ความเสี่ยงจากการลงทุน (Investment Risk) มีอะไรบ้าง

Investment Risk ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนทางธุรกิจ (เรื่องที่ 122)

อาจารย์  จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

www.interfinn.com

chirapon.wordpress.com

 การดำเนินธุรกิจก็คือ การตัดสินใจลงทุนทางธุรกิจนั่นเอง ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) ส่วนใหญ่จึงมักจะมาจากความเสี่ยงจากการลงทุน (Investment Risk) การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนจึงมีความสำคัญ และรูปแบบของการลงทุนที่แตกต่างกันก็จะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงแตกต่างกัน ทำให้เกิดระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามรูปแบบของการลงทุนที่แตกต่างกันออกไปด้วย และประสบการณ์ของคณะกรรมการและผู้บริหารกิจการที่แตกต่างกันก็มีผลให้มีทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงของกิจการ อาจจะสามารถใช้วิธีการประเมินตนเองในด้านความเสี่ยงของการลงทุนด้วยคำถามหลักที่สำคัญ และเมื่อสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้แล้วก็จะเกิดความเข้าใจและมีทัศนคติที่เกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนอย่างถูกต้องมากขึ้น

1.ความคิดพื้นฐานของการลงทุน

การดำเนินธุรกิจซึ่งต้องมีการตัดสินใจลงทุนไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายสำหรับธุรกิจอีกต่อไป เนื่องจากความซับซ้อนของปัจจัยต่าง ๆ ที่มีส่วนต่อการลงทุนทางธุรกิจ และอาจจะเป็นไปได้ว่ากิจการอาจจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการตัดสินใจด้านการลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจ

การกำหนดกลยุทธ์ด้านการลงทุนทางธุรกิจ จึงต้องเลือกกลยุทธ์ที่มีความเหมาะสม ด้วยการเลือกการลงทุนที่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจการและความคาดหมายของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน อันจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าการลงทุนทางธุรกิจน่าจะสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของธุรกิจได้ดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การลงทุนทางธุรกิจบางลักษณะอาจจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราสูง แต่กิจการจะต้องยอมรับระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากการบริหารความเสี่ยงของการลงทุนไม่ดีพอหรือต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ก็อาจจะสร้างผลขาดทุนหรือความเสียหายแก่กิจการได้

ปัจจัยหลักประการหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะลงทุนในธุรกิจใด ที่มีความเหมาะสมกิจการก็คือ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในแต่ละธุรกิจนั้น ๆ กิจการจึงไม่อาจตัดสินในลงทุนทางธุรกิจได้ หากไม่สามารถจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนนั้นได้อย่างเพียงพอ และประเมินว่ายอมรับความเสี่ยงขนาดนั้นได้หรือไม่ เพราะการลงทางธุรกิจทุกรูปแบบมีทั้งโอกาสกำไรและโอกาสจะขาดทุน

ระดับความเสี่ยงที่ต่ำของการลงทุน หมายถึงโอกาสที่จะทำรายได้หรือให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ หรือโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนหรือความเสียหายจากการลงทุนก็จะต่ำตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ระดับความเสี่ยงที่สูงของการลงทุนหมายถึงโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ในระดับสูง หรือโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนหรือความเสียหายจากการลงทุนก็จะสูงตามไปด้วย

2.ลักษณะของความเสี่ยงของการลงทุนทางธุรกิจ

ประกอบด้วย 4 คุณลักษณะที่สำคัญ

(1)   ความผันผวน (Volatility)

(2)   ความเสี่ยงของการสูญเสียเงินที่ลงทุน (Capital Risk หรือ Credit Risk)

(3)   ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Risk)

(4)   ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนไปของกาลเวลา (Timing)

1) ความผันผวนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

ความผันผวนเป็นเครื่องวัดความเสี่ยงของการลงทุนได้อย่างหนึ่ง โดยเป็นความผันผวนในลักษณะที่ขึ้นหรือลงของมูลค่าของการลงทุนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การลงทุนที่มูลค่าของการลงทุนมีความผันผวนสูง หมายถึงโอกาสที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงเวลาสั้น ๆ จะมีมาก กิจการที่มีปรัชญาการดำเนินธุรกิจในทางหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) อาจจะยอมรับความผันผวนที่รุนแรงของการลงทุนไม่ได้ และหลีกเลี่ยงการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวเพื่อรักษามูลค่าของการลงทุนไม่ได้ และหลีกเลี่ยงการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวเพื่อรักษามูลค่าของการลงทุนมิให้เกิดการลดลงอย่งฮวบฮาบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำลง

2)   ความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินที่ลงทุน

การลงทุนทางธุรกิจยังมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินที่ลงทุนไป ก่อนการตัดสินใจลงทุนใด ๆ จึงควรมีการประเมินความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดด้วย  กรณีนี้เป็นกรณีของความเสี่ยงที่รุนแรงขึ้น เพราะนอกจากไม่มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนจาการลงทุนแล้ว ยังมีโอกาสจะได้เงินที่ลงทุนไปกลับคืนมาไม่ครบถ้วนด้วน ซึ่งมักเกิดจากคู่สัญญาบิดพลิ้วหรือผิดนัดชำระเงิน

3)   ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ

แม้ว่ารูปแบบของการลงทุนทางธุรกิจที่พิจารณาจะมีความผันผวนขึ้นลงของมูลค่าการลงทุนต่ำและมีโอกาสน้อยที่จะเกิดความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินที่ลงทุน แต่ก็อาจจะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อได้จากการที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพราะจะทำให้อัตราผลตอบแทนแท้จริงจากการลงทุนติดลบ (อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ลบ อ้ตราเงินเฟ้อ)

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อมีผลต่อรูปแบบของการลงทุนแตกต่างกันไป หากมูลค่าของการลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ก็จะทำให้กิจการมีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อต่ำ

3.การตัดสินใจกำหนดระดับความเสี่ยงของการลงทุนที่เหมาะสม

ในการตัดสินใจกำหนดระดับของการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงกิจการอาจจะพิจารณาใช้ปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งนำเอาประสบการณ์ในอดีตและทัศนคติต่อความเสี่ยงของกิจการว่า ชอบการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือชอบการกล้าได้กล้าเสียมาประกอบกันด้วย

ปัจจัยสำคัญในการกำหนดระดับความเสี่ยงของการลงทุนที่เหมาะสม ได้แก่

(1)   ระยะเวลาของการลงทุน (Investment duration)

ระยะของการลงทุนก่อนที่เรียกทุนคืนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะบอกได้ว่า รูปแบบของการลงทุนของกิจการควรจะเป็นอย่างไร หรือมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเช่นใด หากการลงทุนมีระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวนาน เช่น 10-15 ปี กิจการก็สามารถลงทุนในรูปแบบของการลงทุนที่มีความผันผวนสูง ๆ ได้ดี การลงทุนที่มีระยะสั้น ๆ เช่น 1-2 ปี และระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานขึ้นจะมีโอกาสเลือกรูปแบบการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อได้ด้วย

(2)   ระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน

ระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจและการลงทุนก็อาจจะมีผลกระทบต่อทัศนคติของกิจการที่มีต่อความเสี่ยงของการลงทุนที่แตกต่างกัน กิจการที่เริ่มดำเนินงานใหม่ ยังไม่มีกำไรสะสมจากการดำเนินงาน ก็อาจจะไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในระดับสูงได้ เพราะหากเกิดผลกระทบทางลบทำให้ขาดทุนหรือความสูญเสียทางการเงิน อาจจะทำให้กระทบต่อความมั่นคงของกิจการและเสถียรภาพทางการเงินของกิจการ

(3)   วัตถุประสงค์ของการลงทุน

ระดับของความเสี่ยงที่กิจการยอมรับได้ในส่วนของการลงทุนทางธุรกิจ ยังขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการลงทุนของแต่ละกิจการด้วย ในกิจการที่มีวัตถุประสงค์ของการเติบโตของกิจการ อาจจะยอมรับระดับเสี่ยงที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกิจการที่มีนโยบายระมัดระวังและแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยม หรือกิจการที่ต้องการขยายธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป

(4)   ขนาดของการลงทุน

หากจำนวนเงินหรือขนาดของการลงทุนเป็นเงินจำนวนไม่มาก เนื่องจากกิจการมีงบประมาณที่จำกัด ก็อาจเลือกรูปแบบของการลงทุนที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงในระดับสูง เพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินที่ลงทุนไม่ได้

(5)   การทบทวนพอร์ตของการลงทุน

การทบทวนพอร์ตของการลงทุนของกิจการที่มีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้กิจการสามารถปรับทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนได้ดีขึ้น และประเมินได้ว่าการลงทุนที่มีอยู่ยังคงตอบสนองและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปวัตถุประสงค์และทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงของกิจการอาจจะเปลี่ยนไป และอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ใหม่ให้เหมาะสม

4.ความเสี่ยงและหลักการกระจายการลงทุน

เมื่อใดก็ตามที่กิจการพิจารณาจะทำการลงทุน ก็จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนกับระดับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นเสมอ ซึ่งโดยทั่วไปการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ในระยะยาวมักจะมีความเสี่ยงในระยะสั้นสูงขึ้น และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอาจจะแปรปรวนระหว่างระยะเวลาการลงทุนมากกว่าการลงทุนระยะสั้น ในทางตรงกันข้าม การลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ค่อนข้างต่ำ ก็มักจะมีความผันผวนน้อยกว่าในระยะสั้น ๆ

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนนโยบายของรัฐบาล สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินและการลงทุนของการลงทุน

หลักการของการกระจายการลงทุนยึดหลักที่ว่า การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงของกิจการด้วยการสร้างเสถียรภาพของผลตอบแทนทางการลงทุนได้ดีขึ้น มีความผันผวนของการลงทุนลดลงเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์เพียงประเภทเดียว

นอกเหนือจากการกระจายประเภทของสินทรัพย์ที่ลงทุนแล้ว การลงทุนควรจะเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด โดย

(1)   ทำการวิเคราะห์และประเมินให้มั่นใจว่าได้เลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการลงทุนและสถานะทางการเงินของกิจการ

(2)   ทำการลงทุนแบบอนุรักษ์คืออยู่ในระดับขั้นต่ำของกลยุทธ์การลงทุนแทนที่จะขยายการลงทุนจนเต็มเพดาน

(3)   ทำการเปรียบเทียบความเสี่ยงที่แตกต่างกันในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างกันอยู่เสมอ และนำผลการทบทวนไปปรับปรุงการลงทุนของกิจการ

Rate this:

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

ถูกใจ กำลังโหลด...

Related

มีนาคม 19, 2011 - Posted by Chiraporn Sumetheeprasit | Financial Risk | กรอบการบริหารความเสี่ยง, การกำกับการปฏิบัติ, การควบคุมภายใน, ความเสี่ยง บริหารความเสี่ยง, ความเสี่ยงครบวงจร, ความเสี่ยงด้านการเงิน, บูรณาการความเสี่ยง, Compliance, ERM, Financial Risk, Governance, GRC, Risk