ปัญหา จังหวัด ชายแดน ใต้ เกิดขึ้น จาก สาเหตุ ใด

  • รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
  • นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง

10 สิงหาคม 2019

ปัญหา จังหวัด ชายแดน ใต้ เกิดขึ้น จาก สาเหตุ ใด

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อควันระเบิดจาง แต่สังคมไทยยังคงไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุและมีความมุ่งหมายอะไร หลักฐานเชิงประจักษ์ที่นำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 2 คนที่มีพื้ นเพมาจากจังหวัดนราธิวาสทำให้เกิดสมมุติฐานที่ว่าเหตุระเบิดและไฟไหม้จากระเบิดเพลิงกว่า 10 จุดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562 นั้นอาจเป็นการขยายพื้นที่การปฏิบัติการของกลุ่มบีอาร์เอ็น

เหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการปฏิบัติการนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ในวันส่งท้ายปีเก่าในปี 2549 ต่อเนื่องไปถึงกลางดึก มีเหตุระเบิด 8 จุดในกรุงเทพฯ และนนทบุรีทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บกว่า 15 ราย ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ต้องประกาศยกเลิกงานฉลองปีใหม่กลางคันทั้งที่มีผู้คนรอเคาท์ดาวน์อย่างหนาแน่น ข้อมูลการสอบสวนของตำรวจบ่งชี้ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มจากชายแดนภาคใต้ แต่การสอบสวนยุติไปโดยไม่มีการดำเนินคดีกับใคร ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์คนในกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยอมรับว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในครั้งนั้น การตัดสินใจไม่ดำเนินคดีกับใครอาจมาจากรัฐบาลของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ในขณะนั้นที่อาจเกรงว่าเรื่องนี้จะยิ่งสร้างความตระหนกให้กับประชาชน

  • ระเบิดกรุงเทพฯ : ผบ.ตร. ระบุ แผนประทุษกรรม "ไม่เหมือนกับโจรไทย" ส่วน อดีต รองแม่ทัพภาค 4 บอกผลงานบีอาร์เอ็น
  • ระเบิด กทม. : ย้อนอดีต 5 ปีระเบิดใหญ่ ล้วนชี้นิ้วไป “การเมือง”
  • เลือกตั้ง 2562 : 15 ปีไฟใต้กับความหวังถึงสันติภาพหลังการเลือกตั้ง

สิบปีต่อมา เกิดระเบิดขึ้นใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนในวันที่ 11-12 ส.ค. 2559 รวม 16 จุด เป็นระเบิด 10 จุดและการวางเพลิง 6 จุด ซึ่งรวมถึงในแหล่งท่องเที่ยวอย่างหัวหิน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บอีก 37 คน รายงานข่าวของบีบีซีไทยในปี 2560 ระบุว่ามีการออกหมายจับทั้งสิ้น 11 คน ทั้งหมดเป็นคนที่มีภูมิลำเนาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจับกุมตัวได้ทั้งหมด 3 คน เข้าใจว่าคดีนี้ยังไม่จบ

ทั้งสองเหตุการณ์มีความคล้ายคลึงกันคือ รัฐบาลในขณะนั้นพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและอธิบายว่าเหตุระเบิดเกี่ยวกับกับกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เป็นการยิงปืนครั้งเดียวได้นกสองตัว คือป้ายสีฝ่ายตรงข้ามและปิดบังความจริงว่าปัญหาภาคใต้อาจจะเริ่มส่งผลกระทบนอกพื้นที่แล้ว

เหตุระเบิดในครั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนจะออกมาอย่างไร ผู้เขียนอยากให้สังคมได้เฝ้าติดตามเพื่อค้นหาความจริง เพื่อมิให้รัฐบาลปกปิด บิดเบือนและเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรมอีก

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่เก็บพยานหลักฐานบริเวณ 1 ในจุดเกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อ 2 ส.ค. 2562

เราจะแก้ปัญหาไฟใต้อย่างไร หลังจากความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 15 ปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน และบาดเจ็บกว่า 13,000 คน

ในช่วงการแถลงนโยบาย ทางรัฐบาลได้รับฟังข้อเสนอของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เรื่องกระดุม 5 เม็ดในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรไทยอย่างดี ซึ่งเป็นท่าทีที่น่าชื่นชมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในกรณีภาคใต้ ผู้เขียนจึงอยากเสนอ "กระดุม 5 เม็ด" ฝากให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อปรับทิศทางการแก้ไขปัญหาเช่นกัน

กระดุมเม็ดที่ 1: แยกปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ออกจากเรื่องยาเสพติด

ในเอกสารนโยบายของรัฐบาลได้รวม 2 เรื่องนี้ไว้ด้วยกัน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงวิธีคิดของรัฐต่อเรื่องภาคใต้ที่เป็นปัญหามานาน นายทหารบางส่วนยังมีความคิดว่าเรื่องภาคใต้นั้นเป็นเรื่องอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จากการวิจัยของผู้เขียน มีความชัดเจนว่าขบวนการติดอาวุธในภาคใต้ที่นำโดยบีอาร์เอ็นนั้นเป็นขบวนการ "ปฏิวัติ" ใต้ดินที่ต่อสู้เพื่อ "เอกราช" หรือ "สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง" เรื่องนี้จึงเป็นเรื่อง "การเมือง" ที่ต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง ไม่ใช่การทหาร ส่วนเรื่องยาเสพติดที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีนัยสำคัญกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของบีอาร์เอ็น

กระดุมเม็ดที่ 2: พลเรือนนำทหาร

ประเด็นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากในสภาวะที่ระบบการเมืองของไทยยังเป็น "ระบอบผสม" (hybrid regime)ที่ความเป็นประชาธิปไตยยังคงถูกตั้งคำถาม แต่สิ่งที่ทำได้คือพรรคร่วมรัฐบาลควรเข้าไปมีส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องภาคใต้มากขึ้น โดยไม่ปล่อยให้อยู่ในมือของอดีตนายทหารในรัฐบาลที่คุมความมั่นคงมาตลอดเพียงกลุ่มเดียวและไม่ควรให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นคนกุมทิศทางการแก้ปัญหาในพื้นที่เป็นหลักเพียงหน่วยงานเดียว

ข้อเสนอหนึ่งที่เป็นรูปธรรมก็คือ ตัวแทนของพรรคอื่นควรเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อดูแลปัญหาในภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ควรเป็นอิสระจากการกำกับของกอ.รมน. ที่จริงประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ชูธงในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 14/2559 ซึ่งมีผลให้ ศอ.บต. กลับไปอยู่ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. อีก นี่เป็นอีกหนึ่งผลพวงของการรัฐประหารที่ยังไม่ยกเลิก

ที่มาของภาพ, MADAREE TOHLALA/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 15 ปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน และบาดเจ็บกว่า 13,000 คน

กระดุมเม็ดที่ 3: ยกเลิกกฎอัยการศึก

กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3 ฉบับ อีก 2 ฉบับคือ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และมีการใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ส่วนน้อยที่สถานการณ์รุนแรงน้อยกว่า

ฝ่ายความมั่นคงมักจะหยิบยกถึงความยากลำบากของการแสวงหาข้อมูลหลักฐานมาเป็นเหตุผลของการใช้กฎหมายพิเศษต่อไปเรื่อย ๆ กฎอัยการศึกนั้นให้อำนาจทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลา 7 วันโดยไม่ต้องขออนุมัติจากศาล ส่วน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทหารหรือตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยต้องขออนุมัติจากศาลก่อน โดยต้องขอศาลขยายเวลาการควบคุมตัวทุก 7 วันและควบคุมตัวได้รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 30 วัน โดยเปรียบเทียบแล้ว พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีกลไกการตรวจสอบมากกว่ากฎอัยการศึก

ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี น่าจะยังจำได้ดีว่าท่านมีส่วนร่วมในการออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในปี 2548 ในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเมื่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้แล้วก็ได้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ถูกกลับนำมาใช้ใหม่หลังการรัฐประหารในปี 2549 และยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน เจตจำนงของการออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อนำมาทดแทนกฎอัยการศึก ฉะนั้น ไม่ควรจะให้มีการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้ควบคู่กันต่อไปอีก หากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังคิดว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ก็ควรจะคงไว้เพียง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เท่านั้น และควรพิจารณายกเลิกในบางพื้นที่ซึ่งสถานการณ์ดีขึ้น ดังที่ได้มีการยกเลิกไปบ้างแล้วในบางอำเภอ มาตรการนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน อย่างที่มีข้อกล่าวหาในกรณีล่าสุดที่ผู้ต้องสงสัยมีอาการสมองบวมหลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเพียง 1 วัน เพราะกฎอัยการศึกนั้นให้อำนาจทหารในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยปราศจากการตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง

  • ซ้อมทรมาน : ชายมุสลิมที่หมดสติระหว่างถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธฯ ปัตตานี อาการยังโคม่า ญาติเชื่อถูกทำร้ายร่างกาย
  • ซ้อมทรมาน : คกก.คุ้มครองสิทธิฯ แถลงกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หมดสติระหว่างถูกคุมตัว ตัดประเด็น "อุบัติเหตุ-ลื่นล้ม"
  • ประชุมสภา: นายกฯ แจงนโยบายภาคใต้ ยืนยันผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงไม่ได้ถูกซ้อมในค่ายทหาร

กระดุมเม็ดที่ 4: พิจารณาการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ (international observers) ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

เรื่องนี้เป็นประเด็นหลักที่บีอาร์เอ็นเรียกร้องเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทย "การพูดคุยสันติสุข" ในช่วง 5 ปีหลังการรัฐประหารไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ฝ่ายไทยได้พูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานีซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการเอกราชปาตานี แทนบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นตัวแทนในการพูดคุยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัญหาคือสมาชิกบีอาร์เอ็นบางส่วนที่ร่วมกับมาราปาตานีนั้นไม่มีฉันทานุมัติ (mandate) มาจากทางองค์กร พูดอีกอย่างก็คือ บีอาร์เอ็น ในฐานะขององค์กรปฏิเสธไม่ร่วมพูดคุยกับรัฐบาลทหารนั่นเอง แต่ในระหว่างนั้นบีอาร์เอ็นยื่นข้อเรียกร้องในการเข้าร่วมการพูดคุย โดยข้อสำคัญคือการขอให้มีผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าร่วม สิ่งนี้เป็นหลักประกันสำคัญว่าพวกเขาจะไม่โดนรัฐบาลไทยหลอกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ซึ่งรัฐบาลทหารได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้เพราะเกรงว่าจะเป็นการ "ยกระดับ" ปัญหาไปสู่สากลและสุ่มเสี่ยงกับการ "เสียดินแดน" ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น "มายาคติ" ของฝ่ายรัฐไทยเอง

ที่มาของภาพ, BBCThai

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มมาราปาตานีซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการเอกราชปาตานี

หากเราดูสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน กระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มกบฏ Moro Islamic Liberation Front (MILF) เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ในปี 2555 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจัดตั้งเขตปกครองพิเศษบังซาโมโร กระบวนการนี้มีทั้งรัฐบาลต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนสนับสนุน โดยมีมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นกัน งานวิจัยในต่างประเทศยังได้ชี้ว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของฝ่ายที่สาม (third party) นั้นส่วนใหญ่จะส่งผลในเชิงบวกต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งคู่เจรจาสามารถที่จะตกลงกรอบของการพูดคุยในขั้นแรก โดยในบางแห่ง รัฐบาลได้ระบุว่าพร้อมจะพูดคุยทุกเรื่อง ยกเว้นการแยกเป็นรัฐอิสระ การมีส่วนร่วมของประชาคมโลกจึงไม่ได้เป็นก้าวแรกของการแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐไทยหวาดกลัวแต่อย่างใด

กระดุมเม็ดที่ 5 : รูปแบบการปกครองที่เหมาะสม

ใจกลางของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้คือเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจกับรัฐส่วนกลาง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคใน "ฝ่ายประชาธิปไตย" ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในขณะนี้ก็ได้หาเสียงในเรื่องนโยบายการกระจายอำนาจ ดังนั้น พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงควรที่จะศึกษาและทดลองเสนอรูปแบบที่น่าจะเหมาะสมกับในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างในทางศาสนาและชาติพันธุ์จากพื้นที่อื่น ๆ ในสังคมไทยอย่างมาก ถึงแม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของบีอาร์เอ็นคือเอกราช แต่เชื่อว่าพวกเขาย่อมพร้อมที่จะเจรจาต่อรอง หากกระบวนการสันติภาพที่น่าเชื่อถือได้เกิดขึ้นจริง

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้งขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย