หลักฐานใหม่ พระเจ้า เอก ทัศน์

  • 09 เม.ย. 2560
  • 0

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

ตามประวัติศาสตร์ที่เคยเล่าเรียนกันมาว่า เจ้าเมืองตาก หรือ พระยาตากสิน ตำแหน่งเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร และดำรงตำแหน่งเป็น พระยาวชิรปราการ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ยังไม่ทันได้ดูแลเมืองกำแพงเพชร พม่าก็ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา จึงจำเป็นต้องช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา แต่ด้วยความอ่อนแอในการปกครอง ภายในกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้พระยาวชิรปราการหนีออกจากกรุงศรี ฯ เพื่อหาโอกาสกลับไปต่อสู้กู้ชาติคืนมาอีกครั้ง ดีกว่าจะอยู่และตายอย่างอดสู

 คุณกรกิจ ดิษฐาน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว ในเรื่องของ พระเจ้าตากสิน ว่า ไม่ได้หนีทัพ แต่ตีฝ่าทัพข้าศึกตามบัญชา ของพระเจ้าเอกทัศน์ ดังนี้...

ฟ้าใหม่หลังไฟเผากรุง

"...ข้าพเจ้าขอรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อครั้งที่พม่าข้าศึกได้ทำสงครามรุกรานสยาม พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ส่งขุนนางนามว่าพระยาตากไปยังแขวงเมืองจันทบูร เพื่อรวบรวมกำลังคนที่นั่นแล้วพากันมาช่วยกรุงสยาม แต่ภารกิจไม่ว่องไวพอ ราชอาณาจักรสยามจึงถูกข้าศึกที่ว่านั้นพิชิตลง พระเจ้าแผ่นดินกับพระบรมวงศ์และขุนนางกับไพรฟ้าทั้งปวงไม่ถูกสังหารก็พากันหนีตาย

โดยเหตุที่ทั่วแผ่นดินพังนาศจนสิ้น ย่อยยับเสียจนปราศจากผู้ใดมาปกครองบ้านเมือง มีแต่พระยาตากที่กล่าวถึงข้างต้น พระยาตากกับไพร่พลจำนวนหนึ่งยกทัพเข้ากรุง (ซึ่งถูกเผาทำลายและปล้นชิงโดยข้าศึกแล้วทิ้งเมืองไป) ผู้คนที่หนีเข้าป่าก็พากันมาเข้าร่วมกับท่าน และพากันยกให้ท่านเป็นเจ้าเหนือหัวปกครองแผ่นดิน แผ่นดินนี้จึงกลับมาสถาพรอีกครั้ง ที่จริงแล้วยิ่งมั่งคั่งกว่าเดิมเสียอีก บัดนี้มีสำเภาและเรือสินค้ามาเยือนมากกว่าแต่ก่อน ข้าพเจ้าจึงขอร้อง ฯพณฯ ให้สร้างห้างค้าขายที่นั่น และส่งตัวแทนกับข้ารับใช้เพื่อค้าขายเหมือนดังก่อนเก่า โดยเราจะให้คำมั่นสัญญาว่า บริษัทปรารถนาสิ่งใด ข้าพเจ้าจะสั่งการให้คนกรมพระคลังจัดการโดยมิให้ตกหล่น ... "

ลิขิตฉบับนี้เป็นของพระยาพิพิธโกษา (รองเจ้ากรมพระคลัง) ส่งไปถึงนายข้าหลวงใหญ่บริษัท VOC ที่เมืองปัตตาเวีย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 1769 (ปีที่พระเจ้าตากปราบก๊กเจ้าพระฝางรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง) เพื่อรายงานว่า บัดนี้กรุงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) ได้แตกเสียแล้ว "ถูกพม่าเผาและปล้นชิง" หากแต่พระยาตาก "ผู้ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน" ได้กอบกู้กรุงขึ้นใหม่ที่ธนบุรี มีพ่อค้านายวาณิชย์มาค้าขายดังเดิม ทั้งยังคึกคักรุ่งเรืองกว่ากรุงเก่าเสียอีก จึงขอเชิญบริษัทวิลันดาไปเปิดห้างค้าขายอีกครั้ง

อนึ่ง เมื่อครั้งที่พม่าเผากรุง ห้างวิลันดาได้รับความเสียหายพอควร นายห้างคนสุดท้าย คือ "นิโคลาส บาง" จมน้ำสิ้นชีพขณะหนีการปิดล้อมของพม่าครั้งแรก นิโคลาส บางผู้นี้มีภรรยาเป็นหญิงชาวกรุงศรี ชื่อ Meutha (ไม่รู้ออกเสียงยังไงดี) มีลูก 6 คน คนหนึ่งชื่อ "มิเชล บาง" ถูกพม่าจับตัวไว้ ต้องจ่ายค่าไถ่แล้วนำสมาชิกห้างวิลันดาหนีออกจากพระนครราว 1 ปีก่อนกรุงแตก

กระนั้น แม้กรุงศรีจะมีฟ้าใหม่ แต่บริษัทวิลันดามิได้กลับมาตั้งห้างตามคำขออีก

อย่างก็ตาม จดหมายฉบับนี้มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ช่วยบอกเล่าสถานการณ์หลังเสียกรุงไปสู่การรวมอำนาจใหม่ได้อย่างกระชับ และย้ำว่า "พระยาตาก" ไม่ได้ตีฝ่าโดยพลการ แต่มีโองการให้ไปรวมพลรับมือที่จันทบูร

——————————————

ลิขิตฉบับนี้แปลจากภาษาดัตช์เป็นอังกฤษโดยหอจดหมายเหตุบริษัท VOC ที่กรุงจาการ์ตา (ปัตตาเวีย) และแปลเป็นไทยบางส่วนโดยผมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 หรือ 1 วันหลังการรำลึก 250 ปีกรุงสยามถูกพม่าเผาและปล้นชิง

——————————————

ภาพ - "ยุดยา" หรือ View of Judea, the Capital of Siam, Johannes Vinckboons (attributed to), c. 1662 - c. 1663 ของ Rijksmuseum

หลักฐานใหม่ พระเจ้า เอก ทัศน์

Tags

เชื่อหรือไม่..กษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งสวรรคตเพราะอดอาหาร! ๑๑ วันถูกทอดทิ้งในพุ่มไม้!!

เผยแพร่: 7 ก.พ. 2563 11:32   โดย: โรม บุนนาค


ไม่คอยน่าเชื่อว่าจะมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อ ๒ มหาดเล็กพากษัตริย์องค์หนึ่งหนีภัย แล้วทอดทิ้งให้ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้แต่พระองค์เดียว จากนั้นก็หายไปไม่กลับมา และพระองค์ก็ไม่ทรงทราบว่าจะรักษาพระชนมชีพได้อย่างไร ในที่สุดก็ต้องสวรรคตเพราะอดพระกระยาหาร นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่สวรรคตอย่างน่าเศร้าสลด เช่นเดียวกับที่พระองค์ก็สร้างความเศร้าสลดให้แก่ประเทศชาติ

กษัตริย์พระองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์รองของ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่เมื่อ “เจ้าฟ้ากุ้ง” เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ พระราชโอรสองค์โตซึ่งเป็นรัชทายาทต้องพระราชอาญาถึงสิ้นพระชนม์ ขุนนางข้าราชการทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ราชโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาท แต่เจ้าฟ้าอุดมพรกลับขอให้สถาปนาพระเชษฐา กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ พระราชบิดาไม่ทรงยินยอม และรับสั่งว่า

“กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติเสียหาย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต กอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไป เหมือนดังคำปรึกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง”

จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวช และสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นมหาอุปราช

แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรหนัก เจ้าฟ้าเอกทัศน์ทราบข่าวก็ลาผนวชกลับมาอยู่วัง รอขึ้นครองราชย์แทน ด้วยถือว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสที่อาวุโสที่สุด และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ขุนนางข้าราชการอัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติตามพระราชโองการ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ชิงเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์ เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงเห็นว่าพระเชษฐาอยากเป็นกษัตริย์เต็มที่ เลยสละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์มาได้เพียง ๑๐ วัน แล้วเสด็จออกผนวช

เจ้าฟ้าเอกทัศน์บริหารราชการแผ่นดินอย่างที่พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศรับสั่งไว้ไม่มีผิด เป็นที่วิตกของขุนนางข้าราชการไปตามกัน ในปี ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีไทย และตีหัวเมืองได้เรื่อยมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ขุนนางข้าราชการเกรงว่าพระเจ้าเอกทัศน์จะรักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้ จึงขอไปทูลเชิญให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยรักษาพระนคร พระเจ้าเอกทัศน์ก็ยอม เพราะจนปัญญาไม่รู้ว่าจะสั่งสู้พม่าอย่างไร เจ้าฟ้าอุทุมพระก็ลาผนวชมาช่วย พอดีพระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่ของตัวเองระเบิด ประชวรหนักต้องถอยทัพ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

เมื่อสิ้นศึกพม่า ค่ำวันหนึ่งเจ้าฟ้าอุทุมพรเข้าเฝ้าถวายข้อราชการ พระเจ้าเอกทัศน์ให้เข้าเฝ้าแต่ถอดดาบออกจากฝักพาดบนพระเพลา เจ้าฟ้าอุทุมพรก็เข้าใจความหมายว่าพระเชษฐาทรงไม่ไว้วางพระทัย จึงกลับไปทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด และประทับที่พระที่นั่งคำหยาด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสร้างไว้เป็นที่ประทับแรมเมื่อเสด็จประพาสเมืองอ่างทอง

ในปี ๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ส่งเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าเอกทัศน์รับสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะทั้งหลายเข้ามาอยู่ในพระนคร เจ้าฟ้าอุทุมพรก็เสด็จมาด้วย ขุนนางข้าราชการได้ทูลขอให้ลาผนวชมาช่วยป้องกันพระนคร แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรเข็ดเสียแล้ว แม้ราษฎรจะเขียนหนังสือใส่บาตรจนเต็มตอนออกบิณฑบาตรก็ไม่ยอม กรุงศรีอยุธยาจึงแตกเสียเมืองแก่พม่า มหาดเล็ก ๒ นายพาพระเจ้าเอกทัศน์ลงเรือเล็กหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ และพาไปหลบอยูในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก ริมวัดสังฆาวาส แถบคลองสวนพลู จากนั้นมหาดเล็กทั้งสองก็จากไป ทิ้งพระองค์ให้ประทับอยู่ในพุ่มไม้เพียงพระองค์เดียว ซึ่งอาจจะออกไปหาพระกระยาหารมาถวายก็ได้ แล้วถูกจับหรือมีเหตุอื่นที่ไม่สามารถกลับมาก็ได้ พระองค์ก็ไม่เสด็จออกไปไหน คงรอให้คนมาช่วย จนอดพระกระยาหารถึง ๑๑ วัน ๑๑ คืน

เมื่อ สุกี้พระนายกอง มอญซึ่งเคยรับราชการกับพระองค์ แต่แปรพักตร์ไปเข้ากับพม่า มาพบพระองค์และพาเสด็จไปค่ายโพธิ์สามต้น พระเจ้าเอกทัศน์ก็สวรรคต สุกี้ได้อัญเชิญพระศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าวิหารวัดมงคลบพิตร อันเป็นที่ทำพระเมรุครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าตากสินตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก ขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาหมดแล้ว โปรดให้สร้างพระเมรุขึ้นที่หน้าวิหารวัดมงคลบพิตร ขุดพระศพพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นมาถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณีเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น ก่อนเสด็จมากรุงธนบุรี

พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องเสียแก่พม่าอย่างย่อยยับ จึงทรงได้รับเคราะห์กรรมไม่ต่างกับอาณาประชาราษฎร์ ในยามที่บ้านเมืองแตกสาแหรกขาด