กฏหมายท ม สภาพบ งค บทางอาญาและกฏหมายท ม สภาพบ งค บทางแพ ง

มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายช่องทางใหม่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 และ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย​พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ​​ ​พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดความผิดต่อไปนี้ให้สามารถนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับได้

(1) กระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

(2) แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ

(3) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหารตามมาตรา 89/7

(4) ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีธนาคารที่ใช้ชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น

มาตรา 96 แห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำหนดความผิดต่อไปนี้ให้สามารถนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับได้

(1) แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ

(2) กระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

(3) ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดที่ใช้ชำระราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดของบุคคลอื่น

ก.ล.ต. สามารถนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้กับผู้กระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งมีองค์คณะ 5 ท่าน ได้แก่

(1) อัยการสูงสุด

(2) ปลัดกระทรวงการคลัง

(3) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

(4) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ

​(5) เลขาธิการ ก.ล.ต.

นอกจาก ค.ม.พ. จะเป็นผู้เห็นชอบให้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งแล้ว ยังเป็นผู้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วย ซึ่งมาตรการลงโทษทางแพ่งมีทั้งสิ้น 5 มาตรการดังต่อไปนี้

(1) ปรับทางแพ่ง

(2) ชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำผิด

(3) ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี / ห้ามเข้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี

(4) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี / ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี

(5) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.​

ทั้งนี้ ค.ม.พ. สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งให้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ให้ครบทั้ง 5 มาตรการในทุกกรณี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ผู้กระทำความผิดต้องตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่ ค.ม.พ. กำหนด (“บันทึกการยินยอม") กับ ก.ล.ต. และเมื่อชำระเงินครบถ้วนตามบันทึกการยินยอมแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดนั้นจะสิ้นสุดลง แต่หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ก.ล.ต. สามารถร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลบังคับให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินตามบันทึกการยินยอมได้

ส่วนในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. มีอำนาจฟ้องบุคคลดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งให้จำเลยปฏิบัติ ซึ่งศาลสามารถกำหนดดอกเบี้ยบนค่าปรับทางแพ่งและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบของสำนักงานได้ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การดำเนินคดีและการบังคับคดีในกรณีนี้จะอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ทั้งนี้ ค่าปรับทางแพ่งและเงินชดใช้เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามมาตรา 317/12 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ​

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนข้อตกลงในบันทึกการยินยอมหรือคำพิพากษาของศาลที่ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนดังกล่าวถือเป็นความผิดอาญาข้อหาใหม่