การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีกระบวนการอะไรบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในองค์กรและภาคธุรกิจ คือ ทรัพยากรมนุษย์ เพราะมนุษย์สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพ การบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่การว่าจ้างและการจ่ายเงินเดือนเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลด้านสวัสดิการและการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กร รวมถึงหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในองค์กรอีกด้วย โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลพนักงานในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ คือ พนักงานฝ่ายบุคคล หรือที่เราเรียกสั้น ๆ เป็นภาษาอังกฤษเก๋ ๆ ว่า HR นั่นเอง สำหรับใครที่อยากรู้จักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และอยากเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ ในบทความนี้ GreatDay HR ได้อาสาพาไปทำความรู้จักกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์กันให้มากขึ้น มาดูกันว่าความรู้เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์นี้ มีอะไรบ้าง

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ คืออะไร

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management: HRM) คือ แนวทางและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการพนักงานในองค์กร เพื่อให้พนักงานทุกคนในองค์กรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกสบายและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผลของงานบรรลุจุดประสงค์ขององค์กร โดยหน้าที่ของฝ่ายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่

  • การสรรหาและคัดเลือกพนักงานที่มีความสามารถและเหมาะสมกับงานเข้ามาในองค์กร
  • พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของพนักงานในองค์กร
  • ส่งเสริมให้พนักงานที่มีความสามารถอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ
  • ดูแลเรื่องความสะดวกสบายในการทำงาน สภาพแวดล้อม รวมไปถึงสวัสดิการของพนักงานในองค์กร

ความสำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญจริง ๆ หรือ? คำตอบก็คือ มีความสำคัญมาก เนื่องจากมนุษย์เรานั้นไม่ใช่ทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ อีกทั้งมนุษย์ยังเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยสร้างสรรค์ผลลัพธ์ของงานให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผลลัพธ์ของงานมีประสิทธิภาพตามมา อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดูดีและมีศักยภาพมากขึ้นต่อสายตาผู้คนภายนอกองค์กร

บทบาทของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

ปัจจุบัน องค์กรหลาย ๆ แห่งต่างก็หันมาใช้บริการบริษัทเอาท์ซอร์ส HR กันมากขึ้น ทำให้บทบาทของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทไปจากเดิมเล็กน้อย โดยเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ในการบริหารพนักงานและวิเคราะห์ผลกระทบที่สามารถวัดได้จากการทำงานของพนักงานที่มีต่อองค์กรและภาคธุรกิจ 

ปัจจุบันองค์กรที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และเน้นการให้บริการแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทิศทางการบริหารงานได้อย่างรวดเร็ว ภายในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ประสิทธิภาพของการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอย่างมาก พนักงานทรัพยากรบุคคลจะต้องสร้างระบบการทำงานเพื่อสำหรับการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน การวางแผนเกี่ยวกับตำแหน่งงาน และการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ซึ่งบทบาทเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงานในองค์กรได้ทำงานอย่างมีความสุข มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร และมีเวลาในการบริหารจัดการเรื่องส่วนตัวอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ พนักงานฝ่ายบุคคลมืออาชีพยังสามารถช่วยพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรและบรรยากาศในการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ได้ผลลัพธ์ของงานที่ยอดเยี่ยมได้

5 การบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ ที่เหล่า HR ต้องรู้

เมื่อเราพูดถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ ก็อาจจะได้ยินถึงกลยุทธ์และวิธีการมากมายในการบริหารจัดการ แต่โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่เหล่าพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องรู้ มีดังนี้

1. การสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าองค์กร

การสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าองค์กรถือเป็นบทบาทหน้าที่ที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดของพนักงานฝ่ายบุคคล การสรรหาผู้สมัครและการเลือกบุคคลที่มีศักยภาพและเหมาะกับงานที่สุดถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญของฝ่ายทรัพยากรบุคคล 

ขั้นตอนคร่าว ๆ ของการสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าองค์กรจะมาจากคำร้องขอว่าจ้างของแผนกต่าง ๆ ในองค์กร ซึ่งทางแผนกต่าง ๆ จะส่งรายละเอียดของงานมายังเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจะเริ่มสรรหาผู้สมัคร ซึ่งในขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลสามารถใช้เครื่องมือในการคัดเลือกต่าง ๆ เพื่อค้นหาบุคคลที่ดีที่สุดเข้ามาทำงาน ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์ การประเมินต่าง ๆ การตรวจสอบอ้างอิง รวมถึงการสรรหากลยุทธ์อื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ

ในบางครั้งเมื่อมีผู้สมัครงานในตำแหน่งงานหนึ่ง ๆ จำนวนมาก ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอาจมีการปรับใช้เครื่องมือการเลือกพนักงานได้ โดยเครื่องมือเหล่านี้จะเข้ามาช่วยคัดแยกผู้สมัครจนได้ตัวเลือกที่เหมาะสม ผู้สมัครที่ประสบความสำเร็จจะเข้าสู่รอบการคัดเลือกพนักงานรอบต่อไป โดยอาจจะเป็นการสัมภาษณ์หรือการประเมินในเชิงลึกอื่น ๆ เป็นต้น

2. การบริหารจัดการและประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

เมื่อได้พนักงานที่เหมาะสมในตำแหน่งมาเข้าร่วมองค์กรแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดการผลการปฏิบัติงานโดยการจัดการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานนั้นเป็นพื้นฐานที่พนักงานฝ่ายบุคคลต้องรู้ เพราะเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือพนักงานในการทำงาน และเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้สร้างผลกำไรขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยปกติแล้ว พนักงานมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ที่ต้องดูแล และการจัดการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานนั้นเป็นโครงสร้างที่ช่วยให้พนักงานได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ซึ่งองค์กรต่าง ๆ มักจะมีรอบการประเมินงานประจำปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผน การเฝ้าติดตาม การทบทวน และการให้รางวัลผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ช่วยให้สามารถจัดหมวดหมู่พนักงานในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงเทียบกับกลุ่มที่มีประสิทธิภาพการทำงานต่ำได้อย่างชัดเจน

การจัดการผลการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จนั้นถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างฝ่ายทรัพยากรบุคคลและฝ่ายบริหาร ซึ่งโดยปกติแล้วผู้จัดการแผนกต่าง ๆ จะเป็นผู้นำ และฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน การจัดการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พนักงานในองค์กรมีศักยภาพในการทำงาน รวมถึงสามารถปรับปรุงการทำงานเพื่อผลลัพธ์ของงานที่ยั่งยืน

3. เรียนรู้และพัฒนาการทำงาน

มนุษย์เป็นผลัพธ์ของการสั่งสมประสบการณ์ สภาพแวดล้อม และการเรียนรู้ หน้าที่ของพนักงานฝ่ายบุคคล คือ การส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาที่จะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือทางกฎหมายได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น

การเรียนรู้และการพัฒนาการทำงานจะช่วยให้พนักงานเพิ่มทักษะการทำงานซึ่งนำโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคล และนโยบายที่ดีจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายในระยะยาว

4. การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง

​​การวางแผนสืบทอดตำแหน่งเป็นกระบวนการวางแผนฉุกเฉินในกรณีที่พนักงานคนสำคัญออกจากองค์กร ตัวอย่างเช่น หากผู้จัดการอาวุโสที่สำคัญลาออกจากงาน การมีพนักงานใหม่ที่มีศักยภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าคนก่อนจะช่วยรับประกันความต่อเนื่องของงานและประหยัดงบขององค์กรได้

การวางแผนสืบทอดตำแหน่งมักขึ้นอยู่กับการให้คะแนนประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการส่งต่อผู้มีความสามารถให้เข้ามารับตำแหน่งแทน ดังนั้น การสร้างและดูแลระบบสืบทอดตำแหน่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดี

5. การจัดการเรื่องค่าตอบแทนและผลประโยชน์

พื้นฐานการจัดการทรัพยากรมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง คือ การบริหารเรื่องค่าตอบแทนและผลประโยชน์ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการจูงใจและรักษาพนักงานไว้กับองค์กร ปัจจัยพื้นฐานประการหนึ่งเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าตอบแทน คือ การประกันความเสมอภาคและความยุติธรรมให้แก่พนักงานทุกคนในองค์กร

การจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กร โดยเงินค่าตอบแทนจะต้องสมดุลกับงบประมาณและอัตรากำไรขององค์กร ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรติดตามการขึ้นเงินเดือนและกำหนดมาตรฐานค่าตอบแทนของพนักงาน ส่วนผลประโยชน์ของพนักงานถือว่าเป็นรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินทั้งหมด ซึ่งอาจรวมถึงวันหยุดพิเศษ เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น การดูแลเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เงินบำนาญ รถรับส่ง รวมไปถึงอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานต่าง ๆ ของพนักงานในองค์กร เป็นต้น

สรุป การบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

ทีนี้ คุณก็ได้เรียนรู้ 5 การบริหารทรัพยากรมนุษย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการบริหารเหล่านี้ถือว่าเป็นการจัดการที่แข็งแกร่งและเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร โดยรวมแล้ว ปัจจัยพื้นฐานด้านทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ทำให้พนักงานไม่เพียงแต่ทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานได้อย่างดีที่สุด และยังช่วยเพิ่มผลประกอบการให้แก่องค์กรอีกด้วย

อาจดูเหมือนว่างานการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นดูเป็นงานที่หลากหลายและซับซ้อน แต่หากมีตัวช่วยดี ๆ อย่างระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์จาก GreatDay HR ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์อันดับหนึ่งด้านงานบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้พนักงาน รับรองว่างานบริหารบุคคลจะง่ายขึ้นเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเลยทีเดียว