พระราชบัญญัติ การบัญชี พ ศ 2543 มาตรา 11


1. ความเป็นมา
พระราชบัญญัติการบัญชีนี้ประกาศบังคับใช้เป็นครั้งแรกตาม พรบ. การบัญชีฉบับ พ.ศ. 2482 และได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวะหลายครั้ง คือ ครั้งที่ 1 โดยพระราชบัญญัติการบัญชี ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2496 ครั้งที่ 3 โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 และฉบับที่แก้ไขครั้งสุดท้ายที่เราจะได้พูดถึงกัน คือ พรบ. การบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้มีการนำพระราชบัญญัติฉบับนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป
2. สาระสำคัญของ พรบ. การบัญชี 2543
พระราชบัญญัติการบัญชีฉบับใหม่นี้ได้มีการแก้ไขหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในสาระสำคัญ คือ
1) แก้ไขผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจากเดิมที่กำหนดให้บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด นิติ- บุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายต่างประเทศมีหน้าที่จัดทำบัญชี แต่ตาม พรบ. ใหม่นี้กำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลเท่านั้นที่มีหน้าที่จัดทำบัญชีและเพิ่มกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
2) กำหนดให้ผู้ทำบัญชีต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของธุรกิจ โดยแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างผู้ทำหน้าที่และผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีให้ชัดเจนจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้เฉพาะผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
3) ลดภาระของธุรกิจในการเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีจาก 10 ปี เหลือ 5 ปี
4) กำหนดให้การจัดทำบัญชีต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
5) เพิ่มวิธีการลงรายการให้รวมถึงการทำด้วยวิธีอื่นใดที่ได้ผลทำนองเดียวกับการเขียนด้วยหมึก ดีดพิมพ์ ซึ่งทำให้สามารถลงบัญชีด้วยคอมพิวเตอร์ได้
6) ยกเว้นให้งบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีทุน สินทรัพย์ หรือรายได้ไม่เกินที่กำหนดไม่ต้องรับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
3. ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (มาตรา 7(6) มาตรา และมาตรา 9)
ให้อธิบดีกรมทะเบียนการค้ามีอำนาจกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมายฉบับนี้
ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี กำหนดวันที่ต้องเริ่มทำบัญชี
- ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน- บริษัทจำกัด / บริษัทมหาชนจำกัด- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจ ในประเทศไทย- กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร - วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล- วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล- วันที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย- วันที่ได้เริ่มต้นประกอบกิจการ
4. หน้าที่ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (เจ้าของกิจการ)
4.1 จัดให้มีการทำบัญชีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 7)
4.2 ปิดบัญชีและจัดทำงบการเงินโดยมีรายการย่อตามที่อธิบดีกำหน โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีพร้อมทั้งยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ (มาตรา 10 และ 11)
4.3 ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้แก่ผู้ทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน (มาตรา 12)
4.4 จัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบ และแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เว้นแต่งบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีทุน สินทรัพย์ หรือรายได้ รายการใดรายการหนึ่งหรือทุกรายการไม่เกินที่กำหนด (มาตรา 11 วรรค 4)
4.5 เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ทำการโดยเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี (มาตรา 13 - 14)
4.6 จัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกำหนด (มาตรา 19)
4.7 ควบคุมดูแลผู้ทำบัญชีให้จัดทำบัญชีให้ตรงต่อความเป็นจริงและถูกต้องตามกฎหมาย (มาตรา 19)
5. หน้าที่ของผู้ทำบัญชี (พนักงาน)
5.1 จัดทำบัญชีเพื่อให้มีการแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินหรือการเปลี่ยน แปลงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี โดยมีเอกสารฯ ให้ถูกต้องครบถ้วน (มาตรา 20)
5.2 ลงรายการในบัญชีเป็นภาษาไทย หากลงรายการเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ หรือลงรายการเป็นรหัสบัญชีให้มีคู่มือคำแปลรหัสที่เป็นภาษาไทยไว้ (มาตรา 21)
5.3 ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี รวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชีไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
6. การผ่อนผันสำหรับผู้ทำบัญชีในปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ครบ (บทเฉพาะกาลมาตรา 42 วรรคสอง)
6.1 เคยทำบัญชีอยู่ก่อนไม่น้อยกว่า 5 ปี
6.2 ต้องแจ้ง (จดทะเบียน) ต่ออธิบดีภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พรบ. นี้ใช้บังคับ (60 วันนับจาก 10 สิงหาคม 2543)
6.3 เข้ารับการอบรมฯ และสำเร็จการอบรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
6.4 ให้ทำบัญชีต่อไปได้อีก 8 ปี
6.5 ต้องศึกษาต่อเพื่อให้มีคุณสมบัติครบ
7. การตรวจสอบงบการเงิน
ลดการตรวจสอบงบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตลง โดยยกเว้นให้งบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนตามกฎหมายไทยที่มีทุน สินทรัพย์หรือรายได้ รายการใดรายการหนึ่งหรือทุกรายการไม่เกินที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ไม่ต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
8. การเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบลงบัญชี
8.1 ต้องเก็บไว้ ณ สถานทำการ หรือสถานที่ใช้เป็นที่ทำการผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสารวัตรใหญ่บัญชีให้เก็บไว้ ณ สถานที่อื่นได้ (มาตรา 13)
8.2 ต้องเก็บบัญชีและเอกสารประกอบไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันปิดบัญชี แต่อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ต้องเก็บบัญชีและเอกสารประกอบบัญชีของกิจการประเภทใดประเภทหนึ่งไว้เกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปีได้ (มาตรา 14)
8.3 ถ้าบัญชีหรือเอกสารประกอบสูญหายหรือเสียหาย ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีต้องแจ้งต่อสารวัตรใหญ่บัญชีภายใน 15 วันนับแต่วันทราบหรือควรทราบเหตุ (มาตรา 15)
8.4 หากปรากฏว่าบัญชี และเอกสารดังกล่าวมิได้เก็บไว้ในที่ปลอดภัยให้สันนิษฐานว่าผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีมีเจตนาทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้นหรือทำให้สูญหายเว้นแต่จะพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว (มาตรา 16)
9. การเลิกประกอบการและการส่งมอบบัญชี (มาตรา 17)
เมื่อเลิกประกอบการโดยมิได้ชำระบัญชี ให้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบแก่สารวัตรใหญ่บัญชีภายใน 90 วัน และให้สารวัตรใหญ่เก็บรักษาบัญชีและเอกสารดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี
10. อำนาจของอธิบดี (มาตรา 7)
10.1 กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ
10.2 กำหนดข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี
10.3 กำหนดระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี
10.4 กำหนดเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี
10.5 กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชีไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใด เรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
10.6 กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี
การกำหนดดังกล่าวข้างต้นจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการบัญชี และข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันวิชาชีพบัญชีด้วย และการกำหนดตามข้อ 7.5 และ 7.5 จะต้องได้รับความเห็นขอบจากรัฐมนตรีด้วย
11. บทกำหนดโทษ
ใน พรบ. ฉบับใหม่นี้ได้เปลี่ยนแปลงหลักการลงโทษแตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมในเรื่องต่อไปนี้.-
11.1 มีโทษผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชีโดยเฉพาะ
11.2 โทษทั้งปรับ ทั้งจำคุก และรุนแรงขึ้น
11.3 อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ กรณีการกระทำผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือโทษปรับและจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน (มาตรา 41)
โทษปรับ
ปว. 285 พรบ. บัญชี 2543
- ปรับไม่เกิน 500 - 50,000 บาท (ส่วนใหญ่ปรับไม่เกิน 2,000 บาท)
- ปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 50 - 200 บาท
- ปรับไม่เกิน 2,000 - 60,000 บาท (ส่วนใหญ่ปรับไม่เกิน 10,000 บาท)
- ปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 500 - 1,000 บาท
โทษจำคุก
ปว. 285 พรบ. บัญชี 2543
- จำคุกไม่เกิน 1 เดือน - 3 ปี (ส่วนใหญ่จำคุกไม่เกิน 1 เดือน)
- จำคุกไม่เกิน 1 เดือน - 3 ปี (ส่วนใหญ่จำคุกไม่เกิน 6 เดือน, 1 ปี, 2 ปี
12. กำหนดโทษผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
12.1 ไม่จัดให้มีการทำบัญชี (มาตรา 28, ฝ่าฝืนมาตรา 8 และมาตรา 9) ปรับไม่เกิน 30,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 1,000 บาท
12.2 ไม่ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ในการจัดทำบัญชีให้ผู้ทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน (มาตรา 29 ฝ่าฝืน มาตรา 12) ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
12.3 ไม่จัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกำหนด (มาตรา 29 ฝ่าฝืนมาตรา 19 วรรคหนึ่ง) ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
12.4 ไม่จัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงิน(มาตรา 30 ฝ่าฝืนมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ไม่จัดให้มีการสอบบัญชี (มาตรา 32 ฝ่าฝืนมาตรา 11 วรรคสี่) ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
12.5 ไม่จัดให้มีการสอบบัญชี (มาตรา 32 ฝ่าฝืน มาตรา 11 วรรค 4)
12.6 แจ้งเท็จว่าเอกสารสูญหายหรือเสียหาย (มาตรา 33 ฝ่าฝืนมาตรา 15) จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
13. กำหนดโทษของผู้ทำบัญชี (พนักงานผู้รับผิดชอบทำบัญชี)
13.1 ไม่ทำบัญชีให้ถูกต้อง (มาตรา 34 ฝ่าฝืนมาตรา 20)
13.2 ไม่ลงรายการบัญชีเป็นภาษาไทย หรือเขียนด้วยหมึก ดีดพิมพ์ หรือตีพิมพ์ หรือด้วยวิธีอื่นทั้งหมดที่ให้ ผลเหมือนกัน (มาตรา 35 ฝ่าฝืนมาตรา 21) ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
14. กำหนดโทษผู้ใด
14.1 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งบัญชีหรือเอกสาร (มาตรา 28) จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
14.2 ผู้ใดลงรายการเท็จ แก้ไข และเว้นการลงรายการในบัญชี หรืองบการเงินหรือแก้ไขเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ผิดความจริง (มาตรา 39) จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับกรณีเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
15. ระหว่างที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนดให้ถือว่ามาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีอนุญาตแห่งประเทศไทยที่ประกาศใช้อยู่แล้วเป็นมาตรฐานการบัญชีตาม พรบ. นี้
เอกสารจากคำบรรยายในการประชุมสมาคมการค้าเดือนมิถุนายน 2543 ของ นายนรงค์ นาคะโยคี ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร
--วารสาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 11/2543 วันที่ 15 มิถุนายน 2543--
-อน-