ขุนแผนพานางวันทองหนี ถอดความ

สำหรับคนที่จะคิดไปไกลเกินกว่าท่า “ขี่ม้า” ทั่วไป จำเป็นต้องชี้แจงเสียก่อนว่า ในที่นี้หมายถึงการขี่ม้าจริงๆ ไม่ลึกล้ำ “อัศจรรย์” แต่อย่างใด และวันทองเองก็ไม่เคย “ขี่ม้า” ตามความหมายแบบนั้นแน่ในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
*
แต่อย่างไรก็ดี ในวรรณคดีเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีการ “ขี่ม้าผาดโผน” เอาเสียเลย เพราะเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง ตอนพระไวยได้นางสร้อยฟ้า ได้ใช้กระบวนท่าการขี่ม้า “ป้ายแดง” มาดัดแปลงแต่งไว้เช่นกัน

เจ้าสร้อยฟ้าแว้งวัดอยู่อัดอึด พระไวยยึดบีบต้องของสงวน
นางสลัดปัดค้อนงอนกระบวน ป่วนต่อป่วนปนปะประทะกัน
ถอยขยดถดขยับทับขยี้ ขยิกขยิบแยะขยับเขยื้อนหัน
สดุ้งดิ้นกำดัดเดาะกระเดือกดัน ดูเชิงชั้นตะละชาติเชื้ออาชา
ปากอ่อนพึ่งจะสอนใส่บังเหียน ฉวัดเฉวียนคนขี่ไม่เคยขา
ปล่อยใหญ่ไปสักครู่ดูกิริยา ลงยักน้ำท่าเป็นทีน้อย
ย่อท้ายย้ายคอตะแคงข้าง กระทบแผงผางโผนโจนผล็อย
เฉาะเฉาะเดาะกะเดือกกระโดดลอย พยศหยอยดูผยองทำนองงาม
ครั้นรู้ทีเข้าก็ดีเหมือนม้าฝึก เคยขาเข้าก็คึกไม่เข็ดขาม
ไม่ต้องชักดอยแต่ยักกระบวนตาม จนเหงื่อซามโซมกีบแล้วแก้อาน

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเสภาท่อนนี้กล่าวผิดตำราการหัดม้า หรือเป็นเพราะสำนวนครูแจ้งคำขาดๆ เกินๆ เพราะเป็นกลอนด้นสำนวนร้อง บางทีต้องเอื้อนยาวเข้าจังหวะทำให้คำขาดไป บางทีร้องแบบครึ่งคำ ทำให้คำเกิน กลอนเลยไม่งาม เสภาท่อนนี้เลยถูกตัดออกจากฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ที่แย่ก็คือไม่มีการแต่งแก้ไว้ให้ ทำให้บทอัศจรรย์ระหว่างพระไวยกับนางสร้อยฟ้าใน ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดฯ หายไปเฉยๆ
*
นั่นคือปัญหาการขี่ม้า “ผาดโผน” ของพระไวย ส่วนที่จะ “สงสัย” ต่อไปนี้ เป็นกรณีขุนแผนพานางวันทองขี่ม้าสีหมอกหนีออกจากเรือนขุนช้าง เป็นข้อปัญหา “กระพี้” ทางวรรณคดีอีกข้อหนึ่งว่า นางวันทองนั้นขี่ม้าท่าไหน ? นั่งไพล่หรือนั่งคร่อม ? นั่งข้างหน้าหรือนั่งข้างหลังกันแน่ ?
****




โอ้เจ้าแก้วแววตาของพี่เอ๋ย                      เจ้าหลับใหลกระไรเลยเป็นหนักหนา

ดังนิ่มน้องหมองใจไม่นำพา                                  ฤๅขัดเคืองคิดว่าพี่ทอดทิ้ง

ความรักหนักหน่วงทรวงสวาท                              พี่ไม่คลาดคลายรักแต่สักสิ่ง

เผอิญเป็นวิปริตที่ผิดจริง                                         จะนอนนิ่งถือโทษโกรธอยู่ไย

ว่าพลางเอนแอบลงแนบข้าง                                  จูบพลางชวนชิดพิสมัย

ลูบไล้พิไรปลอบให้ชอบใจ                                    เป็นไรจึงไม่ฟื้นตื่นนิทรา

ถอดความได้ว่า

            ขุนแผนง้อนางวันทองด้วยคำพูดหวานๆและขอโทษนางวันทอง ว่าอย่าโกรธขุนแผนเลย จะนอนนิ่งไม่คุยกับขุนแผนเลยหรอ ขุนแผนพูดไปแล้วก็ก้มลงนอนแนบข้างๆนางวันทองพร้อมพรมจูบ ลูบแขน   และถามนางวันทองว่าทำไมไม่ตื่นขึ้นมาคุยกับขุนแผน


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันทอง 2021 ละครดังจบลาจอได้อย่างกระชากใจและแกงผู้ชมกับการปรับบทเปลี่ยนแปลงตอนจบไม่ตรงตามบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองจะตายหรือไม่ ตีความใหม่ถูกใจหรือเปล่า เข้าไปชมย้อนหลังได้

ส่วนนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2564 มีนำเสนอบทความที่ชื่อ “ฉากรักในป่า” เบื้องหลังฝังใจขุนแผนกับนางวันทอง โดย นิพัทธ์ แย้มเดช มีกล่าวถึงบทสรุป อวสานชีวิตนางวันทอง “ฉากรักในป่า” ไม่เลือนหาย จะขอคัดมาให้อ่านย้อนหลังพอเป็นกระแสนิดๆ ถ้ายังไม่จุใจตามอ่านได้เต็มๆ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2564

“ฉาก” ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีความสำคัญมาก เพราะฉากในแต่ละตอนถือว่าเป็นองค์ประกอบของเนื้อเรื่องที่ทำให้ตัวละครมีมิติเคลื่อนไหว และมีความสมจริง ดังที่วิภา กงกะนันทน์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของฉากในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนไว้ว่า “…ในบรรดาวรรณคดีไทยที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณคดีที่แสดงให้เห็นความสมจริงในเรื่องตัวละคร และฉากมากกว่าเรื่องอื่นๆ…”[1]

“ฉากรักในป่า” ของขุนแผนกับนางวันทอง เป็นฉากรักอมตะครองใจผู้คนยาวนานกว่าศตวรรษ ฉากรักที่ว่านี้แทรกในท้องเรื่อง 4 ตอน คือ ตอนที่ 18 ขุนแผนพานางวันทองหนี ตอนที่ 19 ขุนช้างตามหานางวันทอง ตอนที่ 20 ขุนช้างฟ้องว่าเป็นขุนแผนเป็นขบถ และตอนที่ 21 ขุนแผนลุแก่โทษ ใครได้อ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ล้วนจดจำฉากรักของขุนแผนกับนางวันทองด้วยกันทั้งนั้น

อวสานชีวิตนางวันทอง “ฉากรักในป่า” ไม่เลือนหาย

ส.ศิวรักษ์ เมื่อวิจารณ์บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้ชี้ชวนคุณวิเศษไว้ว่า “ถ้าจะอ่านขุนช้างขุนแผน ขอให้อ่านฉบับหอพระสมุด อ่านเพียงแค่ประหารวันทองก็นับว่าเกินคุ้ม แต่ถ้าใครไม่อ่านขุนช้างขุนแผน ก็อย่าเป็นคนไทยเลย”[2] ผู้เขียนเห็นด้วยในข้อที่ว่าอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ในบทประหารนางวันทอง “นับว่าเกินคุ้ม” เพราะคงไม่เป็นการกล่าวเกินจริง หากจะชี้ว่าบทเสภาตอนประหารนางวันทอง เป็นตอนที่จับใจและสะเทือนอารมณ์มากที่สุด ยากนักที่จะหาวรรณคดีโบราณให้ภาพโศกนาฏกรรมตัวละครเอกฝ่ายหญิงแทงทะลุใจเท่าบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

“ฉากรักในป่า” เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เสริมบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนให้มีเสน่ห์ มีความประทับใจ และตราตรึงใจ “ฉากรักในป่า” คือ สถานที่บรรจุความหมายของชีวิตฝังลึกในห้วงอารมณ์ขุนแผนกับนางวันทอง ทั้งคู่ต่างเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านความสุขสโมสร ความยากลำบาก และความภาคภูมิในศักดิ์ศรี คละเคล้าด้วยเสียงหัวเราะและน้ำตา

“ฉากรักในป่า” คือ สถานที่ไร้การปรุงแต่ง ไร้กฎเกณฑ์ และไร้มารยา ท่ามกลางธรรมชาติโอบล้อมทั้งคู่ ตัดขาดจากสังคมภายนอก ธรรมชาติทำหน้าที่เป็นที่พักพิงยามที่คนทั้งสองหนีอาญาแผ่นดิน และธรรมชาติก่อกำเนิดชีวิตหนึ่ง หล่อเลี้ยงให้ขุนแผนกับนางวันทองประจักษ์ถึงรักแท้อันบริสุทธิ์

ขุนแผนพานางวันทองหนี ถอดความ
“ขุนแผนพานางวันทองลงเล่นน้ำในป่า” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

เหตุการณ์อวสานชีวิตนางวันทอง คือ บทสรุปที่ให้ความหมายฉากรักในป่าได้อย่างดีที่สุด ก่อนที่นางวันทองจะสิ้นลมหายใจ นางถ่ายทอดประสบการณ์ฝังใจให้ลูกตระหนักถึงสายใยรักของนาง ดังที่นางเท้าความไปยังเหตุการณ์อุ้มท้องลูก ทนทุกข์เวทนาพร้อมกับลูก “ผ่าแดดแผดฝนทนลำบาก ปลิงทากร่านริ้นมันกินกัด หนามไหน่ไขว่เกี่ยวเที่ยวเลี้ยวลัด แม่คอยปัดระวังให้แต่ในครรภ์” สายใยรักนี้แข็งแกร่งยิ่งกว่าตาข่ายเพชร เป็นสายใยที่เกิดจากสองมือของนางที่ทะนุถนอมครรภ์ และความใส่ใจของขุนแผนที่มีต่อลูกในครรภ์ “พ่อพาขี่ม้าไม่ขับควบ ขยับยวบกลัวเจ้าจะหวาดหวั่น” ที่สำคัญยิ่ง นางวันทองถ่ายทอดสัจธรรมให้ลูกตระหนักถึงความผันแปร โดยย้ำเหตุการณ์ที่นางอยู่ในป่า โยงธรรมชาติที่หมุนเวียนผ่านไป และปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันคาดคิด เพื่อสื่อถึงความหมายที่ไม่ต่างอะไรกับหัวใจเต้นระริกของนางที่จะหยุดเต้นแล้ว “เหมือนอุตส่าห์ดั้นด้นพ้นป่าชัฏ พอเห็นแสงจำรัสพระเวหา สำคัญคิดว่าจะสุขทุกเวลา พอสายฟ้าฟาดล้มจมดินดาน”

ไม่เพียงนางวันทองลิ้มรสสีสันชีวิตขณะผจญภัยในป่า ขุนแผนผู้เป็นยอดชายชาตรี ยังหวั่นไหวอย่างสุดซึ้ง ขุนแผนปรับทุกข์กับเมียรักในวาระสุดท้าย โดยกล่าวย้อนหลังไปยังช่วงเวลาที่อยู่ในป่า ซึ่งทั้งสองใช้ชีวิตอย่างที่เรียกว่ากัดก้อนเกลือกิน ความหนักแน่นมั่งคงที่นางวันทองมีต่อผัวรัก ขุนแผนยกย่อง “น้ำใจ” นางวันทองว่า “ถึงสุดแสนลำบากยากไร้ เจ้าสู้จนทนได้ไปกับผัว จนพฤกษาหายากกินรากบัว ชั้นชั่วข้าวสักเม็ดไม่พานพบ”

ขุนแผนเอ่ยว่าเป็นเวลานานถึงแปดเดือน ที่พานางวันทองหลบอยู่ในป่าโดยไม่พบปะบ้านผู้คนสักหลัง จนเมื่อลูกเกิดขึ้น ก็หวาดระแวงสารพัดกลัวลูกจะเป็นอันตราย “ครั้นมีครรภ์ลูกยามาสมทบ ก็ปรารภคอยระวังแต่ตั้งท้อง ค่ำเช้าพี่เฝ้าประคับประคอง จนเห็นท้องแก่เกรงจลาจล จึงพาเจ้าเข้าหาพระพิจิตร ก็ได้รอดชีวิตไม่ขัดสน”                                      

ชีวิตของขุนแผนกับนางวันทองสะกดตรึงอยู่ที่ฉากรักในป่า อันเป็นฉากที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของเรื่อง เป็นฉากที่ขับเคลื่อนโครงเรื่องให้ดำเนินต่อไปได้ ป่าดงพงไพรมีพลังในการเย้ายวนอารมณ์ด้านลึกของขุนแผน นางวันทอง รวมทั้งขุนช้างที่ต่างหยั่งเห็นคุณค่าของความรัก ต่างกระจ่างแจ้งแก่ใจตนเองทั้งสิ้นว่า ความรักที่มีคุณค่านั้น คือ ความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดูแล และปกป้องความรักไม่ให้สูญหาย  อีกทั้งความรักที่จะยังโลกให้หวั่นไหวไปกับความอ่อนโยน คือ การเสียสละเพื่อให้คนรักอิ่มสุขและพ้นภัย

ขุนแผน นางวันทอง และขุนช้างต่างเจ็บปวดเพราะความรัก ต่างแลกมาด้วยเลือดเนื้อเพื่อความรัก เพราะฉะนั้น “ฉากรักในป่า” จึงเป็นฉากรักสำคัญที่สุดในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเข้าถึง “ก้นบึ้งหัวใจ” ของตัวละครทั้งสามตัว และจับใจผู้อ่านผู้ฟังจวบจนปัจจุบัน…


เชิงอรรถ

[1] วิภา กงกะนันทน์. กำเนิดนวนิยายในประเทศไทย ประวัติวรรณคดีไทยสมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2561), น. 47.

[2] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. ชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือต่างๆ. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2557), น. 81.