การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

Show

คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable  Development ) เป็นการสื่อถึงคนเรายุคปัจจุบันและคนรุ่นตอไปในอนาคตด้วย  เป็นการพัฒนาท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ( Globalization ) ที่ก้าวไปกับระบบเทคโนโลยีและกลไกของการตลาด  อันก่อเกิดการแสวงหาอำนาจเพื่อครอบงำผลประโยชน์ของอีกฝ่ายในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นประชาสังคม ( Civil  Society )  หรือ รัฐประชาชาติ ( Nation  State ) ก็ตาม  แต่การเข้ามามีอิทธิพลนั้นชาวโลกก็ยังต้องการระบบบริหารแบบ Good  Governance  อยู่ดี

        การดำเนินชีวิตของคนเราต้องมีการพัฒนาร่างกายและสติปัญญาควบคู่กันไปพร้อมสรรพ  ศาสนามีหลักธรรมคำสอนให้ก่อเกิดการพัฒนาทางด้านจิตใจ  พระพุทธศาสนามีหลักพุทธธรรมที่สอนเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจคนเราเพื่อเป้าหมายคือความสงบสุข  พอมีประเด็นดังนี้

1.ด้านพัฒนาคนให้มีปัญญา

        คนเรามีองค์ประกอบอยู่หลายประการในส่วนสำคัญที่สุดถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษสุดคือปัญญา  ที่ต้องพัฒนาให้รู้เท่าทัน  การพัฒนาปัญญาจะได้ขยายน่านฟ้าของความรู้ที่กว้างไกลมีผลต่อการดำเนินชีวิตคนเราให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ในจุดสูงสุดคือการเข้าถึงพุทธภาวะ

2.ด้านสัจธรรมเพื่อชีวิต

        เมื่อคนเราได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของวิถีชีวิตอันเป็นกระบวนการของชีวิตคือ พฤติกรรมสัมพันธ์  จิต  และปัญญา  ทั้ง 3 ส่วนล้วนอิงอาศัยกันอยู่ เพราะปัญญาจะพัฒนาขึ้นมาแบบไร้จุดหมายไม่ได้  ด้วยทุกอย่างต้องอิงอาศัยกันและกัน  พฤติกรรมมีฐานอยู่ที่จิตใจ  จิตใจเป็นฐานก่อให้เกิดปัญญา  เมื่อจิตใจมั่นคงปัญญาย่อมเกิดมีเพื่อข้ามพ้นมายาคติเห็นแจ้งในสัจธรรมดังกล่าว

3.ด้านคนเป็นตัวอย่างที่ดี

        ถือว่าเป็นบุคคลมีคุณสมบัติของคนดี  ภาษาพระว่า สัปปุริสธรรม 7 ข้อ ( ที.ปา. 11/331 ) มีหลักธรรมดังนี้

1.ธัมมัญญุตา  การรู้จักเหตุ

2.อัตถัญญุตา  การรู้จักผล

3.อัตตัญญุตา  การรู้จักตน

4.มัตตัญญุตา  การรู้จักประมาณ

5.กาลัญญุตา  การรู้จักกาล

6.ปริสัญญุตา  การรู้จักชุมชน

7.ปุคคลัญญุตา  การรู้จักบุคคล

4.ด้านคนไปถึงเส้นชัยในชีวิต

        ในวิถีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้นั้นมีหลักธรรมแห่งความเจริญในชีวิตคือจักร 4 ข้อ

( ที.ปา.11/400 ) มีดังนี้

1.ปฏิรูปเทสวาสะ  การเลือกถิ่นที่อยู่เหมาะสม

2.สัปปุริสูปัสสยะ  การคบหาคนดี

3.อัตตสัมมาปณิธิ  การตั้งตนไว้ถูกวิธี

4.ปุพเพกตปุญญตา  การมีทุนเตรียมไว้แล้ว

        ในเส้นทางของความสำเร็จมีหลักอิทธิบาท 4 ข้อ ( ที.ปา. 11/231 ) ดังนี้

1.ฉันทะ  การมีใจรัก

2.วิริยะ  การมีความเพียร

3.จิตตะ  การมีจิตใจที่มุ่งมั่น

4 .วิมังสา  การตริตรองพิจารณาให้รอบคอบ

5.ด้านคนรู้จักหลักการเลี้ยงชีวิต

        คนที่รู้จักใช้รู้จักหาทรัพย์นับว่าเป็นคนมีหลักธรรมเป็นแง่คิดเตือนจิตใจ  หลักธรรมอำนวยสุขนั้นคือ ทิฏฐธัมมิกกัตถ  4 ข้อ ( องฺ.อฏฐก. 23/144 ) ดังนี้

1.อุฏฐานสัมปทา  การมีความขยัน

2.อารักขสัมปทา  การรักษาสิ่งที่ได้มาแล้ว

3 .กัลยาณมิตตตา  การคบมิตรดี

4.สมชีวิตา  การเลี้ยงชีวิตตาพอดี

6.ด้านการครองเรือนของคนเรา

        บุคคลที่ควรยึดถือเอามาเป็นแบบอย่างคือคนถือหลักธรรมคิหิสุข 4 ข้อ ( องฺ.จตุกฺก. 21/62 ) ดังนี้

1.ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์

2.ความสุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์

3.ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้

4.ความสุขเกิดจากการไม่มีโทษ

        นอกจากนั้นยังดำรงตนอยู่ด้วยหลักธรรมของผู้ครองเรือน 4 ข้อ ( ขุ.สุ. 25/ 311 )

ดังนี้

1.สัจจะ  การมีความจริงใจ

2.ทมะ  การฝึกฝนจิตใจตนเอง

3 .ขันติ  ความอดทน

4 .จาคะ  การเสียสละ

7.ด้านการส่งเสริมพัฒนาชีวิต

        ตามหลักพุทธธรรมมีคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตอยู่มากแต่ขอนำเสนอไว้เป็นเพียงตัวอย่างคือ  หลักธรรมมีอุปการะมาก 2 ข้อ ( ที.ปา. 11/378 ) ดังนี้

1.สติ  ความระลึกได้

2 .สัมปชัญญะ  ความรู้ตัวทั่วพร้อม

        นอกนี้ยังมีหลักธรรมอันทำให้งดงาม 2 ข้อ ( องฺ.ทุก. 20/410 ) ดังนี้

1.ขันติ  ความอดทน

2.โสรัจจะ  ความสงบเสงี่ยม

8.ด้านทำให้คนเต็มคน

        เพื่อให้สังคมคนเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขจึงต้องปฏิบัติตามหลักศีลธรรม 5 ข้อ

( ที.ปา. 11/286 )  ดังนี้

1.งดเว้นจากการฆ่า

2 .งดเว้นจากการลักทรัพย์

3 .งดเว้นจากการผิดประเวณี

4 .งดเว้นจากการพูดโกหก

5.งดเว้นจากการดื่มสิ่งมึนเมา

9.ด้านพัฒนาชีวิตเพื่อการศึกษา

        เมื่อชีวิตต้องการเป็นอยู่ตลอด  จะมีชีวิตรอดได้ด้วยการศึกษา  ในภาษาพระว่าหลักอริยมรรคมีองค์ 8 ข้อ ( ที.ม. 10/ 299 ) โดยภาพรวมก็คือ ศีล ได้แก่  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  และสัมมาอาชีวะ  ส่วน สมาธิ  ได้แก่  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  และสัมมาสมาธิ  และท้ายสุดคือปัญญา  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิ  และสัมมาสังกัปปะ

        การพัฒนาตามกระแสธรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นแก่นสารทางพุทธธรรม  เพื่อพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นเป็นอิสระ  ตามหลักพุทธธรรมที่มีการพัฒนาไปถึงเส้นชัยคือนิพพานนั้นแล.