พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคือเรื่องใด

ที่มา: 

พระราชประวัติ พระมหากษัตย์ 9 รัชกาล / ศิวรรณ คุ้มโห

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคือเรื่องใด

[แก้ไข] พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปศักดิเดชน์ ธเนศรมหาราชาธิราชจุฬาลงกรณ์นาถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามงกุฎราชพงศบริพัตรบรมขัตติยมหารัชฎาภิษิยจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร” แต่สมเด็จพระบรมราชนนีทรงเรียกพระนามว่า “เอียดน้อย”

เมื่อครั้นทรงโสกันต์แล้วทรงเสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเดินกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา ทรงเริ่มรับการศึกษาในวิชาสามัญในวิทยาลัยอีตันซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นหนึ่งของประเทศอังกฤษ ในโรงเรียนแห่งนี้ได้กวดขันเรื่องระเบียบวินัยและมารยาทในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ ทรงหัดว่ายน้ำและเล่นกรรเชียงเรือ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้ว ทรงสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารที่เมืองวูลิช (ROYAL MILITARY ACADEMY COUNCIL) ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารแผนกปืนใหญ่ม้า แต่ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2453 พระองค์จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพิธีพระบรมศพ แล้วจึงเสด็จกลับไปศึกษาต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2456 ทรงเข้าประจำการ ณ กรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษที่เมืองอัลเดอร์ช้อต (ALDERSHOT) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2456 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2457 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการซ้อมรบ โดยรัฐบาลอังกฤษตามความเห็นชอบของที่ประชุมกองทหาร (ARMY COUNCIL) และได้รับอนุญาตให้ทรงเครื่องแบบนายทหารอังกฤษสังกัดใน “L” BATTERY FOYAL HORSE ARTILLERY ทรงได้รับสัญญาบัตรเป็นนายทหารยศร้อยตรีกิตติศักดิ์ แห่งกองทัพอังกฤษ และในกาลที่พระองค์สำเร็จการศึกษาจากสถานทีนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยศนายร้อยตรีนอกกอง สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยโท และนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์

ในปี พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามโลกขึ้นในยุโรป แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ยังทรงศึกษาวิชาการทหารได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ หากจะกลับมาเมืองไทยก็ยังทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองยังไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤษดากร ทรงจัดหาครูเพื่อสอนวิชาการเพิ่มเติมให้สมเด็จกพระเจ้าน้องยาเธอโดยเน้นวิชาที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง คือวิชากฎหมายระหว่างประเทศ พงศาวดารศึก และยุทธศาสตร์การศึก แต่ต่อมาสงครามครั้งนี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ทั้งการหาครูมาถวายพระอักษรก็ลำบาก เนื่องด้วยนายทหารที่มีความสามารถต้องออกรบในสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระราชดำเนินกลับประเทศไทย แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอมีความประสงค์ที่จะเสด็จร่วมรบกับพระสหายชาวอังกฤษ หากแต่พระเจ้ายอร์ซที่ 5 ไม่สามารถทำตามพระราชประสงค์ เนื่องด้วยพระองค์เป็นคนไทยซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางในสง-ครามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอจึงจำเป็นต้องเสด็จกลับเมืองไทรในเดือนเมษายน พ.ศ. 2458

ครั้นเมื่อเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทพิเศษจอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็นพระเชษฐาในพระองค์ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการ-ทหารบก แล้วเลื่อนเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์และเป็นร้อยเอกต่อมาเสด็จเข้ารับราชการประจำกรมบัญชาการกองพันน้อยที่ 2 ในตำแหน่งนายทหารเสนาธิการและต่อมาเลื่อนเป็นนายพันตรี แล้วเป็นพันโทบังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ในระยะแรกที่ทรงเข้ารับราชการ พระองค์ประทับอยู่ ณ วังพญาไทกับพระบรมราชชนนี และนอกจากวังพญาไทแล้วสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถยังประทานบ้านท่าเตียนให้เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งหน้าที่การงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยมาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ. 2460 จึงทรงลาราชการเพื่อทรงผนวช ณ อุโบสถวัดพระรีรัตน-ศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเสร็จประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอลาผนวชและเสด็จเข้ารับราชการเป็นที่เรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุราธิคุณตรัสขอหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีให้และประกอบพระราช-พิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมานพระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461

หลังจากที่ทรงอภิเษกสมรสแล้ว และรับราชการเป็นที่เรียบร้อย แต่พระองค์ที่ทรงประสบปัญหากับพระโรคเรื้อรัง จึงจำเป็นต้องลาราชการไปพักรักษาตัวในที่ ๆ มีอากาศเย็นตามความเห็นของคณะแพทย์ พระองค์เสด็จไปรักษาตัวที่ยุโรปในปี พ.ศ. 2463 ครั้นพระองค์ทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ทรงเข้าศึกษาวิชาการในโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส จนสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2464 หลังจากนั้นอีก 4 ปี ทรงเข้ารับราชการอีกครั้งโดยพระบรมเชษฐาธิราชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า โปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก และเลื่อนพระยศขึ้นเป็นนายพันเอก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ในคราวเดียวกัน และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงเป็นประธานในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี เพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องสืบราชสมบัติ และการทำพิธีพระบรมศพในคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ที่ประชุมได้พิเคราะห์พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในพระราชหัตถเลขานิติกรรม ใจความว่า

“การสืบราชสมบัตินั้นมีพระราชประสงค์ว่า หากมีพระราชโอรส (ขณะที่ทรงทำนิติกรรมนั้นพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่) ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระมหากษัตริย์จะบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรส ก็ใคร่ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงรัชรัชทายาท สืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี

จากข้อความในพระราชหัตถเลขาจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราชมาก แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯ ไม่เต็มพระราชหฤทัยจะรับรองราชสมบัติ ทรงอ้างว่ายังมีเจ้านายที่อาวุโสมากกว่า แต่ในที่ประชุมลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ไว้วางใจในพระองค์ และตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุดขทัยฯ ขึ้นครองราชย์ เป็นประมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทรงได้จัดตั้งคณะอภิรัฐมนตรีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ ด้วยมีพระราดำริว่า “ไม่ทรงสันทัดในการแผ่นดินมากนัก” คณะอภิรัฐมนตรีนี้ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ 5 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
  2. สมเด็จ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  3. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
  4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  5. พระเจ้าบรมวงศ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาท

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็มิได้ทรงขัดเคืองในพระทัยแต่ประการใด แต่ด้วยมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องประกาศสละราชสมบัติด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่พระองค์ได้วางแผนให้เป็น คือ ต้องการมอบประชาธิปไตยให้กับคนไทยทุกคน เมื่อทรงเสด็จต่างประเทศเพื่อผ่าตัดพระเนตร และเมืองเสร็จสิ้นจากการผ่าตัดแล้ว ก็มิได้เสด็จกลับประเทศไทย ยังคงเสด็จประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งคณะรัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมาการขึ้นคณะหนึ่ง มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการเดินทางไปเฝ้ากราบบังคมทูลเชิญพระองค์

พระองค์เสด็จกลับประเทศไทย การกราบบังคมทูลเชิญกลับประเทศไทยนั้นไม่เป็นผล ดังนั้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยประกาศสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ดังปรากฏความในเอกสารความว่า


(สำเนา)

ปปร

บ้านโนล

แครนลีประเทศอังกฤษ

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ 24มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่าง ๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเสื่อใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปแบบนั้น โดยมิได้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อมีผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป้นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับจะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ตามคำร้องขอของข้าพเจ้าแต่ให้มีสมาชิกซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกเอง เข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง 1 การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจาบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอกแต่ฉะเพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ นอกจานี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่นแปลงโครงการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวขึ้นกันเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น

ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2 และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริงและประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฎขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย

เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูให้เข้ารูปประชาธิปตัยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุ่มอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญ มีผลได้เสียแก่พลเมืองรัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่นเรื่องคำร้องขอต่าง ๆของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้รฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุตติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผยซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเองและข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม

ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเน้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองให้แก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์

อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์

อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้าถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบ หรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อ กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขความสบาย


(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ปร

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

เวลา 13 นาฬิกา 55 นาที



หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติที่สนิทบางพระองค์ ได้เสด็จไปประทบที่วังเวอจิเนีย วอร์เตอร์ (VIRAINIA WATER) อันเป็นชนบทใกล้กรุงลอนดอน ครั้งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ได้เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยโรคพระหทัยวาย รวมพระชนมายุได้ 48 พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ได้ 9 ปี

รัฐบาลอังกฤษได้อนุญาติให้ตั้งพระบรมศพเป็นกรณีพิเศษนาน 4 คืน และในวันที่ 3 มิถุนายน ปีเดียวกัน จึงได้อัญเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปยังสุสาน โกลเดอร์กรีน (GOLDERS GREEN) เพื่อถวายพระบรมศพ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังคงเสด็จประทับอยู่ในอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระบรมอัฐพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่อประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช อันสมควรกับพระบรมราชอิสริยยศ และเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยสืบไป

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


[แก้ไข] การทำนุบำรุงบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้นด้วยทรงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา สะพานนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้มกับทรงชักชวนประชาชนชาวไทยร่วมกันสร้างพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่บริเวณลานเชิงสะพานแห่งนี้ด้วย โดยพระองค์เสด็จไปทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และทรงโปรดให้มีมหรสพสมโภชเป็นการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครที่มีอายุครบ 150 ปีด้วย แลพระราชทานสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานเพื่อเสด็จประทับด้วยทรงโปรดการประพาสชายทะเลเป็นอย่างมาก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อสร้างเสร็จ ทรงพระราชทานนามว่า “สวนไกลกังวล” พระราชฐานแห่งนี้ประกอบไปด้วยพระตำหนักต่าง ๆ มากมาย เช่น พระตำหนักเปี่ยมสุข พระตำหนักน้อย พระตำหนักปลุกเกษม พระตำหนักเอมปรีดี และศาลาเริง เป็นต้น

[แก้ไข] ด้านดนตรี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเล่นดนตรีเป็นอย่างมาก ได้ทรงตั้งวงดนตรีไทยส่วนพระองค์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2470 ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการที่ใกล้ชิดรวมถึงทรงมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลงอีกด้วย ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยเดิมไว้ 3 เพลง คือ

  1. เพลงราตรีประดับดาว (เถา) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจากเพลงมอญดูดาว 2 ชั้น ของเถา เมื่อ พ.ศ. 2472 ทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลง เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ มีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับคู่รักที่ชักชวนกันชมเดือน ดาว ดอกไม้ แต่มีความจำเป็นที่ต้องจากกันในเวลาอันใกล้นี้
  2. เพลงเขมละออองค์ (เถา) ทรงพระราชนิพนธ์ขณะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระที่นั่งเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลงจากเพลงเขมรเอาบาง 2 ชั้น ส่วนบทร้องนั้นทรงใช้บทร้องซึ่งคัดมาจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระร่วง แต่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลงแก้ไขบ้างบางส่วน
  3. เพลงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น ทรงพระราชนิพนธ์ในขณะที่ทรงเสด็จประพาสสัตหีบทางชลมารคใน พ.ศ. 2473 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงนี้ให้มีทำนองคล้ายเสียงระลอกคลื่น ได้ทรงเลือกทำนองเพลงคลื่นกระทบฝั่ง 2 ชั้น มาดัดแปลงเป็นเพลง 3 ชั้น แต่มิได้พระราชนิพนธ์เนื้อเพลง ก็โปรดให้ใช้เป็นเพลงโหมโรงไปก่อน และคงใช้กันสิบมาจนทุกวันนี้

[แก้ไข] ทรงวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัตินั้นเศรษฐกิจทั่วดลกกำลังตกต่เนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทย ได้รับความกระทบกระเทือนจากสิ่งนั้นด้วย แต่ไม่ว่าจะประสบปัญหาวิกฤตอย่างไร พระองค์ก็ทรงใช้วิจารณญาณแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยพระปรีชาสามารถอันดีตลอดมา

ทรงมีพระราชประสงค์ที่แน่วแน่ที่จะทรงมอบอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนในรัชกาลของพรองค์มีการจัดตั้งสภากรรมการขององคมนตรี อันประกอบด้วยกรรมการ 40 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี ทำหน้าที่ในการประชุมพิจารณากฎหมายและปัญหาอื่น ๆ ตามแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทั้งทรงมีพระราชประสงค์ให้สภากรรมการองคมนตรีเป็นสภาทดลองและฝึกหัดเพื่อปลูกฝั่งวิธีการของระบบรัฐสภาต่อไป

ส่วนราษฎรระดับท้องถิ่นนั้นพระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรมีส่วนร่วมในกิจการสุขาภิบาลซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงกิจการให้เป็นรูปแบบการบริหารงานส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล โดยทรงแต่งตั้งกรรมการจัดการประชาภิบาลคอยสำรวนดูงานสุขาภิบาลตามหัวเมืองทั่วราชอาณาจักร แต่พระราชบัญญัติเทศบาลที่ร่างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2473 มีขั้นตอนการผ่านพิจารณาจากเสนาบดีสภา สภากรรมการองคมนตรี จึงยังมิได้ทรงประกาศพระราชบัญญัติเทศบาลดังกล่าว

[แก้ไข] ด้านการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดระเบียบการบริหารงานบุคคลของชาติ ด้วยตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471 ขึ้น บังคับใช้โดยตามกฎหมายฉบับนี้จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” คอยทำหน้าที่ดูแลการบรรจุแต่งตั้ง การเคลื่อนย้ายการให้ความดีความชอบรวมทั้งการควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยของข้าราชการ ทรงโปรดให้มีการสอบแข่งขันบุคคลเข้าบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่ใครประสงค์จะเข้ารับราชการก็ไปฝากตัวแต่หัวหน้าส่วนราชการนั้น ซึ่งหัวหน้าส่วนท่านนั้นจะรับหรือไม่ก็ได้

และเพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ออก “พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัย หรือความผาสุขแห่งสาธารณชน พ.ศ. 2471” โดยมีขอบเขตครอบคลุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภค และการเงิน เช่น กิจการไฟฟ้า การประปา รถราง รถไฟ การเดินอากาศ การชลประทาน การขุดคลอง การออมสิน และการประกันภัย ซึ่งนับว่าเป็นรากฐานของระเบียบที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขการปกครองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยหลังจากเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วก็โปรดให้สถาปนาคณะอภิรัฐมนตรีขึ้น เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินแทนที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยแต่พระองค์เดียว ทรงฟื้นฟู้การประชุมเสนาบดีให้มีความสำคัญและทรงแนะนำให้รู้จักการทำงานเป็นคณะและรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งยังทรงแต่งตั้งสภากรรมการองคมนตรี เพื่อเป็นที่ปรึกษาข้อราชการและฝึกหัดการประชุมรัฐสภา สำหรับการปูพื้นฐานในการปกครองตนเองของประชาชนก็ได้ทรงโปรดให้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น แต่กฎหมายดังกล่าวได้ร่างเสร็จเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้รู้ทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเตรียมพระราชทานให้แก่ประชาชนในโอภาสฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 150 ปี แต่ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ ได้ทรงทูลคัดค้านว่ายังไม่สมควรแก่เวลา จึงเป็นอันต้องรอคอยการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน

ด้วยเหตุนี้ในช่วงระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ เสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้น เป็นระยะที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากผลแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การเงินของประเทศไทยอยู่ในขั้นทรุดโทรม การทำมาหากินของประชาชนฝืดเคือง งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินสูงกว่ารายได้ ซึ่งเกิดติดต่อกันมานานตั้งแต่ พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต่อสู้แก้ไขกับปัญหาดังกล่าวด้วยการประหยัด โดยทรงเริ่มจากทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ก่อน (เงินพระคลังข้างที่) ลงจากปีละ 8 ล้านบาท ลงเหลือปีละ 4 ล้านบาทจากนั่นทรงตัดทอนรายจ่ายของแผ่นดินลงทุกวิถีทางเท่าที่จะทรงกระทำได้ เริ่มด้วยการยุบรวมหน่วยราชการที่พอจะรวมกันได้ มีการดุล (ปลด) ข้าราชการที่ล้นงานออกจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มากมายทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ซึ่งก่อให้เกิดคามไม่พอใจขึ้นในหมู่ข้าราชการเป็นอันมากนอกจากนี้ยังทรงให้จัดตั้ภาษีอากรขึ้นใหม่ เพื่อจัดเก็บจากบุคคลที่พอจะมีกำลังเสียได้ โดยทรงยินยอมให้มีมีการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์ส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ซึ่งการแก้ปัญญาด้วยวิธีการเหล่านี้ไม่สามารถฟื้อนฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ดี ประกอบกับขณะนั้นมีพวกข้าราชการ และนายทหารที่กลับจากการไปศึกษาในต่างประเทศและมีหัวคิดรุนแรงต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเสียใหม่เพราะเข้าใจว่าจะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองได้ ดังนั้นในเช้ามีดของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานนไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล “คณะราษฎร์” นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินที่กรุงเทพมหานครไว้ โดยการเข้าควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์ศานุวงศ์บางพระองค์และข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ไว้เป็นตัวประกัน แล้วมีหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัติกลับพระนคร เป้นพระมหากษัตริย์ภายใต้ธรรมนูญการปกครองที่คณะราษฎร์ได้ทำขึ้น

ถึงแม้ว่าจะได้ทรงเตรียมที่จะพระราชทานอำนาจอธิปไตยนี้ได้แก่ประชาชนอยู่แล้ว แต่เมื่อคณะราษฎร์แสดงออกถึงความปรารถนาอันแรงกล้าเช่นนี้ พระองค์ก็มิได้ทรงถือทิฐิมานะ ทรงละพระบรมเดชานุภาพยอดมรับการเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังความในลายพระหัตถ์ที่ว่า

“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเสียเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อได้ว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก…….”

และหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนสู่พระนครแล้วแล้วก็ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับแรก เมื่อวนที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2435

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระนครแล้ว กลุ่มคณะราษฎร์ได้เข้าเฝ้าและถวายธูปเทียนเพื่อขอขมาดังมีหนังสือกราบทูลดังนี้


ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

การที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เริ่มทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ก็ด้วยมุ่งหวังประโยชน์แก่ชาติโดยเห็นแก่ชาติโดยเห็นด้วยเกล้าด้วยหกระหม่อมว่า ทุกๆ ประเทศที่เป็นเอกราช ก็มีธรรมนูญการปกครองกันทั่วไปแล้ว หากประเทศสยามได้มีกับเขาบ้างก็จะเป็นโอกาสให้ราษฎรเป็นจำนวนมากได้มีส่วนช่วยเหลือใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในราชการแผ่นดินเต็มกำลังความสามารถจริง ๆ การณ์ได้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวง ก็เนื่องด้วยฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อประชาชนชาวสยาม และทรงพระกรุณาช่วยเหลือสงเสริมทุกประการ ตลอดจนพระราชทานอภัยโทษแก่พวกข้าพุทธเจ้า โดยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุร ทั้งนี้ ย่อมตระหนักอยู่แก่ใจพวกข้าพระพุทธเจ้า

การที่ข้าพระพุทธเจ้า ได้ประกาศกล่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลง ด้วยถ้อยคำรุนแรง กระทบกระเทือนใต้ฝาละอองธุลีพระบาทและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ด้วยทรงมุ่งหวังถึงผลสำเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่สมเด็จพระมหากษัตราธิราชในบรมวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้มีส่วนทำความเจริญมาสู่ประเทศสยามตามกาลสมัยบัดนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกข้าพระพุทธเจ้ามาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงขอพระราชทาน พระบรมวโรกาสนี้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่ง เป็นคำรบสองในถ้อยคำที่ได้ประกาศไป

การจะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เมื่อคณะราษฎร์ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษเสร็จสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำรัสตอบดังนี้

“ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งในการที่ได้มา กระทำพิธีขอขมาต่อตัวข้าพเจ้าและพระราชวงศ์จักรีในวันนี้ การกระทำของท่านในวันนี้ให้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งไม่ใช่ยินดีต่อตัวข้าพเจ้าโดยฉพาะ เพราะข้าพเจ้าเองก็ให้อภัยโทษแก่ท่านทั้งหลายมานานแล้ว เพราะเข้าใจในความประสงค์ของท่านดีท่านกระทำการในคราวนี้ก็เพื่อหวังประโยชน์แก่ชาติจริงๆ ข้าพเจ้าได้ตั้งใจให้ท่านได้ทำการเป็นผลสำเร็จเรียบร้อยดีอย่างที่สุดที่จะเป็นได้ โดยที่ข้าพเจ้ามีความเห็นในความคิดของท่าน ข้อที่ข้าพเจ้าดีใจมากนั้นคือ ในคำขมานั้น ท่านได้กล่าวถึงสมเด็จพระมหากษัตราธิราชและเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีว่าได้ทรงมีส่วนในการนำความเจริญมาสู่ประเทศสยามด้วยหลายพระองค์ด้วยกัน นั่นเป็นความจริง

ในคำประกาศวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ข้อความที่ทำให้ข้าพเจ้าเอง และสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีรู้สึกโทมนัสอย่างยิ่ง คือ ในข้อความที่ทำให้เข้าใจ่าพระราชวงศ์จักรีไม่ได้ทำความเจริญให้กับประเทศสยามอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ทำให้สมาชิกในพระราชวงศ์จักรีทั่วไปโทมนัสน้อยใจและแค้นเคืองมา

เมื่อพวกท่านได้กล่าวแก้ไขในวันนี้นั้น ข้าพเจ้าหวังว่าจะเป็นผสานไมตรีระหว่างพระราชวงศ์จักรีกับพวกท่านและราษฎรทั่วไปให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ อันที่จริง เจ้านายในพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ย่อมทรงมีส่วนเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง จึงทรงได้เข้ารับราชการในกระทรวงต่างๆ ทุกพระองค์ตามแต่ที่จะทำได้ แต่ตามวิสัยธรรมดาของคนและตระกุลอันใด ก็ย่อมมีสมาชิกมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเป็นธรรมดา และย่อมมีการพลาดพลั้งการบ้าง ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเจ้านายจะได้ทรงทำการพลาดพลั้งไปบ้าง ก็มิใช่โดยอคติ โดยเหตุนี้เมื่อท่านได้กล่าวแก้ไขในวันนี้และท่านมีความรู้สึกว่า พระราชวงศ์จักรีได้ทรงทำประโยชน์แก่ประเทศชาติของเราเช่นนี้ ก็ย่อมจะล้างความโทมนัสทั้งหลายทั้งปวงของข้าพเจ้าเอง และพระราชวงศ์จักรีได้สิ้น

นอกจากนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้มาทำพิธีขอขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้ามิได้ทรงเรียกร้องร้องอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่ามีธรรมในใจ และเป็นคนที่สุจริตและใจเป็นนักเลง คือเมื่อท่านรู้สึกว่าได้ทำอะไรเกินไป พลาดพลั้งไปบ้าง ท่านก็ยอมรับผิดโดยดีและโดยเปิดเผยการกระทำเช่นนี้เป็นของที่ทำยาก และต้องเป็นนักเลงจริงๆ จึงจะทำได้ เมื่อท่านได้กระทำพิธีเช่นนี้ในวันนี้ก็ทรงแสดงให้เห็นชัดว่าการใดๆ ที่ท่านได้ทำไปเพื่อหวังประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง ท่านได้แสดงว่าท่านเป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญทุกประการ ท่านกล้ารับผิดเมื่อรู้สึกว่าตนได้ทำการพลาดพลั้งไป

ดังนี้ เป็นการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้ใจในตัวของท่านยิ่งขึ้นอีกเป็นอันมากในข้อนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอให้พรแก่ท่านทั้งหลาย ขอจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภาณ ทุกประการ มีกำลังใจ กำลังน้ำใจ เพื่อสามารถทำการงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศของเราสืบไป”


ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ได้เกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกกันว่า “กบฏวรเดช” ขึ้น โดยพระองค์เจ้าบวรเดชกับพระยาศรีสิทธิสงคราม รวมกำลังทหารหัวเมืองมุ่งเข้าตีกรุงเทพมหานคร ตามคำแถลงการณ์ที่จะเข้ามาช่วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงหลุดพ้นจากอำนาจคณะราษฎร์ในการนี้มีการปราบปรามด้วยอาวุธ ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันและต้องเสียชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่สะเทือนพระราชหฤทัยมาก ครั้นต่อมาปรากฎว่าเกิดความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันขึ้นระหว่างพระองค์กับสภาผู้แทนราษฎร จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุผลเพื่อไปรักษาพระเนตรเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 จึงได้พระราชทานหัตถเลขา ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติ

[แก้ไข] ด้านประเพณีและวัฒนธรรม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างค่านิยมให้มีภรรยาเพียงคนเดียวซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสังคมไทยแต่โบราณ ที่ชายไทยมักนิยมมีภรรยาหลายคนโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร อันเป็นการฝังค่านิยมใหม่ทีละน้อยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง โดยทรงมีแต่พระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียวโดยไม่มีสนมนางใดๆ ทั้งสิ้น

[แก้ไข] ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ในต้นรัชสมัย ได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่ทรงเกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่ค้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงทำสัญญาใหม่ ๆ กับประเทศเยอรมนี และทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงเรียกว่า “สนธิสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2496 ”

[แก้ไข] บทสรุป


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่เลื่อมใสการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ยังมิได้ทรงทำการเปลี่ยนใดๆลงไป ด้วยทรงคำนึงว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม แต่เมื่อมีคณะราษฎร์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน แต่ก็มิได้ทรงขัดเคืองพระทัยแต่อย่างใด ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเต็มพระทัย แม้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่มากมายก็ตาม แต่ด้วยทรงตั้งพระทัยในการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ดังมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสลละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปแต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

และด้วยพระมหากรุณาธิคุณในด้านการปกครอง รัฐบาลจึงได้มีการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคารรัฐสภา


แหล่งอ้างอิง

  • พระราชประวัติ พระมหากษัตย์ 9 รัชกาล / ศิวรรณ คุ้มโห
  • รักบ้านเกิด.คอม

ราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สำคัญคือข้อใด

พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับ ...

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านการปกครองเป็นอย่างไร

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง มีพระราชดำริให้จัดระเบียบการปกครองรูปแบบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารและจัดการงานต่าง ๆ ของชุมชน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเทศบาล ขึ้นแต่มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์เนื่องจากเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอะไรบ้าง

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย การป้องกันการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีการนำระบบจากทางยุโรป ...

บทบาทสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรงกับข้อใด

พระองค์ได้ทรงป้องกันราชอาณาจักรด้วยการส่งกองทัพไปสกัดทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้ยกทัพเข้ามาถึงชานพระนครและขัดขวางไม่ให้เวียงจันทน์เข้าครอบครองหัวเมืองอีสานของสยาม นอกจากนี้ พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการทำให้สยามกับญวนยุติการสู้รบระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องเขมรโดยที่สยามไม่ได้เสียเปรียบญวนแต่อย่างใด