รายงาน กิจการเจ้าของคนเดียว

การประกอบธุรกิจนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกิจการเจ้าของคนเดียว (ทะเบียนพาณิชย์) หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัทจำกัด) เรามาลองอ้างอิงรูปภาพจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำสรุปไว้ด้านล่างนี้

รายงาน กิจการเจ้าของคนเดียว

ข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัทจำกัด) กับกิจการเจ้าของคนเดียว (เช่น ทะเบียนพาณิชย์) นั้นอยู่ที่

1. ความน่าเชื่อถือของกิจการ การจดทะเบียนจะทำให้กิจการน่าเชื่อถือ ในขณะที่กิจการเจ้าของคนเดียวความน่าเชื่อถือจะต่ำ

2. การเสียภาษี เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ก็จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% เป็นการถาวรแล้ว ส่วนกิจการเจ้าของคนเดียวเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นอัตราก้าวหน้า ปัจจุบัน (ปี 2559) ได้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง แต่เพดานภาษียังอยู่ที่อัตราภาษี 35%

3. การจัดทำบัญชีและภาษี - แม้ว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ และอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ยังต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ขณะเดียวกันการจดทะเบียนก็นำมาซึ่งความยุ่งยากในการจัดทำบัญชีและภาษี ดังนี้

• การจัดทำบัญชี นิติบุคคลจะต้องจัดทำโดยผู้ทำบัญชีที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ทุกสิ้นปี นอกเหนือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว นิติบุคคลยังต้องส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบบัญชีต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

• เอกสารประกอบการบันทึกบัญชีจะต้องเป็นใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินที่มี

1) ข้อมูลผู้ขาย ทั้งชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
2) ข้อมูลผู้ซื้อ ทั้งชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
3) วันที่ซื้อ รายละเอียดสินค้าที่ซื้อ พร้อมทั้งมูลค่าสินค้า

• การหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับนิติบุคคล การจ่ายค่าบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าเช่าออฟฟิศ ค่าจ้างช่างตกแต่งออฟฟิศ ค่าทนายความ ค่าบริการทำบัญชี หรือแม้แต่ค่าโทรศัพท์ ถ้าขึ้นชื่อว่าค่าบริการแล้วจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งกิจการเจ้าของคนเดียวไม่ได้อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ติดตามได้ที่นี่ค่า

เมื่อรู้ข้อแตกต่างหลัก ๆ ระหว่างนิติบุคคลและกิจการเจ้าของคนเดียวแล้ว ถ้าเรามีกิจการเป็นของตนเอง เราจะเลือกจดทะเบียนธุรกิจรูปแบบใดนั้น จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ประเภทของธุรกิจ - ธุรกิจที่เราจะทำนั้นต้องการความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เช่น

กรณีที่ 1 นาย A ทำธุรกิจขายข้าวสารในตลาด ลูกค้าจะมาซื้อข้าวสารที่ร้านก็เพราะเรามีข้าวตั้งขายให้เค้าเห็น ไม่ใช่เพราะเราเป็นบริษัท A หรือร้านนาย A ลักษณะนี้เช่นนี้ถ้านาย A ไม่ต้องการความวุ่นวายเรื่องบัญชีและภาษี เค้าควรจะจดทะเบียนพาณิชย์เป็นร้านนาย A ค้าข้าว

กรณีที่ 2 นาง P ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ลูกค้าที่ต้องการสร้างบ้านมักจะกลัวผู้รับเหมาหนีหายไป เค้าอาจจะเลือกผู้รับเหมาที่เป็นนิติบุคคลมากกว่า เพราะดูน่าเชื่อถือ และมีหลักแหล่งมากกว่า กรณีเช่นนี้ นาง P ควรจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล P มากกว่าที่จะประกอบกิจการในรูปแบบเจ้าของคนเดียว หรือในบางกรณี ถ้านาง P ต้องการรับงานราชการ หรือบริษัทใหญ่ๆ บางแห่ง ในฐานะนาง P อาจจะไม่มีคุณสมบัติเพียงพอแม้แต่จะเสนอราคาเลยก็เป็นได้

2. รายได้จากการประกอบกิจการ - ถ้ากิจการของเรามีรายได้ต่ำ การประกอบกิจการเจ้าของคนเดียวจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าเพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเริ่มต้นที่ 5% ในทางตรงกันข้าม ถ้ากิจการของเรามีรายได้สูง กิจการเจ้าของคนเดียวจะเสียภาษีในอัตราสูงกว่า เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 35% ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเพียง 20% รายได้เท่าไหร่เรียกว่าต่ำ เรียกว่าสูง ลองเทียบตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเทียบกับนิติบุคคลกันดูน้า

ก่อนที่จะสรุปให้เด็ดขาดว่าเราจะประกอบกิจการในรูปแบบใด เรามาดูกันต่ออีกนิดถึงความแตกต่างระหว่างบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ทั้งบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อจดทะเบียนแล้วก็มีลักษณะเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน ต้องจัดทำบัญชีโดยผู้ทำบัญชีที่มีใบอนุญาตเหมือนกัน ต้องส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบแล้วเหมือนกัน เสียภาษีในอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือจำนวนและความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนอย่างน้อย 2 คน เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด 1 คน และหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดอีก 1 คน ส่วนบริษัทจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คนเป็นผู้ถือหุ้นแบบจำกัดความรับผิดทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด จะมีลักษณะเหมือนผู้เป็นหุ้นส่วนแบบจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจะรับผิดจำกัดเฉพาะราคาหุ้นที่ตนซื้อไว้และยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ ในขณะที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดความรับผิด จะรับผิดไม่จำกัดเช่นเดียวกับกิจการเจ้าของคนเดียว

ตัวอย่างเช่น คนขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของกิจการขับรถไปชนตึกไฟไหม้มูลค่าความเสียหาย 5 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด และผู้เป็นหุ้นส่วนแบบจำกัดความรับผิด จะรับผิดจำกัดเฉพาะมูลค่าหุ้นที่ตนซื้อไว้และยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ ในขณะที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดความรับผิด รวมถึงกิจการเจ้าของคนเดียวจะต้องรับผิดเต็มมูลค่าความเสียหาย จากข้อมูลทั้งหมด

หวังว่าหลายๆ คนคงจะตัดสินกันได้แล้วว่าจะจดทะเบียนในรูปแบบใด ที่นี้เรามาดูกันต่อว่าถ้าจะจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นจะจดทะเบียนทุนเท่าไหร่ดี คำตอบคือ ทุนที่จะลงร่วมกันนั้นจะมีจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ แต่โดยทั่วไป ผู้ประกอบการมักจะจดทะเบียนทุนที่จะลงร่วมกัน (หรือที่เรียกว่า #ทุนจดทะเบียน) ไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากการจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ การจดทะเบียนที่ทุนต่ำเกินไป ความน่าเชื่อถือก็ไม่เกิด อีกทั้งการจดทะเบียนนิติบุคคลนั้น ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจากทุนขั้นต่ำจำนวน 1 ล้านบาท หมายความว่าจะจดทะเบียนทุน 5 หมื่น หรือทุน 1 ล้าน ก็เสียค่าธรรมเนียมเท่ากัน

สุดท้ายไม่ว่าจะประกอบการในรูปแบบเจ้าของคนเดียว หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ จริงๆ แล้วเราก็ไม่สามารถเลือกได้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการภายในประเทศ ที่ไม่เข้าข่ายกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปีจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งนั้น