การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายถึงข้อใด

สยามรัฐออนไลน์ 30 ตุลาคม 2560 09:11 น. ตะเกียงเจ้าพายุ

ทวี สุรฤทธิกุล แล้วระบอบนี้จะยั่งยืนได้อย่างไร? คำจำกัดความโดยง่ายที่สุดของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็คือ “การปกครองที่ประชาชนมีความเคารพรักและศรัทธาต่อองค์ผู้ปกครอง” สาระสำคัญของคำจำกัดความนี้มี 3 ส่วน ส่วนแรก “ประชาชน” อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่หมายถึง “ประชาชนเป็นใหญ่” คือต้องเป็นการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งประเทศไทยก็ยึดหลักการนี้มาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั่นแล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ หรือหากจะขยายความให้กว้างในบางยุคสมัยที่มีคณะผู้ปกครองเป็นเผด็จการ แต่ถ้าประชาชน “ให้การยอมรับ” ก็อาจจะนับว่าเป็นประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ส่วนต่อมา “องค์ผู้ปกครอง” ที่แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญนั้นจะให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง(ในคราวที่เป็นประชาธิปไตยแบบสากล)หรือมาจากการรัฐประหาร(ในคราวที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ)อยู่ในฐานะ “องค์อธิปัตย์” หรือผู้มีอำนาจสูงสุด แต่ตลอดเวลาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น แต่ก็ปรากฏว่าสถานะของพระมหากษัตริย์กลับมีความ “สูงส่ง” ยิ่งกว่า ดังที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ทรงใช้อำนาจ” ผ่านสถาบันทั้งสามคือ รัฐสภา รัฐบาล และศาล อันเป็นประเพณีการปกครองที่สำคัญ และส่วนสุดท้าย “ความเคารพรักและศรัทธา” อันเป็นลักษณะพิเศษที่มีอยู่จำเพาะในระบอบการปกครองของไทย นั่นก็คือการที่ประชาชนให้ความเคารพรักและศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่มีเสื่อมคลาย ในขณะที่คณะผู้ปกครองอื่นทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและคณะทหารที่มาจากการรัฐประหารได้รับความรู้สึกเช่นนั้นจากประชาชนน้อยกว่า หรือ “มีขึ้นมีลง” และด้วยความรู้สึกดั่งนี้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคง โดยเฉพาะหากมีการปกครองด้วย “คุณงามความดี” ดังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติ ภายใต้คำจำกัดความข้างต้นนี้ ความแข็งแรงมั่นคงของพระมหากษัตริย์จึงต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้งสามส่วนนั้นด้วย นั่นก็คือ ประการแรก “ความรักความสามัคคีของคนในชาติ” อันเป็นองค์ประกอบของคำว่า “ประชาชน” โดยที่ประชาชนประกอบด้วยคนจำนวนมากและมากมายหมู่เหล่า ทุกคนจึงอยู่ร่วมกันด้วย “จิตใจ” เป็นสำคัญในยุคสมัยใดก็ตามที่คนไทยมีจิตใจที่รักสามัคคีในกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดฐานะอย่างไร ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น ซึ่งในประเทศไทยเรามี “ศูนย์รวมจิตใจ” อันหาได้ยากในชาติอื่น นั่นก็คือ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ” ความรักความสามัคคีของคนในชาติจึงขึ้นอยู่กับพระราชจริยวัตรขององค์พระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจต่างๆ ด้วย ว่าได้ทรงทำ”เพื่อประชาชน” หรือไม่ ประการต่อมา “การเคารพรักและศรัทธาต่อองค์ผู้ปกครอง” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประการก่อนนี้ คือเมื่อพระมหากษัตริย์ได้แสดงพระราชจริยวัตรและประกอบพระราชกรณีกิจต่างๆ ส่งผลต่อประชาชทุกหมู่เหล่าด้วยดีแล้ว ก็ย่อมจะได้รับความเคารพรักและศรัทธาจากประชาชนตามไปด้วย โดยเฉพาะ “ศรัทธา” มักจะหาได้ยากระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองทั่วๆ ไป เพราะศรัทธานั้นคือ “ความเชื่อถือและเชื่อฟังด้วยความบริสุทธิ์ใจ” โดยปราศจากข้อสงสัย ดั่งที่คนทั้งหลายมีความศรัทธาต่อศาสนาต่างๆ ทั้งนี้ในทางการเมืองการปกครองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะปกครองด้วยลัทธิใดๆ หากประชาชนมีความศรัทธาแล้วระบอบนั้นก็จะมั่นคง ประการสุดท้าย “การปกป้องและส่งเสริมกันและกัน” ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญของไทยได้เทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้ในที่สูงสุด “จะละเมิดมิได้” นั่นก็คือคนไทยต้องมีหน้าที่ในการปกป้องดูแลสถาบันพระมหากษัตริย์ จักต้องไม่ทำการอันเป็นการ “เสื่อมพระเกียรติ” จึงต้องมีกฎหมายเพื่อการปกป้องคุ้มครองนั้นตามสมควร รวมถึงการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อพระเกียรติยศนั้นไม่ให้เสื่อมคลาย ในขณะเดียวกันการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้มีความสุข รวมถึงคนไทยได้อาศัยพระบารมีปกป้องคุ้มครอง พระมหากษัตริย์ก็จะคงอยู่ในฐานะผู้ปกครองสูงสุดของคนไทยเสมอ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการปกครองของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งคือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ในอดีตเขาก็มี “ฮ่องเต้” หรือพระมหากษัตริย์ในรูปแบบของ “พรมหาจักรพรรคดิ” ซึ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่มหาศาลกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทยมากมายนัก แต่เมื่อวันหนึ่งพรรคคคอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศจีนได้สำเร็จ คณะบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็ได้พยายามพิสูจน์ฝีมือด้วยการบริหารประเทศให้คนจีนได้รับความสุขความพอใจ ซึ่งก็มีการต่อต้านและปรับเปลี่ยน “วิถีสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จีน” อยู่บ้าง แต่ที่สุดถึง พ.ศ.นี้เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนมีการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า “สมัชชาแห่งชาติ” ประกาศว่าจีนประสบความสำเร็จในการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ประชาชนมีความสุข โดยภายในปี ค.ศ. 2020 คืออีก 3 ปีข้างหน้านี้ “ประเทศจีนจะไม่มีคนจนอีกต่อไป” นี่ก็เป็นระบอบการปกครองหนึ่งที่ไม่ได้ยึดว่าจะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยตามแบบสากลโลกบางฝ่าย แต่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบจีนก็พิสูจน์ได้แล้วเช่นกันว่า เขาสามารถทำให้คนกว่า 1,500 ล้านคนมีความภาคภูมิใจต่อผู้นำของเขาได้อย่างไร ผู้เขียนก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เกิดมาภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยแม้จะมีความล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิไตยตามแบบสากล แต่ด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้สร้างชาติไทยให้ก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองมาด้วยดี ที่สำคัญนั้นก็คือเป็นการปกครองที่ประชาชนมีความสุขความพอใจเป็นอย่างยิ่ง ขอให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยั่งยืนตลอดไป