การออกแบบการวิจัยเชิงทดลอง

       เนื่องจากการวิจัยเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสร้างองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรม จะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา สิงคโปร์  เป็นต้น ได้ใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันหรือขับเคลื่อนประเทศ จากประเทศที่เน้นการผลิตโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีอย่างจำกัดไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยใช้วิจัยเป็นฐาน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและจริงจัง

       เราลองดูอย่างง่ายๆ เรื่องการศึกษา ไทยเราเริ่มยุครัชกาลที่ 5 ปีพุทธศักราช 2410 ค่อยๆ พัฒนาเรื่องการศึกษา มีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนข้าราชการพลเรือน สร้างโรงเรียนขยายออกไป กว่าจะเริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ บังคับให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถม 4 ก็ล่วงเข้าปีพุทธศักราช 2464 จากนั้นกว่าจะขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.7 ก็เข้าปีพุทธศักราช 2504 รวมแล้วไทยเราใช้เวลาเกือบ 100 ปี ส่วนของญี่ปุ่นเริ่มรัชสมัยจักรพรรดิเมจิในปีพุทธศักราช 2410 และเริ่มยุคของการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง พอผ่านไปได้เพียง 5 ปี ก็เริ่มประกาศใช้ระบบโรงเรียนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และพัฒนาไปตามลำดับ ขยายการศึกษาภาคบังคับถึงประถมปลาย ในปีพุทธศักราช 2450 รวมญี่ปุ่นใช้เวลาเพียง 40 ปี 

พื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องคือการใช้วิจัยเป็นฐาน ซึ่งเริ่มต้นที่หลักคิด เช่น ประเทศญี่ปุ่นเห็นฝรั่งขี่รถยนต์คันสวยก็คิดว่าจะทำอย่างไรประเทศจึงจะผลิตรถได้เหมือนประเทศฝรั่งบ้าง โมเมนตัมหลายอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาต่อยอด จนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาห่างจากประเทศไทยล้านปีแสง!

จากการมองสังคมไทยรอบๆเรา จะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นผู้รับมากว่าเป็นผู้สร้าง หลายอย่างเราไม่ยอมเรียนรู้ เราเพียงแต่บริโภค เรามีทรัพยากรมากแต่ขาดการจัดการที่ถูกวิธีใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราคนที่มีหัวสมองแต่ขาดการพัฒนา คนเก่งมีมากแต่ขาดคุณธรรม สัดส่วนคนจนต่อคนรวยมากขึ้นทุกปี

เราทุกคนจึงต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของตนเอง ควรเริ่มจากตัวเราทุกคน ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นผู้สร้างสรรค์ เราทุกคนซึ่งเป็นอนูเล็กๆ ของประเทศควรเป็นผู้สร้างสรรค์ เมื่อทุกคนเป็นผู้สร้างมากกว่าเป็นผู้รับ สิ่งนี้จะเป็นโมเมนตัมต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ

การจะเป็นผู้สร้างนั้น ทำได้ไม่ยากตามยุทธศาสตร์การวิจัยเป็นฐานหรือแบบ Research-Based Learning การวิจัยในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม คือ การวิจัยและพัฒนา แต่พี้นฐานที่สำคัญในการทำวิจัยและพัฒนาคือ การวิจัยเชิงทดลอง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่

ตามความเห็นของข้าพเจ้า ประเทศไทยมีการวิจัยเชิงทดลองน้อย และไม่ค่อยใช้ประโยชน์ได้มากนัก โดยเฉพาะวงการศึกษามักรับแนวคิดของต่างประเทศมาทดลองใช้ แต่เมื่อวิจัยตีพิมพ์แล้วกลับไม่มีการต่อยอดแนวคิดและใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

เนื่องจากข้าพเจ้าได้ศึกษาตำรา เอกสาร เรื่องการวิจัยเชิงทดลองทางการศึกษา (Experimental Research) ในหลายๆ เล่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงได้เขียนบันทึกนี้ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามหลัก KM อย่างน้อยก็เพื่อมิให้ความรู้ที่ข้าพเจ้าอ่านด้อยค่าไป

              การวิจัยเชิงทดลองทางการศึกษา (Experimental Research)

มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายไว้มากมาย แต่จะขอยกตัวอย่างจากตำราที่ข้าพเจ้าได้อ่าน ดังนี้

บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์ (2540: 131) ให้ความหมายว่า การวิจัยเชิงทดลองเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุ และผล (cause and effect relationship) ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวการณ์ควบคุม

ประวิต เอราวรรณ์ (มปป.: 26) ได้ให้ความหมายว่า การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นการวางแผนการทดลอง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม โดยมีการจัดกระทำตัวแปรทดลองหรือตัวแปรอิสระเพื่อวัดผลที่มีต่อตัวแปรตาม

ชูศรี วงศ์รัตนะ และองอาจ  นัยพัฒน์ (2551 : 2) ให้ความหมายว่า การวิจัยเชิงทดลอง คือการวิจัยที่มีการจัดกระทำตัวแปรที่ต้องการศึกษาว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริง หรือไม่ ให้กับผู้ถูกทดลอง แล้วสังเกตผลที่เกิดขึ้น โดยมีการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการศึกษาให้อยู่ในสภาพคงที่

สุวิมล ติรกานันท์ (2553: 15) ให้ความหมายว่า การวิจัยเชิงทดลอง คือ การวิจัยที่มุ่งศึกษาความเป็นเหตุเป็นผล จึงมีการใช้ตัวแปรอิสระที่จัดกระทำได้ เช่น วิธีสอน การให้ปุ๋ย และควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน

Best and Kahn (1995: 133) กล่าวว่า การวิจัยเชิงการทดลอง เป็นกระบวนการหรือวิธีการที่มีระบบและมีเหตุและผลสำหรับหาคำตอบในคำถามที่ว่า "ถ้าทำสิ่งนี้ภายในเงื่อนไขที่ควบคุมไว้อย่างดี จะเกิดผลอะไรขึ้น (If this is done under carefully controlled conditions, what will happen?"

สรุปได้ว่า การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) คือ การวิจัยที่ศึกษาเหตุที่เกิดจากการจัดกระทำ (Manipulation)ในตัวแปรตาม   โดยการควบคุมปัจจัยอื่นที่อาจมีผล (Control of events) เพื่อพัฒนาหรือค้นพบองค์ความรู้ (body of knowlage)

การประยุกต์ใช้วิธีวิจัยเชิงการทดลองซึ่งเป็นที่รู้จักกันในกฏตัวแปรเดียวของ Mill (John Stuart Mill's law of the single variable) และถูกแทนที่ด้วยการออกแบบปัจจัย(Factorial Designs) ของ R.A.Fisher ซึ่งมีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมกว่า

นักวิจัยเชิงทดลองต้องเข้าใจและจัดการทดลองให้มีความตรงภายใน(Internal Validity) เพื่อที่จะสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยไม่เกิดความกำกวมในการแปลผลการทดลอง และจะต้องมีความตรงภายนอก (External Validity) เพื่อให้สิ่งที่ค้นพบสามารถอ้างอิงไปยังประชากรที่สนใจและขยายผลได้

การออกแบบการวิจัยเชิงทดลองแบ่งเป็น 3 ประเภท (ประวิต เอราวรรณ์. มปป.: 29)ดังนี้

1) การวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre-experimental Designs) เป็นการออกแบบการทดลองที่ไม่มีการสุ่ม หรือไม่มีกลุ่มควบคุม มีเพียงการทดลองเพียงกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว ดังนั้น วิธีนี้จึงเป็นรูปแบบการทดลองที่อ่อนแอที่สุดเนื่องจากมีความตรงภายในและความตรงภายนอกน้อยที่สุด

2) การวิจัยเชิงทดลองกึ่งทดลอง(Quasi-experimental Designs) เป็นการออกแบบการทดลองที่ไม่มีการสุ่ม แต่มีกลุ่มควบคุมเพื่อการเปรียบเทียบ ดังนั้น ในการทดลองจึงมีทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แต่สมาชิกไม่มีการสุ่ม

3) การวิจัยเชิงทดลองแท้จริง (True-experimental Designs) เป็นการออกแบบการทดลองที่มีการสุ่ม และมีกลุ่มควบคุมเพื่อเปรียบเทียบ ดังนั้น การทดลองจึงมีทั้งทดลองและกลุ่มควบคุมโดยสมาชิกได้มาโดยการสุ่ม รูปนี้เป็นรูปแบบที่แกร่งที่สุด เนื่องจากมีความตรงภายในและความตรงภายนอกมากที่สุด