การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3

Enfa สรุปให้

Show
  • การท้องไตรมาส 3 คือการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 27-40 สัปดาห์ หรืออยู่ในช่วงเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์

  • ไตรมาส 3 คือไตรมาสสุดท้ายของกระบวนการตั้งครรภ์ และจะมีการคลอดเกิดขึ้น เมื่อการคลอดจบลง ก็จะถือว่าสิ้นสุดการตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์

  • โดยพัฒนาการที่สำคัญของทารกในไตรมาสสุดท้ายก็คือ ทารกเริ่มกลับหัวลงอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด ในส่วนของระบบและอวัยวะต่าง ๆ ทารกก็พัฒนามาจนสิ้นสุดกระบวนการ และพร้อมที่จะเริ่มต้นทำงานต่อเนื่องทันทีหลังจากคลอด

การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3

เลือกอ่านตามหัวข้อ

• ท้องไตรมาส 3 คืออะไร
• อาการคนท้องไตรมาส 3
• พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาส 3
• เคล็ดลับดูแลครรภ์ในไตรมาส 3
• อาหารคนท้องไตรมาส 3
• ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ไตรมาส 3 กับ Enfa Smart Club

การตั้งครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ในแต่ละไตรมาส ทั้งแม่และทารกในครรภ์ก็จะมีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ วันนี้ Enfa เดินทางมาถึงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะลืมตาออกมาดูโลกกว้าง มาดูกันว่าในไตรมาส 3 นี้ ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง พัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างไร และคุณแม่มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษหรือเปล่า 

ท้องไตรมาส 3 คืออะไร


การตั้งครรภ์ปกติจะกินเวลายาวนานถึง 40 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน โดยใน 9 เดือนนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส การท้องไตรมาส 3 คือการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 27-40 สัปดาห์ หรืออยู่ในช่วงเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ 

ไตรมาส 3 คือไตรมาสสุดท้ายของกระบวนการตั้งครรภ์ และจะมีการคลอดเกิดขึ้น เมื่อการคลอดจบลง ก็จะถือว่าสิ้นสุดการตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ 

การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3
การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3

อาการคนท้องไตรมาส 3


คนท้องไตรมาส 3 ยังคงพบกับอาการคนท้องอีกมากมายหลาย ทั้งยังพบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มากขึ้นด้วย เรียกได้ว่าแม้จะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แต่อาการคนท้องก็ยังประเดประดังเกิดขึ้นอยู่เหมือนเดิม

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาส 3 มีดังนี้

  • ปวดหลัง เนื่องจากขนาดครรภ์ของคุณแม่โตขึ้นมาก ทำให้น้ำหนักและแรงกดทับต่าง ๆ ถูกส่งไปที่หลัง ประกอบกับฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ยังส่งผลให้อวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนตัวลง ทำให้มีอาการปวดหลังตามมา 

  • กรดไหลย้อน เนื่องจากมดลูกและทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงดันเอาอวัยวะสำคัญ ๆ อย่างกระเพาะอาหาร หลอดอาหารขึ้นไปอยู่ข้างบน เวลาที่กินอาหารเข้าไปนิด ๆ หน่อย ๆ คุณแม่จึงรู้สึกว่ามีอาการกรดไหลย้อนง่าย  

  • มีอาการเจ็บครรภ์เตือนบ่อย อาการเจ็บครรภ์เตือน หรือมดลูกหดรัดตัวตามปกติระหว่างตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยอาจจะเกิดขึ้นหลังจากการมีเซ็กซ์ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นยืน หรือการเดิน ซึ่งอาการเจ็บครรภ์นี้จะปวดแล้วหายไป แต่จะยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้นจริง ๆ 

  • รอยแตกลาย ช่วงไตรมาส 3 นี้ คุณแม่หลายคนมีลอยแตกลายเกิดขึ้นที่หน้าท้องอย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากทารกมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ผิวหนังหน้าท้องก็ต้องขยายตัวตามขนาดของทารกไปด้วย การขยายตัวนี้จึงอาจทำให้เกิดการแตกหรือฉีกขาดของผิวหนัง จนเกิดเป็นรอยแตกลาย 

  • น้ำหนักขึ้น ช่วงไตรมาส 3 นี้ นอกจากคุณแม่จะกินเยอะมากขึ้น เพื่อเพิ่มน้ำหนักตามที่แพทย์แนะนำ และทารกก็มีขนาดตัวใหญ่ขึ้นไปอีก ส่งผลให้น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มขึ้น 

  • หน้าท้องใหญ่ขึ้น เพราะมดลูกและทารกมีขนาดใหญ่มากขึ้น ขนาดท้องจึงมีการขยายตามการเติบโตของทารกในครรภ์ ด้วยขนาดครรภ์ที่ใหญ่มากนี้ ทำให้คุณแม่มักจะรู้สึกอึดอัดและอุ้ยอ้ายเวลาที่จะลุก เดิน นั่ง หรือแม้กระทั่งตอนนอน 

  • อ่อนเพลียง่ายแต่หลับยาก คุณแม่อ่อนเพลียง่ายเพราะด้วยขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เหมือนต้องแบกน้ำหนักนั้นไปมาตลอดเวลา จึงทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นเพียงการเดินก้าวสั้น ๆ ก็ตาม มากไปกว่านั้น คุณแม่ในไตรมาสนี้ยังนอนหลับยาก เพราะรู้สึกอึดอัด และนอนไม่สบายตัวเนื่องจากมีขนาดครรภ์ที่ใหญ่จนอึดอัด 

พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาส 3


ทารกในครรภ์ไตรมาส 3 ได้พัฒนาระบบและอวัยวะต่าง ๆ มาจนสิ้นสุดกระบวนการ และพร้อมที่จะเริ่มต้นทำงานต่อเนื่องทันทีหลังจากคลอด 

โดยในช่วงไตรมาส 3 นี้ ทารกจะมีพัฒนาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 

  • กระดูกแข็งขึ้น จากกระดูกอ่อนที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ไตรมาสแรก เมื่อถึงไตรมาสสุดท้าย กระดูกอ่อนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นกระดูกที่แข็งแรง ซึ่งช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพราะทารกจะดึงเอาแคลเซียมจากแม่ไปใช้ในการสร้างมวลกระดูกด้วย 

  • ประสาทสัมผัสของทารกเริ่มทำงาน ทารกจะเริ่มสัมผัสได้ถึงแสงต่าง ๆ ได้ยินเสียง ตลอดจนรับรู้รสชาติของอาหารได้ด้วย 

  • สมองพัฒนาเร็วขึ้น ช่วงโค้งสุดท้ายนี้สมองของทารกในครรภ์จะพัฒนาเร็วอย่างก้าวกระโดด และเริ่มสั่งการให้อวัยวะอื่น ๆ ทำงานตั้งแต่การกระพริบตา การฝัน ตลอดจนการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายด้วย 

  • ระบบการย่อยอาหารเริ่มทำงาน ลำไส้เริ่มกระบวนการย่อยอาหาร แม้ว่าระบบย่อยอาหารของทารกจะยังไม่แข็งแรงนัก แต่ก็พร้อมที่จะย่อยอาหารและสารอาหารได้หลังจากที่คลอด มากไปกว่านั้น ทารกในครรภ์จะเริ่มมีอุจจาระก่อตัวในลำไส้ ซึ่งมักจะถูกขับออกมาในระหว่างคลอด หรือที่เรียกว่า ขี้เทา ซึ่งเป็นอุจจาระครั้งแรกของทารก 

  • ทารกในครรภ์สามารถที่จะอมนิ้วมือ และเริ่มที่จะร้องไห้ได้ แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถรับรู้ได้ก็ตาม 

  • ไตและปอดพัฒนาอย่างเต็มที่ เมื่อถึงไตรมาส 3 ระบบไตและปอดที่ทารกเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ไตรมาสก่อน ก็ยังคงพัฒนาต่อเนื่อง และพร้อมสำหรับการใช้งานเต็มรูปแบบหลังคลอด 

  • ทารกมีการสร้างกล้ามเนื้อและไขมันเพิ่มมากขึ้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายทารกจะเพิ่มกล้ามเนื้อและไขมันมากขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์ 

  • ทารกเริ่มกลับหัว เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด ทารกจะเริ่มกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน เป็นสัญญาณว่าทารกพร้อมแล้วที่จะคลอดออกมาดูโลกกว้าง 

คุณแม่จะช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้อย่างไร


ในช่วงไตรมาส 3 คุณแม่ยังจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพเช่นเดิมค่ะ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ยังคงแข็งแรง  

โดยคุณแม่สามารถดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

  • ดูแลเรื่องน้ำหนัก คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องเพิ่มน้ำหนักให้ได้ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม ในไตรมาสนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเพิ่มน้ำหนักมากไปหรือน้อยไปหรือเปล่า เพราะถ้าคุณแม่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทารกก็จะมีขนาดตัวใหญ่ตามไปด้วย อาจเสี่ยงที่จะต้องมีการผ่าคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด แต่ถ้าน้ำหนักตัวคุณแม่น้อยเกินไป ก็เสี่ยงที่ทารกอาจจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย 

  • นับลูกดิ้น การนับลูกดิ้นจะช่วยให้คุณแม่ยังสามารถติดตามพัฒนาการของลูกได้ ว่ายังปกติอยู่หรือไม่ หากลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้งใน 1-2 ชั่วโมง ถือว่าอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์ 

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้คุณแม่และทารกได้รับสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องและเพียงพอจนกระทั่งคลอด 

  • เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ แม้ว่าร่างกายของคุณแม่จะอุ้ยอ้ายจนทำอะไรไม่ค่อยถนัด แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นนะคะ หากไม่สะดวกที่จะทำกิจกรรมอย่างว่ายน้ำ หรือโยคะ แค่เพียงการเดินก็ถือว่าดีต่อการตั้งครรภ์แล้วค่ะ 

  • ไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์ แม้ว่าจะเป็นไตรมาสสุดท้าย และทารกพร้อมที่จะคลอดแล้ว แต่...อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ การไปตรวจโดยละเอียดกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้รับรู้ความเสี่ยงและเตรียมตั้งรับได้ทัน เพราะยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่อาจจะมีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือต้องมีการผ่าคลอดได้ค่ะ 

อาหารคนท้องไตรมาส 3 


อาหารบํารุงครรภ์ไตรมาส 3 ยังจำเป็นจะต้องใส่ใจกับสารอาหารสำคัญอยู่เช่นเดิมค่ะ เพราะถ้าหากขาดไปอาจมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยกลุ่มสาอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ 

1. อาหารที่มี DHA สูง 

ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ 

2. อาหารที่มีโปรตีนสูง 

โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ ตัวอย่างอาหารที่มีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ ประมาณ 75 – 110 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของคุณแม่ และไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยคำนวณง่าย ๆ คือในหนึ่งมื้ออาหาร ควรมีโปรตีนประมาณ 30 - 40% ของอาหารที่กินนั่นเอง 

3. อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง 

อาหารที่มีธาตุเหล็ก ถือเป็น อาหารคนท้องที่สำคัญอีกหนึ่งชนิด เพราะสามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้น คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น  

4. อาหารที่มีโฟเลตสูง 

กรดโฟลิก หรือโฟเลต ก็เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม เพราะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับโฟเลตอย่างน้อย 600-800 มิลลิกรัมต่อวัน จากการกินอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น 

5. อาหารที่มีแคลเซียมสูง 

อย่างที่รู้กันว่า แคลเซียมนั้นมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเจริญเติบโตของลูกน้อย ยิ่งทำให้คุณแม่ต้องบำรุงร่างกายเพิ่มเติมพร้อมเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยปกติ ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งหาได้จากการกินอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น 

6. อาหารที่มีไอโอดีนสูง 

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัมต่อวัน ไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา 

7. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 

การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้ 

8. อาหารที่มีโคลีนอย่างเพียงพอ 

โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอ หรือประมาณ 450 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้ 

9. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง 

ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 25-35 กรัมในแต่ละวัน โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ 

10. อาหารที่มีโอเมก้า 3 

โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 200-300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพราะโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของทารกมีการพัฒนาและเจริญเติบโตสูงสุด มากไปกว่านั้น การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอขณะตั้งครรภ์ ยังอาจช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควบคุมอารมณ์แปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย  

การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3
 

อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณแม่อาจมีอาการแพ้อาหารบางอย่าง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถรับสารอาหารที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีอาการแพ้นมวัว แพ้นมถั่วเหลือง หรือแพ้ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง การเลือกดื่มนมที่เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ง่าย และช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ 

ที่สำคัญคือ ควรเลือกนมที่ให้สารอาหารสำคัญอย่าง DHA, โฟเลต, แคลเซียม, โคลีน, ไอโอดีน, ธาตุเหล็ก ในปริมาณที่เพียงต่อต่อความร่างกายของแม่ตั้งครรภ์

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ไตรมาส 3 กับ Enfa Smart Club


 อารมณ์คนท้องไตรมาส 3 แปรปรวน หงุดหงิด ปกติไหม? 

โดยมากแล้วแม่ท้องไตรมาส  3 มักจะมีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าสูง  

อย่างไรก็ตาม แม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณแม่บางคนอาจมีอาการหงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวนได้ ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์นั่นเอง 

 ท้องไตรมาสสุดท้าย เบื่ออาหาร ควรทำยังไง? 

แม้จะเบื่ออาหาร แต่ก็ควรพยายามกินอาหารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรืออาจจะแบ่งอาหารออกเป็นหลาย ๆ มื้อแทนที่จะพยายามกินให้เยอะและกินให้หมดในมื้อเดียว 

 ท้องไตรมาส 3 ควรกินอะไร? 

คนท้องไตรมาส 3 ควรกินอาหารที่หลากหลาย และเน้นเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อเสริมให้สุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง ดังนี้ 

  • อาหารที่มี DHA สูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น 

  • อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ 

  • อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง สามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น  

  • อาหารที่มีโฟเลตสูง ที่มีอยู่มากในอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น 

  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง หาได้จากอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น 

  • อาหารที่มีไอโอดีนสูง โดยไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา 

  • อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ขนมปัง ผัก และผลไม้ต่าง ๆ  

  • อาหารที่มีโคลีนอย่างเพียงพอ พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น  

  • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง พบได้มากในอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ 

  • อาหารที่มีโอเมก้า 3 พบได้ในปลาทะเลต่าง ๆ ธัญพืช รวมถึงอาหารเสริมโอเมก้า 3 เช่น น้ำมันปลา หรือน้ำมันตับปลา เป็นต้น 

 ท้องไตรมาส 3 นอนไม่หลับ ปกติไหม? 

เป็นเรื่องปกติค่ะที่คุณแม่ในไตรมาส 3 มักจะนอนไม่หลับ สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้น ทำให้นอนไม่สบายตัว พลิกตัวลำบาก กว่าจะหลับแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลานานขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่นอนไม่หลับหลายวันติดกัน แม้ว่าจะพยายามข่มตานอนให้หลับแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล ควรหาเวลาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดนะคะ เพราะว่าการพักผ่อนที่เพียงพอ ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ค่ะ 

 ท้องไตรมาส 3 เวียนหัว ปกติไหม? 

โดยปกติแล้วอาการวิงเวียนศีรษะมักจะพบได้บ่อยในไตรมาสแรก หรือไตรมาสสอง แต่ก็เป็นไปได้ว่าคุณแม่ไตรมาสสุดท้าย ก็ยังสามารถพบกับอาการวิงเวียนศีรษะได้เหมือนกันค่ะ คุณแม่หลาย ๆ คนก็พบว่ามีอาการแพ้ท้องยาวยันไตรมาส 3 ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอาการผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ 

ท้องไตรมาส 3 หายใจไม่สะดวก ควรทำยังไง? 

หากคุณแม่หายใจไม่สะดวก ให้พยายามเปลี่ยนท่านั่ง เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวกขึ้น หรือหาหมอนมาหนุนที่หลังและไหล่ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นในเวลานอน 

 ท้องไตรมาส 3 นอนท่าไหน? 

ท่านอนที่เหมาะสมกับคนท้องไตรมาส 3 คือท่านอนตะแคงข้าง เพราะช่วยลดการกดทับหลอดเลือด และลดแรงกดต่อหลัง ช่วยให้คุณแม่ไม่ปวดหลัง และลดความเสี่ยงของการกดทับหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและทารกในครรภ์ได้ไม่เต็มที่ มากไปกว่านั้น ท่านอนตะแคงยังช่วยให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวตัวได้อย่างสะดวกด้วย

การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3


    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    • อาหารคนท้อง เลือกให้ดี กินให้เหมาะ แข็งแรงทั้งแม่และลูก
    • ท้องไตรมาสแรก เคล็ดลับและคำแนะนำที่ควรรู้สำหรับคุณแม่
    • เคล็ดลับและคำแนะนำที่ควรรู้สำหรับแม่ท้องไตรมาส 2
    • ท้อง 7 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 7 เดือนเป็นอย่างไร
    • ท้อง 8 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 8 เดือนเป็นอย่างไร
    • ท้อง 9 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 9 เดือนเป็นอย่างไร