ตัวอย่าง การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

เมื่อพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับก็จะต้องมีการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับการปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตนในการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนด มาตรฐานทางจริยธรรม ไว้ในกฎหมายดังกล่าวเพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำ ประมวลจริยธรรม

ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดทำคำอธิบายและตัวอย่างพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น ทั้ง 7 ประการ

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีคำอธิบายว่า พึงส่งเสริม สนับสนุน และพิทักษ์รักษาสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่การรักษาผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศชาติ การปฏิบัติตนตามหลักของศาสนา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้ง ไม่ต่อต้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตัวอย่างพฤติกรรม ได้แก่ 1.แสดงออกถึงความภูมิใจในชาติ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ 2.ไม่แสดงออกในลักษณะการดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือไม่กระทำการอันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ รวมทั้งไม่กระทำการอันเป็นการให้ร้ายหรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ 3.ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ และเคารพในความแตกต่างของการนับถือศาสนา 4.แสดงออกถึงความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 5.ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 6.ไม่กระทำการอันเป็นการต่อต้านการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 7.มีความเป็นกลางทางการเมือง และไม่ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นการเฉพาะ

(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

มีคำอธิบายว่า พึงปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาด้วยความถูกต้องตามกฎหมายและตามทำนองคลองธรรม มีจิตสำนึกที่ถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีความสุจริตเป็นที่ตั้งและมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงาน

ตัวอย่างพฤติกรรม ได้แก่ 1.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 2.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง รวดเร็ว เต็มกำลังความสามารถ และกล้ารับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งพร้อมรับการตรวจสอบ 3.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงหลักสากลในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และการใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมอย่างเหมาะสม

(3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

มีคำอธิบายว่า พึงมีความกล้าในการตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรม และกล้าแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง ไม่ยอมทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์หรือสถานภาพของตนเอง

ตัวอย่างพฤติกรรม ได้แก่ 1.กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และกล้าคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม 2.เปิดเผยการทุจริตที่พบเห็นหรือรายงานการทุจริตประพฤติมิชอบต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยไม่ปล่อยปละละเลย 3.ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม 4.ไม่หลีกเลี่ยงกฎหมายหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

คำอธิบายมาตรฐานทางจริยธรรมอีก 4 ประการมีต่อในวันพรุ่งนี้.

“ซี.12”