หน้าที่ของชาวไทยที่มีต่อประเทศชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์

หน้าที่ของชาวไทยที่มีต่อประเทศชาติ

หน้าที่คนไทย : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวเนชั่น

             เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า รัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศ เป็นเหมือนพิมพ์เขียวของสังคม โดยการกำหนดโครงสร้างในระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง การปกครอง การพัฒนา หรือรวมไปถึงการกำหนดข้อห้ามกระทำหรือข้อที่พึงกระทำ

             ร่างฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่เพิ่งเปิดฉบับสมบูรณ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็ไม่เว้นกับกฎเกณฑ์นี้ สิ่งที่เขาบอกว่าได้ปรับแก้จากร่างแรกมากที่สุดก็คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นนัยว่าเขายอมให้มีหลักประกันเสรีภาพในหลายๆ อย่างในเชิงคุ้มครองประชาชน

             อย่างไรก็ตามเมื่อมีสิทธิพวกเขาก็ได้กำหนดหน้าที่ตามมา และเป็นหน้าที่ที่สอดรับกับเจตนารมณ์ของการสร้างชาติแบบ คสช. รวมถึงความพยายามที่จะตอบสนองต่อปัญหาที่คณะรัฐประหารระบุว่าเป็นปัจจัยที่พวกเขาต้องเข้ามาแก้ไข

             โดยร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ได้บัญญัติหน้าที่ของประชาชนคนไทยโดยระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

             (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

             (2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

             (3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

             (4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ

             (5) รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

             (6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

             (7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ

             (8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม

             (9) เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ

             (10) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

             และหากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดเรื่องหน้าที่ของชนชาวไทยไว้เพียง 5 ข้อ โดยแต่ละข้อที่เพิ่มมาก็มีนัย เช่น เรื่องการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นและไม่กระทำการอันก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคมไทย ซึ่งน่าจะเป็นการตอบโจทย์เรื่องการชุมนุม และความแตกแยกของคนในชาติ

             หรือเรื่องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่แม้จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาว่าเป็นหน้าที่ แต่คราวนี้ก็มีบทขยายความที่บอกว่า “ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งหริือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ”

             เพราะพวกเขาตั้งโจทย์ว่า ที่ผ่านมาการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิลงคะแนนมาจากผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง

             น่าสนว่า เมื่อมีหน้าที่ แต่ไม่ทำหน้าที่ก็ย่อมมีผลบังคับทางกฎหมาย ต้องมาดูกันต่อไปว่า “ปวงชนชาวไทย” ที่ไม่ทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้จะต้องรับผลอะไรหรือไม่

บทบาทและหน้าที่ที่ควรจะมีของพลเมืองดี

หน้าที่ของชาวไทยที่มีต่อประเทศชาติ

การที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้นั้น พลเมืองในประเทศต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง หากเราทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

พลเมืองที่ดี หมายถึง ผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องทำและควรทำได้อย่างครบถ้วน สอดคล้องกับหลักธรรม วัฒนธรรม ประเพณีที่ได้กำหนดไว้ มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ถือได้ว่า พลเมืองเป็นส่วนสำคัญของสังคม ทุกสังคมต่างต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพที่ดี คือ

  1. ให้ทราบถึงบรรทัดฐานของสังคม
  2. รู้จักการปฏิบัติตนให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างราบรื่น
  3. ต้องเคารพกฎหมาย มีระเบียบวินัย ตามที่สังคมได้วางไว้
  4. ปรับทัศนคติและค่านิยมที่ดีในสังคม

ลักษณะของพลเมืองที่ดี คือ

  1. ต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน คือ ต้องมีความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ เห็นความสำคัญในประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของตนเอง
  2. ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ คือ สามารถประพฤติ ปฏิบัติได้อย่างที่สังคมต้องการ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีเหตุผล

การปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองดีตามแนวทางประชาธิปไตยทำได้หลายด้านเช่น

  • ด้านสังคม พลเมืองที่ดีต้องแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสมมีเหตุผล, รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น, ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมได้เป็นอย่างดี ร่วมพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า เสียสละเพื่อส่วนรวม
  • ด้านเศรษฐกิจ ต้องรู้จักประหยัด อดออม, มีความซื่อสัตย์สุจริต, ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • ด้านการเมืองการปกครอง ต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง, ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

หน้าที่ของพลเมืองดี ที่พึงปฏิบัติ คือ

  1. นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากกว่าประโยชน์ส่วนตน
  2. มีระเบียบ วินัย เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยความเรียบร้อย
  3. รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
  4. มีความอดทน สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีแม้ว่าจะต้องเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจก็ตาม
  5. รู้จักประหยัด อดออม ไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายยามจำเป็น ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
  6. มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักการให้อภัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
  7. มีความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา
  8. เคารพกฎหมายและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมได้เป็นอย่างดี
  9. มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

ทุกสังคมต้องการพลเมืองที่ดี เพื่อที่จะสามารถนำพาความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคมและประเทศชาติได้อย่างมั่นคง เราควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี โดยมีผู้ใหญ่ทำตัวเป็นแบบอย่าง เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้น พวกเขาจะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพอย่างที่ทุกคนในสังคมต้องการ