ขั้นตอนการโอนบ้านจากธนาคาร

ขั้นตอนการโอนบ้าน ที่ดิน และการเตรียมเอกสาร

  • 25 ธ.ค. 2560

ขั้นตอนการโอนบ้านจากธนาคาร

     เมื่อผู้ซื้อผู้ขายทำการตกลงที่จะซื้อขายบ้านพร้อมที่ดิน ตกลงราคา และตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการโอนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบแล้ว ต่อมาก็เข้าสู่กกระบวนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียมความพร้อมในวันนัดโอนที่กรมที่ดิน มีดังนี้

กรณีเป็นบุคคลทั่วไป

  1. โฉนดที่ดินฉบับจริง
  2. บัตรประชาชน พร้อมสำเนา 1 ชุด (เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
  3. ทะเบียนบ้าน  พร้อมสำเนา 1ชุด (เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
  4. หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) กรณีมอบอำนาจ
  5. หนังสือให้ความยินยอมให้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน (กรณีสมรส)
  6. สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส (กรณีสมรส)
  7. สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส (กรณีสมรส)
  8. สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีสมรส)
  9. สำเนาทะเบียนหย่า (กรณีหย่า)

กรณีเป็นนิติบุคคล

  1.  โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  2. หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
  3. หนังสือบริคณห์สนธิ และวัตถุประสงค์
  4. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด
  5. แบบรับรองรายการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้ว
  6. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลไทยที่ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด
  7. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และตัวอย่าง ลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคล
  8. รายงานการประชุมนิติบุคคล

หลังจากเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ต่อไปถึงขั้นตอนโอนโดยไปที่กรมที่ดินที่บ้านหรือที่ดินที่จะขายตั้งอยู่โดยมีขึ้นตอนดังต่อไปนี้

ขั้นตอนการโอนที่ดิน บ้าน อสังหาริมทรัพย์

1. ขั้นตอนแรก ยื่นเรื่องติดต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อตรวจสอบเอกสาร เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะให้บัตรคิว หลังจากนั้นก็รอเจ้าหน้าที่เรียกตามคิว แนะนำให้ไปก่อนเวลาเปิดทำการ 8.00น.

2. เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายชำนาญงานเรียก ทั้งผู้โอนและผู้รับโอนเซ็นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่

3. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะประเมินทุนทรัพย์และคำนวณค่าธรรมเนียมโอน พร้อมทั้งยื่นใบคำนวณค่าโอนให้เพื่อนำไปชำระค่าโอนที่ฝ่ายการเงิน

4. ขั้นตอนต่อมาเป็นการชำระเงินค่าธรรมเนียมโอนที่ฝ่ายการเงิน เมื่อชำระเรียบร้อยแล้วจะได้ใบเสร็จ 2 ใบ สีฟ้ากับสีเหลือง ให้นำสีเหลืองคืนเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายชำนาญงานที่เซ็นเอกสาร ส่วนสีฟ้าให้ถ่ายสำเนาให้ผู้ซื้ออีก 1ชุด

5. ขั้นตอนสุดท้าย เจ้าหน้าที่พิมพ์สลักหลังโฉนด แล้วรอรับโฉนดเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง แล้วจึงมอบโฉนดและสัญญาซื้อขาย(ทด.13)ให้แก่ผู้รับโอนหรือผู้ซื้อ เป็นอันเสร็จสิ้นการโอน โฉนดนั้นก็จะเปลี่ยนกรรมสิทธ์เป็นของผู้รับโอนหรือผู้ซื้อเรียบร้อย

และเพื่อให้เสร็จสิ้นการซื้อขายจริงๆ หลังจากโอนที่ดินพร้อมบ้านแล้ว ต้องโอนมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟฟ้า พร้อมทั้งย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านด้วยจริงจะเรียบร้อยสมบูรณ์

ขั้นตอนการโอนบ้านจากธนาคาร

          แน่นอนว่าการมีบ้าน นั้นเป็นเหมือนปลายทางความฝันของใครหลาย ๆ คน แต่หนทางกว่าจะไปถึงการได้ครอบครองบ้านของตัวเองอย่างสบายใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะกับคนส่วนใหญ่ที่ต้องมีการกู้สินเชื่อบ้าน โดยต้องผ่อนบ้านไปเป็นเวลาหลายปี

         สำหรับใครที่ยังคงต้องผ่อนบ้านอยู่ก็ขอให้มีกำลังใจสู้ต่อไป แต่สำหรับคนที่ผ่อนบ้านกับธนาคารหมดแล้ว ก็ต้องบอกว่ายินดีด้วย เพราะคุณกำลังจะครอบครองบ้านหลังนี้อย่างสบายใจเสียที แต่รู้หรือไม่? หลังจากที่ผ่อนบ้านหมดแล้ว ยังมีขั้นตอนที่ต้องเตรียมตัวอีกเล็กน้อย เพื่อให้บ้านกลายเป็นชื่อของเราโดยสมบูรณ์ มีขั้นตอนอย่างไรดูได้ที่นี่

ผ่อนบ้านหมดแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?

1. เตรียมตัวรับโฉนดที่ดินและบ้านจากธนาคาร

           หลังจากที่เราสามารถผ่อนบ้านได้จนครบยอดชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว เราสามารถรอรับโฉนดที่ดินและบ้านจากธนาคารที่เราทำผ่อนบ้านกับธนาคารได้เลย โดยทางธนาคารจะส่งใบแจ้งหรือติดต่อมา เพื่อให้เราไปติดต่อขอรับโฉนดที่ดิน (ฉบับเจ้าของที่ดิน), หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (ฉบับผู้รับจำนอง) ที่สลักหลังสัญญาให้ไถ่ถอนจำนองได้พร้อมกับดำเนินการด้านเอกสารใบมอบอำนาจการโอนเพื่อเป็นหลักฐานว่า เราได้ทำการผ่อนบ้านจนครบกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ถ้าหากเราได้ผ่อนบ้านจนครบกำหนด แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร เราสามารถแจ้งกับทางธนาคารได้เลยว่าต้องการไถ่ถอนโฉนด โดยธนาคารจะดำเนินเรื่องให้ตามขั้นตอนแรก โดยระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 1 วัน

2. ติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อรับโฉนดคืน

          หลังจากที่เราได้รับเอกสารการมอบอำนาจการโอนและโฉนดที่แสดงว่าเราผ่อนบ้านจนหมดจากธนาคารแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ไปติดต่อสำนักงานที่ดินที่เป็นพื้นที่เดียวกับภูมิลำเนาที่เราอาศัยอยู่

โดยเป็นขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่าเราผ่อนบ้านครบกำหนดและโฉนดนี้หลุดจำนองแล้ว โดยขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร โดยชื่อของเจ้าของบ้านในโฉนดที่ดินและบ้าน จะถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อของเรา

          อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าขั้นตอนของการไถ่ถอนนี้คือการโอน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นคนละกรณีอย่างสิ้นเชิง เพราะการไถ่ถอนหมายถึงการที่เรานำโฉนด ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้พ้นจากสภาพหลักประกันมาเป็นชื่อของเราอย่างเต็มตัวเท่านั้น โดยเรามีชื่ออยู่ในโฉนดนั้นแต่แรก และภายหลังจากที่เราผ่อนบ้านจนครบยอดชำระ โฉนดที่ดินและบ้านซึ่งเป็นหลักประกันนี้ก็ถือว่าพ้นจากสัญญาอย่างชอบธรรม ไม่ถือเป็นการโอนแต่อย่างใด

เอกสารและค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมเพื่อทำการไถ่ถอนโฉนด

          สำหรับขั้นตอนของการไถ่ถอนโฉนดที่สำนักงานที่ดิน นอกเหนือจากเอกสารที่เราต้องเราได้รับจากธนาคารที่แสดงว่าเราผ่อนบ้านหมดแล้ว อาทิ โฉนดที่ดิน (ฉบับเจ้าของที่ดิน), หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (ฉบับผู้รับจำนอง) ที่สลักหลังสัญญาให้ไถ่ถอนจำนองได้, เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธนาคารกับผู้รับจำนอง (ถ้ามี) ยังมีเอกสารที่ต้องเตรียมไปเพิ่มเติม ได้แก่

- บัตรประชาชน

- ทะเบียนบ้าน

- ค่าใช้จ่ายสำหรับการไถ่ถอนจำนอง อาทิ ค่าธรรมเนียม และค่าพยาน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100-200 บาท

ขั้นตอนการติดต่อสำนักงานที่ดิน

          เมื่อเตรียมเอกสารทั้ง โฉนดที่ดิน (ฉบับเจ้าของที่ดิน), หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (ฉบับผู้รับจำนอง) ที่สลักหลังสัญญาให้ไถ่ถอนจำนองได้, เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธนาคารกับผู้รับจำนอง (ถ้ามี), บัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน และค่าใช้จ่ายสำหรับการไถ่ถอนจำนองเรียบร้อยแล้ว ให้รวบรวมเอกสารทั้งหมดไว้ด้วยกัน

จากนั้นไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินโดยทำเรื่องของการไถ่ถอนโฉนด เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารทั้งหมดที่เราเตรียมมา หลังจากนั้นให้เราชำระค่าธรรมเนียม เมื่อชำระค่าธรรมเนียมเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จการจ่ายเงินให้ โดยเราสามารถนำใบเสร็จนี้ไปยื่นเพื่อรอรับโฉนดที่ดิน เพียงเท่านี้ก็จะได้รับโฉนดที่ดินที่ปลอดภาระผ่อนบ้านมาเป็นของเราอย่างเต็มตัว โดยขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น

ผ่อนบ้านหมดก่อนกำหนดต้องทำอย่างไร?

         ในกรณีที่เรามีความสามารถในการผ่อนบ้านให้หมดก่อนที่จะครบกำหนดสัญญา มักจะพบกรณีที่ต้องเสียค่าปรับในการผ่อนบ้านครบก่อนกำหนด ซึ่งในความจริงแล้ว การผ่อนบ้านครบก่อนกำหนดจะเสียค่าปรับหรือไม่นั้น มักขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญากู้บ้านจากธนาคาร

โดยกรณีที่ต้องเสียค่าปรับ มักเกิดจากการรีไฟแนนซ์บ้านก่อนครบระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดไว้ โดยจะต้องเสียค่าปรับประมาณ 2-3% ของวงเงินสินเชื่อเดิมหรือวงเงินสินเชื่อคงเหลือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร

ผ่อนบ้านหมดก่อนกำหนด จัดการกับประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้านอย่างไร

         สำหรับบางคนที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA และสามารถผ่อนบ้านหมดก่อนช่วงเวลาคุ้มครองของประกันจะหมดลง สามารถเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตในช่วงเวลาที่ยังเหลือคืนอยู่ได้ โดยจะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืน ซึ่งกำหนดไว้ในกรมธรรม์

โดยการเวนคืนกรมธรรม์นี้มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เราสามารถติดต่อบริษัทประกันภัยหรือติดต่อธนาคารที่เราผ่อนบ้านไว้ เพื่อกรอกแบบฟอร์มขอเวนคืนกรมธรรม์ โดยบริษัทประกันจะคำนวณเงินค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เหลือคืนให้กับเรา

แต่อย่างไรก็ตาม หากผ่อนบ้านหมดแล้วแต่ยังไม่ได้ไปทำเรื่องเวนคืนประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน ความคุ้มครองของประกันจะยังดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาตามกรมธรรม์

ขอขอบคุณที่มา : Sanook.com