กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ppt

หน้าแรก 

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ppt

กระบวนการยุติธรรม

กระบวนการยุติธรรม หมายความถึง วิธีการดำเนินการแก่ผู้ที่ประพฤติฝ่าฝืนกฎหมาย โดยอาศัยองค์กร และบุคลากรที่กฎหมายให้อำนาจไว้

      กระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง กระบวนการยุติธรรมทางแรงงาน กระบวนการยุติธรรมในศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง และกระบวนการยุติธรรมในศาลภาษีอากร

 ความหมายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

   กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นกระบวนการสำหรับดำเนินคดีอาญา กล่าวคือเมื่อมีการกระทำผิดทางอาญาแล้ว การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จะต้องกระทำอย่างไร บทบัญญัติที่กำหนดวิธีดำเนินคดีอาญามีอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

   ส่วนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งเป็นกระบวนการสำหรับดำเนินคดีแพ่ง เช่น กรณีผิดสัญญา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแพ่ง การที่จะบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ค่าเสียหายจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีบทบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

 กระบวนการยุติธรรมทางอาญา(CRIMINAL PROCEDURE DUE PROCESS OF LAW)

1. องค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

  1.1) พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ

  พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะเป็นหน่วยงานแรกที่รับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรมก่อนที่คดีหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จะผ่านไปยังพนักงานอัยการ และเข้าสู่การพิจารณาของศาล

  ตำรวจเป็นผู้จับกุมผู้กระทำความผิด และทำการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนแล้วส่งเรื่องหรือสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นทนายของ แผ่นดิน ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวผู้นั้นไว้ในเรือนจำเพื่ออบรม ดัดนิสัย และฝึกอาชีพต่อไป

  1.2) ทนายความ

  ทนายความเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม คือ เข้ามาว่าความแก้ต่างให้แก่คู่ความไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย ทนายความเป็นผู้ประกอบอาชีพกฎหมายโดยอิสระ ทนายความจะให้คำปรึกษาหรือดำเนินคดีแทน โดยคิดค่าบริการจากลูกความ ทนายความจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นผู้รู้กฎหมาย และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคู่ความในการดำเนินคดีในศาล การกระทำของทนายในศาลมีผลเท่ากับคู่ความทำเอง

 1.3) พนักงานอัยการ

  พนักงานอัยการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำเนินคดีต่อจากพนักงาน สอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เพื่อฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป พนักงานอัยการจึงเปรียบเสมือนทนายของ แผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีในนามของรัฐ

 1.4) ศาลยุติธรรม

  ศาลเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดคดีหรหือตัดสินคดี

  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

  ก. ศาลชั้นต้น คือ ศาลที่จะเริ่มพิจารณาอรรถคดีเป็นเบื้องแรก ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา สำหรับในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ศาลอาญาธนบุรี และศาลอาญา ส่วนในจังหวัดอื่นได้แก่ ศาลแขวง ศาลจังหวัด และศาลคดีเด็กและเยาวชน

  ข. ศาลอุทธรณ์ คือ ศาลซึ่งวินิจฉัยข้อผิดพลาด หรือข้อขาดตกบกพร่องของศาลชั้นต้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในกระบวนวิธีพิจารณาอรรถคดี ศาลอุทธรณ์นั้นเดิมมีอยู่ศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันได้ขยายออกไปอีก 9 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ ภาค 19

  ค. ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของศาลในระบบศาลยุติธรรม มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยความบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์อีกขั้นหนึ่ง

 1.5) กรมราชทัณฑ์

  เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกือบทุกขั้นตอน โดยทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างการดำเนินคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นชั้นก่อนศาลพิจารณา ระหว่างการพิจารณา ตลอดจนภายหลังการพิจารณาพิพากษา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เช่น ควบคุมตัว ปล่อยตัว หรือแม้แต่คำพิพากษาประหารชีวิต ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล เป็นต้น

  อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ยังมีความรับผิดชอบสำคัญอื่นอีก คือ การฝึกอบรม และแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมขังให้กลับตนเป็นคนดี ด้วยการให้การอบรมทั้งในด้านศีลธรรม และอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกได้ภายหลังได้รับการปล่อยตัวไป

 2. การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีหลักการดังนี้

  2.1) บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย ตำรวจ อัยการ ศาล และพนักงานราชทัณฑ์

  2.2) เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการสืบสวน และสอบสวนเกี่ยวกับความผิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน จากนั้นพนักงานอัยการจึงจะฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือในบางกรณีผู้เสียหายจะฟ้องต่อศาลโดยตรงก็ได้

  2.3) ในคดีอาญานั้น การพิจารณาสืบพยานของศาลจะต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน และต่อหน้าจำเลย

  2.4) คดีอาญาเมื่อมีคำพิพากษาแล้ว จะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้า

  โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ                                        

       ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลภาษีอากรกลาง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

           ในหนังสือพิมพ์ของไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2550 ซึ่งพาดหัวข่าวว่า ม็อบ สตรี เด็ก ปิดถนนบีบปล่อยผู้ต้องหาบึ้มข่าวที่เกิดขึ้นย่อมแสดงให้เห็นการที่ประชาชนไม่ยอมรับซึ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เรื่องเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่กระทบต่อเกียรติยศและเกียรติศักดิ์ขององค์กรในระบบกระบวนการทางอาญาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นกรณีศึกษาของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกันกอบกู้เกียรติยศและเกียรติศักดิ์ขององค์กรให้กลับมาโดยเร็ว โดยทบทวนการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนให้มากขึ้น ก่อนที่การไม่ยอมรับของประชาชนจะแผ่นขยายและมีสิ่งอื่นเข้ามาแทรกแซงไปมากกว่านี้

       วัตถุประสงค์ของผู้เขียนต้องการที่จะให้การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ นอกจากจะมีการตรวจสอบเพื่อคานและดุลอำนาจกันเองในระบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ อัยการตรวจสอบถึงความชอบด้วยกฎหมายของการสอบสวนของพนักงานสอบสวนก่อนที่จะมีคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง และศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคดีที่อัยการฟ้องต่อศาล เพราะการตรวจสอบดังกล่าวเป็นการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน (CHECK AND BALANCE) ซึ่งไม่ใช่เป็นการตรวจสอบภายในกันเองแล้ว ผู้เขียนยังมีความประสงค์ต้องการให้มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการทางอาญาไม่ว่าจะถูกค้น ถูกจับ ถูกสอบสวน ถูกสั่งฟ้อง ถูกสั่งไม่ฟ้อง ถูกฟ้องคดีต่อศาลและถูกดำเนินคดีในศาลนั้น ต้องได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายในกระบวนการทางอาญาตั้งแต่ต้นจนถึงปลายอย่างจริงจัง

     กระบวนการทางอาญานั้น จะต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริง (CRIMINAL PROCEDURE DUE PROCESS OF LAW) และต้องไม่มีกระบวนการที่อยุติธรรมทางอาญา (CRIMINAL PROCEDURE AGAINST DUE PROCESS OF LAW) เข้ามาแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เช่นการจับไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การสอบสวนกลับชอบด้วยกฎหมาย หรือการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ได้กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่เป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แต่อัยการก็นำคดีมาฟ้องได้ และศาลก็ดำเนินคดีได้ เป็นต้น และการที่จะไม่ให้กระบวนการอยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงได้นั้นจะต้องมีการตรวจสอบการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ โดยการตรวจสอบดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกันระหว่าง พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและศาล เพราะการดำเนินการทางอาญาดังกล่าวนั้น มีชีวิต ร่างกาย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน สิทธิในทางเศรษฐกิจการทำมาหากิน สิทธิในครอบครัวตลอดจนสิทธิของเด็กและผู้เยาวชนในครอบครัว เป็นเดิมพันกับการทำงานของศาลและเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น

       พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้ศาลและเจ้าพนักงานทั้งหลายผู้ดำเนินคดีอาญาตลอดราชอาณาจักร ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ เว้นแต่ศาลซึ่งมีวิธีพิจารณาพิเศษไว้ต่างหากกฎหมายมาตรานี้ได้กำหนดมโนทัศน์ (CONCEPT) ของการใช้กฎหมายไว้โดยชัดแจ้ง โดยบัญญัติบังคับให้ศาลและเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญา ซึ่งรวมถึงอัยการ พนักงานสอบสวน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การบัญญัติบังคับผู้ใช้อำนาจรัฐต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ก็เพราะเป็นที่คาดหวังว่าผู้ใช้กฎหมายจะต้องมีมโนทัศน์ทางกฎหมาย (CONCEPT OF LAW) โดยต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งกฎหมายซึ่งเรียกว่า ความรู้รวบยอด (PRAXIOLOGICAL KNOWLEDGE) ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ว่ากระบวนการทางอาญานั้นได้ทำมาโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตั้งแต่ต้นแล้วหรือไม่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ต้นจนถึงปลายนั้นต้องกระทำมาโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการดำเนินคดีอาญาที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่นั้น ก็จะต้องมีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินคดีอาญาว่ามีการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เมื่อกฎหมายบัญญัติให้ผู้ใช้กฎหมายปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ได้บัญญัติบังคับไว้โดยตรงให้ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินคดีอาญาไว้ด้วยแล้ว นักกฎหมายที่เก่งก็จะมีลูกเล่นในการใช้กฎหมายอย่างมีชั้นเชิง เมื่อกฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติอย่างไร ก็จะปฏิบัติไปตามนั้น กฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็จะปฏิบัติเฉพาะในขอบเขตหน้าที่ของตนในขั้นตอนนั้นเท่านั้น และจะไม่ก้าวล่วงไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนอื่นว่ามีการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องปฏิบัติ (เป็นกรณีเดียวกันกับที่กฎหมายไม่ได้ห้าม) ซึ่งเป็นเรื่องที่นำมาปฏิบัติโดยการวางเฉย หลีกเลี่ยง หรือแกล้งโง่เสีย (IGNORE) คือปฏิบัติก็ได้ ไม่ปฏิบัติก็ได้ การที่กฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติแต่ไม่ได้มีบทบังคับให้ปฏิบัติจึงไม่ปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องของการขาดมโนทัศน์ในการใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงทำให้ไม่มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินคดีอาญามาตั้งแต่ต้น คือไม่มีการตรวจสอบการดำเนินคดีของพนักงานผู้ดำเนินคดีในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ชั้นสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง จนถึงชั้นฟ้องคดีต่อศาล การจับกุม การสอบสวน จะทำอย่างไร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีการตรวจสอบ การสั่งฟ้อง การสั่งไม่ฟ้อง การพิจารณาพยานหลักฐานอย่างไรในการสั่งฟ้อง การสั่งไม่ฟ้อง ไม่มีการตรวจสอบ และแม้แต่ในชั้นศาล เมื่อฟ้องคดีต่อศาลในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ก็กลับมีกฎหมายบัญญัติเปิดช่องให้ศาลไม่ต้องตรวจสอบได้อีกด้วย โดยบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะตรวจสอบหรือไม่ก็ได้แทนที่จะเป็นสิทธิของประชาชน แล้วปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือปล่อยให้ ความอยุติธรรมทางอาญาให้ดำรงคงอยู่ต่อไป อันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมาตั้งแต่ต้นและไปสิ้นสุดเมื่อศาลตัดสินคดีในศาลฎีกา ซึ่งเกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดมโนทัศน์ (CONCEPT OF LAW) ในการดำเนินคดีอาญาขององค์กรและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

    ประชาชนควรมีสิทธิที่จะตรวจสอบการกระทำที่เกิดขึ้น อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของเขาได้ทุกขั้นตอน โดยร้องขอต่อหน่วยงานที่กำลังดำเนินกระบวนการทางอาญาต่อเขาได้ หรือร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนการกระทำอันไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกิดขึ้นต่อเขาได้ทุกขั้นตอนของการดำเนินกระบวนการทางอาญา เพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานทั้งหลายผู้ดำเนินคดีอาญาตลอดราชอาณาจักรปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 มาตรา 3 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ประชาชนทวงถามความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินคดีอาญาของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาและของศาลได้

       แต่ถึงในปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นกรรมของประชาชนโดยแท้ ที่ไม่อาจใช้สิทธิทวงถามความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินคดีอาญาของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาและของศาลได้ ณ ที่ใดเลย

      การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ         9 เมษายน 2550 17:33 น.                

  ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่าบทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการในเรื่องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้บริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องเรียกร้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เอาเอง หรือเป็นเรื่องที่รัฐหรือองค์กรของรัฐ (State Organisation) จะต้องดูแล ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชน

                ข่าวจากสื่อมวลชนเรื่องหมายจับชายสองคนคือนายปรัชญา ปรีชาเวช และนายยุทธพงศ์ กิติศรีวรพันธ์ เป็นตัวอย่างของกรณีศึกษาเกี่ยวกับ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Procedure Due Process of Law) และอำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของประชาชนได้เป็นอย่างดี การที่ชายสองคนถูกขอให้ออกหมายจับ โดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะมีภาพในทีวีวงจรปิด ในบริเวณใกล้กับสถานที่เกิดเหตุการณ์ระเบิด และศาลซึ่งเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ออกหมายจับตามคำร้องของเจ้าพนักงานตำรวจ ชายสองคนจึงถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมีหมายจับของศาล และเปลี่ยนสถานะจากบุคคลผู้บริสุทธิ์โดยทั่วไปเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาในทันที

                ในทีวีวงจรปิดคงไม่ได้มีเฉพาะภาพชายสองคนที่ปรากฏอยู่ ผู้คนที่เดินในบริเวณนั้นก็คงจะมีภาพปรากฏอยู่ด้วย แต่คนอื่นไม่มีหมายจับ สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของสองคนที่ถูกหมายจับจึงแตกต่างจากสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ปรากฏภาพในทีวีวงจรปิดเช่นเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน หรือไล่เลี่ยกัน

                การที่ชายสองคนถูกเจ้าพนักงานตำรวจขอให้ศาลออกหมายจับต้องมีสิ่งผิดปกติและเป็นพิรุธปรากฏในภาพทีวีวงจรปิด และจะต้องมีหลักฐานอื่นที่ได้จากการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ และการที่ศาลออกหมายจับก็จะต้องปรากฏในคำร้องขอให้ออกหมายจับว่า ชายสองคน มีเหตุอันควรสงสัย และเหตุอันควรสงสัยนั้นอย่างน้อยก็คงจะเป็นภาพที่ปรากฏในทีวีวงจรปิดพร้อมทั้งหลักฐานในทางสืบสวน ซึ่งคงต้องนำมาแสดงต่อศาล เพราะการขอออกหมายจับจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 คือ “(1) เมื่อผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควร หรือจำเลยเป็นผู้ที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง (2) เมื่อความผิดที่ผู้ต้องหาถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควร หรือที่จำเลยถูกฟ้องนั้น มีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป (3).....(4).....”

                เมื่อศาลออกหมายจับ ชายสองคนถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีความผิดอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไปในทันที สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ชายสองคนในกรณีที่เขาไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิและเสรีภาพตลอดจนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของเขา จึงกระทบกระเทือนในทันที

                เมื่อเห็นภาพของตนที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ว่าถูกออกหมายจับ และมั่นใจว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ สิทธิในชีวิตร่างกายที่จะไปไหนมาไหนเช่นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะได้รับความเสมอภาคเยี่ยงผู้บริสุทธิ์อื่นๆ ที่ไม่ต้องมีหมายจับ ทำให้ชายสองคนเรียกร้องสิ่งที่เกิดจากการกระทำของรัฐที่ไม่เป็นธรรมต่อเขาในทันที โดยแสดงตนทั้งในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ ยืนยันว่าเขาเป็นบุคคลในทีวีวงจรปิดแต่ไม่ใช่เป็นคนร้ายที่วางระเบิด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเลย (ข่าวไทยโพสต์, มติชน, ไทยรัฐ) ชายสองคนไม่ได้โต้แย้งว่าเขาไม่ใช่คนในภาพทีวีวงจรปิด ทั้งไม่ได้โต้แย้งว่าเขาเพียงแต่เหมือนหรือมีใบหน้าคล้ายคนในทีวีวงจรปิด หรือภาพคนในทีวีวงจรปิดไม่ใช่เขาแต่อย่างใดเลย แต่ยืนยันว่าเขาคือคนที่ปรากฏในทีวีวงจรปิด และมีหมายจับจริง แต่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงขอให้เจ้าพนักงานตำรวจถอนหมายจับได้

การไปแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและยืนยันว่าเป็นคนที่ถูกหมายจับ แต่ไม่ใช่คนที่กระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ที่มาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ในกรณีนี้เจ้าพนักงานจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 คือ ต้องถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใด ก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้สอบปากคำชายสองคนไว้ในฐานะเป็นพยานแล้วชายสองคนก็กลับไป

                การที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหาให้ทราบ และไม่ได้สอบสวนไว้ในฐานะผู้ต้องหา เพราะการเข้าหาเจ้าพนักงานของชายสองคนนั้น เป็นการเข้าหาเพื่อให้ถอนหมายจับ ซึ่งเจ้าพนักงานต้องทราบเป็นอย่างดีว่า การมาแสดงตัวและยืนยัน ขอให้ถอนหมายจับนั้นเป็นการขอให้ตรวจสอบหรือทบทวนการขอออกหมายจับเสียใหม่ เพราะเขาเป็นคนที่ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐจะขอออกหมายจับหรือมีหมายจับไม่ได้ เนื่องจากเขาไม่ได้กระทำความผิดใดๆ เลย ปรากฏตามข่าวว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ดำเนินการถอนหมายจับได้ เพราะคนที่มาแสดงตัวนั้น เหมือนคนในภาพทีวีวงจรปิด หมายจับไม่ได้ออกมาเพื่อจับชายสองคนดังกล่าว การสอบปากคำคนทั้งสองไว้ในฐานะพยานแล้วให้กลับไป ก็เป็นการที่พนักงานสอบสวนได้เปลี่ยนสถานะของผู้ต้องหามาเป็นพยานในคดีที่มีการออกหมายจับชายสองคนที่เหมือนกับสองคนนี้ไปแล้ว

                เมื่อมีความเดือดร้อนเพราะมีหมายจับ ซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ ประกอบกับการมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ทั้งมีความปรารถนาที่จะอยู่อย่างเสมอภาคกับบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั่วไป มีสิทธิในชีวิตร่างกายที่จะไปไหนมาไหนได้อย่างบุคคลทั่วไป คนทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาล โดยขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับที่ศาลได้อนุมัติให้ออกหมายจับคนร้ายตามภาพในวงจรปิด โดยยืนยันว่าภาพคนในทีวีวงจรปิดและภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจนำออกเผยแพร่ ซึ่งมีหมายจับนั้นเป็นตัวของเขาเอง แต่เขาทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เขาได้ไปแสดงหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่ขอถอนหมายจับให้ศาลได้พิจารณาแล้วยกคำร้อง ซึ่งหมายความว่าศาลไม่ถอนหมายจับ

                ทันทีที่ศาลได้มีคำสั่ง พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับศาลเลขที่ 526-527/2550 จับกุมคนทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ความผิดต่อชีวิต (พยายาม) ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปสอบสวนในทันที

                คนทั้งสองจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ผลของการยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับนั้น เป็นการเรียกร้องหรือร้องขอต่อศาลขอให้ตรวจสอบหรือทบทวนการใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ได้ออกหมายจับมาบังคับใช้กับเขา ซึ่งก็คือขอให้ตรวจสอบว่า การยื่นคำร้องขอให้ออกหมายจับของพนักงานตำรวจว่าตัวเขาทั้งสองมีเหตุอันควรสงสัยอย่างไร ในการที่เขาไปเดินอยู่ที่ซีคอนสแควร์ และไปปรากฏภาพทีวีวงจรปิดในที่ดังกล่าว และการออกหมายจับของศาลมีเหตุสงสัยอันสมควรอย่างไรที่ได้ออกหมายจับตามคำร้องขอของเจ้าพนักงานตำรวจ

                การใช้สิทธิขอให้ตรวจสอบหรือทบทวนการใช้อำนาจของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาหรือผู้เคราะห์ร้ายมีสิทธิกระทำได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพตลอดจนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลโดยตรง ซึ่งได้มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และมีบทสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ดังนั้น เมื่อมีการใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งมีผลต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายของเขาที่เขาจะต้องถูกจับ ถูกสอบสวน ถูกคุมขัง ถูกดำเนินคดีต่อไปในอนาคต และกระทบต่อสิทธิในความเสมอภาคที่เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างผู้อื่นซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว จึงเป็นเรื่องที่คนทั้งสองมีสิทธิโดยชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายที่จะขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งของเจ้าพนักงานตำรวจผู้ขอออกหมายจับ และศาลที่ให้ออกหมายจับได้

                นอกจากฝ่ายผู้ต้องหาจะมีสิทธิที่จะร้องขอให้ทำการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้แล้ว ศาลและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญายังมีหน้าที่และความผูกพันต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเองอีกด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลซึ่งเป็นสถาบันที่มีความผูกพันที่จะต้องให้หลักประกันความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของประชาชนผู้บริสุทธิ์ หลักประกันความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เป็นหลักพื้นฐานสำคัญของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือระบบนิติรัฐ

                และในระบบนิติรัฐนั้น การดำเนินการของรัฐหรือองค์กรของรัฐต้องเป็นการดำเนินการโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมาย คือต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มิใช่ถือว่าประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือของการดำเนินการของรัฐ โดยจะเอาการดำเนินการของรัฐมาเป็นเป้าหมาย หรือจะเอาประชาชนมาเป็นวัตถุแห่งการกระทำหาได้ไม่

                นอกจากนี้การใช้อำนาจศาลยังมีความผูกพันถึงการใช้ดุลพินิจโดยปราศจากข้อบกพร่องอีกด้วย ความผูกพันของศาลดังกล่าว ประชาชนย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงของเขาได้ และเรียกร้องให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยปราศจากข้อบกพร่องใดๆ ได้ทั้งสิ้น

                การที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเอง โดยไม่ขอให้ศาลถอนหมายจับ เมื่อคนทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาล ศาลจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบหมายจับว่าหมายจับดังกล่าวนั้น ได้ออกมาโดยถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ (Due Process of Law หรือ Without Due Process of Law) อำนาจในการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของศาล ได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 3 วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า ให้ศาลและเจ้าพนักงานทั้งหลายผู้ดำเนินคดีอาญาตลอดราชอาณาจักรปฏิบัติการตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กฎหมายมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลและเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญา หรือทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งสิ้น ศาลซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงมีอำนาจและหน้าที่โดยตรงที่ต้องตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญา รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินการทางอาญาของศาลเองด้วย กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงสามารถถูกต้องตรวจสอบว่าได้มีการกระทำโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เพราะกระบวนการทางอาญานั้นจะต้องเป็นกระบวนการที่ยุติธรรมตลอดสายในการดำเนินการทางอาญากับผู้ต้องหาหรือจำเลย ถ้าการดำเนินการทางอาญาขั้นตอนใดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ก็ไม่อายถือได้ว่าเป็น กระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งจะต้องถูกเพิกถอนหรือต้องให้กระบวนการที่ไม่ยุติธรรมนั้นต้องยุติลง เพราะการดำเนินการต่อไปย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชนได้ และจะนำไปดำเนินการทางอาญาหรือลงโทษผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ ตามทฤษฎีต้นไม้รากเน่า (Rotten Root) หรือผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ (Fruit of the Poisonous Tree)

                เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติว่า การออกหมายต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย การตรวจสอบจึงต้องตรวจสอบเหตุอันควรสงสัย ซึ่งมิใช่เหตุที่ว่าชายสองคนเป็นบุคคลเดียวกับทีวีวงจรปิดหรือไม่ เพราะทั้งสองคนได้ยอมรับ เขาเป็นคนเดียวกับภาพที่ปรากฏในทีวีวงจรปิด แต่เหตุสงสัยนั้นมีหลักฐานในการสืบสวนหรือไม่ การที่เขาไปในบริเวณนั้นเพราะมีสถานที่ทำงานอยู่ในบริเวณนั้น มีหลักฐานการทำงานมีการไปรับประทานอาหาร หรือไปดูภาพยนตร์อันเป็นชีวิตตามปกติของเขาที่เขาได้ปฏิบัติเยี่ยงผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ แล้ว และถ้าไม่มีเหตุอันควรสงสัยอื่นอีก ก็จะต้องคืนสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ให้แก่คนทั้งสองทันที จะดำเนินการใดๆ กับเขาอีกไม่ได้เลย เพราะการดำเนินการใดๆ ต่อไปนั้นมิใช่เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการก้าวล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของเขา

                การออกหมายจับหรือหมายจับที่ได้ออกไปแล้วไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้แต่อย่างใดไม่เพราะทั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาและศาลสามารถถอนหมายจับได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความ หรือเจ้าพนักงาน หรือศาลผู้ออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน

                สิทธิของประชาชนที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาและศาลซึ่งพิจารณาคดีนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงสิทธิของประชาชนดังกล่าวไว้โดยตรง แต่เป็นหลักปรัชญาหรือทฤษฎีทางกฎหมาย ทั้งๆ ที่กระบวนการดำเนินคดีอาญาทั้งระบบนั้นกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชนโดยตรงและรุนแรง การใช้อำนาจของศาลและเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาจึงปราศจากการตรวจสอบจากประชาชนโดยสิ้นเชิง แม้แต่ผู้เคราะห์ร้ายเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังได้มีคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยไปในทำนองให้เห็นได้ว่า การกระทำในการดำเนินการทางอาญาที่ได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องสาระสำคัญและศาลไม่นำมาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลย และไม่ตรวจสอบให้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2699/2516 คำพิพากษาฎีกาที่ 1560/2531 ฯลฯ อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่ากระบวนการดำเนินคดีอาญาของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญานั้น ไม่ได้รับการตรวจสอบเพื่อให้กระบวนการทางอาญานั้นเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริงแต่อย่างใดไม่

                เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้อำนาจของรัฐ หรือองค์กรของรัฐนั้น เป็นการใช้อำนาจของปวงชนชาวไทย แต่เหตุไฉนประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจและมีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้เคราะห์ร้ายเอง ไม่สามารถตรวจสอบผู้ใช้อำนาจของประชาชนเองได้เลย และไม่มีวิธีการใดที่จะบังคับให้ผู้ใช้อำนาจรัฐตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเองได้อีกด้วย

                รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 26 บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เป็นบทบัญญัติแห่งปรัชญาทางกฎหมาย แต่หากผู้ปฏิบัติหรือผู้ใช้อำนาจรัฐปราศจากซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นผู้มีวิชาชีพแห่งความเป็นนักกฎหมายมืออาชีพ (Legal Mind หรือ Legal Profession) เสียแล้ว การที่จะหวังให้องค์กรของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประชาชนเป็นเป้าหมาย โดยไม่เอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือหรือเป็นเพียงวัตถุที่จะถูกกระทำนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งอย่างเหลือเกิน

                รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงควรบัญญัติให้สิทธิประชาชนที่จะตรวจสอบกระบวนการทางอาญาได้ทุกขั้นตอน เพื่อให้กระบวนการทางอาญานั้นเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริง โดยตราไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน

                ทั้งนี้เพื่อให้ศาลและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องดำเนินการตรวจสอบทบทวนการใช้อำนาจรัฐ เมื่อผู้ต้องหา จำเลย หรือประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร้องขอให้ทำการตรวจสอบและแก้ไขการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบนั้นใหม่ได้

                การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และขอแก้ไขการใช้อำนาจรัฐให้ถูกต้องนั้น เป็นการให้ประชาชนเข้าถึงซึ่งความยุติธรรม (Accessability to Justice) ได้โดยง่ายและรวดเร็ว อันเป็นหลักการที่ยอมรับและปฏิบัติกันในสากลโลก และเป็นหลักขั้นพื้นฐานของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย

    อำนาจสั่งคดีของอัยการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่มีกฎหมายควบคุมและไม่มีการตรวจสอบ

โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ         19 เมษายน 2550 16:38 น.                             

   บทความนี้ไม่เกี่ยวกับการที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะถูกฟ้องหรือไม่ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด เจตนาของผู้เขียนมุ่งที่จะเสนอข้อคิดในทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องคดีหรือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการอันเป็นการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นองค์กรที่ทำให้ ผู้ต้องหากลายเป็น จำเลยในกรณีที่มีความเห็นสั่งฟ้องคดี และทำให้ ผู้ต้องหากลายเป็น ผู้บริสุทธิ์หรือเป็น ผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดหรือ การกระทำที่ได้กระทำนั้นไม่มีความผิดในกรณีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น

                เป็นที่ทราบกันว่า ไม่มีผู้ต้องหาอยากถูกฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยต่อศาล และจากความกลัวของผู้ต้องหาดังกล่าว กระบวนการสั่งฟ้องคดีหรือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจึงเป็นกระบวนการชี้ชะตาชีวิตของผู้คนในบ้านเมืองได้อย่างฉกาจฉกรรจ์ สามารถทำให้คนที่กระทำความผิดกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งทำความชอกช้ำใจให้กับผู้เสียหายไปกับการสั่งไม่ฟ้องคดีได้ หรือทำให้คนที่ไม่ได้กระทำความผิดต้องกลายเป็นจำเลยได้ ซึ่งการเป็นจำเลยนั้นก็คงไม่ต่างกับการตกนรกทั้งเป็นนั่นเอง แต่ก็ทำให้ผู้เสียหายสบายใจได้ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจำเลยนั้นได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ตนเองเสียหายจริงหรือไม่

                การสั่งคดีของพนักงานอัยการ นอกเหนือจากพยานหลักฐานซึ่งต้องมีข้อเท็จจริง ที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนแล้ว การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อปรับเข้ากับข้อกฎหมายเพื่อใช้อำนาจในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น เป็นเรื่องของการ ใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการทั้งสิ้น การใช้ดุลพินิจนำข้อเท็จจริงเพื่อปรับเข้ากับข้อกฎหมายในการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาหรือประชาชนมีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอำนาจที่ไม่มีกฎหมายควบคุมและปราศจากการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น การใช้ดุลพินิจสามารถเลือกฟังข้อเท็จจริงได้ ถ้าไม่ต้องการจะสั่งฟ้องก็ไม่เอาข้อเท็จจริงที่เป็นโทษแก่ผู้ต้องหามารับฟัง แต่ถ้าต้องการจะสั่งฟ้องก็เอาข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นโทษแก่ผู้ต้องหามารับฟัง และการนำข้อเท็จจริงมาปรับกับข้อกฎหมายก็สามารถใช้ดุลพินิจได้อีกเช่นกัน

                เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติมาตรฐานการใช้ดุลพินิจ หรือกำหนดขอบเขตวิธีการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการไว้ว่าควรเป็นอย่างไร ดังนั้นในกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว แต่เรียกหรือจับตัวไม่ได้ พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนยังพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 บัญญัติแต่เพียงว่า ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่าควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ยุติการสอบสวนโดยสั่งไม่ฟ้อง และให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานสอบสวนทราบถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสอบสวนต่อไปก็ให้สั่งพนักงานสอบสวนปฏิบัติเช่นนั้น

                ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้องก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา

                เมื่อกฎหมายมาตรา 141 ไม่ได้บัญญัติกำหนดให้ การปฏิบัติหน้าที่และการ ใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของพนักงานอัยการว่าจะต้องมีมาตรฐานและขอบเขตอย่างไร พนักงานอัยการจึงสามารถปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจอย่างไรก็ได้ แม้แต่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ( ARBITRARY) ก็ย่อมกระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 141 ดังกล่าวนั่นเอง

                การสั่งไม่ฟ้องคดีที่คนทั่วไปเรียกกันว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นกรณีศึกษาของการใช้อำนาจโดยการใช้ดุลพินิจที่หาขอบเขตและมาตรฐานที่ชัดเจนไม่ได้เป็นอย่างดี เพราะจากการให้สัมภาษณ์ของพนักงานอัยการที่ปรากฏตามสื่อ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธที่จะพูดรายละเอียดของถ้อยคำที่อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวปราศรัยในงานนายกรัฐมนตรีพบแท็กซี่ และในรายการนายกรัฐมนตรีคุยกับประชาชนโดยอ้างว่า หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งไม่สมควรตอกย้ำอีก ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์พนักงานอัยการเห็นว่า เป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่สมควร ไม่เหมาะสม อาจหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อให้เกิดการแตกแยกและขัดแย้งขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงมิบังควรใช้ถ้อยคำดังกล่าวปราศรัย แต่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่ถึงกับเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาตรร้ายพระมหากษัตริย์

                เหตุผลของการสั่งไม่ฟ้องกรณีนี้ทำให้เห็นได้ว่า ถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยต่อประชาชนและต่อแท็กซี่ดังกล่าวเป็นเพียงถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่สมควร ไม่เหมาะสม และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการย่อมเป็นการยืนยันหรือรับรองว่าคำพูดดังกล่าว ไม่เป็นความผิดในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฉะนั้นแล้วก็จะหมายความว่าประชาชนคนธรรมดาทั่วไปก็สามารถพูดหรือกล่าวเช่นเดียวกันได้กระนั้นหรือ เพราะกรณีดังกล่าวไม่เป็นความผิดเสียแล้วตามดุลพินิจของพนักงานอัยการ

                การที่พนักงานอัยการไม่สามารถกล่าวข้อความในการแถลงข่าวโดยอ้างว่า ข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็แสดงว่าข้อความดังกล่าวมีความก้ำกึ่งว่าจะเป็นความผิดหรือไม่ การที่ข้อเท็จจริงในคดีมีความก้ำกึ่งระหว่างความผิดกับความไม่ผิด เมื่อไม่มีกฎหมายควบคุมขอบเขตและมาตรฐานการใช้ดุลพินิจไว้ พนักงานอัยการจึงใช้ดุลพินิจอย่างไรก็ได้ ทั้งไม่มีอำนาจใดมาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการได้ เนื่องจากกระบวนการสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการเป็นกระบวนการที่เป็นความลับของทางราชการ เพราะต้องเก็บสำนวนไว้เป็นความลับแล้ว การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการจึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกแซงได้โดยง่ายและไร้ซึ่งการตรวจสอบโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายหรือประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอื่นใดก็ไม่สามารถตรวจสอบกระบวนการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการได้ แม้แต่การใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบหรือโดยทุจริตก็ไม่อาจทำการตรวจสอบได้ เพราะทุกอย่างเป็นความลับของทางราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะทราบได้ก็แต่ผลของคำสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องที่ได้ทำเสร็จแล้วเท่านั้น

                และข่าวจากสื่อมวลชนในกรณีที่มีบุคคลนำธงเฉลิมพระเกียรติ และนำแผ่นป้ายกระดาษคาดศีรษะมีข้อความว่า เรารักทักษิณมาแจกให้ประชาชนกลุ่มคาราวานคนจนใช้โบกต้อนรับอดีตนายกรัฐมนตรีในการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ภายหลังได้มีการประกาศยุบสภาฯไปแล้วนั้น (ข่าวจากหนังสือพิมพ์) พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะหลักฐานฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้ให้มีการกระทำดังกล่าว ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในกรณีนี้แสดงให้เห็นได้ว่า ตั้งอยู่บนฐานของการที่พนักงานอัยการได้ยอมรับว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริง แต่ไม่มีหลักฐานการเป็นผู้ใช้ให้มีการกระทำดังกล่าว จึงสั่งไม่ฟ้องคดีแต่ข้อเท็จจริงที่ตัวบุคคลเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีข้อเท็จจริงของการยอมรับและเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว หรือมีข้อเท็จจริงของการเข้าไปร่วมในการกระทำดังกล่าวด้วยอย่างไรหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำที่แตกต่างกับการเป็นผู้ใช้ พนักงานอัยการได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยหรือไม่ การเป็นผู้ใช้ การเป็นตัวการและการเป็นผู้สนับสนุนย่อมมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน และการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์แต่เห็นว่าไม่มีหลักฐานการเป็นผู้ใช้แล้ว ในคดีอื่นที่ผู้ใช้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การกระทำความผิดเลย และแม้แต่ยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่พนักงานอัยการก็สั่งฟ้องคดีได้เช่นคดีใช้จ้างวานให้ฆ่าผู้อื่น การมีพยานหลักฐานโดยมีคำพูดหรือคำให้การของพยานอื่นกับการมีหลักฐานโดยการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เสียเอง ข้อเท็จจริงในลักษณะของพยานย่อมแตกต่างกันอย่างมาก

                การใช้ดุลพินิจในกรณีนี้ จึงชี้ให้เห็นได้ว่าการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อพิจารณาสั่งคดีจึงไม่มีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความพอใจเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายควบคุมการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการในกรณีเช่นนี้เลย และเป็นการใช้อำนาจที่ปลอดจากการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องความลับของการสอบสวนทั้งสิ้น (การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และตรวจสอบการใช้ดุลพินิจโดยกฎหมายและโดยอำนาจของประชาชน ต่างกับหลักการคานอำนาจที่จะต้องส่งความเห็นของพนักงานอัยการไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) การใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการซึ่งเป็นการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากซึ่งกฎหมายควบคุมการใช้อำนาจและปราศจากซึ่งการตรวจสอบใดๆ ซึ่งเปิดช่องให้มีการปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของพนักงานอัยการนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่อย่างใด (CRIMINAL PROCEDURE WITHOUT DUE PROCESS OF LAW)   

                การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลมีกฎหมายบัญญัติควบคุมการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของศาลไว้โดยชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติควบคุมการปฏิบัติหน้าที่และดุลพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ และมาตรา 227 ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานด้วยการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งหมด จะใช้พยานหลักฐานเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดหาได้ไม่ และห้ามการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจพิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย คือจะลงโทษจำเลยไม่ได้ การที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้เป็นคุณแก่จำเลยได้นั้นจะต้องมีกฎหมายมารองรับการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของศาลดังกล่าว และในกรณีที่ข้อเท็จจริงมีความก้ำกึ่งกันว่าจะลงโทษจำเลยหรือไม่ ก็มีกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ว่า ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรก็ให้ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้ การที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยนั้น ก็เพราะ การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นได้ถูกตรวจสอบแล้วโดยคู่ความ คือ พนักงานอัยการ หรือผู้เสียหาย (กรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง) และจำเลย เพราะคู่ความได้อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีมาโดยตลอดย่อมต้องรู้ข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างดี กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลยได้ในกรณีที่ข้อเท็จจริงมีความก้ำกึ่งกันและเป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่

                ส่วนการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการพิจารณาการสั่งคดีของพนักงานอัยการนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการเพียงฝ่ายเดียวโดยแท้ มิได้มีการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้พนักงานอัยการจะต้องทำอย่างไรในการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีหรือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้ต้องหาที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้เลย แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามพนักงานอัยการไว้แต่อย่างใดไม่ พนักงานอัยการจึงสามารถใช้ความรู้สึกของตนเองสั่งคดีได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นการใช้อำนาจพิจารณาเพียงฝ่ายเดียว ปราศจากการควบคุมโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ปราศจากการตรวจสอบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงในคดีจะมีปัญหาความก้ำกึ่งว่าการกระทำของผู้ต้องหาจะเป็นความผิดหรือไม่ก็ตาม หรือข้อเท็จจริงในคดีจะไม่มีปัญหาความก้ำกึ่งของการกระทำความผิดของผู้ต้องหาก็ตาม พนักงานอัยการก็มีอำนาจที่จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการกระทำที่ฟังว่าเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วพนักงานอัยการก็ยังมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีได้ตามความต้องการของพนักงานอัยการ

                ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาลักษณะความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงหรือลหุโทษ แต่เป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในหมวด 1 ลักษณะ 1 คือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นลำดับแห่งความผิดที่มีความสำคัญสูงสุดในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดของประชาชนที่จะทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ถ้าปราศจากซึ่งความมั่นคงของรัฐแล้วบ้านเมืองก็ไม่สงบสุขและเจริญรุ่งเรืองดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความมั่นคงของประเทศชาติ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นตามมาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐจึงเป็นเรื่องกระทบต่อประชาชนโดยรวม จึงไม่อาจจะนำเอาการกระทำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดามาปรับใช้กับกรณีนี้ได้เลย แต่ถ้ามีการเอาการกระทำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดามาใช้กับกรณีนี้ จึงน่าจะเกิดความบกพร่องในการใช้ดุลพินิจได้ และถ้าข้อเท็จจริงปรากฏตามที่มีข่าวว่า มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่สมควร ไม่เหมาะสมซึ่งถึงขั้นอาจหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อให้เกิดความแตกแยกและขัดแย้งขึ้นได้ ซึ่งคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ควรนำมาปราศรัยนั้น ก็นับว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐแล้ว หรือการกระทำใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น ซึ่งทำให้เป็นที่เสื่อมเสียแห่งพระบารมีหรือมีลักษณะเป็นการลดคุณค่าแห่งสถาบันลงแล้ว การกระทำนั้นก็น่าจะเข้าข่ายของความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน การที่พนักงานอัยการสามารถใช้อำนาจและดุลพินิจโดยปราศจากการควบคุมโดยกฎหมาย และปลอดจากการตรวจสอบใดๆ เพราะทุกอย่างเป็นความลับในสำนวนนั้น การใช้อำนาจของพนักงานอัยการย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                องค์กรอัยการเป็นองค์กรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมให้ลื่นไหลไปด้วยความยุติธรรม อันเป็นองค์กรที่ควรจะรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับไม่มีกฎหมายมากำหนดทิศทางขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่และดุลพินิจของพนักงานอัยการเลย แม้แต่อำนาจในการที่พนักงานอัยการจะต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนก่อนฟ้องคดีต่อศาล ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้พนักงานอัยการต้องทำการตรวจสอบแต่อย่างใด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติแต่เพียงว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนดังนั้นคดีที่มีการสอบสวนแล้ว ไม่ว่าจะการสอบสวนจะชอบหรือไม่ หรือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจการสอบสวนหรือไม่ ขอเพียงแต่มีการสอบสวนแล้วเท่านั้น พนักงานอัยการก็ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องทำการตรวจสอบ ในขั้นการดำเนินการของพนักงานอัยการในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดขอบเขตและวิธีการไว้ เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดขอบเขตของการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการไว้ ทั้งไม่มีกฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการที่จะใช้ดุลพินิจสั่งคดีให้เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาได้เช่นเดียวกับที่กฎหมายให้อำนาจแก่ศาลแล้ว พนักงานอัยการก็ไม่ควรจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในกรณีที่มีข้อเท็จจริงก้ำกึ่งได้เลย และไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะไม่สั่งฟ้องคดีในกรณีที่มีข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้วได้แต่อย่างใดไม่เพราะถึงแม้พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีแล้ว ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะแสวงหาความยุติธรรมได้ในขั้นตอนของศาลได้โดยยื่นคำร้องขอให้ศาล ไต่สวนถึงความชอบด้วยกฎหมายในคดีที่พนักงานอัยการนำมาฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้ (1).....(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องแต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลที่จะไต่สวนหรือไม่ไต่สวนก็ได้ แต่ในเมื่อมีรัฐธรรมนูญออกใช้บังคับแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและรัฐธรรมนูญมีหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นพื้นฐาน ในกรณีนี้จึงควรกำหนดในรัฐธรรมนูญด้วยว่า อำนาจที่จะขอให้ศาลตรวจสอบโดยไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนั้นควรเป็นสิทธิของประชาชน และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องทำการตรวจสอบให้เมื่อผู้ต้องหาร้องขอ เพราะศาลมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง การกำหนดให้สิทธิผู้ต้องหาขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการก็คือ การให้สิทธิประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ทั้งระบบ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินคดีอาญาของศาลและเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาทั้งระบบมีความชอบด้วยกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                องค์กรของรัฐที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญารวมทั้งสภาทนายความควรรณรงค์ให้ประชาชนหรือผู้ต้องหา ใช้สิทธิร้องขอให้ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการฟ้องคดีทุกเรื่อง เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบว่าคดีที่พนักงานอัยการนำมาฟ้องนั้นมีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (DUE PROCESS OF LAW หรือ WITHOUT DUE PROCESS OF LAW) อันเป็นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ทั้งระบบ ซึ่งเป็นผลดีแก่ราชการแผ่นดิน และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อคดีที่พนักงานอัยการฟ้องมานั้นไม่มีความชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ไม่ควรจะได้รับการพิจารณาเพื่อให้รกโรงรกศาลต่อไป ทำให้เสียเวลาและงบประมาณโดยใช่เหตุ ทั้งยังเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ประชาชนได้เข้าถึงซึ่งความยุติธรรมได้โดยง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการควบคุมตรวจสอบการดำเนินคดีของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินคดีอาญาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

  บทสรุป               

                พนักงานอัยการมีอำนาจ สั่งฟ้องคดีและ สั่งไม่ฟ้องคดีกระบวนการของการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นอำนาจไม่มีการควบคุมและตรวจสอบได้เลย เป็นการพิจารณาคดีได้เพียงฝ่ายเดียว เมื่อพนักงานอัยการ สั่งฟ้องคดีผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้องคดีก็สามารถแสวงหาความยุติธรรมได้ในกระบวนการทางศาล การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นกระบวนการที่กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่ความและสาธารณชน ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์และจำเลยได้พิสูจน์ความผิดหรือความถูกได้ตามกระบวนการของกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลไม่ใช่เป็นการควบคุม และตรวจสอบกระบวนการสั่งคดีของพนักงานอัยการแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นภาระตามกฎหมายที่ต้องกระทำภายหลังการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการเท่านั้น

                “การสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการเป็นอำนาจที่สูงสุดและเด็ดขาด (ABSOLUTE) เป็นอำนาจการพิจารณาคดีที่ทำฝ่ายเดียวได้โดยแท้ ไม่มีกฎหมายควบคุมและปราศจากซึ่งการตรวจสอบโดยสิ้นเชิง คดีที่มีประชาชนเป็นผู้เสียหายโดยรวม ประชาชนก็ไม่สามารถตรวจสอบหรือดำเนินการใดๆ กับการใช้อำนาจ สั่งไม่ฟ้องคดีในกรณีเช่นนี้ได้เลย การสั่งไม่ฟ้องคดีจึงเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจใดๆ ทั้งมวลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ppt

"TDRI" ชำแหละ 3 ปัญหาใหญ่ "กระบวนการยุติธรรมทางอาญา" อุ้ยอ้าย ทวงถามประสิทธิภาพ !!!

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีปัญหาหลายประการตั้งแต่ระบบการบริหารงานยุติธรรม ที่ถูกวางโครงสร้างที่ไม่มีการบริหารในภาพรวม ขาดทิศทางและความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน บางองค์กรในระบบยุติธรรมมีโครงสร้างที่ใหญ่เกินไป ขาดการกระจายอำนาจ มีต้นทุนในงบประมาณแผ่นดินสูง และมีปัญหาการนำคดีเข้าสู่ระบบยุติธรรมมากเกินควร ในขณะที่ระบบการกลั่นกรองคดียังไม่มีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีมีความล่าช้า

ก่อนหน้านี้ ดร.กิตติพงษ์กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เคยประมวลสภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยไว้หลายประการ (ปี 2544) ตั้งแต่ปัญหาของระบบการบริหารงานยุติธรรมที่ถูกวางโครงสร้าง ที่ไม่มีการบริหารงานยุติธรรมในภาพรวม และขาดทิศทางและความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน ปัญหาที่บางองค์กรในระบบยุติธรรมมีโครงสร้างที่ใหญ่เกินไป ขาดการกระจายอำนาจ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งส่งผลต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนในงบประมาณแผ่นดินสูง ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือ มีการนำคดี เข้าสู่ระบบยุติธรรมมากเกินสมควร เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้นำโทษทางอาญามาใช้กับพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นจะเป็นเพียงการกระทำที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดที่ไม่ใช่เป็นอาชญากรรมโดยแท้ อีกทั้งระบบการกลั่นกรองคดีก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีมีความล่าช้า จนก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

ล่าสุด ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และทีมงาน ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง กฎหมายไทยกับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ กรณีศึกษาระบบยุติธรรมทางอาญา ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2551 เมื่อไม่นานมานี้

ดร.สมเกียรติใช้สายตาของนักเศรษฐศาสตร์มองปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง

"ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นปัญหาการจัดสรรทรัพยากรและการออกแบบระบบแรงจูงใจ การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จึงน่าจะให้มุมมองใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของระบบยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยได้บ้าง" ดร.สมเกียรติและทีมงานเปิดประเด็น

ทีดีอาร์ไอชำแหละ 3 ปัญหาใหญ่

จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ โดยผู้วิจัยพบว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. การใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาทระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมของไทยให้น้ำหนักต่อการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาทมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นดังจะเห็นได้จากการที่

- ประเทศไทยมีกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษทางอาญามากกว่า 350 ฉบับ โดยส่วนหนึ่งครอบคลุมถึงข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง มากนัก

- ในกรณีที่กฎหมายมีบทลงโทษทั้งในทางแพ่งและอาญา เมื่อผู้เสียหายฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ศาลที่จะพิพากษาคดีส่วนแพ่งมักรอฟังผลของคดีส่วนอาญา ซึ่งทำให้การพิจารณาคดีทางอาญากลายเป็น กระบวนการหลัก

- กฎหมายบางฉบับได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่ในการออกแบบการบังคับใช้กฎหมายมักเน้นกระบวนการทางอาญาแทนกระบวนการทางปกครอง ซึ่งทำให้กระบวนการทางอาญากลายเป็นกระบวน การหลักในการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ การที่ระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมของไทยใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาทและแก้ไขปัญหาต่างๆ มีผลกระทบทำให้ผู้เสียหายเลือกที่จะดำเนินคดีทางอาญามากเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่สุด

โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดส่วนบุคคล เพราะกระบวนการทางอาญา ใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งหมายความว่า ผู้เสียหายมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการดำเนินการเองมาก

ในแง่ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ การใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักยังทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด เนื่องจากการดำเนินคดีทางอาญาต้องการพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัย

นอกจากนี้ คดีอาญายังมีต้นทุนที่ตกอยู่กับรัฐค่อนข้างสูง จากการประมาณการเบื้องต้นโดยคณะผู้วิจัย พบว่าในกรณีที่ผู้เสียหายใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทุกขั้นตอน ต้นทุนทางสังคมเฉพาะที่ตกกับภาครัฐจะเท่ากับ 144,947 บาทต่อคดี ซึ่งสูงกว่าต้นทุนของคดีแพ่งที่ระดับ 6,576 บาทต่อคดี ถึงประมาณ 22 เท่า

โทษปรับต่ำเกินไป

ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประการที่ 2 คือ การกำหนดโทษปรับต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมมาก จนแทบจะไม่มีผลในการป้องปรามการกระทำความผิด การที่โทษปรับถูกกำหนดให้อยู่ที่ต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมมากน่าจะมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้

- การกำหนดโทษปรับสูงสุดในกฎหมายไม่ได้คำนึงถึงเงินเฟ้อ ทำให้โทษปรับที่ แท้จริงเมื่อปรับด้วยเงินเฟ้อแล้วของกฎหมายที่บังคับใช้มาเป็นเวลานานมีค่าลดลงตามอัตราเงินเฟ้อ

เช่น ประมวลกฎหมายอาญา (พ.ศ. 2499) ควรได้รับการเพิ่มโทษปรับสูงสุด ขึ้น 8 เท่า เพื่อให้มีค่าปรับที่แท้จริงเท่ากับ ค่าปรับในปี พ.ศ.2499 เช่น โทษฐานลักทรัพย์ ควรเพิ่มค่าปรับจาก 6,000 บาท เป็น 48,142 บาท โทษฐานทำร้ายร่างกายควรเพิ่มค่าปรับจาก 4,000 บาท เป็น 32,094 บาท เป็นต้น

หากไม่มีการเพิ่มค่าปรับ ค่าปรับที่แท้ จริงตามกฎหมายจะลดลงมากจนแทบไม่มีผลในการป้องปรามการกระทำความผิดเลย

- การกำหนดโทษปรับในขั้นตอนนิติ บัญญัติน่าจะไม่ได้พิจารณาถึงความน่าจะเป็น (probability) ในการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืน ซึ่งทำให้โทษปรับสูงสุดตามกฎหมายอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเหมาะสมและไม่สามารถป้องปรามไม่ให้มีการละเมิดกฎหมายได้อย่างเพียงพอ เช่น คดียักยอก และฉ้อโกง มีความน่าจะเป็นในการจับได้ไม่เกิน 0.15 และ 0.20 ตามลำดับ

ทำไมศาลต้องลงโทษจำคุก ?

ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประการที่ 3 ศาลมักลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก

การศึกษาตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งคดีความผิดที่เอกชนเป็นผู้เสียหาย และคดีความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย พบว่าศาลมักจะลงโทษจำเลยด้วยการจำคุกเกือบทุกกรณีที่ศึกษา โดยจะลงโทษปรับก็ต่อเมื่อศาลตัดสินให้ลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษ

การที่ศาลมักใช้การลงโทษด้วยการจำคุกแทนการปรับนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการที่ศาลมีความเชื่อว่า การจำคุกน่าจะมีประสิทธิผลในการป้องปรามการฝ่าฝืนกฎหมายได้มากกว่าการปรับ หรือ การที่ศาลเห็นว่าโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายนั้น น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปจนไม่สามารถป้องปรามการฝ่าฝืนกฎหมายได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการลงโทษด้วยการจำคุก

การเน้นลงโทษจำคุกส่งผลให้รัฐมีต้นทุนสูง และผู้ถูกพิพากษาจำคุกต้องสูญเสียเสรีภาพและสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพทั้งที่หลายกรณีกระทำความผิดนั้น ไม่ได้มีลักษณะในเชิงอาชญากรรม ร้ายแรง

การออกแบบระบบยุติธรรมของประเทศไทยดังที่กล่าวมาข้างต้นมีผลทำให้ระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมทางอาญามีขนาดใหญ่ และใช้ทรัพยากรมาก เช่น งบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง

ถามหาประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ

กรณีศึกษาระบบยุติธรรมทางอาญา กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของ ประเทศไทยสูงถึง 64,643 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2546 คิดเป็นร้อยละ 1.26 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ยกเว้นสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยก็ยังไม่สามารถรองรับจำนวนคดีความทั้งหมดได้ ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนคดีอาญาที่ค้างในศาลแต่ละปีมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเพิ่มขึ้นเป็น 116,075 คดีในปี 2549 ซึ่งมีผลทำให้กระบวนการทางศาลใช้เวลานานมากขึ้น ในส่วนของจำนวนนักโทษ ในปี 2546 ประเทศไทยมีนักโทษในเรือนจำ 210,395 คน หรือ 339 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ยกเว้นสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวของระบบยุติธรรมของประเทศไทย

ผู้วิจัยเห็นว่า ควรมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. พิจารณาลดบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาให้เหลือเท่าที่จำเป็น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ควรศึกษาและทบทวนว่าในบรรดากฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติซึ่งมีบทลงโทษทางอาญามากถึงประมาณ 350 ฉบับนั้น มีการลงโทษทางอาญาที่ไม่จำเป็นมากน้อยเพียงใด โดยควรทบทวนว่าการกระทำความผิด ที่มีลักษณะเป็นความผิดส่วนบุคคลและไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดต่อแผ่นดิน เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท คดีที่เกี่ยวข้องกับเช็ค หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในบางรูปแบบ ยังสมควรมีบทกำหนดโทษทางอาญาหรือไม่

2. เพิ่มโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายให้ สูงขึ้น และพิจารณากำหนดกลไกในการ เพิ่มโทษปรับสูงสุดอัตโนมัติตามดัชนีราคา ผู้บริโภค ควรมีการสังคายนาการกำหนดโทษปรับของกฎหมายทั้งระบบให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งกำหนดให้สอดคล้องกับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และพิจารณาถึงความ น่าจะเป็นในการจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษประกอบด้วย

นอกจากนี้ เพื่อให้โทษปรับอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา หลังจากที่ได้เพิ่มโทษปรับให้อยู่ในระดับเหมาะสมตามข้อเสนอแนะข้างต้นแล้ว ควรมีการวางกลไกในการกำหนดโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายให้เพิ่มขึ้นตามดัชนีราคาผู้บริโภคโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจทำโดยการออกกฎหมายกลางว่าด้วยการกำหนดโทษปรับ

3. การลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรมควรสร้างทางเลือกในการยุติข้อพิพาทโดยไม่นำคดีเข้าสู่ระบบยุติธรรม หรือมีการกลั่นกรองในขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ในชั้นอัยการ ควรพิจารณาให้ความสำคัญยิ่งขึ้นต่อการ เบี่ยงเบน คดี การชะลอการฟ้อง และการคุมประพฤติ เพื่อลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรมที่มีปริมาณมากในแต่ละปี

ระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นระบบราชการที่มีขนาดใหญ่และใช้ทรัพยากรมาก โดยเมื่อวัดจากงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ ระบบดังกล่าว (ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์) ใช้งบประมาณสูงถึง 81,585 ล้านบาทในปี 2550 (คิดเป็นประมาณร้อยละ 5.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ)  ขณะที่มีสัดส่วนจำนวนบุคลากรในระบบยุติธรรมทางอาญา 397 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยในปี 2548 ไทยมีตำรวจ 221,215 คน บุคลากรด้านศาลยุติธรรมประมาณ 13,594 คน (ผู้พิพากษา 3,594 คน และข้าราชการธุรการประมาณ 10,000 คน) บุคลากรด้านอัยการ 4,539 คน (อัยการ 2,670 คน และข้าราชการธุรการ 1,869 คน) และเจ้าหน้าที่ด้านราชทัณฑ์ 10,978 คน

อย่างไรก็ตาม ระบบที่มีขนาดใหญ่และใช้งบประมาณจำนวนมาก กลับไม่สามารถรองรับคดีความทั้งหมดได้ จนทำให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยในปี 2549 มีคดีอาญาค้างอยู่ในทั้งสามศาลรวม 116,075 คดี ขณะที่ในปี 2550 มีนักโทษอยู่ในเรือนจำ 165,316 คน ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับของเรือนจำ

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยจึงมีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับการที่ระบบยุติธรรมจะสามารถสร้างความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง ดังคำกล่าวที่ว่า ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ก็คือความอยุติธรรม

งานวิจัยเรื่อง นิติเศรษฐศาสตร์ของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)1 จึงมุ่งศึกษาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยใช้แนวคิดของวิชา การวิเคราะห์กฎหมายด้วยเศรษฐศาสตร์หรือ นิติเศรษฐศาสตร์โดยแนวคิดดังกล่าวจะสมมติว่ามนุษย์มีเหตุผลในการเลือกดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุด เช่น ผู้เสียหายจะฟ้องคดีอาญาเมื่อการดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์สุทธิมากกว่าการดำเนินการอย่างอื่น ดังนั้น หากระบบยุติธรรมอนุญาตให้ฟ้องคดีอาญาในกรณีพิพาทส่วนบุคคล ผู้เสียหายก็จะมีแรงจูงใจในการฟ้องคดีอาญามากกว่าที่ควรจะเป็น

การศึกษาทางนิติเศรษฐศาสตร์ ทำให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประการ สำหรับปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย

ประการที่หนึ่ง การดำเนินคดีทางอาญาช่วยลดต้นทุนในการดำเนินคดีของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายมีแรงจูงใจในการเลือกดำเนินคดีทางอาญาสูงกว่าระดับที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งหมายถึงระดับที่มีการสูญเสียทรัพยากรของสังคมน้อยที่สุด เพราะกระบวนการทางอาญาใช้ทรัพยากรของรัฐ ในขณะที่กระบวนการทางแพ่งใช้ทรัพยากรของผู้เสียหายเองด้วย

ประการที่สอง การป้องปรามโดยใช้การลงโทษที่เป็นตัวเงิน เช่น การปรับ เป็นแนวทางที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพกว่าการลงโทษที่ไม่เป็นตัวเงิน อันได้แก่ การจำคุก การภาคทัณฑ์ การประหารชีวิต การระงับใบอนุญาต และการลงโทษโดยชุมชน เป็นต้น  นอกจากนี้ การจำคุกยังเป็นการแยกนักโทษออกจากตลาดแรงงาน ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสจากกำลังแรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ  อีกทั้งนักโทษมักจะมีผลิตภาพในการผลิตน้อยลง หลังจากได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากถูกแยกออกจากตลาดแรงงานเป็นเวลานาน และการมีตราบาป (stigma) จากการที่เคยถูกจำคุก ส่งผลให้หางานได้ยาก ซึ่งเป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นในการประกอบอาชญากรรมอีกครั้ง

ประการที่สาม ระดับที่เหมาะสมของค่าปรับ คือความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมกับต้นทุนในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ค่าปรับควรถูกกำหนดให้สูงขึ้น หากความน่าจะเป็นในการจับตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีมีน้อยลง

จากมุมมองทางนิติเศรษฐศาสตร์ ปัญหาของระบบยุติธรรมของไทยจึงเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ซึ่งส่งผลให้ศาลมักลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุกมากกว่าการปรับ ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลฎีกา  นอกจากนี้ กลไกการกลั่นกรองและการเบี่ยงเบนคดีที่เข้าสู่ระบบก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ  ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ดังนี้

หนึ่ง ลดบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาให้เหลือเท่าที่จำเป็น

กระบวนการยุติธรรมของไทยทำให้เกิดการฟ้องคดีมากเกินจำเป็น เพราะการกำหนดโทษทางอาญาต่อการกระทำใด ทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น ซึ่งทำให้ต้นทุนในการดำเนินคดีของผู้เสียหายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่รัฐต้องแบกรับต้นทุนแทนผู้เสียหาย จึงควรพิจารณากำหนดบทลงโทษทางอาญา โดยเฉพาะโทษจำคุก ให้เหลือเท่าที่จำเป็นสำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยควรทบทวนว่าการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นความผิดต่อบุคคลและไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดต่อแผ่นดิน เช่น คดีหมิ่นประมาท คดีที่เกี่ยวกับเช็ค หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบางรูปแบบ ยังควรมีบทลงโทษทางอาญาหรือไม่

สอง เพิ่มโทษปรับสูงสุดตามกฎหมาย และกำหนดกลไกในการเพิ่มโทษปรับสูงสุดอัตโนมัติตามดัชนีราคาผู้บริโภค

สำหรับโทษปรับสูงสุดตามกฎหมาย เมื่อปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ จะมีค่าลดลงตามเวลา เช่น มีค่าแท้จริงลดลงเหลือเพียง 1 ใน 8 ของค่าเมื่อครั้งที่มีการออกกฎหมาย สำหรับกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2499 ซึ่งทำให้โทษปรับในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าเจตนาของผู้บัญญัติกฎหมาย ขณะที่โทษจำคุกยังคงอยู่ในระดับเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงตามเวลา โทษปรับในกฎหมายส่วนใหญ่จึงต่ำเกินไป จนไม่สามารถป้องปรามการฝ่าฝืนกฎหมายได้ ทำให้ต้องหันไปใช้โทษจำคุก ซึ่งมีต้นทุนที่สูง

คณะผู้วิจัยจึงเห็นว่าควรกำหนดโทษปรับของกฎหมายทั้งระบบให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งกำหนดให้สอดคล้องกับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และควรพิจารณาถึงความน่าจะเป็นในการจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษประกอบด้วย

นอกจากนี้ เพื่อให้โทษปรับอยู่ในระดับที่เหมาะสมตลอดเวลา หลังจากเพิ่มโทษปรับตามข้อเสนอข้างต้นแล้ว ควรวางกลไกการกำหนดโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายให้เพิ่มขึ้นตามดัชนีราคาผู้บริโภคโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจทำได้โดยการออกกฎหมายกลางว่าด้วยการกำหนดโทษปรับ ซึ่งจะช่วยให้รัฐเปลี่ยนแปลงค่าปรับในแต่ละปีได้

โทษปรับที่เหมาะสม จะมีประสิทธิผลในการป้องปรามการกระทำความผิด โดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนในระดับสูงต่อสังคม  แนวทางหนึ่งในการเพิ่มบทบาทของโทษปรับ คือการนำโทษปรับตามรายได้มาใช้กับคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้โทษปรับกับคนที่มีรายได้แตกต่างกันมากได้  และการที่โทษปรับไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม การใช้โทษปรับจึงควรได้รับการหนุนเสริมด้วยโทษบริการสังคม ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่สามารถชำระค่าปรับได้  ส่วนโทษจำคุกควรใช้เฉพาะในกรณีกระทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น

สาม การลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรม

แม้ระบบยุติธรรมทางอาญาจะได้รับการปฏิรูปตามข้อเสนอข้างต้น คดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรมก็ยังอาจมีมากเกินความสามารถในการรองรับของระบบ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ควรดำเนินการควบคู่กันไป ก็คือการสร้างทางเลือกในการยุติข้อพิพาทโดยไม่นำคดีเข้าสู่ระบบยุติธรรม หรือมีการกลั่นกรองในขั้นตอนต่างๆ เช่น ในชั้นอัยการควรให้ความสำคัญกับการเบี่ยงเบนคดีหรือการชะลอการฟ้อง และในชั้นการลงโทษ ควรให้ความสำคัญกับการคุมประพฤติมากขึ้น.

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

การคุ้มครองผู้เสียหายเด็กกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

โดย พ.ต.อ.หญิง วิชาสิทธิ  สีหตุลานนท์

            (บทคัดย่อ)  การคุ้มครองสิทธิเด็กปัจจุบัน  มีกฎหมายบัญญัติ รองรับเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เช่น  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  บัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนโดยมุ่งเน้นการค้นหาความจริงจากการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน  และคุ้มครอง  บำบัดแก้ไข  ฟื้นฟู  เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้  โดยมีองค์กรต่าง ๆ  เข้ามาร่วมดำเนินการ  เริ่มตั้งแต่พนักงานตำรวจ  อัยการ  ศาล  สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก  ตลอดจนสหวิชาชีพต่าง  ๆ  แต่ในทางกลับกันผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชน  กลับไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างจริงจัง  ทั้ง  ๆ  ที่เป็นผู้เสียหายทางอาญาด้านร่างกาย  จิตใจ  รวมทั้งอาจเสียหายทางสังคมอีกด้วย  กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเริ่มตั้งแต่พนักงานตำรวจ  พนักงานอัยการ  ศาล ก็มุ่งค้นหาความจริงจากผู้เสียหายเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด  ในบางความผิด  เช่น  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ยาเสพติด  การสอบปากคำ  การสอบสวนการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดทางจิตใจ  ทำร้ายเด็กและเยาวชนซ้ำสอง  หรือให้ความเป็นธรรมโดยการค้นหาความผิดทางพยานหลักฐาน  ดังนั้น  จึงควรที่จะมีการพิจารณาการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชนให้ได้รับความเป็นธรรม  คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550  นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะมีบทบัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ หรือของเอกชน ศาลยุติธรรม ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ยึดถือว่า ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก[1]

            เด็กถือว่ามีความสำคัญต่อสังคม มีผลต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเด็กจะเป็นผู้สืบต่อซึ่งเผ่าพันธุ์ เชื้อสาย และสังคมมนุษย์ โดยสังคมมนุษย์ต้องมีสังคม  วัฒนธรรม

การพัฒนาและเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้เห็นถึงความสำคัญของเด็กที่มีต่อสังคมไว้

อย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 10  ( 2550-2554 ) กำหนดพื้นฐานการเสริมสร้างคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพคนทุกมิติอย่างสมดุลทั้งทางจิตและร่างกาย  ความรู้  ความสามารถ  บทที่ 2   ข้อ 3 กำหนดแนวทางการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ดีงามอยู่ในกรอบของศีลธรรม            มีจิตสำนึกสาธารณะ   และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   ฉบับที่ 11                ( 2555 - 2559)  บทที่ 4  ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต     อย่างยั่งยืน  ข้อ 5 แนวทางการพัฒนาเตรียมคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน ดังนั้น ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงมุ่งเน้นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 

ในศตวรรษที่ 2-3 สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งความเจริญทางด้านสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommumication )  ทุกประเทศทั่วโลกมีการแข่งขันกัน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเป็นต้นเหตุให้เกิดสภาพการแข่งขันกันทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงทำให้เกิดช่องว่างขึ้นในระหว่างชนชั้นคนจนกับคนรวย ผลที่ตามมา  คือปัญหาสังคม   และปัญหาครอบครัว ความยากจนของคนในชนบท และความแออัดของคนในเมือง ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง  ปัญหาการว่างงานมีมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความเครียดในครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก  การก่ออาชญากรรมมีมากขึ้น เมื่อสังคมครอบครัวล่มสลาย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กจึงมีปริมาณมากขึ้น ทั้งด้านปริมาณและความรุนแรง เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse)   เด็กถูกทำร้าย ( Abused) ไม่ว่าทางร่างกาย (Physical Abuse)   ทางจิตใจ (Emotional) ก็เพิ่มขึ้น  นอกจากเด็กจะเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเองแล้ว เด็กก็ยังถูกกระทำมากขึ้น ถ้าไม่มีนโยบายคุ้มครองเด็กที่เหมาะสมและจริงจัง ก็จะเปรียบเสมือนรัฐเป็นผู้กระทำซ้ำแก่เด็ก อันส่งผลให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child –C.R.C) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2532 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2533   อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีหลักการสำคัญว่าเด็กทุกคนมีสิทธิต่าง ๆ ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และประเทศสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การปกป้องคุ้มครอง   และส่งเสริมการใช้สิทธิของเด็กอย่างเต็มที่

ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 195 ประเทศ คงมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก คือ ประเทศโซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกเมื่อวันที่  27  มีนาคม 2535 โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 เป็นต้นมา

                สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน แต่เด็กเป็นกลุ่มชนที่ต้องการการปกป้องคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความสามารถ สภาวะทางร่างกาย และสติปัญญาของเด็กไม่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่ จึงต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเพื่อให้พัฒนาการและการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม ในประชาคมระหว่างประเทศเห็นความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2467   องค์การสันนิบาตชาติได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือที่เรียกว่า ปฏิญญาเจนีวา ( Declaration  of Geneva 1924) เมื่อมีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( the Universal Declaration  of  Human  Rights ) เมื่อปี พ.ศ. 2491  ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 องค์การสหประชาชาติได้พัฒนาและประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (the United Nations Declaration on the Right of the Child 1959)    แต่ไม่มีผลผูกพันกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 สหประชาชาติจึงได้พัฒนาการคุ้มครองเด็กให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  (Convention on the Right of the Child 1989 )[2]        

ปัจจุบันถือว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความสำคัญยิ่งในการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

1)           มุ่งที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก ( Protection) จากภยันตรายต่าง ๆ

2) ให้โอกาสแก่เด็กที่จะมีส่วนร่วม (Participation) ในการแก้ปัญหาของพวกเขาในทุก ๆ  เรื่อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่เด็กจะมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางตุลาการและทางการปกครอง ในลักษณะที่สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของกฎหมาย

3) ให้โอกาสเด็กได้รับการพัฒนา (Progress and Development) บุคลิกภาพอย่างเต็มที่ ในบรรยากาศแห่งความรักและความเข้าใจ

การคุ้มครองเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญในการรับประกันอนาคตที่รุ่งเรืองของชาติ หากปล่อยให้เด็กถูกทำร้ายด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต่อไปจะเป็นเหตุให้รัฐขาดกำลังสำคัญเพื่อดูแลสังคม

มาตรฐานการคุ้มครองเด็ก คือ มาตรการทางกฎหมายซึ่งต้องพิจารณาควบคู่กับวิธีการปฏิบัติที่เป็นอยู่ และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ได้เน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุคคลรวมทั้งสิทธิเด็กด้วย ได้แก่ เด็กและเยาวชน  สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในกรดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม  และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีเกี่ยวกับความทารุณทางเพศ” [3]

ปัจจุบัน  จะพบเสมอว่าเด็กและเยาวชนจะก่อปัญหาอาชญากรรมขึ้นอยู่บ่อย ๆ  และจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  เริ่มตั้งแต่ตำรวจ  อัยการ  ศาล ราชทัณฑ์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน องค์กรต่าง ๆ นี้จะมุ่งเน้นการคุ้มครอง การบำบัดแก้ไขฟื้นฟูแก่เด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิด  โดยมีการแก้ไข  เพิ่มเติม  คิดวิเคราะห์ ทั้งด้านบทบัญญัติกฎหมาย  กำหนดให้มีหน่วยงานต่าง  ๆ  มาดูแล  มากกว่าการลงโทษดังเห็นได้จากการแก้ไขพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2555  ได้มีการบัญญัติมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา[4] ไว้เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด ให้กลับคืนสู่สังคมได้ดี

แต่ในทางกลับกันการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายเด็กในคดีอาญา เกิดจากปัญหาอาชญากรรมที่ได้กระทำต่อเด็กโดยเฉพาะการทารุณทางร่างกาย ทางจิตใจ ความผิดเกี่ยวกับเพศ และยาเสพติด ในบางความผิดอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ และยาเสพติด อาจกระทำในรูปขององค์กรอาชญากรรมและมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ การที่จะสอบสวนเด็กเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน หรือการค้นหาความจริง จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีอุปสรรค มีการข่มขู่เด็ก  ทำให้เด็กหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะให้ถ้อยคำ  จึงเป็นปัญหาทำให้เด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่กล้าที่จะให้การสอบปากคำ หรือการสอบสวนอย่างถูกต้องเพื่อได้รับความเป็นธรรม  หากกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในอดีตที่ผ่านมา  ได้ให้ความสำคัญต่อ

การปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้กระทำความผิด      โดยมีหลักการคุ้มครองมุ่งเน้นการแก้ไขฟื้นฟูเฉพาะเด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด กระบวนการที่จะค้นหาความจริงและการใช้มาตรการทางอาญามีหลักในการให้ความคุ้มครองมิให้ได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงและจิตใจในระหว่างที่มีการดำเนินคดีอาญา     กฎหมายของไทยประกอบด้วยองค์กรหลัก คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน มักจะมุ่งเน้นเฉพาะการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อใช้ในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา หรือจำเลยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น   นอกจากนี้หากผู้กระทำความผิดเป็นเด็กและเยาวชนก็ยังมีกฎหมายปกป้องให้ความคุ้มครองเป็นการเฉพาะตัวอีก  เช่น การคุ้มครองมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือโฆษณาข้อความที่ปรากฏในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือในทางการพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุลของเด็ก หรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา โดยการทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู[5]  แต่ในกระบวนการ ยุติธรรมของไทยเราได้ละเลยการให้ความคุ้มครองต่อผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในคดีอาญามานาน ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำในที่เหมาะสม ประกอบกับให้มีสหวิชาชีพได้แก่  พนักงานสอบสวน  พนักงานอัยการ  นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วมในการสอบปากคำด้วย[6]    เด็กเหล่านี้อาจได้รับความเสียหายต่อจิตใจหรือชื่อเสียง อันเกิดจากกระบวนการการดำเนินคดีอาญาที่มุ่งเน้นการค้นหาความจริงได้ให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาเท่านั้น แต่สภาพจิตใจของผู้เสียหายเด็กไม่ได้แตกต่างจากเด็กที่เป็นผู้ต้องหา โดยเฉพาะในความผิดเกี่ยวกับเพศ สภาพจิตใจของเด็กเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแล คุ้มครองมากกว่าในกรณีอื่น ๆ หากมีการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมเหมือนคดีอาญาทั่วไป ๆ เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผู้เสียหายต้องเปิดเผยเรื่องทั้งหมด  รายละเอียดของการกระทำต่าง ๆ ต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์   หรือนักจิตวิทยา เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่นี้อาจเป็นผู้ชาย เมื่อกระบวนการดำเนินการถึงชั้นศาล ผู้เสียหายอาจต้องเบิกความซ้ำอีก เด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบต่อจิตใจมากขึ้น เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ซ้ำเติมความเสียหายและความเจ็บปวดให้แก่ผู้เสียหายเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบสวนเพื่อรวบรวบพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้ความชัดเจนทั้งในข้อเท็จจริง  การใช้ภาษาสื่อความหมาย การใช้คำถามที่มีลักษณะเป็นภาษากฎหมาย รายละเอียดเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อการตอบคำถามของผู้เสียหายเด็กทั้งสิ้น

            เมื่อพิจารณาการคุ้มครองผู้เสียหายจากสื่อต่าง ๆ  ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้เสียหายเด็กและเยาวชนจะถูกสื่อต่าง ๆ เผยแพร่สู่สาธารณเสมอ  แม้ครั้งอาจมีเพียงภาพที่เลือนลาง  หรือการปิดหน้าบางส่วนเท่านั้น มีการสัมภาษณ์  การเล่าเหตุการณ์ ทำให้ สาธารณชนอาจรู้จัก จำได้  รู้ชื่อตัว ประวัติของเด็กและเยาวชนในฐานะเป็นผู้เสียหาย  กรณีดังกล่าวนี้จะเป็นการซ้ำเติม หรือตอกย้ำความเจ็บปวดของผู้เสียหายซ้ำสองหรือไม่ เพราะ กระบวนการยุติธรรมมุ่งคุ้มครองผู้ต้องหาเด็กหรือเยาวชนมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือในทางการพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุลของเด็ก หรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 130  ที่บัญญัติคุ้มครองเฉพาะผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชน  เท่านั้น

            บทสรุป  กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยควรที่จะมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชนให้เท่าเทียมกับผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนเริ่มตั่งแต่กระบวนการการสอบปากคำ  การสอบสวน การถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ การพิจารณาคดี การบำบัดแก้ไขฟื้นฟู ตลอดจนการได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐ  หรือองค์กรต่าง ๆ  ที่มุ่งคุ้มครองเด็กเป็นกรณีพิเศษ

จากบทสรุป  เพื่อให้การคุ้มครองผู้เสียหายเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้รับความคุ้มครองอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่เจตนาคุ้มครองเด็กและเยาวชนทกคนโดยเสมอภาค จึงเห็นควรดำเนินการ  ดังนี้

สำนักงานอัยการสูงสุด ควรกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการอย่างชัดเจน  โดยกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยการออกระเบียบปฏิบัติให้ชัดเจน  เพราะหากพนักงานอัยการมีบทบาทในการสอบสวน  รวบรวมพยานหลักฐาน ก็จะเป็นผู้ทราบว่าสำนวนคดีนั้นสมบูรณ์เรียบร้อย สมควรพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่  จะไม่มีอำนาจในการสั่งสอบเพิ่มเติมตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้ไว้  เพราะเป็นผู้สอบสวนตั้งแต่เริ่มแรก ไม่เกิดความซ้ำซ้อน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ให้มีนักจิติทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายเด็ก ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ  เช่น  ความขาดแคลนบุคลากร  ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่  จึงควรเพิ่มอัตรากำลังนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับการอบรมสามารถเข้าใจจิตใจเด็กหรือเยาวชน เปิดโอกาสให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์โดยให้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่  หรือนักสังคมสงเคราะห์เจ้าของเรื่อง ช่วยกันสืบเสาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน  ตลอดจนเวลาปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ  นักจิตวิทยา  หรือสังคมสงเคราะห์  โดยให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ร่วมในการสอบปากคำจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนของพนักงานอัยการ และนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์สามารถดำเนินการได้ในเวลาราชการ  ไม่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่

ข้อเสนอแนะนี้  จะช่วยให้เจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวการคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการปกป้อง  คุ้มครอง แก้ไข  ฟื้นฟู ให้กลับคืนสู่สังคมได้  และยังเสริมสร้างเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพต่อไป  ดังนั้นทุกหน่วยงานจึงควรมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยให้ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

การเมือง : บทวิเคราะห์

นักวิชาการเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

โดย : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย

บทวิเคราะห์

นักวิชาการเห็นพ้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม

ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่การระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลและระบบยุติธรรมทางอาญาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะก่อให้เกิดต้นทุนอย่างมหาศาลต่อระบบยุติธรรมของประเทศแล้วยังทำให้เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่ำ อาจไม่ทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมร่วมกันแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นำเสนอผลการศึกษาโดยสรุปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท ข้อเสนอแนะหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ หนึ่ง การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะในคดีเช็คและคดีหมิ่นประมาท สอง การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และสาม การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะการนำโทษปรับตามรายได้ (day fines) มาใช้ ทั้งนี้ ลำพังแนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันกว่าปีละ 2 พันล้านบาท โดยจะช่วยลดจำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมมีทรัพยากรเพียงพอในการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่สำคัญกว่าได้

นักวิชาการในสถาบันการศึกษาให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดย ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากข้อพิพาทบางอย่างนั้น ผู้เสียหายมีทางเลือกในการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ได้ เช่น คดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท ในประเทศไทยนั้น ต้นทุนในการดำเนินคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จึงเลือกดำเนินคดีอาญาเนื่องจากต้นทุนดำเนินการอิงกับงบประมาณของรัฐ ต่างจากคดีแพ่งที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ผลของการกระทำนี้ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินคดีแทนเอกชน ทั้ง ๆ ที่รัฐควรจะเอาต้นทุนเหล่านี้ไปดำเนินคดีที่เป็นความสงบของสังคม เช่น คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย คดียาเสพติด ฯลฯ มากกว่า

ขณะที่ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกของสหประชาชาติ โดยทางเลือกในการลงโทษที่น่าสนใจในงานศึกษานี้ คือ การทำงานบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรเน้นประชาสัมพันธ์ให้มาก ส่วนการใช้โทษปรับตามรายได้อาจทำเป็นโครงการทดลองระยะสั้นก่อนเพื่อศึกษาอัตราโทษและการบังคับใช้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ดร.จุฬารัตน์ ยังเสนอแนะให้มีการใช้ข้อมูลที่ต้นทางโดยระบุว่า ข้อมูลคดีในงานศึกษานี้มาจากข้อมูลคดีอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากข้อมูลสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศ ในรอบปี พ.ศ.2550 จะพบว่า ข้อมูลอาชญากรรมที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการผ่านพนักงานสอบสวนมีเพียง 34.8 % เท่านั้น ที่เหลืออีก 65.2 % เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ตัวเลขมืด” ( dark figure) ที่มีต้นทุนอีกมหาศาล

ส่วนความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้น นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มุมมองที่ได้จากงานวิจัยทำให้เห็นภาพชัดเจน 2 ประการ คือ ประการแรก กฎหมายของไทยมีโทษทางอาญามากเกินไป และผลักภาระให้ประชาชน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า รวมถึงเรื่องวิดีทัศน์ ซึ่งไม่ควรเป็นคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ส่วนตน ประการที่สอง ระบบกล่าวหาที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยมากเกินไป รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวนที่เคร่งครัดมากในเรื่องหลักประกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก แต่กลับใช้การควบคุมตัวเป็นหลักปล่อยตัวชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ทั้งนี้ นายสัก เสนอเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนกระบวนการยุติธรรมเป็นวิธีที่ดี แต่ ยังต้องมีการลงทุน เสริมอื่นๆ ด้วย เช่น ในชั้นพนักงานสอบสวน หากสามารถมีพนักงานสอบสวนที่มีคุณภาพ จะทำให้ได้สำนวนคุณภาพที่ต้นทาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการทั้งหมดได้

ในส่วนของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นเกี่ยวกับการนำโทษปรับมาใช้แทนจำคุกต่างๆ กันไป โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม เห็นว่า แม้การเพิ่มโทษปรับทางอาญา และการนำ ค่าปรับตามรายได้มาใช้จะสามารถทำได้ แต่การที่มีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจำนวนมาก แต่ไม่มีสภาพบังคับ จะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เกรงกลัว และไม่เคารพกฎหมาย นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนมักใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเพราะกระบวนการทางแพ่งไม่ได้ผลดีหรือมีประสิทธิภาพเท่ากระบวนการทางอาญา จึงต้องทำให้มาตรการทางแพ่งมีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้จริง ขณะที่ นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ความเห็นว่า หลักการทดแทนการใช้โทษจำคุกที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งมิใช่การใช้โทษปรับเพียงอย่างเดียว โทษจำคุกจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้โทษอย่างอื่นได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทย คือ ความไม่สมดุลของโทษปรับและโทษจำคุก เช่น ความผิดฐานบุกรุกมีโทษจำคุก 1 ปีแต่โทษปรับเพียง 2,000 บาท หากเปลี่ยนโทษปรับเป็นโทษกักขังแทนค่าปรับ คือ ศาลจึงถูกบีบบังคับให้ใช้โทษจำคุก

นอกจากนี้ นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานพิเศษ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย ยังเสนอความเห็นเกี่ยวกับการลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มเติมว่า การที่พนักงานอัยการที่ต้องฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวจำนวนมาก เป็นการนำ บุคลากร ในกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีให้เอกชน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หากอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว ผู้เสียหายจะต้องจ้างทนายเพื่อฟ้องคดีเอง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนคดีประเภทดังกล่าวได้ .

ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ppt

 การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีศักยภาพ!

                ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีศักยภาพ!

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์

       ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่สารระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลและระบบยุติธรรมทางอาญาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบปัญหาดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะก่อให้เกิดต้นทุนอย่างมหาศาลต่อระบบยุติธรรมของประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่ำ อาจไม่ทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

       สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมร่วมกันแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

       ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยนำเสนอผลการศึกษา โดยสรุปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท ข้อเสนอแนะหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ 1.การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะในคดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท 2.การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และ 3.การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะการนำโทษปรับตามรายได้ (day fines) มาใช้ ทั้งนี้ ลำพังแนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันกว่าปีละ 2 พันล้านบาท โดยจะช่วยลดจำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมมีทรัพยากรเพียงพอในการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่สำคัญกว่าได้

       นักวิชาการในสถาบันการศึกษาให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดย ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น เนื่องจากข้อพิพาทบางอย่างนั้น ผู้เสียหายมีทางเลือกในการดำเนินคดีแพ่ง หรือคดีอาญาก็ได้ เช่น คดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท ในประเทศไทยนั้น ต้นทุนในการดำเนินคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จึงเลือกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากต้นทุนดำเนินการอิงกับงบประมาณของรัฐ ต่างจากคดีแพ่งที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

       ผลของการกระทำนี้ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินคดีแทนเอกชน ทั้งๆ ที่รัฐควรจะเอาต้นทุนเหล่านี้ไปดำเนินคดีที่เป็นความสงบของสังคม เช่น คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย คดียาเสพติด ฯลฯ มากกว่า

       ขณะที่ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกของสหประชาชาติ โดยทางเลือกในการลงโทษที่น่าสนใจในงานศึกษานี้ คือ การทำงานบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรเน้นประชาสัมพันธ์ให้มาก ส่วนการใช้โทษปรับตามรายได้อาจทำเป็นโครงการทดลองระยะสั้นก่อน เพื่อศึกษาอัตราโทษและการบังคับใช้ที่เหมาะสม

       นอกจากนี้ ดร.จุฬารัตน์ ยังเสนอแนะให้มีการใช้ข้อมูลที่ต้นทาง โดยระบุว่า ข้อมูลคดีในงานศึกษานี้มาจากข้อมูลคดีอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากข้อมูลสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศ ในรอบปี พ.ศ.2550 จะพบว่า ข้อมูลอาชญากรรมที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการผ่านพนักงานสอบสวนมีเพียง 34.8% เท่านั้น ที่เหลืออีก 65.2% เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ตัวเลขมืด” (dark figure) ที่มีต้นทุนอีกมหาศาล

       ส่วนความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้น นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มุมมองที่ได้จากงานวิจัยทำให้เห็นภาพชัดเจน 2 ประการ คือ ประการแรก กฎหมายของไทยมีโทษทางอาญามากเกินไป และผลักภาระให้ประชาชน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า รวมถึงเรื่องวิดีทัศน์ ซึ่งไม่ควรเป็นคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ส่วนตน ประการที่สอง ระบบกล่าวหาที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยมากเกินไป รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวนที่เคร่งครัดมากในเรื่องหลักประกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก แต่กลับใช้การควบคุมตัวเป็นหลักปล่อยตัวชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น

       นายสัก เสนอเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนกระบวนการยุติธรรมเป็นวิธีที่ดี แต่ยังต้องมีการลงทุนเสริมอื่นๆ ด้วย เช่น ในชั้นพนักงานสอบสวน หากสามารถมีพนักงานสอบสวนที่มีคุณภาพ จะทำให้ได้สำนวนคุณภาพที่ต้นทาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการทั้งหมดได้ ในส่วนของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นเกี่ยวกับการนำโทษปรับมาใช้แทนจำคุกต่างๆ กันไป

       โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม เห็นว่า แม้การเพิ่มโทษปรับทางอาญา และการนำ ค่าปรับตามรายได้มาใช้จะสามารถทำได้ แต่การที่มีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจำนวนมาก แต่ไม่มีสภาพบังคับ จะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เกรงกลัว และไม่เคารพกฎหมาย นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนมักใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเพราะกระบวนการทางแพ่งไม่ได้ผลดีหรือมีประสิทธิภาพเท่ากระบวนการทางอาญา จึงต้องทำให้มาตรการทางแพ่งมีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้จริง

       ขณะที่ นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ความเห็นว่า หลักการทดแทนการใช้โทษจำคุกที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งมิใช่การใช้โทษปรับเพียงอย่างเดียว โทษจำคุกจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้โทษอย่างอื่นได้แล้ว

       อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทย คือ ความไม่สมดุลของโทษปรับและโทษจำคุก เช่น ความผิดฐานบุกรุกมีโทษจำคุก 1 ปี แต่โทษปรับเพียง 2,000 บาท หากเปลี่ยนโทษปรับเป็นโทษกักขังแทนค่าปรับ คือ ศาลจึงถูกบีบบังคับให้ใช้โทษจำคุก

       ด้าน นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานพิเศษ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย ยังเสนอความเห็นเกี่ยวกับการลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรม เพิ่มเติมว่า การที่พนักงานอัยการที่ต้องฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวจำนวนมาก เป็นการนำบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีให้เอกชน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หากอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว ผู้เสียหายจะต้องจ้างทนายเพื่อฟ้องคดีเอง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนคดีประเภทดังกล่าวได้

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ppt