บทบาทนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

มุมมองใหม่ต่อการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม

............................................................................................................

โดย  กุลนิษฐ์  ดำรงค์สกุล

บทนำ

                        ในประเทศไทย  งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นเพียงหน่วยงานที่ทำการประเมินฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลเท่านั้น   แม้ว่าแท้ที่จริงแล้ว บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบตามหลักการทางวิชาชีพของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จะมีอยู่มากมาย นับตั้งแต่ การพิทักษ์สิทธิ การเสริมพลังทางสังคม การดำเนินงานเพื่อป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพ บุคคล กลุ่ม ชุมชน ที่ประสบปัญหา ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ (มาลี  ธรรมลิขิตกุล, 2543, น.185) และแม้ว่านโยบายสาธารณสุขในระยะหลัง จะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ  และขยายเครือข่ายความร่วมมือถึงระดับการสร้างสุขภาพสังคม  แต่บุคลากรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานก็ยังคงเป็นบุคลากรทางการแพทย์สายวิทยาศาสตร์ เช่น แพทย์  พยาบาล  และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ส่วนนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพสังคมน้อยมาก  เนื่องจากมักจะถูกมอบหมายโดยนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ให้ปฏิบัติงานเชิงรับอยู่ในองค์กรมากกว่า ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว  นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ถูกฝึกมาเพื่อให้มีความชำนาญในการปฏิบัติงานเชิงสังคมมากที่สุด  ดังนั้น  บทความฉบับนี้ จึงขอนำเสนอมุมมองใหม่ ต่อการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม เพื่อให้เกิดแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ต่อไป

งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

                        งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical Social Work)  เป็นสาขาหนึ่งในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  ที่มีนักสังคมสงเคราะห์ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบปัญหาด้านสังคมและอารมณ์ อันเนื่องมาจากสภาวะความเจ็บป่วย แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ด้วยตนเอง และ/หรือ ปัญหานั้นเป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาล  ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ จะดำเนินการให้คำปรึกษา ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู ส่งเสริมศักยภาพทางสังคม และดำเนินการเสริมพลัง (Empowerment) เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้าย รวมถึงส่งเสริมระบบสภาวะแวดล้อมของผู้ป่วย (Patient’s Supra system) เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วย ครอบครัว บุคคลแวดล้อม รวมถึงชุมชน ให้สามารถช่วยเหลือดูแล ส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ตลอดจนใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้ป่วยภายใต้สภาวะแห่งโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้   (กุลนิษฐ์  ดำรงค์สกุล, 2552, น.1)

ประวัติและวิธีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

                        งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2495  ในเวลานั้น องค์การสหประชาติ  ได้ส่งตัว นางสาว Eileen  Davidson  เข้ามาจัดตั้งสถานสงเคราะห์แม่และเด็กในประเทศไทย  (นงลักษณ์  เอมประดิษฐ์, 2530, น. 6-7) การปฏิบัติงานเน้นหนักที่ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยเป็นหลัก  มีการร่วมมือกันระหว่างองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ  ในการส่งทีมแพทย์ พยาบาล  นักสาธารณสุขศาสตร์ และนักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาร่วมดำเนินการ  โดยมีนางสาวจิรา                สาครพันธ์  เป็นเจ้าหน้าที่ counter  part  ฝ่ายไทย  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  จึงเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการขององค์กรต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานด้านการแพทย์และโรงพยาบาล

งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  ได้แก่  งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายกาย และงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิต   ทั้ง 2 ประเภท มีขอบเขตในการทำงานคล้ายกัน คือ ทำหน้าที่ สนับสนุน  ส่งเสริมประชาชนให้มีสุขภาพดี (promotion) บำบัดรักษาสุขภาพอนามัย (cure) ป้องกันปัญหาสุขภาพ (prevention) และ ฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน (rehabilitation)                (นงลักษณ์  เอมประดิษฐ์, 2530, น. 2 และ ฉลวย  จุติกุล, 2544, น. 32-33) แต่จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายกาย จะทำงานกับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางกาย                         ส่วนนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิต จะทำงานกับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตและผู้มีปัญหาด้านสติปัญญา  ทั้งนี้ โดยอาศัยวิธีการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ (มาลี  ธรรมลิขิตกุล, 2543,                   น.195-196)

  1. การสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย (Social  Case  Work)
  2. การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน  (Social  Group  Work) 
  3. การจัดระเบียบชุมชนและการพัฒนาชุมชน  (Community  Organization and Community Development)
  4. การบริหารงานสังคมสงเคราะห์ (Social  Administration)
  5. การวิจัยทางสังคมสงเคราะห์  (Social  Research) 

วิธีการทางสังคมสงเคราะห์  ทั้ง 5 วิธี  นั้น มีความแตกต่างกันไปตามระดับการให้บริการ  โดยการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย ถือเป็นการให้บริการระดับต้น  นักสังคมสงเคราะห์ จะปฏิบัติการ                    ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมของผู้ป่วยที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาล รวมถึงปัญหา                                   การปรับตัว  การยอมรับสภาพความเจ็บป่วย ปัญหาด้านค่ารักษาพยาบาล  เป็นต้น  การสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยและญาติ ตระหนักถึงศักยภาพและคุณค่าของตนเอง                แม้ว่าจะตกอยู่ในสภาพความเจ็บป่วย  ถือเป็นการดำเนินงานเพื่อรักษาสมดุลย์ ระหว่างการรักษาพยาบาลทางกายกับสภาพจิตใจ  สังคม  อารมณ์ และจิตวิญญาณของผู้ป่วย 

วิธีการสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน  เป็นการคัดเลือกบุคคลที่มีสภาพปัญหาเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน มารวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่ออาศัยกระบวนการกลุ่ม เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน บำบัดรักษาสภาพทางสังคม จิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วยให้เข้มแข็งขึ้น  การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน มักจะออกมาในรูปของกลุ่มบำบัด  เช่น กลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self – help  Group)  กลุ่มศิลปบำบัด                          (Art  Therapy)  กลุ่มดนตรีบำบัด (Music  Therapy)  เป็นต้น  ในระยะแรกของกลุ่ม  นักสังคมสงเคราะห์จะแสดงบทบาทเป็นผู้นำกลุ่ม  ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรม  เพื่อดึงศักยภาพของสมาชิกผู้ร่วมกลุ่มออกมาให้ได้  จนกระทั่งกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น  จึงจะให้สมาชิกคัดเลือกผู้นำจากสมาชิกด้วยกันเองและพัฒนาไปสู่การดำเนินกิจกรรมด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนนักสังคมสงเคราะห์ จะถอยออกมาเป็นพี่เลี้ยงหรือ                       ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator)  เพื่อให้สมาชิกสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดความนับถือตนเอง                      (self-esteem) มีการตระหนักในคุณค่าของตนเอง รวมทั้งเกิดความพร้อมทางด้านจิตใจและอารมณ์                         ในการกลับเข้าสู่สังคมและต่อสู้กับสภาวะความเจ็บป่วยต่อไปได้

วิธีการจัดระเบียบชุมชนและการพัฒนาชุมชน  ถือเป็นวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ระดับ                  มหภาค (ทัศนีย์  ลักขณาภิชนชัช, 2545 อ้างใน ระพีพรรณ  คำหอม, 2551, น. 9)  ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในด้านระบาดวิทยา  กล่าวคือ  นักสังคมสงเคราะห์ มีบทบาทในการกระตุ้นให้ชุมชน ตระหนักในปัญหาด้านสุขภาพอนามัยที่เกิดขึ้นแก่สมาชิกในชุมชน  เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ หาทางแก้ไขปัญหาโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน นำไปสู่ความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  นอกจากนี้  การสังคมสงเคราะห์ชุมชน หรือการพัฒนาชุมชน ยังเป็นวิธีการดึงศักยภาพชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย และผู้พิการ รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุในชุมชน  เพื่อลดปัญหาความแออัดในสถานพยาบาล โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End stage care)  ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  นอกจากปัญหาด้านสุขภาพร่างกายแล้ว  ชุมชนยังต้องมีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของสมาชิกในชุมชนด้วย เช่น  ปัญหาค่าครองชีพ  ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ  ปัญหาบริโภควัตถุนิยม ซึ่งการสังคมสงเคราะห์ชุมชนนี้  นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องปฏิบัติการเชิงรุก โดยลงไปสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อนำมาจัดทำแผนงาน / โครงการร่วมกับชุมชน โดยการดำเนินงานและการประเมินผลโครงการ  จะต้องทำร่วมกับชุมชน  เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการร่วมกัน (Sense  of  Belonging) ส่งผลให้ชุมชนมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้น จากการพัฒนาชุมชนของตนเอง ไปสู่การพัฒนาสังคมได้

การบริหารงานสังคมสงเคราะห์  เป็นงานในระดับมหภาค (มาลี  ธรรมลิขิตกุล, 2543,                น.196) นักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีทักษะในการวางแผนการปฏิบัติงาน กำหนดงบประมาณ  อัตรากำลังและใช้ทรัพยากรทางสังคมให้เหมาะสมกับเนื้องาน  ทั้งในส่วนของงานประจำและงานโครงการ  อีกทั้งยังต้องให้มีความสอดคล้องกับนโยบายขององค์กร เพื่อให้แผน หรือโครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

การวิจัยทางสังคมสงเคราะห์  นักสังคมสงเคราะห์  ควรจะนำปัญหาที่พบในการปฏิบัติงานทุกระดับ  รวมถึงปัญหาสังคมที่นักสังคมสงเคราะห์เล็งเห็นแล้วว่าส่งผลต่อสุขภาพสังคม หรือ                     สุขภาวะของประชาชน มาเป็นหัวข้อในการวิจัย เป็นการนำงานประจำเข้าสู่งานวิจัย (Routine                              to  research)  เพื่อค้นหาคำตอบจากปัญหาที่ค้นพบอย่างเป็นระบบ  นอกจากนี้  การทำงานวิจัย ยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้และนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพได้เป็นอย่างดี

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น  จะเห็นได้ว่างานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เป็นงานที่ทำงานกับประชาชนตั้งแต่ระดับปัจเจกชน ไปจนถึงระดับสังคม  แต่ด้วยความที่งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  เริ่มต้นที่สถานสงเคราะห์และสถานพยาบาล  จึงทำให้เกิดภาพพจน์ของการทำงานเชิงรับ และการทำงานกับผู้ป่วยมากกว่าการทำงานเชิงสังคม  ดังนั้น  การบริหารนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ในองค์กรต่างๆ  จึงมักจะมุ่งเน้นให้ทำงานตั้งรับอยู่แต่ภายในองค์กร และมักจะผูกภาระงานของนักสังคมสงเคราะห์ไว้กับเรื่องการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล หรือการทำแบบทดสอบความต้องการจำเป็น (Means test) มากกว่าการวิเคราะห์ปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน การสร้างสุขภาวะและการสร้างสุขภาพสังคม ส่งผลให้นักสังคมสงเคราะห์  ถูกจำกัดอยู่ในกรอบแคบๆ  ภาระงานตามหลักการ                   ทางวิชาชีพ  จึงถูกแปรเปลี่ยนไปตามกรอบขององค์กร  บทบาทการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมหรือการสร้างสุขภาพสังคมจึงต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

การปฏิบัติงานตามหลักการทางวิชาชีพ กับ การปฏิบัติงานจริงตามนโยบายองค์กร

                        จากรายงานการวิจัยเสริมหลักสูตร เรื่อง “นโยบาย  30  บาท  รักษาทุกโรคกับกลยุทธ์   การปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของนักสังคมสงเคราะห์”  โดยวรรณวดี  พูลพอกสิน (2550)  ได้กล่าวถึง กลยุทธ์ในการปฏิบัติงานด้านหลักประกันสุขภาพของนักสังคมสงเคราะห์  ช่วงก่อนและหลังการมีนโยบาย 30  บาท  รักษาทุกโรค  รายงานฉบับนี้ นำเสนอผลการวิจัยในรูปของการเปรียบเทียบสถานการณ์  ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า  แต่เดิมนั้น นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยบริการระดับใดก็ตาม  มีความจำเป็นต้องทำงานตามนโยบายที่องค์กรกำหนด  ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา  แนะนำเกี่ยวกับสิทธิการใช้บัตรประกันสุขภาพ  การตรวจสอบหนังสือส่งตัว  ซึ่งถือเป็นงานตั้งรับ ส่วนงานสร้างเสริมสุขภาพ  การลงพื้นที่ชุมชน เป็นหน้าที่ของพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยพยาบาลระดับปฐมภูมิ  เมื่อมีนโยบาย  30  บาท  รักษาทุกโรค  เจ้าหน้าที่ระดับปฐมภูมิ                       (สถานีอนามัย) ก็ยังคงเป็นตัวจักรสำคัญในการทำงานเชิงรุกเช่นเคย แต่มีความแตกต่างกันตรงที่                        นโยบายประกันสุขภาพเดิม เน้นการขายบัตรประกันสุขภาพ 500 บาท  และ รับขึ้นทะเบียนบัตร สปร.  ส่วนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ  ทำให้                 หน่วยบริการปฐมภูมิ  ต้องรับบทหนักในด้านการทำกิจกรรมเชิงรุกกับชุมชนมากขึ้น  ส่วนนักสังคมสงเคราะห์  ยังคงทำงานเช่นเคย  คือ การพิทักษ์สิทธิ  ซึ่งในบางหน่วยบริการ นักสังคมสงเคราะห์ต้องทำหน้าที่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการตามบัตรของผู้ป่วย งานส่งต่อผู้ป่วยและการประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง (วรรณวดี  พูลพอกสิน, 2550, น.67)

                        นอกจากนี้  รายงานการวิจัยเรื่อง “ความคาดหวังของแพทย์และพยาบาลต่อบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข  สำนักอนามัย  กรุงเทพมหานคร” (เสาวณีย์  ลีลานุช, 2541)  ยังได้กล่าวถึงความเข้าใจของแพทย์และพยาบาล ซึ่งเป็นสหวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  ว่า แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า  นักสังคมสงเคราะห์ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา  แนะนำ  และการให้ความช่วยเหลือทางวัตถุแก่ผู้ใช้บริการ                     เช่น การสงเคราะห์นมผง  การสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล  การรับ-ส่งต่อ  ในคลินิคประเภทต่างๆ ที่จัดให้บริการในศูนย์บริการสาธารณสุข  

                        จากรายงานการวิจัยทั้ง 2 ฉบับ  จะสังเกตเห็นได้ว่า  นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  มักจะถูกคาดหวัง หรือถูกมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการสังคมสงเคราะห์เฉพาะรายมากกว่าการทำงานสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน หรือชุมชน  แม้แต่งานด้านการวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ก็เช่นกัน  เนื่องจาก                     นักสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่บุคลากรหลักในองค์กร  อัตรากำลัง และอำนาจการต่อรองเชิงนโยบายจึงมีน้อย ภาระงานจึงถูกกำหนดตามความเข้าใจของผู้บริหารงานองค์กร ซึ่งมาจากวิชาชีพอื่นที่มิใช่วิชาชีพ                    สังคมสงเคราะห์  การมีส่วนร่วมในงานสร้างเสริมสุขภาพ หรือการสร้างสุขภาพสังคมตามหลักการทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จึงไม่เกิดขึ้น

สุขภาพสังคมกับงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

                        สุขภาพสังคม หมายถึง  สังคมที่มีสมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  มีความสมดุลย์ระหว่างการใช้ชีวิตร่วมกันของมนุษย์กับมนุษย์ และการใช้ชีวิตร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ   สุขภาพ หมายถึง สภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งทางกาย  ทางจิต  ทางสังคม  และทางจิตวิญญาณ  เชื่อมโยงสัมพันธ์กันและเป็นปัจจัยต่อกัน (ประเวศ  วะสี, 2545, น.5)  สุขภาพสังคม จึงเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาอย่างเป็นองค์รวม เช่น  การพัฒนาประเทศ  จะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกันอย่างมีบูรณาภาพ ทั้งด้านปัจเจกบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  สังคม  สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  การเมือง                   ภูมิปัญญาท้องถิ่น  มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่าย บนพื้นฐานของการให้ความเคารพในอัตลักษณ์ของแต่ละฝ่าย  จึงจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา  หากทำการพัฒนาเฉพาะบางส่วนจะทำให้ส่วนที่เหลือได้รับผลกระทบในทางลบ  ส่งผลให้เกิดการล่มสลายทั้งหมด  รวมถึงส่วนที่ได้รับการพัฒนาอยู่ส่วนเดียวนั้นด้วย  กลับกลายเป็นความล้าหลัง และล้มเหลวยิ่งกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น  การมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยกัน  เน้นส่งเสริมการค้าเสรี  ทำให้เกิดการแข่งขัน การลงทุน  นำไปสู่การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีการโฆษณาปลุกกระแสวัตถุนิยม เชิญชวนให้ประชาชนลุ่มหลงในความหรูหราฟุ่มเฟือย                  ที่เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ทำให้ผู้คนพากันไขว่คว้าหาความสุขทางกาย  จนหลงลืมความสุขทางใจและวัฒนธรรมดั้งเดิม  ละทิ้งความพอเพียง  อยากมีอยากได้จนเกินตัว ทั้งๆที่ศักยภาพการในซื้อมีไม่พอ  ก่อให้เกิดปัญหาสังคม  ปัญหาอาชญากรรม  การค้ามนุษย์  และปัญหาอื่นๆ  ติดตามกันมาเป็นลูกโซ่                     ซึ่งปัญหาเหล่านี้  ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน  ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

                        ดังนั้น    นโยบายด้านการสาธารณสุขในปัจจุบัน  จึงมุ่งเน้นการสร้างสุขภาวะ หรือ สุขภาพสังคม  โดยเปลี่ยนจากการรักษาโรคแต่ทางกาย  มาเป็นการรักษาโรคอย่างเป็นองค์รวม                        โดยพิจารณาสภาวะแวดล้อมของผู้ป่วยไปพร้อมๆ กัน  เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่าง  กาย  จิตใจ  สังคม  อารมณ์  และ  จิตวิญญาณ  รวมถึงการประกาศนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้คำขวัญ  “สร้างสุขภาพดีกว่าซ่อมสุขภาพ”  นอกจากนี้  ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากการทำงานโดยบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียว  มาเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน โดยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและศักยภาพของชุมชนให้เป็นประโยชน์  (อภิสิทธิ์  ธำรงวรางกูร, อ้างใน  สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล, 2553, น.58-63) นอกจากการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขแล้ว นโยบายสาธารณสุข  ยังก้าวไปสู่การป้องกันปัญหาสังคมที่ส่งผลกับสุขภาพ และการป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องส่งผลถึงปัญหาสังคม เช่น โครงการเมาไม่ขับ, โครงการสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ และ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข  เป็นต้น

                        ไม่เพียงแต่โยบายสาธารณสุขจะก้าวไปสู่การป้องกันปัญหาสังคมเท่านั้น  นโยบายด้านสังคมก็ยังช่วยป้องกันปัญหาด้านสาธารณสุขด้วยเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น โครงการเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ของเด็กหญิงเยาว์วัยน้อยกว่า 15 ปี โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อการเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพ  สังคม  พัฒนาการ และ อนาคตของเด็ก , การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการชุมชน  ซึ่งเริ่มจากการออมทรัพย์ร่วมกันของชาวบ้าน  ขยายผลไปสู่การนำดอกผลมาจัดสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการด้านอื่นๆ , นโยบายการปฏิรูปประเทศไทย  ที่มีเนื้อหาโดยรวม เน้นการสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองของชุมชน  ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น นโยบายและโครงการที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นนั้น  ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนในแง่ที่ว่า เมื่อประชาชนมีสวัสดิการถ้วนหน้า  มีความเท่าเทียม เสมอภาคกัน  ก็จะเกิดความมั่นคงในชีวิต  การอยู่ร่วมกันในสังคมก็จะเป็นไปด้วยความสงบสุข  ประชาชนไม่เกิดความเครียด  ไม่มีการก่ออาชญากรรม  ไม่มีการเดินขบวนประท้วง  ไม่มีการก่อจราจล  ไม่มีการแบ่งแยก  ไม่มีการปะทะกัน  ไม่มีการบาดเจ็บล้มตาย  ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี  มีความมั่นคงทางสังคม  ประเทศชาติจึงมีสุขภาพสังคมที่ดีตามไปด้วย

                        ตัวอย่างของการเกื้อกูลกันและกันระหว่างนโยบายสาธารณสุข และนโยบายสวัสดิการสังคมเพื่อสังคมสุขภาพหรือสุขภาพสังคม ที่ได้นำเสนอไปในข้างต้นนั้น  แสดงให้เห็นว่า การสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก แต่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์                 ซึ่งเป็นบุคลากรด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ที่มักจะแฝงตัวทำงานอยู่ในองค์กรด้านสาธารณสุข  กลับไม่ค่อยมีบทบาทในการกำหนดแผนงาน หรือโครงการด้านการสร้างสุขภาพสังคมเท่าใดนัก เนื่องจากถูกตีกรอบโดยนโยบายขององค์กร ดังนั้น  นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  จึงควรก้าวออกจากแนวทางการปฏิบัติงานแบบตั้งรับอยู่ในองค์กร  หันมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น  แน่นอนว่าบทความฉบับนี้  มิได้กล่าวถึงนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ “ทั้งหมด”  หากแต่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่  ที่ยังมีความจำเป็นต้องทำงานเชิงรับตามนโยบายขององค์กรอยู่  แม้ว่าจะมีนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์จำนวนไม่น้อย ที่ทำงานเชิงรุกด้วยการออกพื้นที่  ลงชุมชน ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์  หากแต่เนื้อหาของการทำงานมักจะมุ่งไปในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ                 ให้เกิดความสมดุลย์  ทั้งทางกาย  ทางจิตใจ ทางสังคม  ทางอารมณ์ และ ทางจิตวิญญาณ ตามนโยบายสาธารณสุข แต่มิได้เน้นถึงการสร้างเสริมพลังชุมชน  ให้สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาสร้างสุขภาพสังคม และขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมเพื่อตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง อีกทั้งการดำเนินงานในส่วนของการเสริมพลังชุมชน  มักจะเป็นการดำเนินงานของนักสังคมสงเคราะห์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ในการสร้างสวัสดิการที่มาในรูปของการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น  หากแต่ยังก้าวไปไม่ถึงการพัฒนาในระดับของการริเริ่มนโยบาย              

                        ดังนั้น  จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  จะพัฒนาวิชาชีพของตนเองเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบสุขภาพสังคม  ด้วยการออกมามีส่วนร่วมเสริมสร้างสังคมสุขภาพ ในรูปของการผลักดัน  โน้มน้าว  ให้ประชาชน หรือชุมชน  ตระหนักถึงศักยภาพและความสามารถในการสร้างสุขภาพสังคมได้ด้วยตนเอง  โดยการใช้เทคนิคและวิธีการตามหลักการทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  เพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่สุขภาพสังคม โดยมีที่มาจากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน   

มุมมองใหม่เพื่อการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

                        จากหัวข้อบทความ  “มุมมองใหม่ต่อการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์                     ในระบบสุขภาพสังคม”  นำไปสู่คำถามที่ว่า  นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  จะพัฒนาบทบาทของวิชาชีพ ท่ามกลางกระแสนโยบายสุขภาพสังคมและการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างไร  ในเมื่อยังต้องติดอยู่กับกรอบนโยบายขององค์กร

                        วรรณวดี  พูลพอกสิน (2551, น.67-76) ได้กล่าวถึงการปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  หรือ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน                             มีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้นักสังคมสงเคราะห์  ไม่สามารถดำเนินการได้ตามหลักการที่ควรจะเป็น  เช่น  นโยบายของผู้บริหาร  จำนวนบุคลากร  ความเอาใจใส่ของบุคลากร และการเปลี่ยนแปลง               นโยบาย  เป็นต้น  ดังนั้น  นักสังคมสงเคราะห์  จึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิบัติงานที่ยังคงมาตรฐานทางวิชาชีพไว้ให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป  อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแนะในการปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงานตามนโยบาย  30 บาท รักษาทุกโรค  ซึ่งตามบทความฉบับนี้  ได้คัดเลือกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง                       เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม  ดังนี้

  1. การปฏิบัติงานเชิงรุก

      การปฏิบัติงานเชิงรุก ในระบบสุขภาพสังคม  นอกจากจะหมายถึงการลงพื้นที่ชุมชน  เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องของการใช้สิทธิประกันสุขภาพตามกฎหมายแล้ว  นักสังคมสงเคราะห์  ควรถือโอกาสสำรวจและศึกษาชุมชน  เพื่อค้นหาปัญหา และศักยภาพชุมชน รวมถึงศึกษาแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วม กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดสุขภาพสังคมร่วมกันในชุมชน  โดยอาจอาศัยองค์กรภาคประชาชนในชุมชน  เช่น  องค์กรสวัสดิการชุมชน                      กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มอาชีพ  ที่มีการรวมตัวทำกิจกรรมด้านสังคมอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มเหล่านี้  โดยมากจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิกในชุมชน  นักสังคมสงเคราะห์                   จึงสามารถดึงกลุ่มเหล่านี้มาใช้เป็นทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมเชิงรุกได้  โดยเชื่อมโยงกิจกรรมด้านสาธารณสุขเข้ากับกิจกรรมด้านสังคม ประสานกันเป็นความร่วมมือ เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน  ยังผลให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย  บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน  ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมีความสุข  สุดท้าย เมื่อเกิดความสุขร่วมกันในสังคม ก็จะเกิดเป็นสังคมสุขภาพได้ในที่สุด 

2.การจัดทำโครงการที่รองรับนโยบายองค์กร

      นักสังคมสงเคราะห์  ควรจัดทำโครงการที่ตอบสนองและรองรับนโยบายขององค์กร  เพราะการทำโครงการเป็นการพานักสังคมสงเคราะห์ออกจากการทำงานสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย  ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรับ ไปสู่การทำงานเชิงรุก ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ  ทำให้ได้พบปะ  แลกเปลี่ยน  สร้างสัมพันธภาพกับสหวิชาชีพอื่นๆ  รวมถึงประชาชนด้วย  นอกจากนี้  โครงการที่จัดทำขึ้น  จะต้องเป็นโครงการที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริหารและสหวิชาชีพในองค์กร  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการที่จัดทำขึ้น  อาจขัดกับนโยบายขององค์กรบ้าง นักสังคมสงเคราะห์ก็จะต้องใช้ศิลป์ในการนำเสนอ ให้โครงการได้รับการอนุมัติ เพื่อให้คงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ

3.การสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในหน่วยงาน

      นักสังคมสงเคราะห์  จะต้องมีทักษะในการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงาน  ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพเดียวกัน  สหวิชาชีพ  หรือแม้แต่ผู้บริหาร  เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกันและกัน  นักสังคมสงเคราะห์  พึงตระหนักในความแตกต่างของบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการ หรือเพื่อนร่วมงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมสหวิชาชีพสายวิทยาศาสตร์  ซึ่งโดยมาก มักจะไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์  ดังนั้น  นักสังคมสงเคราะห์  จึงควรสื่อสารความเข้าใจ ทั้งทางตรง ได้แก่ การพูดคุยเกี่ยวกับหลักการ บทบาท  หน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ และทางอ้อม ได้แก่ การสื่อสารด้วยการปฏิบัติงานจริงร่วมกัน 

4.การประชาสัมพันธ์ตนเอง

      จุดอ่อนประการหนึ่งของนักสังคมสงเคราะห์ทุกยุคทุกสมัย คือ การประชาสัมพันธ์ตนเอง  นักสังคมสงเคราะห์ มักจะถนัดทำงานอยู่เบื้องหลัง เหมือนการปิดทองหลังพระ และไม่ชอบแสดงตัวเหนือความสำเร็จใดๆ ที่เกิดขึ้น&