พระเจ้าอโศกมหาราชมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร

อาจจะมีท่านผู้อ่านส่วนหนึ่งที่ได้อ่านชื่อบทความนี้แล้วถามด้วยความสงสัยว่าใครคือพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งผู้เขียนไม่ตำหนิหรือแปลกใจแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะคนที่รู้จักพระเจ้าอโศกมหาราชก็คือผู้ที่ได้ร่ำเรียนตำรับตำราวิชาศีลธรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและสนใจในความเป็นมา โดยสรุปก็คือมีชาวพุทธจำนวนหนึ่งที่ยังไม่รู้จักพระองค์ท่านโดยละเอียด หรือรู้จักเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะบ้านเมืองเราให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยไปสักนิด ทั้ง ๆ ที่พุทธศาสนามีกำเนิดในประเทศอินเดียซึ่งอยู่ไกลแสนไกลจากเรา แต่พุทธศาสนาก็ยังถูกเผยแผ่มายังเมืองไทยของเราได้

นับว่าเป็นโชคดีซึ่งมีบุคคลที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งและมีความปรารถนาที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากเมืองของตนเองไปยังที่ต่าง ๆ ให้ไกลที่สุดและมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ซึ่งบุคคลท่านนี้ก็คือพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีปนั่นเอง

พระเจ้าอโศกมหาราชมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร
    
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่๓ แห่งราชวงศ์โมรียะ ทรงครองราชย์ ณ กรุงปาฏลีบุตร เมืองหลวงของแคว้นมคธ แห่งชมพูทวีป ซึ่งสถาปนาโดยพระเจ้าจันทรคุปต์ เสด็จปู่ของพระองค์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘-๒๖๐ (หรือตามที่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันคาดว่าอยู่ประมาณ พ.ศ. ๒๗๐-๓๑๒) พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินทุสารและพระนางสุภัทราคีหรือพระนางธรรมา มีพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันชื่อ วีตโศกะ

เมื่อทรงอยู่ในวัยหนุ่มพระราชบิดาสั่งให้พระเจ้าอโศกเสด็จไปครองเมืองอุชเชนีราชธานีของแคว้นอวันตี เมืองชายแดนที่ไกลจากเมืองหลวง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะทรงมีความปรารถนาจะมิให้มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างพี่น้องต่างมารดา หากพระองค์สิ้นพระชนม์  เมื่อพระเจ้าพินทุสารเสด็จสวรรคต พระเจ้าอโศกก็เสด็จจากอุชเชนีกลับมายังปาฏีลีบุตร แล้วยึดอำนาจการปกครองจากเจ้าชายสุสิมะพระเชษฐาต่างพระมารดาที่พระราชบิดามอบราชสมบัติในฐานะรัชทายาท

พระนางเวทิสาเทวีเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่พระเจ้าอโศกทรงรักมากและทรงมีพระโอรสชื่อมหินทะ และพระธิดาชื่อสังฆมิตตา ซึ่งได้แต่งงานกับอัคคิพรหมา และมีลูกชายคือ สุมมะ ต่อมามหินทะ สังฆิตตา และสุมมะ ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาทั้ง ๓ องค์ พระเจ้าอโศกทรงส่งบุคคลเหล่านั้นในฐานะศาสนทายาทให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ศรีลังกาได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากที่ทั้ง ๓ พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนเช่นเดียวกับพระองค์แล้ว   

พระเจ้าอโศกมหาราชมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร

พระเจ้าอโศกเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘ อีก ๔ ปีต่อมาจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในช่วงแรกพระราชภารกิจสำคัญคือ การที่พระองค์ทรงทำสงครามเพื่อรวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวและขยายดินแดนชมพูทวีปของพระองค์ให้มากมายและกว้างไกลยิ่งขึ้น เมื่อครองราชย์ได้ ๗ ปี ทรงทำสงครามกับแคว้นกลิงคราษฎร์ซึ่งอยู่ทางตอนใต้และได้ชัยชนะโดยผู้คนจำนวนนับแสนได้เสียชีวิตลง ทั้งฝ่ายศัตรูและฝ่ายของพระองค์เอง ความรู้สึกเสียใจในเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งทีทรงมีความทุกข์ใจและเศร้าหมอง พระองค์จึงพยายามคิดหาทางแก้ไขต่าง ๆ เช่น ทรงพิจารณาถึงพระราชประวัติและพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนาที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปเมื่อประมาณ ๓๐๐ กว่าปีแล้วว่าเป็นสัจธรรมที่มีเหตุผละและพิสูจน์ได้ พระองค์ได้พบกับสามเณรรวมทั้งพระอริยเจ้าผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วและได้เรียนรู้ธรรมจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและหันมาเคารพนับถือพระพุทธศาสนา ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นคณะเสนาอำมาตย์ที่มีความสำคัญหลายคน รวมทั้งพระราชวงศ์และพสกนิกรจำนวนไม่น้อยต่างก็นับถือลัทธิฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์กันอยู่

แต่ด้วยความจำเป็นและด้วยเหตุผลหลายประการพระองค์จึงยังให้การยกย่องและทะนุบำรุงศาสนาพราหมณ์และลัทธิอื่น ๆอยู่เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนา

พระเจ้าอโศกมหาราชมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงครองราชย์เป็นระยะเวลาประมาณ ๓๖ ปี และสิ้นประชนม์ใน พ.ศ. ๓๑๒ โดยทรงมีพระราชกรณียกิจอย่างมากมายเหลือคณานับที่ทรงบำเพ็ญเพื่อพระพุทธศาสนา ปรากฏมีหลักฐานในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น จารึกเป็นจำนวนมากและมีศาสนสถาน ศาสนวัตถุ โบราณวัตถุที่เป็นประจักษ์พยานว่าพระองค์ทรงหันมาเคารพนับถืออย่างจริงจังและมั่นคงในหลายประการ เช่น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยทรงสร้างสถูปในวัด ๘๔,๐๐๐ แห่ง ให้เป็นศาสนสถาน เป็นพุทธบูชาและเป็นที่ให้พระภิกษุได้อยู่อาศัยและศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๓ ทรงส่งพระราชธิดา พระราชบุตร และพระราชนัดดา รวมทั้งพระเถรานุเถระไปประกาศพระศาสนาในหลายประเทศนอกชมพูทวีป เช่น ศรีลังกา และในดินแดนสุวรรณภูมิซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีพระพุทธศานาเป็นหลักยึดเหนี่ยวและเคารพนับถือมานับพันๆปี ทรงสร้างศิลาจารึกและเสาอโศกจารึกไว้ ณ ศาสนสถานสำคัญต่าง ๆ ทั้งในเมืองและในชนบท เพื่อสอน “ธรรม” ถ้าพูดถึงสภาวการณ์ของโลกในปัจจุบันก็จะพบว่ามีผู้นับถือพระพุทธศาสนาในแทบทุกทวีปซึ่งรวมกันแล้วมากกว่า ๗๐๐ ล้านคน

     พระราชกรณียกิจทางศาสโนบายที่สำคัญคือทรงถือหลักธรรมที่มุ่งชนะจิตใจของประชาชน ทรงปกครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรมอย่างแท้จริง ทรงยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญเป็นประการแรก ทรงส่งเสริมกิจกรรมสาธารณูปการ และการประชาสงเคราะห์ทั่วทุกหนแห่งในทวีป

     โดยเหตุผลดังกล่าวพระองค์จึงได้รับพระราชสมัญญาว่า “มหาราช” แห่งชมพูทวีปอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้เขียนสลักจารึก ณ สถานที่ต่าง ๆ โดยข้อความที่จารึกไว้เรียกว่า “ธรรมลิปิ” แปลว่า “ลายสื่อธรรม”

     ในบั้นปลายของพระชนม์ชีพ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงพระชราและทรงพระประชวร แต่ก็ยังทรงบริจาคและทุ่มเทพระราชทรัพย์เพื่อพัฒนาและจรรโลงพระพุทธศาสนาดังเช่นที่เคยทรงกระทำมา แม้จะทรงถูกคณะเสนาบดีและพระประยูรญาติคัดค้านห้ามปรามเพียงใดก็ตาม พระองค์ทรงเชื่อในกฎแห่งกรรมและยินดีรับกรรมที่ทรงทำมา แต่ก็ทรงปฏิบัติธรรมด้วยความเชื่อว่าหากทรงทำความดีและละวางกิเลศตัณหาได้โดยสิ้นเชิงพระองค์ก็จะทรงบรรลุธรรมในระดับที่จะทำให้พระองค์หลุดพ้นจากวงจรกรรมได้

  

พระเจ้าอโศกมหาราชมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร
 
สำหรับในบ้านเมืองเราถึงแม้คนไทยทั่วไปยังรู้จักพระเจ้าอโศกมหาราชไม่มากนักก็ตาม แต่เราก็ยังมีศาสนสถานที่สร้างสิ่งอันซึ่งเป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอยู่บ้าง เช่นที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการซึ่งท่านพ่อลี ธัมมธโร พระอริยเจ้าได้สร้างขึ้น เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชประทับนั่งในพระหัตถ์ทรงถือพระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎก และวางพระแสงดาบ ที่สวนโมกข์พลาราม จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่วัดญาณาเวศกวัน จังหวัดนครปฐม และที่วัดป่าภูก้อน จังหวัดอุดรธานีก็มีเสาอโศกจำลองและศาสนวัตถุที่ถวายความระลึกถึงและยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน

     พระพุทธศาสนาสอนว่า “ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี” ดังนั้นจึงน่าที่พุทธศาสนิกชนผู้ซึ่งทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอโศกมหาราชควรจะถวายความกตัญญูเป็นการตอบแทนพระองค์ท่าน โดยการประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าและเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระเจ้าอโศกมหาราช รวมทั้งช่วยพัฒนาและจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้สืบทอดยืนยาวต่อไปในโลกนี้อีก... นานเท่านานเท่าที่จะเป็นไปได้

การกระทำดังกล่าวก็น่าจะเป็นการสนองพระราชประสงค์อันสำคัญของพระเจ้าอโศกมหาราชก่อนที่พระองค์ท่านจะทรงทิ้งร่างวางขันธ์... เสด็จสู่สวรรคาลัย

ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์
กรรมการบริหารข้าราชการและครูอาวุโส ของกระทรวงศึกษาธิการ