ข้อใด ไม่ใช่ ผล เสีย จากการ เปลี่ยนแปลง ของ สิ่งแวดล้อม ในชุมชน

ข้อใด ไม่ใช่ ผล เสีย จากการ เปลี่ยนแปลง ของ สิ่งแวดล้อม ในชุมชน

มนุษย์นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมแล้ว การกระทำของมนุษย์ยังมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ในทำนองเดียวกันสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ก็จะมีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์
มนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมที่มหัศจรรย์ประเภทหนึ่ง มนุษย์มีขีดความสามารถเหนือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  มนุษย์สามารถนำสิ่งแวดล้อมหนึ่งมาดัดแปลงให้เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่  พฤติกรรมของมนุษย์มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งส่งผลดีและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม   ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์   พฤติกรรมของมนุษย์จะเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม
กล่าวได้ว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม   การกระทำใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยเสมอ    ด้วยเหตุดังนี้ เราจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  เพื่อจะได้รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพื่อให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และเพื่อมิให้เราทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

1. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมนุษย์

      สิ่งแวดล้อมล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งสามารถแยกอธิบายให้เห็นได้ชัดเจนดังนี้ 
   สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ   เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าในด้านการตั้งถิ่นฐาน ด้านลักษณะของที่อยู่อาศัย ด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น  แต่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะสามารถกำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้มากน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์เอง หากมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามาก  มนุษย์ย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติน้อยลง    และยังสามารถดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้เป็นประโยชน์กับตนเองได้มากด้วย  ซึ่งเราสามารถที่จะนำวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่ด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกา เช่น เผ่าบุชเมน เผ่าปิ๊กมี มาเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรปหรืออเมริกาเหนือได้ กลุ่มชนที่ด้อยความเจริญในทวีปแอฟริกาจะมีวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย  พึ่งพาอาศัยธรรมชาติค่อนข้างมาก   การดัดแปลงธรรมชาติยังมีน้อย  ในขณะที่กลุ่มชนที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกาเหนือ จะมีวิถีความเป็นอยู่ที่ซับซ้อน พยายามหาวิธีที่จะเอาชนะธรรมชาติ  การดัดแปลงธรรมชาติมีมาก   เราจึงเห็นได้ว่าการที่มนุษย์พยายามปรับตัว เพื่อเอาชนะธรรมชาติ หรือหาวิธีนำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จะทำให้เกิดความแตกต่างในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน
    และแน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกันที่มีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการมากขึ้น ทำให้มนุษย์หาทางที่จะใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ   ทำให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการของมนุษย์ ก็ได้สร้างสิ่งที่เลวร้ายให้เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม  เช่น  ก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกสู่อากาศ ทำให้อากาศเป็นพิษ มีสภาพไม่เหมาะสมแก่การหายใจของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  น้ำเสียที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีและสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย มีความเป็นพิษ  สัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตได้ มนุษย์เองก็ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้
    ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ค่านิยม   เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์    มนุษย์เราเมื่ออยู่ร่วมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิต กำหนดพฤติกรรมที่พึงปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  มนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกันย่อมมีรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะเดียวกัน เช่นพูดภาษาเดียวกัน  ยึดถือกฎเกณฑ์เดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่สังคมกำหนด อาจไม่ได้รับการยอมรับในสังคมนั้น อาจเกิดความขัดแย้งหรืออาจถูกลงโทษได้
    กล่าวโดยสรุปคือ  สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่   ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ย่อมมีผลให้รูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์แตกต่างกันออกไป ซึ่งในที่นี้จะนำบางตัวอย่างมาอธิบาย เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น        
      (1) ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของประชากร  ถ้าหากเรานำจำนวนประชากรของโลกทั้งหมดเฉลี่ยให้กระจายอย่างสม่ำเสมอแล้ว  ความหนาแน่นของประชากรโลกจะประมาณ  13  คนต่อตารางกิโลเมตร  (คำนวณจากประชากรโลก ปี พ.ศ.2551 ซึ่งมีจำนวน 6,682 ล้านคน)   แต่ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว     ประชากรโลกมักจะอาศัยอยู่รวมกันตามบริเวณที่มีสภาพทางธรรมชาติเหมาะสมกับการดำรงชีวิต  มนุษย์มักเลือกอาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์   มีลักษณะอากาศไม่รุนแรง อุณหภูมิปานกลาง ปริมาณน้ำฝนพอเหมาะ เราจึงพบว่าบริเวณที่มีลักษณะทางธรรมชาติไม่เหมาะสม เช่น ทะเลทรายสะฮาราทางเหนือของทวีปแอฟริกา ที่ราบลุ่มแม่น้ำในไซบีเรียของประเทศรัสเซียจะมีประชากรอาศัยอยู่น้อยมาก
         นอกจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  จะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะการตั้งถิ่นฐานของประชากรแล้ว สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ยังเป็นตัวกำหนดลักษณะการตั้งถิ่นฐานเช่นเดียวกัน ดังจะพบว่าในเขตเมืองซึ่งมีสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นถนน น้ำ ไฟ โทรศัพท์  ครบครัน มีสถานศึกษาหลายระดับ หลายประเภท  มีบริการทางการแพทย์การสาธารณสุข อีกทั้งความสะดวกสบายนานับประการ  เหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมืองกันอย่างหนาแน่น  และหลายพื้นที่อาจมีประชากรหนาแน่นมากจนเกินกว่าที่เมืองนั้นๆ จะรับได้ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ส่วนในเขตชนบทซึ่งมีลักษณะทุกอย่างตรงข้ามกับในเขตเมือง  จะพบว่ามีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบาง    ซึ่งลักษณะการกระจายของประชากรที่ไม่สม่ำเสมอเช่นนี้  เป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
         ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของประชากรในประเทศไทย ก็เป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน จะพบว่าในขณะที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีประชากรหนาแน่นมาก คือประมาณ 3,652 คน ต่อตารางกิโลเมตร  แต่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน อยู่ห่างไกลความเจริญ   มีความหนาแน่นของประชากรเพียง 20 คนต่อตารางกิโลเมตร (สถิติประชากร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
     (2) ลักษณะที่อยู่อาศัย  ลักษณะบ้านหรือที่อยู่อาศัยของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามสิ่งแวดล้อม    ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง ทัศนคติ ความเชื่อ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอื่นๆ 
         ในอดีตประเทศไทยเคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ การก่อสร้างบ้านเรือนในสมัยก่อนนิยมสร้างด้วยไม้ แต่ในปัจจุบันป่าไม้ของไทยมีจำนวนน้อยลง หาได้ยาก และราคาแพง วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจึงเปลี่ยนแปลงไป มีการนำอิฐ ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น ฯลฯ มาใช้ในการก่อสร้าง รูปทรงของบ้านเรือนในอดีตเป็นรูปทรงที่เหมาะกับลักษณะอากาศที่ร้อนและชื้นในประเทศไทย  คือมีหลังคาแหลมเป็นหน้าจั่วสูง มีหน้าต่างมาก มีเฉลียง มีช่องระบายอากาศมาก  นอกจากนั้นในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จะสร้างบ้านที่มีลักษณะใต้ถุนสูง   ในยุคปัจจุบันไทยเรารับวัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือนแบบตะวันตกมาใช้โดยไม่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ผลที่ปรากฏให้เห็นก็คือบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อน้ำท่วม กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางเมื่อ ปี พ.ศ.2538 มีบ้านสมัยใหม่ที่ไม่มีใต้ถุนสูงได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ข้อใด ไม่ใช่ ผล เสีย จากการ เปลี่ยนแปลง ของ สิ่งแวดล้อม ในชุมชน

ภาพที่ 1.5 เปรียบเทียบบ้านทรงไทยใต้ถุนสูงกับบ้านแบบตะวันตกชั้นเดียว ในสภาวะน้ำท่วม

ที่มา : นุกูล ชมภูนิช. (2530). บ้านไทย เอกลักษณ์ของชาติ. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.

         ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นมาก  อุณหภูมิโดยทั่วไปค่อนข้างต่ำ มีฤดูหนาวที่ยาวนาน  ชาวเอสกิโมซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะสร้างบ้านด้วยแท่งน้ำแข็ง ที่เรียกว่าอิ๊กลู (Igloo) ในช่วงฤดูหนาว   แต่ในฤดูร้อนซึ่งหิมะและน้ำแข็งเริ่มละลาย จะอาศัยอยู่ในเต็นท์หนังสัตว์  ในปัจจุบันชาวเอสกิโมบางส่วนได้รับอิทธิพลจากชาวอเมริกัน จะอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน
          ฐานะทางเศรษฐกิจและทางสังคมของผู้อยู่อาศัย   จะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง วัสดุที่ใช้ ความโอ่อ่าหรูหรา ขนาดของบ้านเรือน ประโยชน์ของการใช้สอย เป็นต้น เราจึงพบความแตกต่างของที่อยู่อาศัยอย่างมากมายในแต่ละพื้นที่
      (3) ลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ    มนุษย์จะเลือกประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บางพื้นที่ให้โอกาสในการประกอบกิจกรรมได้น้อยอย่าง แต่บางพื้นที่ให้โอกาสในการประกอบกิจกรรมได้มากอย่าง  ความแตกต่างทางด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความรู้ ความสามารถเฉพาะบุคคล สภาพเศรษฐกิจและสังคม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องกำหนดลักษณะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เช่นกัน
         กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถือได้ว่าเป็นของกลุ่มชนที่ล้าหลังมากที่สุด   ได้แก่ การเก็บของป่า ล่าสัตว์ และจับปลา หรืออาจเรียกว่าการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติ  ลักษณะทั่วๆ ไปคือการหาอาหารเมื่อหิว ความเป็นอยู่แร้นแค้น เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปในการหาอาหาร ซึ่งเป็นการหาจากธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณนั้น  มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มักมีชีวิตแบบเร่ร่อน  ไม่มีที่อยู่อาศัยที่แน่นอน     ดังเช่น พวกปิ๊กมี (Pygmy) ที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำคองโก ทวีปแอฟริกา  พวกเขาจับปลา  ล่าสัตว์ ด้วยอาวุธหรือเครื่องมืออย่างง่ายๆ มีการเก็บพืชผลในป่ามาบริโภค
          การเพาะปลูกแบบยังชีพ ซึ่งเป็นการเพาะปลูกแบบง่ายๆ มีเครื่องทุ่นแรงน้อย อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ขาดความรู้ในการพัฒนาอาชีพ ผลผลิตที่ได้มีไม่มาก   จะพบได้ทั่วไปในกลุ่มชนที่ด้อยพัฒนาในทวีปเอเชีย  ทวีปแอฟริกา  และทวีปอเมริกาใต้
           ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่ที่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการผลิต มีการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง  มีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ มีการใช้เครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงเข้าช่วยในการเกษตร การปลูกพืชมักปลูกพืชเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่กว้างขวาง
            ในปัจจุบันเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่ได้สร้างปัญหาหลายประการ  เช่น  ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีโรคแมลงศัตรูพืชรบกวน สมดุลในธรรมชาติเสียไป  ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และบางครั้งอาจสูงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน เกิดภาวะหนี้สินตามมา  ซึ่งเป็นทางนำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่อไปอีก   ในบางพื้นที่จึงได้ให้ความสนใจในการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งน่าจะลดปัญหาอันเกิดจากเกษตรกรรมสมัยใหม่ได้ ในประเทศไทยเองเกษตรกรบางส่วนก็ได้หันเห มาสู่การเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี   ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ รักษาเนื้อดินไม่ให้เสื่อมคุณภาพเร็ว โรคแมลงศัตรูพืชไม่รบกวนมาก ต้นทุนในการผลิตไม่สูงมากจนเกิดความไม่คุ้มทุน
          อุตสาหกรรมเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พบมากในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นต้น    มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบา มีผลิตภัณฑ์หลายลักษณะส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก   นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีหนึ่งๆ เป็นมูลค่ามหาศาล  ประชากรในประเทศเหล่านี้จะมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพสูง   ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย  ได้หันเหวิถีการดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรมมาสู่แบบอุตสาหกรรม  เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย  อีกทั้งยังมุ่งหวังที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศด้วย  การนำพาประเทศเข้าสู่วิถีทางแห่งอุตสาหกรรมนั้น หากมองทางด้านเศรษฐกิจแต่เพียงประการเดียว        การพัฒนาอุตสาหกรรมจะเป็นหนทางนำพาประเทศไปสู่รายได้อันมากมาย  ในทางสังคมผู้คนจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น  มาตรฐานการครองชีพจะสูงขึ้น แต่เมื่อมองกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมจะพบว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างมากมายและรวดเร็ว  สิ่งแวดล้อมถูกเปลี่ยนแปลง สมดุลในธรรมชาติเสียไป สิ่งแวดล้อมบางส่วนเสื่อมโทรมลง ธรรมชาติไม่สามารถปรับสมดุลได้ทัน
     (4) ลักษณะอาหารที่บริโภค    อาหารที่มนุษย์บริโภคในแต่ละพื้นที่ของโลกมีลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้าง คล้ายคลึงกันบ้าง ทั้งนี้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกข้าวเจ้า  ผู้คนในแถบนี้จะนิยมบริโภคข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก   ประชากรในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือนิยมบริโภคข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก เนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าวสาลี
          ในเขตทะเลทรายซึ่งมีแต่ความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ มีพืชเติบโตได้บ้างในบางบริเวณ  เช่น ตามโอเอซิส (Oasis) มีต้นอินทผลัม    ผู้คนในแถบนี้จึงอาศัยผลอินทผลัมเป็นอาหารสำคัญ   สัตว์ที่เลี้ยงได้ก็มีอยู่น้อยชนิด  สัตว์ที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับพวกเขา คือ อูฐ ซึ่งอาศัยได้ทั้งแรงงานในการบรรทุกสิ่งของ และอาศัยเนื้อ นม เป็นอาหาร
           แม้ว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะเป็นตัวกำหนดชนิดของพืชหรือสัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหาร แต่สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดทางด้านอื่นๆ  เช่นวิธีการปรุงอาหาร วิธีการบริโภคอาหาร เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเดียวกัน  ผู้คนอาจมีลักษณะของอาหารที่บริโภคแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่นด้านรสชาติ  รูปแบบ คุณภาพ เป็นต้น
          บางแห่งความเชื่อทางศาสนาจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชนิดของอาหารที่บริโภค      เช่น อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงโคเป็นจำนวนมาก แต่ชาวอินเดียมิได้บริโภคเนื้อโคเป็นอาหาร  เนื่องจากตามความเชื่อของชาวฮินดู ถือว่าโคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จะทำร้ายหรือฆ่าเป็นอาหารไม่ได้  ชาวอินเดียอาศัยนมโคเป็นอาหาร ส่วนเนื้อสัตว์จะบริโภคเนื้อแพะ เนื้อแกะ ส่วนชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามจะไม่บริโภคเนื้อสุกร
          ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการคมนาคมขนส่ง  ทำให้ลักษณะของอาหารที่บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ทำให้สามารถบริโภคอาหารที่ตนเองไม่สามารถผลิตได้  ผู้คนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวอาจซื้อพืชผลเมืองร้อนมาบริโภค เช่น  กาแฟ กล้วยหอม สับปะรด ทุเรียน มังคุด เป็นต้น  ส่วนผู้คนในเขตร้อนก็อาจซื้อพืชผลจากเขตอบอุ่นมาบริโภค  เช่น  ข้าวสาลี  แอปเปิล แพร์  เป็นต้น
          ลักษณะอาหารที่บริโภคในประเทศไทยนั้น มีทั้งอาหารที่เป็นอาหารไทย และอาหารต่างประเทศ การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ  ทำให้วัฒนธรรมในการบริโภคของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายประการ ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ดี  เช่น การรู้จักเลือกบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ  และสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ความนิยมในการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ซึ่งบางครั้งอาจมีคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะแก่การบริโภค
      (5) ลักษณะเครื่องนุ่งห่ม    ลักษณะอากาศจะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ โดยทางตรง ลักษณะอากาศโดยเฉพาะอุณหภูมิจะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะและความหนาบางของเครื่องนุ่งห่ม  โดยทางอ้อม ลักษณะอากาศจะมีผลต่อวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เช่นในเขตร้อน มีพืชประเภทฝ้าย ป่าน  ผู้คนในเขตร้อนจึงนิยมใช้เส้นใยจากพืชเหล่านี้มาผลิต และจะได้เนื้อผ้าซึ่งเหมาะสมกับลักษณะอากาศ ในเขตที่มีอากาศหนาวเย็น นิยมเครื่องนุ่งห่มที่มีความหนา เพื่อให้ร่างกายรู้สึกอบอุ่น  ขนสัตว์ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต  เช่น ขนแกะ ขนเฟอร์ (fur)  ในทะเลทรายที่ซึ่งมีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนมาก เต็มไปด้วยฝุ่นดิน ฝุ่นทรายที่ลมหรือลมพายุพัดมา ผู้คนจำเป็นต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหนาและห่อหุ้มเกือบทุกส่วนของร่างกาย เพื่อป้องกันความร้อนในเวลากลางวัน ป้องกันมิให้ร่างกายสูญเสียความชื้นมากเกินไป ป้องกันความหนาวเย็นในเวลากลางคืน  รวมทั้งป้องกันฝุ่นดิน ฝุ่นทรายมิให้ทำอันตรายต่อผิวหนัง
          ความเจริญก้าวหน้าของผู้คนก็มีส่วนในการกำหนดลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม จะพบว่ากลุ่มชนที่มีความเจริญน้อย จะไม่ค่อยรู้จักการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เช่น พวกบุชเมน (Bushmen) ในทะเลทรายคาลาฮารี   ร่างกายจะต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละฤดูกาล    ผู้คนที่อยู่ในเขตที่เจริญแล้วจะมีการผลิตเครื่องนุ่งห่มมากมายหลายลักษณะ  เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะอากาศ และเหมาะสมกับสิ่งอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สถานที่ เวลา เพศ วัย ความนิยม ความเชื่อ เทศกาล เป็นต้น  แม้ว่าโดยทั่วๆ ไปกลุ่มชนแต่ละหมู่ละเหล่า มักจะมีการแต่งกายที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ลวดลาย สี   แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน  ทำให้เครื่องนุ่งห่มของแต่ละชนชาตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การแต่งกายแบบชาวตะวันตกนั้นมีข้อดีคือ  ใส่แล้วมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว แต่ต้องรู้จักดัดแปลงให้เหมาะสม เช่น ความหนาบางของผ้า วัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บ รูปแบบของเสื้อผ้า
         ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม   จะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะของเครื่องนุ่งห่มของผู้คนอีกประการหนึ่ง เราจึงพบความหลากหลายของเครื่องนุ่งห่ม แม้ว่าจะอยู่ในประเทศเดียวกัน
      (6) ลักษณะสุขภาพอนามัย  สุขภาพทางกายและใจของมนุษย์เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้มนุษย์มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ  หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ
          การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  ย่อมหมายถึง การได้อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ  มีน้ำสะอาดไว้ใช้สอย ดื่มกิน มีอาหารที่สะอาด ถูกหลักโภชนาการไว้บริโภค  มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่เหมาะสมและเพียงพอ ผู้คนที่แวดล้อมรอบตัวเรามีจิตใจที่ดีงาม เหล่านี้เป็นต้น
          การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี  หมายถึงการอยู่ในที่ที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์ อากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย มีเสียงดังรบกวน  มีอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค  มีโจรผู้ร้ายชุกชม  มีการต่อสู้แย่งชิงกัน  มีโรคภัยไข้เจ็บรบกวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์เลย
          การดำรงรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี   ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์  ประเทศชาติจะสามารถพัฒนาไปได้ดี หากประกอบด้วยผู้คนที่มีสุขภาพดีและมีคุณภาพสูง
     อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมนุษย์  นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในอีกหลายด้าน     เช่น  ด้านการปกครอง การเมือง กิจกรรมนันทนาการ การศึกษา  ประเพณี ระดับของเทคโนโลยี เป็นต้น

2. อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม  

   การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลกจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด มนุษย์จะเป็นตัวกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม มีการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหนึ่งให้เป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่ง  เช่นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น  หรืออาจเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเดิมให้เป็นสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ กล่าวได้ว่าอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ  ก็คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งนั่นเอง ซึ่งเหตุผลของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นมีมากมายหลายสาเหตุ  มีทั้งกระทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข เพื่อการแข่งขัน เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เหล่านี้เป็นต้น
    การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น    มนุษย์ได้กระทำต่อเนื่องกันมานานนับตั้งแต่มนุษย์อุบัติขึ้นบนพื้นผิวโลก การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  รวมทั้งความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด  สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเองก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดอย่างไม่มีการหยุดยั้ง


ข้อใด ไม่ใช่ ผล เสีย จากการ เปลี่ยนแปลง ของ สิ่งแวดล้อม ในชุมชน
ข้อใด ไม่ใช่ ผล เสีย จากการ เปลี่ยนแปลง ของ สิ่งแวดล้อม ในชุมชน

ภาพที่ 1.6 มนุษย์เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม


    มนุษย์เปลี่ยนแปลงพื้นที่ทุ่งหญ้า ป่าไม้ ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม   มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนแปลงชุมชนชนบทให้เป็นชุมชนเมือง  มีการเปลี่ยนแปลงเมืองเล็กให้เป็นเมืองใหญ่ มีการเปลี่ยนระดับของเทคโนโลยีจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในแม่น้ำ มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในทะเล  มีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่มนุษย์ได้กระทำให้เกิดบนพื้นโลกนี้   ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทั้งในทางบวกและทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งตัวมนุษย์เอง

     กล่าวโดยสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  จะเห็นได้ว่า  มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ไม่อาจแยกตัวเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมได้ ในเมื่อมนุษย์มีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นเช่นนี้    มนุษย์จึงไม่อาจปฏิเสธภาระความรับผิดชอบต่อการพิทักษ์รักษาสภาพแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่ตลอดไป  เพื่อความอยู่รอดของตัวมนุษย์เอง