โอวาท ป่า ฏิ โมกข์ มี ประเด็น สํา คั ญ อะไร บ้าง

ดิถีเพ็ญแห่งมาฆะ ลูกขอคารวะด้วยเศียรเกล้า ต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระปฐมธรรมวินัย  ต่อเหล่าอรหันต์ ใหญ่ ผู้ทรงอภิญญาทั้งหลาย

มาฆะบูชาดิถี  มีความอัศจรรย์สี่ประการ ปรากฏขึ้นแล้วในโลก

หนึ่ง อรหันตสงฆ์ผู้พ้นโศกทั้งแผ่นดิน มาปรากฏพร้อมแล้ว โดยมิได้นัดหมาย  

สอง พระอรหันต์ทุกองค์ ล้วนเป็นสงฆ์อันพระผู้มีพระภาค ทรงอุปสมบทให้

สาม เหล่าอรหันตสงฆ์  ล้วนทรงอภิญญาใหญ่ บริสุทธิ์บริบูรณ์

สี่  การประชุมอรหันตสงฆ์ พร้อมไพบูลย์ ณ เพ็ญดิถีแห่งเดือนมาฆะพอดี

เมื่ออรหันตสงฆ์ใหญ่ พร้อมเพรียงสงบสงัดดีแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นพระปฐมธรรมวินัย ความว่า

พระพุทธดำรัส :

การไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การชำระจิตของตนให้ใสรอบ
ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เหล่าอรหันตสงฆ์น้อมรับโดยดุษณี  ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ที่สอง ความว่า

พระพุทธดำรัส :

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

เหล่าอรหันตสงฆ์น้อมรับโดยดุษณี  ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ที่สาม ความว่า

พระพุทธดำรัส :

ผู้กำจัดสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

เหล่าอรหันตสงฆ์น้อมรับโดยดุษณี  ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ที่สี่ ความว่า

พระพุทธดำรัส :

การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย การสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
ธรรมหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เหล่าอรหันตสงฆ์น้อมรับโอวาทปาฏิโมกข์โดยดุษณี  ณ  ดิถีเพ็ญแห่งมาฆะ พระปฐมธรรมวินัยแก้วได้อุบัติแล้วในโลก

          โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้

โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6

หลักการ คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมี 3 ประการ ได้แก่

หลักการ 3 ได้แก่

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิก ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่วมี 10 ประการ อันความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 ประกาศอันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ

3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี 5 ประการ ได้แก่

1. กามฉันทะ คือความพอใจในกาม
2. พยาบาท คือความอาฆาตพยาบาท
3. ถีนะมิทธะ คือความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ
4. อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
5. วิจิกิจฉา คือความสงสัย

สิ่งที่สามารถควบคุมนิวรณ์ได้คือ ศีล 5 ได้แก่

กามฉันทะ ให้ควบคุมคุมด้วย ศีลข้อ 3 คือการไม่ประพฤติผิดในกาม
ความพยาบาทให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 1 คือการไม่ฆ่าสัตว์
ถีนมิทธะ ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 5 การไม่เสพสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุให้ประมาท
อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 2 การไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้
วิจิกิจฉา ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 4 การไม่พูดเท็จ

อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี 4 ประการ ได้แก่

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8

วิธีการ คือ แนวทางปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนามี 6 ประการ คือ

1. อนูปวาโท ไม่ไปว่าร้ายกัน ผู้เผยแผ่คำสอนจะต้องไม่โจมตี ไม่นินทาใคร

2. อนูปฆาโต ไม่ไปล้างผลาญกัน ไม่เผยแผ่ศาสนาด้วยการฆ่า และต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

3. ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่ได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่ทรงอนุญาต

4. มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ต้องรู้จักประมาณในการกิน การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง

5. ปนฺตญฺจ สยนาสนํ เลือกที่นั่งที่นอนในที่สงบ เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการบำเพ็ญเพียรเต็มที่

6. อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งอยู่เสมอ มุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส

โอวาทปาฏิโมกข์ทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นหลักปฏิบัติและนโยบายในการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานให้แก่พระอรหันต์ชุดแรกที่ได้ออกไปประกาศพระศาสนาในโอกาสที่ได้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้ถือเป็นนโยบายและหลักปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นแนวทาง เดียวกัน การประชุมพระอรหันตสาวกเช่นนี้ เพื่อประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ได้มีแต่ในยุคของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ในกัปนี้เท่านั้น แต่ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ในอดีตก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แต่จำนวนครั้งในการประชุมภิกษุสาวกและจำนวนพระอรหันตสาวกที่เข้าร่วมประชุมต่างกัน จะเห็นได้ว่า วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน คือ เมื่อทรงฝึกพระอรหันต์ชุดแรก สำหรับเป็นครูและเป็นต้นแบบให้กับชาวโลกได้จำนวนมากพอสมควรแล้ว ก็ส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนา และเมื่อคราวที่พระอรหันตสาวกเหล่านั้น มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน พระพุทธองค์ก็ทรงประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทะเลแห่งทุกข์ ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน