คนจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพสุจริต

การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของชุมชนชาติพันธุ์จีนยูนนาน :

1.การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายภายในกลุ่มมุสลิมเชียงใหม่

          การรวมกลุ่มของคนจีนฮ่อมุสลิม นอกจากรวมกลุ่มบนฐานวัฒนธรรมและศาสนาแล้ว ยังมีการให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มองค์กรทางสังคมเพื่อตอบสนองต่อการสานประโยชน์ กิจกรรมต่าง ๆ ให้กับสังคมมุสลิมและสังคมไทย ในหนังสือมุสลิมเชียงใหม่ ประวัติความเป็นมาและเป็นไป (2557) ได้ระบุองค์กรจีนฮ่อมุสลิมที่มีความสำคัญของมุสลิมในเชียงใหม่ ดังนี้

          หนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่มัสยิดบ้านฮ่อ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีทั้งหมดสิบเจ็ดมัสยิด และดูแลประชากรมุสลิมในเชียงใหม่ทั้งหมด ประมาณ สามหมื่นห้าพันคน ทั้งชาวจีนฮ่อ ปากีสถาน บังกลาเทศ ไทยพื้นเมือง และมลายู

          สอง สมาคมไทยมุสลิมเชื้อสายจีน ตั้งอยู่เลขที่ 186/5 ถ.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งโดยนายฮัจยี ยง ฟูอนันต์ คุณหว่างเหมิงแซว คุณหว่างซูโจว และคุณม้าจิงโป (บุญเรือง ฟูอนันต์) สมาคมมุสลิมเชื้อสายจีน ชื่อย่อว่า ส.ท.ม.จ. ชื่อในภาษาอังกฤษ THAI CHINESE MUSLIM ASSOCIATION องค์กรมีวัตถุประสงค์เพื่อ  หนึ่ง ส่งเสริมการศึกษาและให้ความความรู้และให้ทุนเพื่อการศึกษาแก่ผู้ยากจนอนาถา และผู้เล่าเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ สอง ส่งเสริมการกีฬา สาม จัดตั้งการสังคมสงเคราะห์ สี่ อบรมสมาชิกในด้านศาสนากิจตามแนวทางศาสนาอิสลาม ห้า ไม่จัดให้มีโต๊ะพนันและโต๊ะบิลเลียด หก เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศาสนา วัฒนธรรม การค้าและเศรษฐกิจต่อมวลสมาชิกและบุคคลภายนอก เจ็ด เพื่อร่วมมือกับทางราชการในกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ แปด ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และ เก้า เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม

          สาม มูลนิธิเพื่อการศึกษาอิสลามเชียงใหม่ (มูลนิธิเพื่อการศึกษายูนนาน-มุสลิมเชียงใหม่) เป็นมูลนิธิที่เกิดจากคณะผู้จัดตั้งโรงเรียนสันติศึกษา จ.เชียงใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาแก่เด็กยากจนขัดสนและเด็กกำพร้าให้โอกาสในทางการศึกษาและเพื่อส่งเสริมเยาวชนให้เป็นมุสลิมที่ดี มีความรู้ มีความเข้าใจในหลักการศาสนาสำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่น ให้โอกาสได้เข้ามาศึกษาและนับถือตามศาสนาที่ตนนับถือ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะมีกระบวนการเรียนรู้คุณธรรมและจริยธรรมที่ดี เป็นพลเมืองดีของชาติ

          สี่ องค์กรมุสลิมภาคเหนือเพื่อการพัฒนา ตั้งอยู่ที่ 186/40 ถ.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างความรู้ให้กับชุมชนมุสลิมและเยาวชน โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเหล้าบุหรี่ ปัญหาโรคเอดส์ โดยองค์กรมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานประสานกับนโยบายของราชการและมุ่งเน้นหลักธรรมทางศาสนามาประยุกต์ใช้เพื่อการรณรงค์ป้องกันและการลดผลกระทบและปัญหาทางสังคม

          ห้า ชมรมสตรีเชียงใหม่ ชมรมได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อพี่น้องมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ได้มีการสอนทำอาหาร สอนตัดเย็บเสื้อผ้า อบรมในเรื่องศาสนาโดยเฉพาะสอนอัลกุรอ่านให้สตรีมุสลิมมาแล้วหลายรุ่น รวมถึงการให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โดยมีคุณรัตนาภรณ์ มะหะหมัด เป็นประธาน (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ 2557)

          จะเห็นได้ว่า ชุมชนมุสลิมมีความกระตือรือร้นในการทำงานทางสังคมและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชาวมุสลิม ครอบคลุมตั้งแต่ ด้านการศึกษา ความร่วมมือทางธุรกิจ การสร้างอาชีพ สุขภาพและการบริการชุมชน เพื่อขับเคลื่อนสังคมมุสลิมให้มีคุณภาพและเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม ปัจจุบันองค์กรเหล่านี้ยังดำเนินงานและมีความร่วมมือจัดประชุมพบปะกันภายใต้ชื่อมุสลิมเชียงใหม่สัมพันธ์รวมถึงให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรทางศาสนา

         

คนจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพสุจริต

การเรียนศาสนาและการอ่านอัลกุรอานของสตรีจีนฮ่อมุสลิม ณ มัสยิดบ้านฮ่อ

2.เครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค

          ชาวจีนฮ่อมุสลิม มีการจัดกลุ่มเป็นองค์กรมุสลิมจีน ที่พยายามสานสัมพันธ์กับมุสลิมที่อยู่ประเทศจีน หรือมุสลิมจีน การปฏิสัมพันธ์เครือญาติระหว่างมุสลิมจีนที่อยู่ในเชียงใหม่กับยูนนาน ปรากฏให้เห็นมาโดยตลาด โดยเฉพาะผ่านกิจกรรมทางศาสนา เช่น กรณีชาวจีนฮ่อในเชียงใหม่เอื้อมมือช่วยเหลือมุสลิมจีนยูนนานในการประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะห์ เนื่องจาก 10 ปีที่แล้ว ทางการจีนไม่อนุญาตให้มุสลิมในจีนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ จึงทำให้มีการประสานผ่านเครือข่ายญาติพี่น้องชาวจีนฮ่อที่เป็นคนไทยในการอำนวยความสะดวกให้สามารถเดินทางไปประกอบภารกิจทางศาสนาได้ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ชาวจีนฮ่อที่อยู่ในเชียงใหม่และยูนนานมีการปฏิสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ชาวจีนยูนนานบริจาคเงินหลายสิบล้านในการสร้างและต่อเติมอาคารโรงเรียนของมัสยิดบ้านฮ่อหรือการบริจาคเงินเพื่อใช้เลี้ยงอาหารในเดือนรอมฎอน ยังการสานสัมพันธ์ เยี่ยมเยียนร่วมงานสำคัญ ๆ เช่น ชาวจีนยูนนานจำนวนมากเข้าร่วมงานเนื่องในงานครบรอบ 100 ปี มัสยิดบ้านฮ่อ

          นอกจาก สัมพันธ์ในเชิงศาสนาแล้ว เครือข่ายจีนฮ่อทั้งสองฝ่าย ยังมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน มีนักธุรกิจจีนฮ่อไทย ส่งออกสินค้าให้กับจีนฮ่อยูนนาน และสามารถสร้างผลตอบแทนไปดีระหว่างกันอีกด้วย

3.ความสัมพันธ์กับคนเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ

          ความสัมพันธ์ระหว่างจีนฮ่อมุสลิมกับคนเมืองเชียงใหม่ พบว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการสร้างสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น มัสยิดบ้านฮ่อมีอาณาบริเวณติดกำแพงวัดอุปคุตและพุทธสถานเชียงใหม่ ทำให้ผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้อง มักมีการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นศาสนาและการอยู่รวมกันอย่างสันติในสังคมเมือง ทำให้มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน ทั้งสองจึงมีความเข้าใจอันดีและรู้จักกันละกัน มีการออกงานสัมมนาเพื่อแสดงต้นแบบในการสร้างความเข้าใจของทั้งสองศาสนาให้กับพื้นที่หรือวัดชุนชนอื่น ๆ

          นอกจากนี้สำหรับ ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนชาวจีนฮ่อมุสลิมกับคนเมือง พบว่ามีการปฏิสัมพันธ์และรู้กันมานาน ชาวจีนฮ่อจัดว่าเป็นคนเมืองด้วยซ้ำ สังเกตเช่น ผ่านภาษาและวัฒนธรรมอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำพริกหนุ่ม แกงอ๋อง และด้วยภาษาคำเมืองที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ชาวจีนฮ่อเข้ากับคนเมืองได้ง่าย จึงไม่ค่อยพบความขัดแย้งระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสการเติบโตของศาสนาอิสลาม ทำให้ชาวจีนฮ่อแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนามากขึ้น ประกอบกับกระแสความหวาดกลัวต่ออิสลามที่คนเมืองรับข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ จากโลกตะวันตก ทำให้พบว่ามีคนเมืองบางคน มีความหวาดระแวงต่ออิสลามและมีมุมมองในเชิงอคติในบางด้าน

          สำหรับ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนฮ่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทางคณะกรรมมุสลิมเชียงใหม่มีการติดต่อสัมพันธ์กับทางหน่วยงานรัฐและผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทางหน่วยงานตำรวจภาค 5 มาโดยตลอด โดยเฉพาะทางคณะกรรมการมุสลิมจะมีการเข้าพบและให้การต้อนรับผู้ว่าราชการทุกครั้ง เมื่อมีผู้ว่าคนใหม่เข้ามาเป็นทำหน้าที่บริหารปกครอง สิ่งเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่มุสลิมจีนฮ่อจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับเจ้าหน้ารัฐ คือ ความสัมพันธ์ลักษณะเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตสมัยเจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่มุสลิมจีนเข้ามารับราชการและช่วยเหลือการบริหารงานให้เจ้าเมือง หรือแม้แต่ในช่วงของการสร้างเส้นทางรถไฟที่ต้องเจาะภูเขาขุนตาลมีมุสลิมจีนได้อาสาช่วยลำเลียงอาหารให้กับแรงงานในครั้งนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือประเทศและที่สำคัญจีนฮ่อยังบริจาคที่ดินให้รัฐในการสร้างสนามบินเชียงใหม่ที่มากถึงสองร้อยไร่ ซึ่งเป็นการอุทิศตนเพื่อชาติอย่างหนึ่งของชาวจีนฮ่อมุสลิม ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนฮ่อกับรัฐจึงเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการช่วยเหลือประสานงานและให้ความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง

4.สถาบันทางสังคมและศาสนา

สถาบันทางศาสนา: มัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนา 

          มัสยิดบ้านฮ่อ หรือ มัสยิดเฮดายาตุ้ลอิสลาม ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 50 ถ.เจริญประเทศ ซ.1 ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 ถูกสร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. 2458 ด้วยเหตุผลว่า บ้านพักของขุนชวงเลียงที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจไม่สะดวก และมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ชาวจีนฮ่อมุสลิมจึงร่วมบริจาคเงินซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้าง ทั้งอิฐ ปูน และไม้ การระดมเงินในครั้งนั้นได้เงินมาจำนวน 3,000 รูปี (2,400 บาท) มัสยิดหลังแรกของมุสลิมฮ่อบนแผ่นดินเชียงใหม่ จึงเกิดขึ้น ในชื่อ "มัสยิดบ้านฮ่อ" เป็นอาคารชั้นเดียว มีรูปทรงคล้ายกับบ้านเรือนตามวัฒนธรรมล้านนา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านขุนชวงเลียง (ปัจจุบันเป็นกาดบ้านฮ่อ)

          ต่อมาใน พ.ศ. 2509 ทางผู้นำและสมาชิกตัดสินใจ รื้อถอนอาคารหลักแรกเพื่อก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ผสมวัฒนธรรมจีนอาหรับเปอร์เซีย ประกอบด้วยหอคอยและโดมตระหง่านประกบทั้งสองข้างอาคาร ด้านหน้าอาคารมีป้าย เป็นภาษาจีน ที่อ่านว่า "ชิน-เจิน-สื้อ" ที่หมายถึง สถานที่บริสุทธิ์และแท้จริงเป็นบ้านของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาและสังคมของชาวจีนฮ่อ

          คำว่า ชิน-เจิน จึงเป็นแนวคิดสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมุสลิมจีน ที่เน้นความสะอาดในทุกกริยาบท เช่น การกินดื่ม ในสิ่งที่ไม่เพียงต้องฮาลาล ยังรวมถึงภาชนะที่ต้องสะอาดโดยที่ไม่ปะปนกับผู้อื่น รวมถึงการชำระร่างกายและจิตวิญญาณในแต่ละครั้งของการประกอบศาสนากิจ ด้วยเหตุนี้มุสลิมจีนจึงเน้นการทำตัวให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา แนวคิด ซิน-เจิน จึงเป็นแกนกลางของอัตลักษณ์มุสลิมจีนฮ่อ ที่สนับสนุนคำปฏิญาณตนของการเป็นมุสลิมสากล ฉะนั้น จึงเป็นรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับมุสลิม แม้ว่าจะต้องเดินทางอพยพจากดินแดนแม่ไปสู่ที่ห่างไกล แต่ความเป็นมุสลิมจะยังคงธำรงอยู่ โดยอาศัยเครื่องมือสืบทอดผ่านสถาบันทางศาสนา มัสยิด จึงเป็นสถานที่สำคัญเป็นอันดับแรกในชุมชนมุสลิม

          ภายในอาคารมัสยิดเหนือประตูทางเข้า มีป้ายชื่อมัสยิดบ้านฮ่อ ที่เขียนด้วยสามภาษา คือ ภาษาจีน ภาษาไทยและภาษาอาหรับ ด้านบนทั้งสามภาษานั้นมีสำนวนจากโองการคัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่แปลว่า "แท้จริงแล้ว บรรดามัสยิดนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ดังนั้น พวกเจ้าอย่างวิงวอนขอผู้ใดเคียงคู่กับอัลลอฮฺ" โดยความหมาย คือ มัสยิดเป็นบ้านของพระเจ้าและจงขอต่อพระเจ้า นอกจากนี้ชื่อในภาษาไทยที่เขียนตรงกลางว่า "สุเหร่าอิสลามเชียงใหม่" ถือว่าเป็นสัญญาลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่บรรพบุรุษเลือกใช้และอาศัยในแผ่นดินนี้

          ด้านล่างสุดเป็นอักษรจีนที่มีขนาดใหญ่เด่นชัดกว่าอักษรอื่น ๆ ซึ่งเขียนไว้ว่า "หุย-แจ้ว-หลี่-ป้าย-ถัง" มีความหมายว่า สถานที่ละหมาดสำหรับชาวมุสลิม ประโยคดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งล่างสุด แต่มีขนาดใหญ่กว่าอักษรภาษาอื่นนั้น มีนัยยะที่ต้องการสะท้อนถึง ความเป็นจีนที่เป็นรากฐานหรือที่มาของบรรพบุรุษ วัฒนธรรม จารีต ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวจีนมุสลิม รวมถึงการใส่รูปดาวเดือนสัญลักษณ์ของมุสลิมเข้าไปทั้งสี่มุม

          การจัดวางตำแหน่งของสามภาษาดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนอัตลักษณ์มุสลิมยูนนาน ที่จำต้องประกอบสร้างขึ้นมาในสามภาษาหรือสามอัตลักษณ์บนเนื้อหนังของชาวจีนมุสลิมยูนนานภายใต้กรอบอิสลาม ที่แสดงผ่านรูปดาวเดือนทั้งสี่มุม ดังที่ อาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลีนี ได้ตีความหมายจากป้ายนี้ว่า

คนจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพสุจริต

ป้ายสุเหร่าบ้านฮ่อ สามภาษา

"บรรพชนมุสลิมยูนนานมุ่งมาดปรารถนาที่จะเห็นการยึดมั่นต่อรอง ประนีประนอมของอัตลักษณ์ที่หลากหลายดังเช่นแผ่นป้ายนี้ คือ มีทั้งบุคคลอื่น ๆ ในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ หรือชาวคริสต์ รวมทั้งมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ที่ชาวมุสลิมยูนนานจะต้องมีการสานเสวนาปฏิสัมพันธ์อยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกัน เราก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมั่นคงภายใต้อัตลักษณ์อันโดดเด่นและหลากหลายของคนทุกกลุ่มในสังคม” (สำนักงานอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ 2557 หน้า 34-35)

          ในแง่ทางสังคม มัสยิดเป็นสถาบันในการปลูกฝัง ความรู้ จริยธรรม ขัดเกลาจิตใจ เป็นพื้นที่สร้างสมาธิภาวนา ผ่อนคลายความเครียด ขณะเดียวกันก็เป็นที่รวมกลุ่มให้กับสมาชิกในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม การประชุมปรึกษาปัญหาและทางออกในเรื่องราวต่าง ๆ ในประเด็นของกลุ่มหรือสาธารณะ โดยการงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมัสยิด ที่ประกอบด้วยโต๊ะอิหม่ามและสมาชิก

คณะกรรมการมัสยิดบ้านฮ่อปัจจุบัน ประกอบไปด้วยสิบสี่คน คือ

1. โต๊ะอีหม่าม นายซางฟู แซ่พ่าน

2.โต๊ะคอเต็บ นายธนู จุลพันธ์

3.โต๊ะบิหลั่น นายสันติ ลู่ควร

4. เลขานุการ นายทรงชัย มานะจีรจรัส

5. เหรัญญิก นายสรชาญ โชคชัยวงศ์

6. นายทะเบียน นายอนุชา หิริวิริยกุล

7. กรรมการ นายสมศักดิ์ อภิชัยรักษ์

8. กรรมการ ดร. พันทวี มาไพโรจน์

9. กรรมการ นพ. วีระศักดิ์ นาวารวงศ์

10. กรรมการ นายอาจณรงค์ แซ่จู

11. กรรมการ นายนิกุล หว่างไพบูลย์

12. กรรมการ นายสนิท ตยุติวุฒิกุล

13. กรรมการ นายนิทัศน์ เกียรติ์กรัณย์

14. กรรมการ นายชาตรี เลิศวีระสวัสดิ์

          คณะกรรมการเหล่านี้ มีหน้าที่ในการดูแลชุมชน สัปบุรุษมัสยิดบ้านฮ่อมีประมาณเก้าร้อยคน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการสำรวจ คาดว่าอยู่ประมาณพันกว่าคน และกิจการทางด้านศาสนาที่มีตามหลักคำสอน และกิจกรรมที่เพิ่มเติมตามเทศกาล รวมทั้งการดูแลอาคารสถานที่ การระดมทุนต่าง ๆ เพื่อศาสนา การประสานสัมพันธ์กับต่างศาสนิกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างมิตรภาพ ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมเชียงใหม่

          ในการบริหารนั้นมัสยิดมีแหล่งรายได้ สองทางด้วยกันคือ หนึ่ง เงินที่ได้จากการเช่าตึกพาณิชย์ของมัสยิด สอง เงินบริจาค (ซากาต) ทั้งจากการบริจาคประจำปีของสมาชิกและเงินบริจาคจากมุสลิมทั่วโลก กรณีการจัดการที่ดินและสินทรัพย์ของมัสยิดนั้นเกิดจากการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ให้สอดรับกับบริบททางสังคม เมื่อพื้นที่พัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทั้งการเกิดขึ้นของไนท์บาซาร์ ถนนคนเดิน ตลาดวโรรส ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกัน บรรพบุรุษในชุมชนได้จัดการพื้นที่ของมัสยิดให้เกิดประโยชน์ด้วยการเปิดให้เช่าอาคารที่ตั้งอยู่รายรอบมัสยิดเพื่อเป็นรายได้ประจำในการนำมาพัฒนาองค์กรทางศาสนา ทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนศาสนาอิสลามแก่เยาวชนมุสลิมในมัสยิด การเลี้ยงอาหารถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน การบริจาคกับยากไร้ในชุมชนและต่างชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของผู้บริหารหรือคณะกรรมการมัสยิด

          การจัดการของชุมชนบ้านฮ่อให้ความสำคัญกับการจัดตั้งสถาบันหรือองค์กรตามมาด้วยการจัดให้มีโรงเรียนขึ้นในบริเวณมัสยิด ถือว่าเป็นหัวใจของการจัดการชุมชนในสังคมบ้านฮ่อ คณะกรรมการมัสยิดยุคแรกได้สร้างโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่กับมัสยิดเพื่อสร้างให้เกิดบรรยากาศขอองการรวมกลุ่มและการสืบทอดทางศาสนาเพื่อตอบสนองสังคมและสร้างเยาวชนรุ่นน้องให้สามารถหาเลี้ยงชีพและดำรงอยู่ในสังคมเชียงใหม่  มีโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยมุสลิมจีนฮ่อ ได้แก่โรงเรียนฟัรดูอีน โรงเรียนสันติศึกษาและโรงเรียนจิตภักดี

           โรงเรียนสอนศาสนามัสยิดบ้านฮ่อ (ฟัรดูอีน)

          โรงเรียนฟัรดูอีนบ้านฮ่อ เป็นโรงเรียนที่สอนศาสนาเบื้องต้นให้กับลูกหลานชาวจีนฮ่อ การสอนศาสนาเกิดขึ้นมาภายหลังการสร้างมัสยิด หลังจากที่ชาวจีนฮ่อ เริ่มขยับขยายมีลูกหลานกลุ่มสมาชิกเป็นกังวลด้านศาสนาที่ส่งต่อให้กับลูกหลาน จากการพูดคุยกับคุณปรีดี ครูสอนศาสนาประจำมัสยิดบ้านฮ่อ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการสอนศาสนาอยู่ สองระบบ คือ หนึ่ง ภาคปกติเป็นนักเรียนประจำเรียนนอน รับเด็กอายุสิบสองปีขึ้นไป ทางมัสยิดให้การสนับสนุนตั้งแต่อาหาร ที่พัก มีค่าขนมในแต่ละวันโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เด็กนักเรียนเหล่านี้จะมีการเรียนที่เข้มข้นเน้นการท่องจำอัลกุรอ่านเป็นสำคัญ

          สอง ภาคเสาร์-อาทิตย์ มีการแบ่งนักเรียนออกเป็นสามช่วงชั้นด้วยกันคือ หนึ่ง เด็กอายุตั้งแต่สี่ถึงสิบห้าปี สองเด็กอายุ สิบห้าปีขึ้นไป สามกลุ่มผู้ใหญ่หรืออาวุโส (กลุ่มผู้หญิง) โดยแบ่งออกเป็น สองห้อง คือ ห้องที่เรียนการอ่านอัลกุรอ่านและห้องที่เรียนเฉพาะหลักการศาสนาที่เปิดสำหรับผู้สนใจศาสนาอิสลาม

          การเรียนการสอนของมัสยิดบ้านฮ่อ ปัจจุบันได้ใช้หลักสูตรครุสัมพันธ์จากศูนย์กลางอิสลามกรุงเทพ เริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 โดยมีวิชาสิบสองวิชาได้แก่ หนึ่ง หลักศรัทธา สอง ภาษาอาหรับ สาม อรรถาธิบายอัลกุรอ่าน สี่ ฮาดีษ ห้า ไวยกรณ์ภาษาฮาหรับ หก มุฟราต เจ็ด มารยาท (อัคลัค) แปด มิมลัต เก้าคอร์ต (ศิลปะการเขียน)  สิบ ประวัติศาสตร์อิสลาม สิบเอ็ด ประวัติศาสตร์จีนมุสลิม และสิบสอง วิชาเสริมทักษะ

สถานการณ์อื่น ๆ ของชุมชนชาติพันธุ์จีนยูนนาน :

          ระยะเวลาที่ผ่านมาทางมัสยิดได้ผลิตลูกหลานให้เป็นมุสลิมที่ดีหลายต่อหลายรุ่น สังเกตว่ามุสลิมจีนที่มาละหมาดวันศุกร์นับร้อยคน ล้วนจบการเรียนศาสนาพื้นฐานที่นี้ ปัจจุบันทางมัสยิดก็ยังสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่ต้องการสร้างมุสลิมรุ่นใหม่ให้มีรากฐานความรู้ทางศาสนาและสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมเชียงใหม่ โดยมั่นใจว่าลูกหลานจะไม่ละทิ้งหลักการศาสนาอิสลาม และด้วยการสอนศาสนาที่แทรกวัฒนธรรม จารีตของความเป็นจีนฮ่อ ส่งผลให้อัตลักษณ์จีนฮ่อยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

          แนวคิดการดำรงอัตลักษณ์ของชาวจีนฮ่อนั้น เกิดขึ้นมาจากสมัยบรรพบุรุษที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างลูกหลานให้เป็นมุสลิมได้แนวคิดจากมุสลิมในประเทศจีน คือ การสร้างมัสยิดต้องควบคู่กับการเรียนการสอน มีเด็กนักเรียน ที่เรียกว่า "คอลีฟาห์" หมายถึง ผู้สืบทอดหมายความว่าเด็กเหล่านี้จะเป็นผู้ที่จะทำการสืบทอดศาสนา จารีต วัฒนธรรมของจีนมุสลิมต่อไป สมาชิกของมัสยิดจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างผู้สืบทอดเหล่านั้น

          จากแนวคิด คอลีฟาห์ ได้กลายเป็นจุดร่วมของสมาชิกในสังคมจีนฮ่อ  คือ หนึ่ง หันมาระดมทุนบริจาค (ซากาต) ให้กับมัสยิดเพื่อดูแลเด็กนักเรียน และ สอง เมื่อมีเด็กจำนวนมากในบริเวณมัสยิด ได้สร้างบรรยากาศครึกครื้นทำให้มัสยิดมีชีวิตชีวา สามารถดึงดูดกลุ่มสมาชิกให้เข้าร่วมในกิจกรรมทางศาสนาอีกด้วย สาม ทำให้เกิดเป็นชุมชนที่มีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนและมีความใกล้ชิดมากขึ้น (สัมภาษณ์ ครูปรีดี 25 มีนาคม 2561)

          โรงเรียนสันติศึกษา

          โรงเรียนสันติศึกษา เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญ ในกำกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาอิสลามเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 7/2 ถนนประชาสัมพันธ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนสันติศึกษาก่อตั้งขึ้นโดยชาวมุสลิมจีนยูนนานหรือจีนฮ่อ ที่เห็นถึงความสำคัญในการศึกษาของเยาวชนมุสลิมในเชียงใหม่ ทั้งสามัญและศาสนา เนื่องจากในอดีตไม่มีโรงเรียนของชาวมุสลิม และเด็ก ๆ ลูกหลานมุสลิมต้องเข้าไปเรียนในโรงเรียนวัด จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งและอำนวยความสะดวกให้เด็กนักเรียนและลูกหลานมุสลิม รวมทั้งให้ความสำคัญกับเด็กที่มีฐานะขัดสน กำพร้าบิดามารดา ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทางสามัญเพื่อการดำรงตนในสังคม พร้อมทั้งมีความเข้าใจทางด้านศาสนาเพื่อดำรงความเป็นมุสลิมไปพร้อมกันโดยโรงเรียนได้สืบสานตามวิสัยทัศน์ตามแนวทางการศึกษา คือ มุ่งสร้างทักษะการเรียนรู้ สร้างคุณธรรม จริยธรรมที่ดี เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และเป็นแบบอย่างให้กับมุสลิม

          ตามประวัติแล้ว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2523 กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิ ที่ชื่อว่า "มูลนิธิเพื่อการศึกษายูนนาน-มุสลิมเชียงใหม่" เพื่อขอจัดตั้งเป็นโรงเรียน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมูลนิธิเป็น "มูลนิธิเพื่อการศึกษาอิสลามเชียงใหม่" และวันที่ 15 มิถุนายน 2527 โรงเรียนสันติศึกษาได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาการตามใบอนุญาตเลขที่ 07/2527 ให้เปิดการสอนโดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนอนุบาลสันติศึกษา" เปิดเป็นการสอนชั้นอนุบาล 1-2 จำนวนสองห้องเรียน มีครูสองคน พี่เลี้ยงหนึ่งคน มีนักเรียน จำนวน 41 คน โดยมีนายสรชาญ โชคชัยวงศ์ เป็นผู้ที่รับใบอนุญาต นายอารีย์ เป็นผู้จัดการและครูใหญ่

          ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนสันติศึกษา ในพ.ศ. 2535 โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนเป็นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ปัจจุบันโรงเรียนสันติศึกษาเปิดการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3-15 ปี ทางโรงเรียนได้ดำเนินการตามนโยบายการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้ คุณธรรมและจริยธรรม โดยมีปรัชญาว่า "ศึกษา พัฒนา สันติ" และมีคำขวัญประจำโรงเรียนว่า "ประพฤติดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม" ซึ่งเป็นอุดมคติของโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กเยาวชนเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่. 2557)

          โรงเรียนจิตต์ภักดี

          โรงเรียนจิตต์ภักดี เปิดดำเนินการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบันนี้ ได้ขอเปิดเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับนักเรียนอยู่ประจำและไปกลับ โดยไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด สาเหตุการก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ เพราะอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน คือ อัลมัรฮูมฮัจญียง ฟูอนันต์ และคณะได้เล็งเห็นว่า มุสลิมที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือยังขาดความเข้าใจในหลักการของศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง ประกอบกับยังขาดผู้รู้ที่จะให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

          โรงเรียนจิตต์ภักดีได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องมุสลิมทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะ ท่านเชคอับดุรรอฮีม คหบดีผู้ใจบุญจากประเทศซาอุดิอาระเบีย และ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตลิเบีย ประจำประเทศมาเลเซียได้ให้ทุนสนับสนุนจัดซื้อที่ดิน และสร้างอาคารเรียนตลอดจนค่าตอบแทนการสอนของครูจำนวนหนึ่ง ทางโรงเรียนจึงดำเนินการจัดซื้อที่ดินหน้ามัสยิด จำนวนห้าไร่และสร้างอาคารเรียนเป็นตึก 3 ชั้น กว้าง 16 เมตร ยาว 42 เมตร มีห้องเรียน 8 ห้อง

          ปัจจุบัน เปิดสอนศาสนาตามหลักสูตรมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร ไคโร ประเทศอียิปต์และมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นอกจากเปิดสอนศาสนาและภาษาอาหรับแล้ว ทางโรงเรียนยังได้เปิดสอนสามัญการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง และคอมพิวเตอร์อีกด้วย ในแต่ละปีโรงเรียนยังได้รับทุนการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประเทศอียิปต์ (https://muslimlanna.wordpress.com/2011/06/04/)