ข้อใดเป็นหลักการจดจำตำหนิ

ตำรวจแนะผู้หญิงที่ต้องเดินทางเสี่ยงอันตรายให้ จำ 4 วิธี จดจำคนร้าย ระบุรูปพรรณ- ตำหนิ - ยานพาหนะ เป็นสิ่งที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต้องจดจำเป็นสิ่งแรก ขณะเดียวกัน ต้องไม่จดจำรายละเอียดทุกอย่างแต่ให้จำจากสิ่งใหญ่ไปหาเล็ก พร้อมเลือกจำสิ่งที่ง่ายๆไปหายาก เลือกจำตำหนิ จุดเด่นหรือจุดผิดปกติจะดีที่สุด

              4 เทคนิคพิชิตคนร้าย

              ในคดีอาชกรรมหลายๆคดีการจดจำตำหนิ รูปพรรณสัณฐาน ยานพาหนะของคนร้ายสามารถนำไปสู่การคลี่คลายคดีได้อย่างเหลือเชื่อแต่ทั้งนี้ผู้ที่ประสบเหตุหรือพยานในเหตุการณ์ก็ควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งรอบๆตัวโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ อาทิ ผู้หญิงที่ต้องเดินทางไปในที่เปลี่ยว การขึ้นโดยสารรถแท็กซี่หรือรถตู้ตามลำพัง สิ่งที่ต้องกระทำหากเผชิญอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ควรต้องสังเกตใบหน้าของบุคคลที่อยู่ร่วมสถานการณ์เป็นอันดับแรก จากนั้นจดจำทะเบียนรถ สีรถ และลักษณะที่ปกติหรือผิดปกติเพราะถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถติดตามคนร้ายมาลงโทษได้

              พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ บูรณะ รองผู้กำกับฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 (ทว.) บอกเทคนิคในการจดจำคนร้ายที่ก่อเหตุกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”ว่าการก่อเหตุอาชญากรรมในแต่ละครั้ง พนักงานรักษาความปลอดภัยหรือประชาชน มีโอกาสได้พบเห็นการกระทำความผิดได้ง่ายกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้เนื่องจากหากคนร้ายเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะไม่กระทำความผิด ดังนั้นการจดจำเทคนิคในการจดจำรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายจึงมีความจำเป็นสำหรับประชาชนโดยทั่วไป

              สำหรับการจดจำตำหนิรูปพรรณของคนร้ายรวมไปถึงยานพาหนะของคนร้ายได้ดี มีความสำคัญมากต่อการสืบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งนี้เนื่องจากการจดรูปร่างหน้าตาตำหนิรูปพรรณของคนร้าย และลักษณะรูปพรรณคล้ายกับข้อมูลของพยานที่อยู่ในเหตุการณ์และมีการนำไปสเก๊ตช์ภาพคนร้าย แล้วประกาศสืบจับโดยทั่วไปแล้ว 80 % จะสามารถจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

              สำหรับการสังเกตจดจำตำหนิรูปพรรณบุคคลหรือคนร้ายมีหลักการจดจำอยู่ 4 ข้อหลักซึ่งหากประชาชนทุกคนสามารถปฏิบัติตามนี้ได้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและยังจะสามารถติตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ง่ายขึ้น

              1.หากท่านอยู่ในเหตุการณ์ควรจะสังเกตจดจำสิ่งที่ใหญ่เห็นง่ายไปสู่สิ่งที่เล็กเห็นยาก สังเกตจดจำลักษณะเด่น ตำหนิไปสู่ลักษณะปกติธรรมดา แต่พยายามอย่าจดจำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ให้จดจำบางอย่างที่ท่านจดจำได้อย่างแม่นยำ

              เมื่อคนร้ายหลบหนีไปแล้ว อย่าถามผู้อื่นว่าเห็นอะไร ให้รีบบันทึกตำหนิรูปพรรณที่ท่านเห็นและจดจำได้ลงสมุดหรือกระดาษโดยทันที จากนั้นให้มอบรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

              2. ควรจะจดจำสิ่งที่สามารถจดจำได้ง่าย และควรจดจำก่อน เช่น เพศ เป็นชาย หญิง กะเทย วัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แก่ ฯลฯ อายุประมาณเท่าใด รูปร่าง สูง เตี้ย อ้วน ผอม สันทัด ฯลฯ ผิวเนื้อ ขาว ขาวเหลือง ดำ ซีด เหี่ยวย่น ฯลฯ

              เชื้อชาติ ดูจากใบหน้า เป็นคนไทย จีน ลูกครึ่ง แขก ฯลฯ รูปหน้า รูปไข่ กลม ยาว เหลี่ยม ฯลฯ ผม สั้น หงอก หนา หยิก ตัดทรงอะไร หวีอย่างไร ฯลฯ ปาก กว้าง แคบ ใหญ่ ริมฝีปากหนา ฯลฯ หู กาง ใหญ่ เล็ก ติ่งหูแหลม ฯลฯ ตา เล็ก โต พอง โปน ตาชั้นเดียว สองชั้น ตาเข สวม แว่นตา แว่นกันแดด ฯลฯ

              3.ให้จดจำสิ่งที่เป็นจุดเด่น สิ่งผิดปกติ ตำหนิ ที่อาจจดจำได้ง่าย เช่น ตำหนิ แผลเป็นบนใบหน้า ไฝ ปาน หูด เนื้อติ่ง มีลักษณะ อย่างไรอยู่ส่วนไหนของร่างกาย แผลเป็น มีลักษณะอย่างไร ขนาดเท่าใด อยู่ส่วนไหนของ ร่างกาย ลายสัก สักรูปอะไร สีอะไร อยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย ความพิการ ตาบอด หูหนวก ใบ้ แขนขาด้วน ลีบ ปาก เบี้ยว ฯลฯ

              ท่าทางการเดิน เดินตัวตรง ตัวเอียง ขากะเผลก สำเนียงการพูด พูดช้า เร็ว ติดอ่าง สำเนียงเป็นคนไทย จีน ฝรั่ง หรือสำเนียงคนภาคใด การกระทำบ่อย ๆ สูบบุหรี่จัด พูดเอามือปิดปาก ติดยาเสพติด เวลาพูดเอามือล้วงกระเป๋า

              การแต่งกาย จดจำเสื้อ กางเกง เช่น แขนสั้น - ยาว ขาสั้น - ยาว ฯลฯ แบบของเสื้อ กางเกง เช่น ยีนส์ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ตเครื่องแบบนักศึกษา สีอะไร ลายแบบไหน มีตัวเลขหรือไม่ รองเท้าที่สวมเป็นชนิดใด สีอะไร แบบใด เครื่องประดับ มีเครื่องประดับอะไรบ้าง ที่เห็นได้ชัด เช่น แว่นตา นาฬิกา สร้อย กระเป๋าถือ ฯลฯ

              4.กรณีที่คนร้ายมีการพรางใบหน้า เช่น สวมแว่นตากันแดด สวมหมวกกันน๊อค สวมหมวก สวม หน้ากาก คลุมศรีษะด้วยถุง ฯลฯ ก็ให้พยายามจดจำสิ่งที่ใช้พราง และจดจำส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่มิได้พราง และจดจำได้ง่าย

              ยานพาหนะ “ต้นทาง”จับคนร้าย

              พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ บอกต่อไปว่า บางครั้งการก่ออาชญากรรมคนร้ายก็ใช้ยานพาหนะในการก่อเหตุและหลบหนี ฉะนั้นนอกเหนือจากการจดจำรูปพรรณแล้วการจดจำจำยานพาหนะก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน โดยวิธีการจดจำยานพาหนะมีเทคนิค 4 ข้อคือ

              1.สังเกตจดจำสิ่งที่ใหญ่ เห็นง่าย ไปสู่สิ่งที่เล็กเห็นยาก เช่น จดจำตำหนิ รอยชน สติ๊กเกอร์ จุดเด่นต่าง ๆ พยายามสังเกตอย่าจดจำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ให้จดจำบางสิ่งที่ท่านจำได้อย่างแม่นยำ

              2.ให้สังเกตุสิ่งที่สามารถจดจำได้ง่ายและควรจดจำก่อน เช่นประเภทรถ เป็นรถจักรยานยนต์ รถเก๋งส่วนบุคคล รถยนต์ แท็กซี่สาธารณะ รถบรรทุก รถปิคอัพ รถสามล้อ เครื่อง รถจี๊ป ฯลฯ สีของรถ เป็นรถสีใด บริเวณใด เป็นสีชนิดธรรมดา ลูไซท์ ฯลฯ ความเก่า - ความใหม่ เป็นรถค่อนข้างใหม่หรือเก่า ยี่ห้อ เป็นรถยี่ห้อใด รุ่นปี พ.ศ.ใด หมายเลขทะเบียน ดูได้จากแผ่นป้ายทะเบียน ให้จดจำทั้งตัวอักษรและหมายเลข ถ้าเป็นรถต่างจังหวัด ให้จดจำชื่อจังหวัดไว้ด้วย แผ่นป้ายทะเบียนของรถประเภทต่าง ๆ จะแตกต่างกันไป เช่น รถเก๋งส่วนบุคคล แผ่นป้ายจะเป็นพื้นสีขาวตัวเลขและตัวอักษรสีดำ (เป็นป้ายของทางราชการ) ติดข้างหน้า - หลัง รถแท็กซี่แผ่นป้ายจะเป็นพื้นสีเหลือง ตัวเลขอักษรสีดำติดข้างหน้า - หลัง แผ่นป้ายรถจักรยานยนต์จะเป็นพื้นสีขาวตัวเลขอักษรสีดำ ติดข้างหลังเพียงแผ่นเดียว แต่ทั้งนี้ในการสังเกตแผ่นป้ายทะเบียนพยายามสังเกตด้วยว่าเป็นแผ่นป้าย ที่ติดไว้อย่างหลวมหรือติดอย่างแน่นหนา หรือมีการพรางเลขอักษรของแผ่นป้าย นั้น ๆ หรือไม่ ด้วยวิธีใด เพราะปัจจุบันคนร้ายมักใช้แผ่นป้ายทะเบียนปลอมหรือมีการพรางหมายเลขทะเบียน และตัวอักษรให้ผิดไปจากความเป็นจริง

              3.ให้สังเกตุสิ่งที่เป็นตำหนิรอยชนจุดเด่นที่เห็นได้ชัด ตำหนิ เช่น กระจกแตก สีลอก มีรอยเจาะที่ตัวถังของรถ ฯลฯ รอยชน รอยบุบ รถมีรอยถูกชนบริเวณใดมากน้อยอย่างไร มีรอยบุบที่ใด จุดเด่น เป็นรถที่แต่งเพื่อใช้แข่งขัน มีเสาอากาศ ติด อุปกรณ์พิเศษต่าง ๆ กับรถ ฯลฯ สติ๊กเกอร์ ฟิล์มติดสติ๊กเกอร์บริเวณใด เป็นรูปหรือเครื่องหมาย หรือข้อความว่าอย่างไร มีติดฟิลม์ กรองแสงทึบมาก - น้อยที่ใด อย่างไร แผ่นป้ายที่ติดกับกระจกด้านหน้า ได้แก่ ป้ายแผ่นป้ายวงกลม แสดงการเสียภาษี แผ่นป้ายผ่าน เข้า - ออก ของสถานที่ต่าง ๆ บางครั้งระบุชื่อไว้ที่แผ่นป้าย ถ้าเห็นให้จดจำด้วย แผ่นป้ายแสดง สิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น การจอดรถการประกันภัย ฯลฯ

              “ในผลงานที่ผ่านมาการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความร่วมมือจากพลเมืองดีที่ได้แสดงความสามารถในการสังเกตจดจำตำหนิรูปพรรณคนร้าย และยานพาหนะที่ใช้เป็นอย่างดี เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถพิชิตคดีสำคัญ ๆ แล้วได้ตัวคนร้ายมาลงโทษในที่สุด”พ.ต.ท.ชัยวัฒน์กล่าว

ที่มา