์กและทำงานเป็นพนักงานจองตั๋วของ บริติช โอเวอร์ซี แอร์เวย์ คอร์ปปอเรชั่น ในขณะเดียวกันก็เริ่มเขียนบทความและเรื่องสั้นเกี่ยวกับผู้คนในมอนโรวิลล์ ในปี พ.ศ. 2500 ลีส่งบทความของเธอไปยังตัวแทนสำนักพิมพ์ที่คาโพตีแนะนำโดยหวังที่จะได้ตีพิมพ์ บรรณาธิการที่เจ. บี. ลิปปินคอตต์แอนด์โค แนะนำให้เธอเอาดีทางด้านการเขียน เธอจึงลาออกจากงานและได้รับเงินสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ของเธอ

ลีใช้เวลา 2 ปีครึ่งในการเขียน ผู้บริสุทธิ์ เธอเคยโยนต้นฉบับออกไปนอกหน้าต่างด้วยความหงุดหงิดจนมันกระจัดกระจายบนหิมะข้างนอก แต่บรรณาธิการของเธอทำให้เธอเขียนมันต่อ หนังสือถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2503 ตอนแรกหนังสือถูกตั้งชื่อว่า แอตติคัส แต่ลีเปลี่ยนชื่อมันใหม่เพื่อแสดงว่าเรื่องราวนั้นลึกซึ้งเกินกว่าที่จะเป็นเพียงการวาดภาพตัวละคร ทีมบรรณาธิการที่ลิปปินคอตต์เตือนลีว่าเธออาจจะขายหนังสือได้เพียงไม่กี่พันเล่ม ใน พ.ศ. 2507 ลีรำลึกถึงความหวังในหนังสือเล่มนี้ว่า "ฉันไม่เคยหวังว่า 'ผู้บริสุทธิ์' จะประสบความสำเร็จอันใด…ฉันหวังว่ามันจะพบกับความตายที่ปลดปล่อยอย่างรวดเร็วด้วยมือของนักวิจารณ์ แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็แอบหวังไว้ว่าจะมีบางคนที่ชอบมันมากพอที่จะให้กำลังใจฉัน ให้กำลังใจทางสาธารณะ อย่างที่บอก ฉันหวังไว้ไม่มาก แต่ฉันกลับได้รับมากมาย และมันก็น่ากลัวพอ ๆ กับความตายที่ปลดปล่อยอย่างรวดเร็วที่ฉันหวังไว้ในตอนแรก" แทนที่จะได้พบกับความตายที่ปลดปล่อยอย่างรวดเร็ว มันกลับถูกตีพิมพ์ในรีดเดอร์ส ไดเจสท์ คอนเดนส์ บุกส์ ซึ่งทำให้มีผู้อ่านมากมาย และไม่เคยถูกหยุดตีพิมพ์เลยตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรก

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

เรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเมืองสมมติที่ "เก่าแก่อ่อนล้า" ชื่อเมย์คอมบ์ ในรัฐแอลเบมา ผู้เล่าเรื่องคือเด็กหญิงสเกาต์ ฟินช์ อายุหกขวบ เธออาศัยอยู่กับพี่ชายชื่อเจมส์ และพ่อของเธอ แอตติคัส ซึ่งเป็นทนายความหม้ายวัยกลางคน เจมส์และสเกาต์เป็นเพื่อนกับเด็กชายดิลล์ซึ่งมาอาศัยกับป้าในเมย์คอมบ์ระหว่างหน้าร้อน เด็กทั้งสามทั้งกลัวและหลงใหลในเพื่อนบ้าน "บู" แรดลีย์ ผู้เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านตลอดเวลา ชาวเมืองเมย์โคมบ์มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงบู และไม่มีใครเห็นเขาเป็นเวลาหลายปี เด็ก ๆ สร้างจินตนาการจากข่าวลือเกี่ยวกับลักษณะและเหตุผลที่บูต้องหลบซ่อนตัว พวกเขายังฝันเฟื่องเกี่ยวกับการทำให้บูออกมาจากบ้าน หลังจากที่ได้ดิลล์เป็นเพื่อนเล่นในช่วงฤดูร้อนสองครั้ง สเกาต์และเจมพบว่ามีใครบางคนวางของขวัญชิ้นเล็ก ๆ ไว้ให้พวกเขาในต้นไม้หน้าบ้านของแรดลีย์ บูผู้ลึกลับแสดงท่าทีเป็นมิตรแก่เด็ก ๆ หลายครั้ง แต่ไม่เคยปรากฏตัวให้พวกเขาเห็น

แอตติคัสได้รับมอบหมายให้ว่าความให้ ทอม โรบินสัน ชายผิวดำซึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงสาวผิวชาวชื่อ เมเอลลา ยูเวลล์ แอตติคัสตกลงว่าความให้ทอมอย่างสุดความสามารถ แม้ว่าชาวเมืองเมยโคมบ์หลายคนจะไม่ยอมรับ เด็กที่โรงเรียนกล่าวล้อเลียนเจมและสเกาต์ว่าเป็น "พวกรักไอ้มืด" เพราะการกระทำของแอตติคัส สเกาต์เกือบจะสู้กับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อปกป้องชื่อเสียงของพ่อแม้ว่าเขาจะสั่งห้ามเธอไว้ แอตติคัสเองก็ต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่พยายามจะฆ่าทอม แต่สถานการณ์อันตรายก็ผ่านพ้นไป เมื่อสเกาต์ เจมส์ และดิลล์สร้างความอับอายแก่กลุ่มคนจนเขาต้องแยกย้ายกันไป โดยทำให้พวกเขามองสถานการณ์ในมุมมองของแอตติคัสและทอม

แอตติคัสไม่ต้องการให้เด็ก ๆ เห็นการตัดสินคดีของทอมโรบินสัน สเกาต์ เจมส์ และ ดิลล์จึงแอบดูจากที่นั่งของคนดำ แอตติคัสชี้ให้เห็นว่าโจทก์ เมเอลลาและบ๊อบ ยูเวลล์ พ่อขี้เมาของเธอ กำลังโกหก การว่าความยังแสดงให้เห็นว่าเมเอลลาผู้ไม่มีเพื่อนเป็นฝ่ายพยายามสร้างสัมพันธ์ชู้สาวกับทอม แต่พ่อของเธอจับได้ แม้ว่าจะมีหลักฐานที่มีมูลเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของทอม ลูกขุนกลับตัดสินให้เขาผิด ความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของเจมส์สั่นคลอนอย่างมาก เช่นเดียวกับแอตติคัส เมื่อทอมถูกยิงตายขณะพยายามหลบหนีจากคุก

บ๊อบ ยูเวลล์สาบานว่าจะแก้แค้นที่ถูกทำให้อับอายระหว่างการตัดสินคดี เขาถ่มน้ำลายใส่หน้าแอตติคัสที่หัวมุมถนน พยายามจะลอบเข้าไปในบ้านผู้พิพากษา และข่มขู่ภรรยาหม้ายของทอม ในที่สุด เขาก็โจมตีเจมส์และสเกาต์ขณะที่เดินกลับจากงานฮาโลวีนของโรงเรียน เจมส์แขนหักระหว่างที่ต่อสู้กัน และในระหว่างที่ชุลมุนก็มีคนเข้ามาช่วยเด็กทั้งสองไว้ ชายลึกลับอุ้มเจมส์กลับบ้าน สเกาต์พบว่าเขาคือบู แรดลีย์

นายอำเภอเมย์คอมบ์มายังที่เกิดเหตุและพบว่าบ๊อบ เอเวลล์ตายระหว่างการต่อสู้ นายอำเภอเถียงกับแอตติคัสเกี่ยวกับการให้เจมส์หรือบูรับผิดชอบ ในที่สุดแอตติคัสก็ยอมรับเรื่องของนายอำเภอว่า บ๊อบ ยูเวลล์ ล้มลงทับบนมีดของเขาเอง บูขอให้สเกาต์ไปส่งเขาที่บ้าน และหลังจากที่เธอกล่าวลาเขาที่หน้าประตูบ้านของเขา บูก็หายตัวไปอีกครั้ง ขณะที่ยืนอยู่บนระเบียงบ้านของแรดลีย์ สเกาต์นึกภาพชีวิตจากมุมมองของบู และรู้สึกเสียใจที่พวกเธอไม่เคยตอบแทนของขวัญที่บูให้มา

อิทธิพลจากชีวิตจริง[แก้]

ลีกล่าวว่า ผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่อัตชีวประวัติ แต่เป็นตัวอย่างของ"วิธีเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เขียนรู้ และเขียนด้วยความสัตย์" แต่ถึงกระนั้น ผู้คนและเหตุการณ์หลายอย่างในวัยเด็กของเธอก็คล้ายคลึงกับสเกาต์ในนิยาย อมาซา โคลแมน พ่อของลี เป็นทนายความเหมือนกับแอตติคัส ฟินช์ และใน พ.ศ. 2462 เขาว่าความให้กับชายผิวดำสองคนที่เป็นจำเลยในคดีฆาตกรรม หลังจากที่พวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกแขวนคอ เขาก็ไม่เคยรับว่าความคดีอาญาอีกเลย พ่อของลียังเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์มอนโรวิลล์ แม้ว่าเขาจะมีท่าทีต่อการแบ่งเชื้อชาติเป็นอนุรักษนิยมมากกว่าแอตติคัส เขาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเสรีนิยมเมื่อเขามีอายุมากขึ้น แม้ว่าแม่ของสเกาต์เสียชีวิตตั้งแต่เธอเป็นทารก ในขณะที่แม่ของลีเสียชีวิตเมื่อเธอมีอายุ 25 ปี แต่แม่ของลีก็ป่วยเป็นโรคประสาทที่ทำให้พวกเขาห่างเหินกัน ลีมีพี่ชายชื่อเอ็ดวินซึ่งอายุมากกว่าเธอสี่ปีเหมือนตัวละคร เจม และแม่บ้านคนผิวดำจะมาดูแลบ้านและครอบครัวของลีทุกวันเหมือนในนิยาย

ดิลล์ถูกสร้างขึ้นจากทรูแมน คาโพตี เพื่อนของลีในวัยเด็ก ซึ่งรู้จักกันในขณะนั้นในชื่อทรูแมน เพอร์ซันส์ คาโพตีมาพักกับป้าของเขาซึ่งอยู่ข้างบ้านของลีเวลาที่แม่ของเขาไปนครนิวยอร์ก เหมือนที่ดิลล์มาอยู่ข้างบ้านสเกาต์ คาโพตีมีจินตนาการเยี่ยมยอดและมีพรสวรรค์ในการทำให้เรื่องราวมีความดึงดูดใจเหมือนดิลล์ ทั้งลีและคาโพตีเป็นเด็กประหลาด ทั้งคู่ชอบอ่านหนังสือ ลีเป็นทอมบอยที่ใจร้อน และคาโพตีมักถูกล้อเลียนจากการใช้คำศัพท์ยาก ๆ และการที่เขาพูดไม่ชัด เธอและคาโพตีเป็นเพื่อนสนิทกันเพราะเขาทั้งสองรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่น ๆ คาโพตีเรียกพวกเขาทั้งสองว่า "กลุ่มคนแปลกแยก" ในปี พ.ศ. 2503 คาโพตีและลีเดินทางไปแคนซัสด้วยกันเพื่อสืบคดีฆาตกรรมซึ่งกลายเป็นโครงของสารคดีเรื่อง In Cold Blood

บทถนนเดียวกับบ้านของลีมีครอบครัวซึ่งปิดบ้านด้วยแผ่นไม้ บ้านหลังนี้เป็นต้นแบบของครอบครัวแรดลีย์ในเนื้อเรื่อง ลูกชายของครอบครัวมีปัญหาทางกฎหมายบางอย่างจึงถูกพ่อขังไว้ในบ้านด้วยความอับอายนานถึง 24 ปี เขาถูกซ่อนตัวไว้จนในที่สุดก็ถูกลืมและตายในปี 1952

แม่แบบของทอม โรบินสันนั้นไม่ชัดเจน หลายคนคาดคะเนว่าตัวละครนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายต้นแบบ เมื่อลีอายุ 10 ขวบ หญิงคนขาวที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ มอนโรวิลล์คนหนึ่งกล่าวหาชายผิวดำชื่อ วอลเตอร์ เลตต์ ว่าข่มขืนเธอ เรื่องราวและการตัดสินถูกลงในหนังสือพิมพ์ของพ่อของเธอ เลตต์ถูกตัดสินให้มีความผิดและถูกลงโทษประหารชีวิต แต่หลังจากมีจดหมายหลายฉบับร้องเรียนว่าเลตต์ถูกกล่าวหา เลตต์จึงถูกลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต เขาเสียชีวิตในคุกด้วยวัณโรคในปี พ.ศ. 2480 นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าเค้าเรื่องนี้ยังได้รับอิทธิพลจากคดีของกลุ่มเด็กหนุ่มในสกอตต์สโบโร ที่โด่งดัง ซึ่งเป็นคดีที่ชายผิวดำ 9 คนถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาข่มขืนหญิงผิวขาว 2 คนทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ใน พ.ศ. 2548 ลีกล่าวว่า ถึงคดีของสกอตต์สโบโรจะสามารถแสดงถึงความไม่เท่าเทียมในรัฐทางใต้ได้เหมือนกัน แต่เธอคิดถึงอะไรที่ตื่นเต้นน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ เอมเมตต์ ทิลล์ วัยรุ่นผิวดำที่ถูกสังหารเพราะจีบผู้หญิงผิวขาวในรัฐมิสซิสซิปปีเมื่อ พ.ศ. 2498 และผู้ซึ่งการตายของเขาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ก็ถูกสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของทอม โรบินสัน เช่นกัน

รูปแบบ[แก้]

"ฮาร์เปอร์ ลี มีพรสวรรค์ที่น่าชื่นชมในการเล่าเรื่อง ศิลปะของเธอนั้นสามารถเห็นเป็นรูปร่าง มีความแยบยลและลื่นไหลเหมือนภาพยนตร์ เรามองเห็นฉากหนึ่งหลอมรวมกับอีกฉากโดยไม่มีรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง" —อาร์. เอ. เดฟ ใน Harper Lee's Tragic Vision, พ.ศ. 2517

นักวิจารณ์และนักวิเคราะห์กล่าวถึงความสามารถในการเล่าเรื่องของลีว่าเป็นจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งในรูปแบบการเขียนของเธอ นักวิชาการคนหนึ่งเขียนว่า "ฮาร์เปอร์ ลี มีพรสวรรค์ที่น่าชื่นชมในการเล่าเรื่อง ศิลปะของเธอนั้นสามารถเห็นเป็นรูปร่าง มีความแยบยลและลื่นไหลเหมือนภาพยนตร์ เรามองเห็นฉากหนึ่งหลอมรวมกับอีกฉากโดยไม่มีรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง" ลีผสมผสานเสียงการสังเกตสิ่งรอบข้างของเด็กหญิงผู้บรรยายกับการรำลึกถึงวัยเด็กของผู้ใหญ่ ใช้ความคลุมเครือของเสียงนี้รวมกับเทคนิกการเล่าเรื่องโดยวิธีนึกภาพย้อนหลัง เพื่อจะเล่นรายละเอียดกับภาพ วิธีการเล่าเรื่องนี้ทำให้ลีสามารถเล่าเรื่อง"ลวงตาที่น่าสนุกสนาน" ซึ่งผสมระหว่างความเรียบง่ายของการสังเกตในวัยเด็กกับสถานการณ์ของผู้ใหญ่ และทำให้ซับซ้อนด้วยแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่และธรรมเนียมที่ทุกคนยอมรับ

แต่บางครั้ง การผสมผสานนี้ก็ได้ผลเกินไปจนทำให้นักวิเคราะห์หลายคนสงสัยความสามารถในการใช้คำศัพท์และการเข้าใจที่เกินตัวของสเกาต์ นักเขียนบท ฮาร์ดิง ลีเมย์ และนักจารณ์วรรณกรรม แกรนวิลล์ ฮิกส์ แสดงความสงสัยที่เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมอย่างสเกาต์และเจมจะเข้าใจความซับซ้อนและน่ากลัวที่เกี่ยวกับการตัดสินชีวิตของทอม โรบินสันได้อย่างไร

แจคเคอลีน ตาเวอร์เนอร์-คูร์บิน นักวิชาการเขียนเกี่ยวกับรูปแบบการเขียนของลีและการใช้อารมณ์ขันในโศกนาฏกรรมว่า "เสียงหัวเราะ …[แสดงให้เห็น] ส่วนที่ตายภายใต้ผิวหน้าอันสวยงาม และยังลดความน่ากลัวได้อีกด้วย คนเรานั้นยากที่จะถูกควบคุมด้วยสิ่งที่เราสามารถหัวเราใส่ได้" บทบาทของเด็กหญิงสเกาต์ที่ตีเด็กผู้ชาย เกลียดการใส่กระโปรง และสบถสาบานเพื่อความสนุกนั้นสร้างอารมณ์ขัน ตาเวอร์เนอร์-คูร์บินยังตั้งข้อสังเกตว่า ลีใช้วิธีล้อเลียน เสียดสี และประชดประชัน เพื่อกล่าวถึงปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะผ่านทางมุมมองของเด็ก หลังจากที่ดิลล์สัญญาจะแต่งงานกับเธอ แล้วกลับไปใช้เวลากับเจม สเกาต์ตัดสินใจว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ดิลล์กลับมาสนใจเธอก็คือการทำร้ายเขา ซึ่งเธอลงมือหลายครั้ง ลีใช้วิธีเสียดสีในการบรรยายประสบการณ์วันแรกที่โรงเรียนอันน่าหงุดหงิดของสเกาต์ ครูบอกเธอว่าเธอจะต้องแก้ไขความเสียหายที่แอตติคัสสอนเธอให้เขียนและอ่าน และสั่งห้ามไม่ให้แอตติคัสสอนเธอต่อไป ลีใช้การประชดประชันกับสถานการณ์ที่ไม่น่าขันที่สุด เมื่อเจมและสเกาต์พยายามที่จะทำความเข้าใจว่าเมย์โคมบ์พยายามทำตัวเป็นสังคมที่ดีทั้ง ๆ ที่ยังมีการเหยียดสีผิวได้อย่างไร การเสียดสีและประชดประชันถูกใช้มากเสียจนตาเวอร์เนอร์-คูร์บินตีความชื่อหนังสืออีกวิธีว่า ลีกำลังหัวเราะเยาะการศึกษา ระบบยุติธรรม และสังคมของเธอเอง โดยใช้เป็นหัวข้อในการล้อเลียนของเธอ

นักวิจารณ์ยังกล่าวถึงวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อแอตติคัสเดินทางออกนอกเมือง เจมขังเพื่อนที่ร่วมชั้นเรียนรวีวารศึกษาไว้ที่ใต้ถุนโบสถ์ ทำให้คาลพัวร์เนีย แม่บ้านผิวดำพาสเกาต์และเจมไปที่โบสถ์ของเธอ ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นชีวิตส่วนตัวของเธอและทอม โรบินสัน สเกาต์เผลอหลับไประหว่างงานวันฮาโลวีน จนทำให้เธอขึ้นเวทีช้าและถูกผู้ชมหัวเราะดังลั่น สเกาต์ประหม่าและอายมากจนเธอเลือกที่จะเดินกลับบ้านในชุดแฟนซี ซึ่งช่วยชีวิตเธอไว้

โครงเรื่อง[แก้]

"ระหว่าง 33 ปีตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ (ผู้บริสุทธิ์) ไม่เคยเป็นจุดสนใจของวิทยานิพนธ์ และมันเป็นหัวข้อของการวิจัยวรรณคดีเพียงแค่ 6 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับมีความยาวเพียงสองสามหน้า" —คลอเดีย จอห์นสัน ใน To Kill a Mockingbird: Threatening Boundaries, พ.ศ. 2537

แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะได้รับความนิยมอย่างมากหลังตีพิมพ์ แต่มันกลับไม่ได้ถูกวิจารณ์อย่างนวนิยายสมัยใหม่ระดับคลาสสิกของอเมริกันเรื่องอื่น ๆ คลอเดีย จอห์นสัน ผู้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับ ผู้บริสุทธิ์ เขียนในปี 1994 ว่า "ระหว่าง 33 ปีตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ (ผู้บริสุทธิ์) ไม่เคยเป็นจุดสนใจของวิทยานิพนธ์ และมันเป็นหัวข้อของการวิจัยวรรณคดีเพียงแค่ 6 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับมีความยาวเพียงสองสามหน้า" ในปี พ.ศ. 2546 นักเขียนอีกคนสนับสนุนว่า หนังสือเล่มนี้ "เป็นสัญลักษณ์ซึ่งแรงดลใจคนยังคงมีพลังอยู่มากอย่างน่าประหลาดใจ เพราะมันยังไม่ถูกตรวจสอบ"

ฮาร์เปอร์ ลี ยังคงสงวนตัวจากการแปลนวนิยายของเธอตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2500 แต่เธอเคยอธิบายให้เข้าใจถึงโครงเรื่องในจดหมายถึงบรรณาธิการที่เธอเขียนตอบกระแสความคลั่งไคล้ต่อหนังสือของเธอว่า "มันย่อมเป็นที่กระจ่างอยู่แล้วว่า ผู้บริสุทธิ์ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติ คุณธรรมของคริสเตียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาในชาวใต้ทุกคน"

ชีวิตชาวใต้และความไม่เท่าเทียมของเชื้อชาติ[แก้]

เมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกวางจำหน่าย นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าหนังสือถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และมีความเห็นที่ปนเปเกี่ยวกับความสามารถในการเชื่อมสองส่วนนี้เข้าด้วยกันของลี ช่วงแรกของนวนิยายเกี่ยวข้องกับการที่เด็ก ๆ หลงใหลใน บู แรดลีย์ และการที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจกับสภาพรอบตัวในเมือง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ถูกดึงดูดโดยการสังเกตเพื่อนบ้านประหลาด ๆ ของสเกาต์และเจม นักเขียนคนหนึ่งประทับใจการอธิบายชาวเมืองเมย์โคมบ์อย่างละเอียดของลี จนเขาจัดนวนิยายนี้ให้อยู่ในหนังสือประเภทโรแมนติกท้องถิ่นของทางใต้ ความเป็นนิยายท้องถิ่นนี้ปรากฏให้เห็นเช่นตอนที่มาเยลลา เอเวลล์ ไม่กล้าที่จะยอมรับว่าเธอยั่วทอม โรบินสัน และคำจำกัดความเกี่ยวกับ "คนดี" ของแอตติคัสว่าเป็นคนที่มีสติดีและทำดีสุดความสามารถด้วยสิ่งที่เขามีอยู่ โครงเรื่องที่เกิดขึ้นในภาคใต้ซึ่งมีประเพณีและสิ่งต้องห้ามของตนเอง ดูเหมือนจะมีผลต่อเรื่องมากกว่าตัวละครเสียอีก

นักวิจารณ์หนังสือ ฮาร์ดิง ลีเมย์ กล่าวถึงช่วงที่สองของนวนิยายว่าเกี่ยวกับ "ความอับอายของคนผิวขาวชาวใต้ในการปฏิบัติตนต่อคนผิวดำที่กัดกร่อนจิตใจ" หลังจากที่หนังสือออกจำหน่าย นักวิเคราะห์หลายคนจัดให้ ผู้บริสุทธิ์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับเชื้อชาติเป็นหลัก คลอเดีย จอห์นสัน คิดว่า "มีเหตุผลที่จะเชื่อ" ว่านวนิยายนี้ได้รับอิทธิพลจากสองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันสีผิวในแอละแบมา คือ การที่โรซา พาร์กส ปฏิเสธการนั่งที่ท้ายรถเมล์ ซึ่งทำให้เกิดการคว่ำบาตรรถเมล์ในมอนต์กอเมอรีในพ.ศ. 2498 และการประท้วงในมหาวิทยาลัยแอละแบมาหลังจากที่ออเทอรีน ลูซี และพอลลี ไมเยอร์ส สมัครเข้าเรียน (แต่ในที่สุดไมเยอร์สก็ถอนใบสมัคร และลูซีถูกไล่ออก) ในการเขียนเกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์ของหนังสือเล่มนี้ นักวิชาการทางวรรณคดีกล่าวว่า "ผู้บริสุทธิ์ ถูกเขียนและตีพิมพ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งของทางใต้ตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง แม้ว่าฉากของเรื่องจะเกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2470 แต่เนื้อเรื่องกลับมีมุมมองทั้งความขัดแย้ง ความตึงเครียด และความกลัวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในยุค 2490" ความสำเร็จของนวนิยายเรื่องนี้ทำให้มีผู้กล่าวถึงอิทธิพลที่มีต่อความสัมพันธ์ของคนขาวกับคนดำในสหรัฐอเมริกาว่ามัน "มาถึงในเวลาที่เหมาะสมที่จะช่วยให้รัฐทางใต้และประเทศต่อกรกับความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้นจากการเรียกร้องสิทธิ" การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถูกเชื่อมโยงกับการเรียกร้องสิทธิมากเสียจนบทวิเคราะห์ของหนังสือและชีวประวัติของฮาร์เปอร์ ลี มักมีบทบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องสิทธิ แม้ว่าในความเป็นจริงเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้นโดยตรงเลย

นักวิชาการ แพทริก ชูรา ผู้ให้ความเห็นว่าเอมเมตต์ ทิลล์ เป็นต้นแบบของทอม โรบินสัน เปรียบเทียบความอยุติธรรมที่ทอมในนิยายและทิลล์ต้องเผชิญ ชูรากล่าวถึงสัญลักษณ์ของผู้ข่มขืนชาวผิวดำและทำอันตรายต่อตัวแทนของ "สตรีชาวใต้ที่ถูกมองว่าอ่อนแอและศักดิ์สิทธิ์” การฝ่าฝืนกฎใด ๆ โดยชายผิวดำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศกับหญิงผิวชาวแม้เพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาในเรื่องมักจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษถึงชีวิต การตัดสินคดีของทอม โรบินสัน มีลูกขุนเป็นชาวนาผิวขาวที่ยากจนซึ่งตัดสินให้เขาผิดแม้ว่าจะมีหลักฐานชัดแจ้งแสดงว่าเขาบริสุทธิ์ และชาวเมืองผิวขาวคนอื่น ๆ ที่มีการศึกษามากกว่าก็สนับสนุนการตัดสินใจของลูกขุน นอกจากนี้ เหยื่อของความอยุติธรรมใน ผู้บริสุทธิ์ มีความพิการซึ่งทำให้เขาไม่มีทางทำสิ่งที่เขาถูกกล่าวหาได้ และยังกีดขวางเขาในทางอื่น ๆ ด้วย โรสลิน ซีเกล รวมทอม โรบินสันไว้ในตัวอย่างของลักษณะซึ่งปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในหมู่นักเขียนผิวขาวชาวใต้ที่แสดงถึงชายผิวดำว่า "โง่ น่าสมเพช อ่อนแอ และต้องพึ่งพาการจัดการของคนขาวมากกว่าใช้ความสามารถของตนในการปกป้องตัวเอง". แม้ว่าทอมจะไม่ถูกลอบสังหารก่อนการตัดสิน แต่เขาก็ถูกยิงตายอย่างโหดเหี้ยมขณะพยายามหนีออกจากคุก

ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติยังปรากฏในเนื้อเรื่องเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย เช่นตอนที่แอตติคัสต้องยิงหมาบ้าทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา แคโรลิน โจนส์ กล่าวว่าหมาบ้านั้นแสดงถึงอคติที่มีอยู่ในเมืองเมย์โคมบ์ และแอตติคัสซึ่งยืนคอยบนถนนไร้ผู้คนเพื่อยิงหมานั้น ต้องต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวโดยที่ไม่มีชาวผิวขาวคนใดช่วยเหลือ เขายังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่พยายามฆ่าทอม โรบินสัน และต่อสู้ในศาลระหว่างการตัดสินคดีเพียงคนเดียวอีกด้วย ลีถึงกับใช้ภาพจินตนาการที่เหมือนอยู่ในฝันในฉากหมาบ้าเพื่อบรรยายฉากบางฉากในศาล โจนส์เขียนว่า "หมาบ้าที่แท้จริงในเมย์โคมบ์คือการแบ่งแยกเชื้อชาติที่ละทิ้งความเมตตาต่อทอม โรบินสัน"

แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะมีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของเชื้อชาติ แต่ตัวละครชาวผิวดำกลับไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว หนังสือเล่มนี้ถูกมองว่าทำให้ตัวละครผิวดำขาดน้ำหนักไปด้วยการใช้คำศัพท์เหยียดเชื้อชาติ การวาดภาพตามแบบฉบับของคนดำว่าเป็นพวกงมงาย และลักษณะของคาลพัวร์เนียที่ดูเหมือน "ทาสผู้ซื่อสัตย์" ที่ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย แม้ว่าโดยทั่วไปเรื่องนี้จะมีผลลัพธ์ในทางบวกในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชื่อชาติต่อผู้อ่านชาวผิวขาว มันกลับได้รับการตอบรับที่คลุมเครือจากผู้อ่านชาวผิวดำ หนังสือแนะนำการสอนสำหรับนวนิยายเรื่องนี้ซึ่งตีพิมพ์โดย เดอะ อิงลิช เจอร์นัล เตือนว่า "บางอย่างที่ดูวิเศษและมีพลังสำหรับนักเรียนกลุ่มหนึ่งอาจจะทำให้อีกกลุ่มสูญเสียความเคารพในตนเอง" ที่ปรึกษาด้านภาษาชาวแคนาดาคนหนึ่งพบว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนผิวขาว แต่นักเรียนผิวดำกลับพบว่ามันทำให้เขาเสียความมั่นใจ นักเรียนคนหนึ่งที่เล่นบทคาลพัวร์เนียในละครโรงเรียนพูดถึงการแสดงของเธอว่า "เป็นมุมมองของคนขาว จากความคิดแบ่งแยกเชื้อชาติ คุณไม่ค่อยได้เห็นอะไรเกี่ยวกับตัวละครชาวแอฟริกันอเมริกัน คุณไม่ได้รู้จักพวกเขาในระดับบุคคล... ฉันรู้ว่าโดยพื้นฐานมันเกี่ยวกับการแบ่งแยกเชื้อชาติ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณจะได้จากเรื่องนี้"

ชนชั้น[แก้]

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2507 ลีกล่าวถึงความตั้งใจของเธอว่า “จะเป็นเจน ออสเตน แห่งแอละแบมาใต้ ทั้งออสเตนและลีต่างท้าทายการแบ่งสถานะทางสังคมและให้ความสำคัญกับคุณค่าของแต่ละบุคคลมากกว่าฐานะทางสังคม ตัวอย่างเช่น เมื่อสเกาต์ทำให้เพื่อนร่วมชั้นที่มีฐานะยากจนกว่าชื่อวอลเตอร์ คันนิงแฮม อับอายตอนที่เขามาบ้านฟินช์ คาลพัวร์เนีย แม่บ้านผิวดำก็ตำหนิและลงโทษเธอที่ทำอย่างนั้น แอตติคัสให้ความเคารพการตัดสินใจของคาลพัวร์เนีย และหลังจากนั้นยังโต้แย้งพี่สาวของเขา หรือป้าอเล็กซานดราผู้น่าเกรงขาม เมื่อเธอเสนอให้ไล่คาลพัวร์เนียออก

การดัดแปลง[แก้]

ภาพยนตร์ใน พ.ศ. 2505[แก้]

หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี พ.ศ. 2505 นำแสดงโดยเกรกอรี เป็กซึ่งรับบทแอตติคัส อลัน เจ. พาคูลา โปรดิวเซอร์ระลึกถึงตอนที่ผู้บริหารของพาราเมาต์พิกเจอส์ถามเขาถึงบทละคร "เขาถามว่า 'คุณวางแผนจะเล่าเรื่องอะไรในหนัง' ผมถามกลับว่า 'คุณอ่านหนังสือหรือยัง?' เขาตอบว่า 'อ่านแล้ว' ผมพูดว่า 'นั่นแหละเรื่อง'" ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับดีมาก โดยทำรายได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 2 ล้านเหรียญ และได้รับรางวัลออสการ์ 3 รางวัล ได้แก่รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมโดยเกรกอรี เป็ก รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมโดยฮอร์ตัน ฟูต นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่ออีก 5 สาขา รวมทั้งสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมโดยแมรี แบดดามซึ่งรับบทสเกาต์

ฮาร์เปอร์ ลี พอใจกับภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เธอกล่าวว่า "ในหนังเรื่องนั้นคนและตัวละครได้มาพบกัน...ฉันได้รับข้อเสนอหลายต่อหลายครั้งให้เอามันไปทำละครเพลง ละครโทรทัศน์ หรือละครเวที แต่ฉันปฏิเสธตลอด หนังเรื่องนั้นเป็นผลงานศิลปะ" ก่อนเริ่มถ่ายทำเป็กพบกับพ่อของลี ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบของแอตติคัส พ่อของลีเสียชีวิตก่อนหนังเริ่มฉายและลีประทับใจกับการแสดงของเป็กมากจนเธอให้นาฬิกาพกของพ่อเธอแก่เป็ก ซึ่งเขาพกติดตัวไว้ในคืนที่เขาได้รับรางวัลออสการ์รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม หลายปีต่อมา เขาลังเลที่จะบอกลีว่านาฬิกาเรือนนั้นถูกขโมยจากกระเป๋าเขาในสนามบินลอนดอนฮีทโธรว์ แต่เมื่อเขาบอกเธอ เขาเล่าว่าเธอตอบว่า " 'เอาเถอะ มันเป็นแค่นาฬิกาเรือนนึง' ฮาร์เปอร์รู้สึก แต่เธอไม่ใช่คนที่อ่อนไหวต่อสิ่งของ" ลีและเป็กยังคงเป็นเพื่อนกันหลังจากภาพยนตร์นี้ หลานชายของเป็กถูกตั้งชื่อว่า "ฮาร์เปอร์" เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ

อ้างอิง[แก้]

  • Crespino, Joseph (2000). "The Strange Career of Atticus Finch". Southern Cultures. University of North Carolina Press. 6 (2): 9–29.
  • Pauli, Michelle (2006-03-02). "Harper Lee tops librarians' must-read list". Guardian Unlimited. สืบค้นเมื่อ 2008-02-13.
  • "1962 Oscars - Academy Awards - Winners and Nominees". สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
  • Charles J. Shields (2006-06-11). "'Mockingbird: A Portrait of Harper Lee". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
  • ↑ "To Kill a Mockingbird About the Author". The Big Read, National Endowment for the Arts. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-16. สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
  • Shields, Charles. Mockingbird: A Portrait of Harper Lee. Henry Holt and Co.: 2006, p. 79–99.
  • "Nelle Harper Lee". Alabama Academy of Honor. Alabama Department of Archives and History. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-18. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  • Shields, p. 129.
  • Shields, p. 14.
  • Lacher, Irene (2005-05-21). "Harper Lee raises her low profile for a friend; The author of 'To Kill a Mockingbird' shuns fanfare. But for the kin of Gregory Peck". Los Angeles Times. p. E.1.
  • Shields, p. 242.
  • "Harper Lee," in American Decades. Gale Research, 1998.
  • Shields, p. 120–121.
  • Shields, p. 122–125.
  • Shields, p. 40–41.
  • "A writer's story: The mockingbird mystery". The Independence. 2006-06-04.
  • Krebs, Albin. "Truman Capote Is Dead at 59; Novelist of Style and Clarity", The New York Times, August 26, 1984, p. 1.
  • "Truman Capote". UXL Encyclopedia of World Biography. 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-29. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  • Fleming, Anne Taylor (1976-07-09). "The Private World of Truman Capote". The New York Times Magazine. p. SM6.
  • Steinem, Gloria (November 1967). "Go Right Ahead and Ask Me Anything (And So She Did) : An Interview with Truman Capote". McCall's: 76.
  • Hile, Kevin S. (August 1994). "Harper Lee". Authors and Artists for Young Adults. Vol. 13. ISBN 9780810385665.
  • Bigg, Matthew (2007-09-23). "Novel Still Stirs Pride, Debate; 'Mockingbird' Draws Tourists to Town Coming to Grips With Its Past". The Washington Post. p. A3.
  • Johnson, Boundaries p. 7–11.
  • Shields, p. 118.
  • ↑ Chura, Patrick (Spring 2000). "Prolepsis and Anachronism: Emmet Till and the Historicity of To Kill a Mockingbird". Southern Literary Journal. 32 (2): 1.
  • Dave, R.A. (1974). "Harper Lee's Tragic Vision". Indian Studies in American Fiction. MacMillan Company of India, Ltd. ISBN 978-0333900345.
  • Graeme Dunphy, "Meena's Mockingbird: From ฮาร์เปอร์ ลี to Meera Syal", Neophilologus, 88 (2004) 637-660. PDF online เก็บถาวร 2009-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Ward, L. "To Kill a Mockingbird (book review)." Commonwealth: December 9, 1960.
  • Adams, Phoebe (August 1960). "To Kill a Mockingbird". The Atlantic Monthly. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  • ↑ LeMay, Harding (1960-07-10). "Children Play; Adults Betray". New York Herald Tribune.
  • Hicks, Granville (1960-07-23). "Three at the Outset". Saturday Review. XLIII (30).
  • ↑ Tavernier-Courbin, Jacqueline (2007). "Humor and Humanity in To Kill a Mockingbird". ใน Alice Petry (บ.ก.). On Harper Lee: Essays and Reflections. University of Tennessee Press. ISBN 9781572335783.
  • Lee, p. 46.
  • Lee, p. 19.
  • Boerman-Cornell, William (1999). "The Five Humors". English Journal. 88 (4): 66. doi:10.2307/822422.
  • Lee, p. 133.
  • Lee, p. 297.
  • Johnson, Boundaries p. 20.
  • Metress, Christopher (September 2003). "The Rise and Fall of Atticus Finch". The Chattahoochee Review. 24 (1).
  • "Harper Lee Twits School Board In Virginia for Ban on Her Novel". The New York Times. 1966-01-16. p. 82.
  • Johnson, Boundaries p. 20–24
  • ↑ Erisman, Fred (April 1973). "The Romantic Regionalism of ฮาร์เปอร์ ลี". The Alabama Review. XXVI (2).
  • Henderson, R (1960-05-15). "To Kill a Mockingbird". Library Journal.
  • Johnson, Claudia (1991). "The Secret Courts of Men's Hearts". Studies in American Fiction. 19 (2).
  • Hovet, Theodore and Grace-Ann (2001). "'Fine Fancy Gentlemen' and 'Yappy Folk': Contending Voices in To Kill a Mockingbird". Southern Quarterly: A Journal of the Arts in the South. 40.
  • Flora, Joseph (2006). "Harper Lee". Southern Writers: A New Biographical Dictionary. Louisiana State University Press.
  • Johnson, Boundaries p. xi–xiv
  • Bloom, Harold (1999). Modern Critical Interpretations: 'To Kill a Mockingbird'. Philadelphia: Chelsea House Publishers.
  • Shields, p. 219–220, 223, 233–235
  • Siegel, Roslyn (1976). "The Black Man and the Macabre in American Literature". Black American Literature Forum. Indiana State University. 10: 133. doi:10.2307/3041614.
  • Lee, p. 107–113.
  • ↑ Jones, Carolyn (1996). "Atticus Finch and the Mad Dog". Southern Quarterly: A Journal of the Arts in the South. 34 (4).
  • Baecker, Diane (1998). "Telling It In Black and White: The Importance of the Africanist Presence in To Kill a Mockingbird". Southern Quarterly: A Journal of the Arts in the South. 36 (3): 124–32.
  • Banfield, Beryle (1998). "Commitment to Change: The Council on Interracial Books for Children and the World of Children's Books". African American Review. Indiana State University. 32: 17. doi:10.2307/3042264.
  • Suhor, Charles; Bell, Larry (1997). "Preparing to teach To Kill a Mockingbird". English Journal. National Council of Teachers of English. 86 (4): 1–16.
  • Martelle, Scott (2000-06-28). "A Different Read on 'Mockingbird'; Long a classroom starting point for lessons about intolerance, the Harper Lee classic is being reexamined by some who find its perspective limited". Los Angeles Times. p. 6.
  • Blackall, Jean (2007). "Valorizing the Commonplace: Harper Lee's Response to Jane Austen". ใน Alice Petry (บ.ก.). On Harper Lee: Essays and Reflections. University of Tennessee Press. ISBN 9781572335783.
  • Lee, p. 27.
  • Lee, p. 155.
  • Nichols, Peter (1998-02-27). "Time Can't Kill 'Mockingbird' [Review]". The New York Times. p. E.1.
  • "To Kill a Mockingbird (film)". Academy of Motion Picture Arts and Sciences. สืบค้นเมื่อ 2008-03-29.
  • Jones, Carolyn "Harper Lee", in The History of Southern Women's Literature, Carolyn Perry (ed.): Louisiana State University Press (2002). ISBN 978-0-8071-2753-7
  • Bobbin, Jay (December 21, 1997). "Gregory Peck is Atticus Finch in Harper Lee's To Kill a Mockingbird", The Birmingham News (Alabama), p. 1.F
  • King, Susan (December 22, 1997). "How the Finch Stole Christmas; Q & A With Gregory Peck" , Los Angeles Times, p. 1 King, Susan(October 18, 1999). "Q&A; Film Honors Peck, 'Perfectly Happy' in a Busy Retirement", Los Angeles Times, p. 4