สมัยรัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย

                                           กรุงรัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย พ.ศ.2475 – ปัจจุบัน        

สมัยรัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตยนี้เริ่มขึ้นเมื่อสยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยการนำของคณะราษฎร จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ   บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

          จากระยะเวลาปีพ.ศ.2475 ถึง ปีพ.ศ.2549 สยามประเทศได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญและเรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

          ภายหลังการปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปการศึกษาในรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีกระแสความคิดที่จะให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันหลักที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้มีคณะนายทหารชุดกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งมีความคิดที่ปฏิบัติการให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว แต่ไม่ทันลงมือกระทำการก็ถูกจับได้เสียก่อนเมื่อ พ.ศ.2454 ในต้นรัชกาลที่ 6  

          อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงมีออกมาเป็นระยะๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก นอกจากการปรับตัวของรัฐบาลทางด้านการเมืองการปกครองให้ทันสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น และก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแต่ประการใด จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีคณะผู้ก่อการภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2475

          การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เกิดขึ้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยเหล่าคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยเหล่านายทหารและนักเรียนทุน โดยมีแกนนำคนสำคัญตัวอย่างเช่น

          1. พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้าคณะราษฎรและแกนนำฝ่ายทหารบก)

          2. พันเอกพระยาทรงสุรเดช

          3. พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์

          4. พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ

          5. พันตรีหลวงพิบูลสงคราม

          6. นาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (แกนนำฝ่ายทหารเรือ)

          7. หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ (แกนนำฝ่ายพลเรือน)

          คณะราษฎรได้นำกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม ลานพระบรมรูปทรงม้า กำลังบางส่วนได้เข้าควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ ขณะเดียวกันพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้

แถลงการณ์ประกาศหลักการสำคัญของคณะราษฎร มีใจความดังนี้

1.       จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.       จะต้องรักษาความปลอดภัยของประเทศให้มาก

3.       จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุก

คน จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ จะไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.       จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

5.       จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

6.       จะต้องให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ ตามคำบังคมทูลเชิญของคระราษฎรและพระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ภายใต้รัฐบาลการนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย

1.1.  สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช 2475 หรือบางครั้งถูกเรียกว่า “การปฏิวัติ 2475” นั้นอาจสรุปได้ว่ามี 4 ประการดังนี้

1. ความก้าวหน้าทางการศึกษาและการได้รับความคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สืบเนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาเป็นแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการสานต่อในสมัยรัชการที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ชนชั้นกลางและนายทหารรุ่นใหม่ให้ได้ศึกษาต่อถึงระดับอุดมศึกษาทั้งภายในประเทศและในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นฉบับของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีโอกาสอ่านตำราและหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผลก็คือทำให้ชนชั้นกลางและนายทหารรุ่นใหม่มองเห็นว่าอำนาจการปกครองประเทศซึ่งอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางระดับสูง ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของสังคมไทย เป็นเรื่องล้าสมัยสำหรับอารยประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเพื่อทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าดังอารยประเทศอื่นๆ

2. แบบอย่างการปฏิวัติของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียและยุโรป การปฏิวัติในประเทศต่างๆ เช่น การปฏิวัติในประเทศจีนต่อราชวงศ์แมนจู การปฏิวัติในประเทศตุรกีต่อระบบสุลต่าน การปฏิวัติในประเทศรุสเซียต่อระบบกษัตริย์และการปฏิรูปการปกครองให้เป็นแบบสมัยใหม่ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งนำความเจริญรุ่งเรืองและความยิ่งใหญ่มาให้แก่ญี่ปุ่น ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีส่วนกระตุ้นให้ปัญญาชนรุ่นใหม่ของไทยที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของไทยตามแบบอย่างข้างต้น

3. ความไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศได้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย คือ สินค้าการเกษตรซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทยขายไม่ออกและราคาตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ของประเทศลดลง ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการใช้จ่ายเงินท้องพระคลังเป็นจำนวนมากในเรื่องเกี่ยวกับราชสำนักเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ฝนแล้งและฝนตกมากเกินไปติดต่อกัน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง นำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ยิ่งกว่านั้นในรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศ พร้อมกันนั้นก็มีการตัดทอนงบประมาณที่จัดสรรไปยังกระทรวงต่างๆ ให้อยู่ในดุลยภาพรายได้ของรัฐ การปลดข้าราชการจำนวนมากออกจากงานเพื่อลดทอนรายจ่ายของประเทศ ซึ่งสถาบันที่ถูกปลดออกมาที่สุด คือ ทหาร จึงทำให้ทหารไม่พอใจในระบอบการปกครองแบบเก่า(ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)และต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบใหม่(ระบอบประชาธิปไตย)

4. ความไม่พอใจของนายทหารรุ่นใหม่ต่อระบบบังคับบัญชาของทหาร กล่าวคือนายทหารรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางและได้รับการศึกษาแบบตะวันตกไม่พอใจที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบกฎเกณฑ์และระบบการบังคับบัญชาของทหารอย่างเคร่งครัด เมื่อผนวกกับความไม่พอใจที่ข้าราชการทหารจำนวนมากถูกปลดดังกล่าวมาแล้ว ก็ยิ่งทำให้นายทหารรุ่นใหม่มีความต้องการมากขึ้นที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบบการปกครองที่ตนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนช่วยในการบริหารบ้านเมืองยิ่งกว่าเป็นอยู่ขณะนั้น