ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา

เพื่อน ๆ อาจคุ้นเคยกับหนังสือเรียนภาษาไทยอย่าง ภาษาพาที วรรณคดีวิจักษ์ หรือภาษาเพื่อชีวิตกันดี แต่รู้ไหมว่าเด็ก ๆ ในอดีตก็มีแบบเรียนภาษาไทยใช้เหมือนกันนะ แถมยังอยู่ในรูปแบบนิทานสนุก ๆ ที่เราจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้กันในวันนี้ด้วย

ใช่แล้ว ! เรากำลังพูดถึง ‘กาพย์พระไชยสุริยา’ วรรณคดีไทยที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกหยิบมาให้เพื่อน ๆ ได้เรียนกันในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ นั่นเอง

 

ผู้แต่งและประวัติความเป็นมาของกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา

ผู้แต่งกาพย์เรื่องพระไชยสุริยาคือสุนทรภู่หรือพระสุนทรโวหารที่เพื่อน ๆ รู้จักกันดี สุนทรภู่เป็นกวีไทยที่มีความชำนาญด้านกาพย์กลอนเป็นอย่างยิ่ง ชีวิตของสุนทรภู่รุ่งเรืองและเฟื่องฟูมากขณะรับราชการตำแหน่งอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ก่อนจะออกบวชเมื่อมีการผลัดแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๓ และกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ 

ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา
รูปปั้นสุนทรภู่ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ขอบคุณรูปภาพจาก Anoyama บน commons.wikimedia

ตลอดอายุขัย ๖๙ ปี สุนทรภู่ได้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมไว้มากมาย นอกเหนือจาก ‘พระอภัยมณี’ ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดแห่งกลอนนิทาน สุนทรภู่ยังมีงานวรรณกรรมอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ ‘กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา’ ที่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับช่วงเวลาในการแต่งไว้ถึง ๓ แบบด้วยกัน ได้แก่

๑. แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๒) ขณะบวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดในจังหวัดเพชรบุรี โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นหนังสือเรียนสำหรับเด็ก ๆ ที่ท่านสอน

๒.​ แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๒๓๘๕ ขณะบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม

๓. แต่งขณะเป็นฆราวาสและเป็นครูอยู่ที่เพชรบุรี

ถึงช่วงเวลาในการแต่งจะไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กาพย์เรื่องพระไชยสุริยามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการแต่งคือ ‘เพื่อใช้เป็นหนังสือหัดอ่านเขียนคำที่สะกดตามมาตราสำหรับเด็ก’ ดังที่เนื้อความที่กล่าวไว้ว่า…

๏ ภุมราการุญสุนทรไว้หวังสั่งสอนเด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน ๏ ก ข ก กา ว่าเวียนหนูน้อยค่อยเพียรอ่านเขียนผสมกมเกย 

 

โดยเบื้องต้นสุทรภู่ได้แต่งกาพย์พระไชยสุริยาเพื่อถวายพระอักษรแก่เจ้าฟ้าชายกลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งมูลบทบรรพกิจ (หนึ่งในตำราภาษาไทยที่ใช้ในโรงเรียนหลวงขณะนั้น) ก็มีการสอดแทรกกาพย์พระไชยสุริยาลงไปในบทเรียนนี้ด้วย แถมในปัจจุบัน กาพย์พระไชยสุริยายังปรากฏในบทเรียนที่เพื่อน ๆ กำลังเรียนกันอยู่ในตอนนี้อีก เรียกได้ว่ากาพย์เรื่องพระไชยสุริยานั้นเป็นบทเรียนที่อยู่กับเด็กไทยในยุครัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนานจริง ๆ

 

 

เรื่องย่อของกาพย์พระไชยสุริยา

ณ เมืองสาวัตถี ‘พระไชยสุริยา’ เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองมีพระนางสุมาลีเป็นมเหสี ทั้งสองปกครองเมืองอย่างผาสุกจนกระทั่งเหล่าเสนาข้าราชการจนถึงเหล่าภิกษุสงฆ์เริ่มประพฤติตนมิชอบ บ้านเมืองเริ่มวุ่นวาย ประชาชนเดือดร้อนเพราะเกิดอาเพศ พระไชยสุริยา พระนางสุมาลีและชาวเมืองจึงต้องหนีลงเรือสำเภาออกจากเมืองไป แต่ระหว่างทางก็เกิดพายุพัดจนเรือแตก พระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีขึ้นฝั่งได้และรอนแรมอาศัยอยู่ในป่า จนกระทั่งพระฤาษีเล็งเห็นกาลกิณี ๔ ประการที่ทำให้บ้านเมืองเกิดภัยพิบัติ จึงโปรดเทศนาพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลี ทั้งสองพระองค์เลื่อมใสจึงออกบวช ประพฤติตนตั้งมั่นในศีลในธรรม และได้เสวยสุขบนสวรรค์ในท้ายที่สุด

 

 

ลักษณะคำประพันธ์ของกาพย์พระไชยสุริยา

กาพย์เรื่องพระไชยสุริยาเป็นวรรณคดีเพียงเรื่องเดียวของสุทรภู่ที่ใช้กาพย์ในการแต่งทั้งเรื่อง โดยแต่งด้วยคำประพันธ์ถึง ๓ ชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ซึ่งมีฉันทลักษณ์ดังนี้

ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา

๏ สะธุสะจะขอไหว้พระศรีไตรสรณาพ่อแม่แลครูบาเทวดาในราศี๏ ข้าเจ้าเอา ก ขเข้ามาต่อ ก กา มีแก้ไขในเท่านี้ดีมิดีอย่าตรีชา

กาพย์ยานี ๑๑ หนึ่งบาทจะมี ๑๑ คำพอดี โดยแบ่งเป็นวรรคหน้า ๕ คำ และวรรคหลังอีก ๖ คำ คำสุดท้ายของวรรค ๑ จะสัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ และมีคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสระหว่างบทไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ในบทถัดไปเพื่อเชื่อมสัมผัสระหว่างบท การแต่งกาพย์ยานี ๑๑ จะพบในแม่ ก กา แม่กก แม่กด แม่กบ  และนอกจากกาพย์พระไชยสุริยา เพื่อน ๆ สามารถพบกาพย์ยานี ๑๑ ได้อีกในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ เช่น คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน และกาพย์เห่เรือ

ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา

๏ ขึ้นกงจงจำสำคัญทั้งกนปนกันรำพันมิ่งไม้ในดง ๏ ไกรกร่างยางยูงสูงระหงตลิงปลิงปริงประยงค์คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง

 

ส่วนกาพย์ฉบัง ๑๖ หนึ่งบทจะมี ๑๖ คำ/พยางค์ โดย ๑ บท มี ๓ วรรค มีสัมผัสบังคับอยู่ที่คำสุดท้ายของวรรคแรกและวรรคที่สอง ส่วนคำสุดท้ายของวรรคที่สามใช้ส่งเข้าบทถัดไป เพื่อน ๆ สามารถพบกาพย์ฉบัง ๑๖ ในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น บทพากย์เอราวัณ ที่เพื่อน ๆ จะได้เรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ก็แต่งด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖ เช่นเดียวกัน ส่วนในกาพย์พระไชยสุริยาเราจะพบกาพย์ฉบัง ๑๖ ได้ในบทของแม่ ก กา แม่กง แม่กม และแม่เกย

 

ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา

 ๏ วันนั้นจันทรมีดารากรเป็นบริวารเห็นสิ้นดินฟ้าในป่าท่าธารมาลีคลี่บานใบก้านอรชร ๏ เย็นฉ่ำน้ำฟ้าชื่นชะผกาวายุพาขจรสารพันจันทน์อินรื่นกลิ่นเกสรแตนต่อคลอร่อนว้าว่อนเวียนระวัน

 

กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ หนึ่งวรรคจะมี ๔ คำ หนึ่งบทมีทั้งหมด ๗ วรรค รวมเป็น ๒๘ คำพอดี โดยคำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๕ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ จะสัมผัสกับคำที่ ๒ ของวรรคที่ ๕ และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๕ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๖ เราสามารถพบกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ได้ในบทแม่กน

 

 

ถอดคำประพันธ์เรื่องกาพย์พระไชยสุริยา

กาพย์พระไชยสุริยามีเนื้อเรื่องอย่างนิทาน การเล่าเรื่องจะเริ่มจากมาตราตัวสะกดแรกอย่างแม่ ก กา ไล่ตามมาตราไปจนถึงแม่เกยเป็นมาตราสุดท้าย โดยแม่ ก กา ส่วนแรกจะแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ และกาพย์ฉบัง ๑๖ ประกอบด้วยบทนำจากกวี บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง จนถึงตอนที่พระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีต้องรอนแรมในป่า

กาพย์ยานี ๑๑ ๏ สะธุสะจะขอไหว้พระศรีไตรสรณาพ่อแม่แลครูบาเทวดาในราศี๏ ข้าเจ้าเอา ก ขเข้ามาต่อ ก กา มีแก้ไขในเท่านี้ดีมิดีอย่าตรีชา

เริ่มด้วยบทนำจากกวี การแสดงความเคารพนบนอบครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

๏ จะร่ำคำต่อไปพอล่อใจกุมาราธรณีมีราชาเจ้าพาราสาวะถี๏ ชื่อพระไชยสุริยามีสุดามเหสีชื่อว่าสุมาลีอยู่บุรีไม่มีภัย๏ ข้าเฝ้าเหล่าเสนามีกิริยาอัชฌาศัยพ่อค้ามาแต่ไกลได้อาศัยในภารา๏ ไพร่ฟ้าประชาชีชาวบุรีก็ปรีดาทำไร่เขาไถนาได้ข้าวปลาแลสาลี

จากนั้นจึงเล่าถึงพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีซึ่งปกครองเมืองสาวัตถี บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น เหล่าข้าราชการก็ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจากต่างแดน ชาวเมืองก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ผลผลิตดีและมีความสุขโดยถ้วนหน้า

 

๏ อยู่มาหมู่ข้าเฝ้าก็หาเยาวนารีที่หน้าตาดีดีทำมโหรีที่เคหา๏ ค่ำเช้าเฝ้าสีซอเข้าแต่หอล่อกามาหาได้ให้ภริยาโลโภพาให้บ้าใจ๏ ไม่จำคำพระเจ้าเหไปเข้าภาษาไสยถือดีมีข้าไทยฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา๏ คดีที่มีคู่คือไก่หมูเจ้าสุภาใครเอาข้าวปลามาให้สุภาก็ว่าดี๏ ที่แพ้แก้ชนะไม่ถือพระประเวณีขี้ฉ้อก็ได้ดีไล่ด่าตีมีอาญา๏ ที่ซื่อถือพระเจ้าว่าโง่เง่าเต่าปูปลาผู้เฒ่าเหล่าเมธาว่าใบ้บ้าสาระยำ๏ ภิกษุสมณะเหล่าก็ละพระสธรรมคาถาว่าลำนำไปเร่ร่ำทำเฉโก๏ ไม่จำคำผู้ใหญ่ศีรษะไม้ใจโยโสที่ดีมีอะโขข้าขอโมทนาไป๏ พาราสาวะถีใครไม่มีปราณีใครดุดื้อถือแต่ใจที่ใครได้ใส่เอาพอ๏ ผู้ที่มีฝีมือทำดุดื้อไม่ซื้อขอไล่คว้าผ้าที่คออะไรล่อก็เอาไป๏ ข้าเฝ้าเหล่าเสนามิได้ว่าหมู่ข้าไทถือน้ำร่ำเข้าไปแต่น้ำใจไม่นำพา๏ หาได้ใครหาเอาไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุราผู้ที่มีอาญาไล่ตีด่าไม่ปราณี๏ ผีป่ามากระทำมรณกรรมชาวบุรีน้ำป่าเข้าธานีก็ไม่มีที่อาศัย๏ ข้าเฝ้าเหล่าเสนาหนีไปหาพาราไกลชีบาล่าลี้ไปไม่มีใครในธานี


อยู่มาวันหนึ่งเหล่าเสนาข้าราชการก็เริ่มจัดปาร์ตี้มโหรีในบ้าน มีการจัดหาหาหญิงสาวมาบำรุงบำเรอตนจนหมกมุ่นอยู่แต่ในกาม โลภมากและไม่ซื่อตรงต่อภรรยา รับติดสินบนคดีความต่าง ๆ ผู้คนเลิกนับถือพระเจ้า พระภิกษุก็หันไปใช้มนต์ดำและไสยเวทย์ ผู้น้อยลบหลู่ไม่ฟังคำผู้ใหญ่ เมืองสาวัตถีจึงเริ่มวุ่นวาย เกิดการฉกชิงวิ่งราว ข้าราชการถือน้ำพิพัฒสัตยาแต่ว่าจิตใจกลับไม่ซื่อตรง ประชาชนไร้ที่พึ่งพา เมื่อศีลธรรมของผู้คนในเมืองเสื่อมลง ผีป่าก็บันดาลให้เกิดอาเพศทำให้น้ำท่วมเมืองครั้งใหญ่ ประชาชนล้มตาย ไม่มีที่อยู่อาศัย และต้องลี้ภัยออกจากเมือง

ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา

กาพย์ฉบัง ๑๖ ๏ พระไชยสุริยาภูมีพาพระมเหสีมาที่ในลำสำเภา ๏ ข้าวปลาหาไปไม่เบานารีที่เยาว์ก็เอาไปในเภตรา ๏ เฒ่าแก่ชาวแม่แซ่มาเสนีเสนาก็มาในลำสำเภา ๏ ตีม้าล่อช่อใบใส่เสาวายุพยุเพลาสำเภาก็ใช้ใบไป ๏ เภตรามาในน้ำไหลค่ำเช้าเปล่าใจที่ในมหาวารี ๏ พสุธาอาศัยไม่มีราชานารีอยู่ที่พระแกลแลดู ๏ ปลากะโห้โลมาราหูเหราปลาทูมีอยู่ในน้ำคล่ำไป ๏ ราชาว้าเหว่หฤทัยวายุพาคลาไคลมาในทะเลเอกา ๏ แลไปไม่ปะพสุธาเปล่าใจนัยนาโพล้เพล้เวลาราตรี ๏ ราชาว่าแก่เสนีใครรู้คดีวารีนี้เท่าใดนา ๏ ข้าเฝ้าเล่าแก่ราชาว่าพระมหาวารีนี้ไซร้ใหญ่โต ๏ ไหลมาแต่ในคอโคแผ่ไปใหญ่โตมโหฬาร์ล้ำน้ำไหล ๏ บาลีมิได้แก้ไขข้าพเจ้าเข้าใจผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา ๏ ว่ามีพระยาสกุณาใหญ่โตมโหฬาร์กายาเท่าเขาคีรี ๏ ชื่อว่าพระยาสำภาทีใคร่รู้คดีวารีนี้โตเท่าใด ๏ โยโสโผผาถาไปพอพระสุริใสจะใกล้โพล้เพล้เวลา ๏ แลไปไม่ปะพสุธาย่อท้อรอราชีวาก็จะประลัย ๏ พอปลามาในน้ำไหลสกุณาถาไปอาศัยที่ศีรษะปลา ๏ ชะแง้แลไปไกลตาจำของ้อปลาว่าขอษมาอภัย ๏ วารีที่เราจะไปใกล้หรือว่าไกลข้าไหว้จะขอมรคา ๏ ปลาว่าข้าเจ้าเยาวภามิได้ไปมาอาศัยอยู่ต่อธรณี ๏ สกุณาอาลัยชีวีลาปลาจรลีสู่ที่ภูผาอาศัย ๏ ข้าเฝ้าเล่าแก่ภูวไนยพระเจ้าเข้าใจฤทัยว้าเหว่เอกา 

พระไชยสุริยาจึงพาพระนางสุมาลีขึ้นเรือสำเภา ขนเสบียง ผู้คน และข้ารับใช้เพื่อลี้ภัยออกจากเมืองสาวัตถี เรือแล่นไปในทะเลกว้างวันแล้ววันเล่าก็ไม่พบแผ่นดิน เมื่อถามเหล่าเสนาถึงความกว้างของทะเลก็ไม่มีใครตอบได้ ผู้ที่รู้ว่าทะเลกว้างใหญ่เพียงใดก็มีแต่พญาสัมพาที ซึ่งเป็นพญานกขนาดใหญ่เท่านั้น แม้กระทั่งนกและปลาที่อยู่ในทะเลนั้นก็ยังเด็กมาก ไม่รู้เช่นกันว่าทะเลกว้างใหญ่เพียงไหน เรือแล่นไปในทะเลเรื่อย ๆ ทั้งสองพระองค์ทอดถอนพระทัยและรู้สึกว้าเหว่เป็นอย่างมาก

๏ จำไปในทะเลเวราพายุใหญ่มาเภตราก็เหเซไป ๏ สมอก็เกาเสาใบทะลุปรุไปน้ำไหลเข้าลำสำเภา ๏ ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสาเจ้ากรรมซ้ำเอาสำเภาระยำคว่ำไป ๏ ราชาคว้ามืออรไทเอาผ้าสะไบต่อไว้ไม่ไกลกายา ๏ เถ้าแก่ชาวแม่เสนาน้ำเข้าหูตาจระเข้เหราคร่าไป ๏ ราชานารีร่ำไรมีกรรมจำใจจำไปพอปะพะสุธา ๏ มีไม้ไทรใหญ่ใบหนาเข้าไปไสยาเวลาพอค่ำรำไร

เรือสำเภาแล่นไปจนเจอกับพายุใหญ่พัดจนเรือแตกกระจาย ผีน้ำก็เข้ามาซ้ำเติมทำให้เรือล่มและอับปางลง พระไชยสุริยาคว้ามือพระนางสุมาลีและใช้ผ้าสไบมาต่อเข้าไว้กับตัวเพื่อไม่ให้พลัดออกจากกัน ส่วนคนอื่น ๆ ก็จมน้ำ ถูกจระเข้และตัวเหราคาบไปกิน ในเวลาค่ำพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีจึงพบกับแผ่นดิน พบต้นไทรและได้อาศัยเป็นที่นอน

กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘  ๏ ขึ้นใหม่ใน กนก กา ว่าปนระคนกันไปเอ็นดูภูธรมานอนในไพรมณฑลต้นไทรแทนไพชยนต์สถาน ๏ ส่วนสุมาลีวันทาสามีเทวีอยู่งานเฝ้าอยู่ดูแลเหมือนแต่ก่อนกาลให้พระภูบาลสำราญวิญญาณ์ ๏ พระชวนนวลนอนเข็ญใจไม้ขอนเหมือนหมอนแม่นาภูธรสอนมนต์ให้บ่นภาวนาเย็นค่ำร่ำว่ากันป่าภัยพาล ๏ วันนั้นจันทรมีดารากรเป็นบริวารเห็นสิ้นดินฟ้าในป่าท่าธารมาลีคลี่บานใบก้านอรชร ๏ เย็นฉ่ำน้ำฟ้าชื่นชะผกาวายุพาขจรสารพันจันทน์อินรื่นกลิ่นเกสรแตนต่อคลอร่อนว้าว่อนเวียนระวัน ๏ จันทราคลาเคลื่อนกระเวนไพรไก่เถื่อนเตือนเพื่อนขานขันปู่เจ้าเขาเขินกู่เกริ่นหากันสินธุพุลั่นครื้นครั่นหวั่นไหว ๏ พระฟื้นตื่นนอนไกลพระนครสะท้อนถอนทัยเช้าตรู่สุริยนขึ้นพ้นเมรุไกรมีกรรมจำไปในป่าอารัญ

บทต่อมาเป็นแม่กนและมีแม่ ก กา ผสมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนตัวสะกดที่เรียนไปแล้ว เหตุการณ์เล่าถึงพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีต้องอาศัยและนอนในป่า พระนางสุมาลีก็ถวายงานปรนนิบัติดูแลให้พระไชยสุริยาได้รับความสะดวกสบาย ทั้งสองพระองค์ใช้ขอนไม้นอนแทนหมอน เมื่ออยู่ในป่าที่เต็มไปด้วยอันตราย พระไชยสุริยาจึงสอนพระนางสุมาลีสวดมนต์เพื่อป้องกันภัย จากนั้นจึงเป็นการบรรยายทิวทัศน์และความสวยงามของป่าในยามค่ำคืน จนกระทั่งรุ่งเช้า พระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีจึงเริ่มออกเดินทางต่อไปในป่า 

กาพย์ฉบัง ๑๖ ๏ ขึ้นกงจงจำสำคัญทั้งกนปนกันรำพันมิ่งไม้ในดง ๏ ไกรกร่างยางยูงสูงระหงตลิงปลิงปริงประยงค์คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง ๏ มะม่วงพวงพลองช้องนางหล่นเกลื่อนเถื่อนทางกินพลางเดินพลางหว่างเนิน ๏ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดินเหมือนอย่างนางเชิญพระแสงสำอางข้างเคียง ๏ เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียงเริงร้องก้องเสียงสำเนียงน่าฟังวังเวง ๏ กลางไพรไก่ขันบรรเลงฟังเสียงเพียงเพลงซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง ๏ ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดังเพียงฆ้องกลองระฆังแตรสังข์กังสะดานขานเสียง ๏ กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียงพระยาลอคลอเคียงแอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง ๏ ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋งเพลินฟังวังเวงอีเก้งเริงร้องลองเชิง ๏ ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิงคางแข็งแรงเริงยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง ๏ ป่าสูงยูงยางช้างโขลงอึงคะนึงผึงโผงโยงกันเล่นน้ำคล่ำไป

บทต่อมาแต่งด้วยตัวสะกดในแม่กง พร้อมทบทวนแม่กนไปด้วย บทนี้บรรยายธรรมชาติและกล่าวถึงพรรณไม้และสัตว์ในป่า ต้นไม้ที่อยู่ในบทนี้ เช่น ต้นไกร ต้นกร่าง ต้นยางยูง ต้นตะลิงปลิง ต้นมะปริง ต้นประยงค์ ต้นคันทรง ฝิ่น ต้นฝาง ต้นมะม่วง ต้นพลวง ต้นพลอง และต้นช้องนาง 

สัตว์ทั้งหลายเช่น กวาง หงส์ ไก่ป่า นกยูงทอง นกกะลิง นกกะลาง นกนางนวล ไก่ฟ้าพญาลอ นกนางแอ่น นกเอี้ยง นกอีโก้ง นกค้อนทอง อีเก้ง ละมั่ง และช้าง ก็เดินเล่นและส่งเสียงร้องกันอยู่ในป่า

กาพย์ยานี ๑๑ ๏ ขึ้นกกตกทุกข์ยากแสนลำบากจากเวียงไชยมันเผือกเลือกเผาไฟกินผลไม้ได้เป็นแรง๏ รอนรอนอ่อนอัสดงพระสุริยงเย็นยอแสงช่วงดังน้ำครั่งแดงแฝงเมฆเขาเงาเมรุธร๏ ลิงค่างครางโครกครอกฝูงจิ้งจอกออกเห่าหอนชะนีวิเวกวอนนกหกร่อนนอนรังเรียง๏ ลูกนกยกปีกป้องอ้าปากร้องซ้องแซ่เสียงแม่นกปกปีกเคียงเลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร๏ ภูธรนอนเนินเขาเคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์ตกยากจากศฤงคารสงสารน้องหมองพักตรา๏ ยากเย็นเห็นหน้าเจ้าสร่างโศกเศร้าเจ้าพี่อาอยู่วังดังจันทรามาหม่นหมองละอองนวล๏ เพื่อนทุกข์สุขโศกเศร้าจะรักเจ้าเฝ้าสงวนมิ่งขวัญอย่ารัญจวนนวลพักตร์น้องจะหมองศรี๏ ชวนชื่นกลืนกล้ำกลิ่นมิรู้สิ้นกลิ่นมาลีคลึงเคล้าเย้ายวนยีที่ทุกข์ร้อนหย่อนเย็นทรวง

ในแม่กก เล่าถึงความลำบากของพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีที่ต้องรอนแรมในป่า กินเผือก มันเผา และผลไม้เป็นอาหาร ท่ามกลางบรรยากาศน่าวังเวงของป่ายามเย็นที่เต็มไปด้วยฝูงลิงค่างและฝูงสุนัขจิ้งจอก ทั้งสองพระองค์นอนเคียงกันอยู่บนเนินเขา พระไชยสุริยารู้สึกสงสารพระนางสุมาลีเป็นอย่างมากที่ต้องมาตกระกำลำบาก พร้อมปลอบใจและสัญญาว่าจะดูแลพระนางเป็นอย่างดี

กาพย์ยานี ๑๑ ๏ ขึ้นกดบทอัศจรรย์เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวงนกหกตกรังรวงสัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง๏ แดนดินถิ่นมนุษย์เสียงดังดุจเพลิงโพลงตึกกว้านบ้านเรือนโรงโคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน๏ บ้านช่องคลองเล็กใหญ่บ้างตื่นไฟตกใจโจนปลุกเพื่อนเตือนตะโกนลุกโลดโผนโดนกันเอง๏ พิณพาทย์ระนาดฆ้องตะโพนกลองร้องเป็นเพลงระฆังดังวังเวงโหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง๏ ขุนนางต่างลุกวิ่งท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลังพัลวันดันตึงตังพลั้งพลัดตกหกคะเมน๏ พระสงฆ์ลงจากกุฏิวิ่งอุดตลุตฉุดมือเณรหลวงชีหนีหลวงเถรลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน๏ พวกวัดพลัดเข้าบ้านล้านต่อล้านซานเซโดนต้นไม้ไกวเอนโอนลิงค่างโจนโผนหกหัน๏ พวกผีที่ปั้นลูกติดจมูกลูกตาพลันขิกขิกระริกกันปั้นไม่ทันมันเดือดใจ๏ สององค์ทรงสังวาสโลกธาตุหวาดหวั่นไหวตื่นนอนอ่อนอกใจเดินไม่ได้ให้อาดูร


บทต่อมาแต่งด้วยแม่กด และมีแม่กน แม่กงร่วมด้วยเพื่อให้ได้ทบทวนตัวสะกดเช่นเดิม บทนี้เป็นบทอัศจรรย์ แสดงฉากร่วมรักระหว่างพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลี โดยกวีไม่ได้กล่าวถึงหรือบรรยายเหตุการณ์โดยตรง แต่ใช้การพรรณาภาพธรรมชาติรอบ ๆ ที่อุตลุตวุ่นวาย และแตกต่างไปจากเดิมแทน

กาพย์ยานี ๑๑ ๏ ขึ้นกบจบแม่กดพระดาบสบูชากูณฑ์ผาสุกรุกขมูลพูนสวัสดิ์สัตถาวร๏ ระงับหลับเนตรนิ่งเององค์อิงพิงสิงขรเหมือนกับหลับสนิทนอนสังวรศีลอภิญญาณ๏ บำเพ็งเล็งเห็นจบพื้นพิภพจบจักรวาลสวรรค์ชั้นวิมานท่านเห็นแจ้งแหล่งโลกา๏ เข้าฌานนานนับเดือนไม่เขยื้อนเคลื่อนกายาจำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกเดือนปี๏ วันนั้นครั้นดินไหวเกิดเหตุใหญ่ในปถพีเล็งดูรู้คดีกาลกิณีสี่ประการ๏ ประกอบชอบเป็นผิดกลับจริตผิดโบราณสามัญอันธพาลผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์๏ ลูกศิษย์คิดล้างครูลูกไม่รู้คุณพ่อมันส่อเสียดเบียดเบียนกันลอบฆ่าฟันคือตัณหา๏ โลภลาภบาปบ่คิดโจทก์จับผิดริษยาอุระพสุธาป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง๏ บรรดาสามัญสัตว์เกิดวิบัติปัตติปาปังไตรยุคทุกขตรังสังวัจฉระอวสาน

ในแม่กบ กวีกล่าวถึงพระฤาษีบูชาไฟที่อาศัยอยู่ในป่า จากการบำเพ็ญเพียรยาวนานทำให้พระฤาษีเป็นผู้รู้แจ้ง เห็นความเป็นไปต่าง ๆ ในโลกและจักรวาล เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและอาเพศครั้งใหญ่ในเมืองสาวัตถี พระฤาษีก็รู้ว่าเหตุเหล่านี้เกิดจาก ‘กาลกิณี ๔ ประการ’ ได้แก่ 

๑. การเห็นผิดเป็นชอบ คนชั่วทำร้ายคนดี 

๒. ลูกศิษย์คิดล้มล้างครูอาจารย์ ลูกไม่รู้บุญคุณพ่อแม่ 

๓. การเบียดเบียน ฆ่าฟันกันเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

๔. โลภมากและมีจิตริษยาไม่เกรงกลัวบาป

กาพย์ฉบัง ๑๖ ๏ ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์เอ็นดูภูบาลผู้ผ่านพาราสาวะถี ๏ ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนีกลอกกลับอัปรีย์บุรีจึงล่มจมไป ๏ ประโยชน์จะโปรดภูวไนยนิ่งนั่งตั้งใจเลื่อมใสสำเร็จเมตตา ๏ เปล่งเสียงเพียงพิณอินทราบอกข้อมรณาคงมาวันหนึ่งถึงตน ๏ เบียนเบียดเสียดส่อฉ้อฉลบาปกรรมนำตนไปทนทุกข์นับกัปกัลป์ ๏ เมตตากรุณาสามัญจะได้ไปสวรรค์เป็นสุขทุกวันหรรษา ๏ สมบัติสัตว์มนุษย์ครุฑากลอกกลับอัปราเทวาสมบัติชัชวาล ๏ สุขเกษมเปรมปรีดิ์วิมานอิ่มหนำสำราญศฤงคารห้อมล้อมพร้อมเพรียง ๏ กระจับปี่สีซอท่อเสียงขับรำจำเรียงสำเนียงนางฟ้าน่าฟัง ๏ เดชะพระกุศลหนหลังสิ่งใดใจหวังได้ดังมุ่งมาดปรารถนา ๏ จริงนะประสกสีกาสวดมนต์ภาวนาเบื้องหน้าจะได้ไปสวรรค์ ๏ จบเทศน์เสร็จคำรำพันพระองค์ทรงธรรม์ด้นดั้นเมฆาไคล   กาพย์ฉบัง ๑๖ ๏ ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไทฟังธรรมน้ำใจเลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ ๏ เห็นภัยในขันธสันดานตัดห่วงบ่วงมารสำราญสำเร็จเมตตา ๏ สององค์ทรงหนังพยัคฆาจัดจีบกลีบชะฎารักษาศีลถือฤๅษี ๏ เช้าค่ำทำกิจพิธีกองกูณฑ์อัคคีเป็นที่บูชาถาวร ๏ ปถพีเป็นที่บรรจถรณ์เอนองค์ลงนอนเหนือขอนเขนยเกยเศียร ๏ ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียนเหนื่อยยากพากเพียรเรียนธรรมบำเพ็งเคร่งครัน ๏ สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์เสวยสุขทุกวันนานนับกัปกัลป์พุทธันดร 


ในแม่กม พระฤาษีสงสารพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีที่หลงกลเหล่าเสนาที่ประพฤติมิชอบจนบ้านเมืองล่มจมไป พระฤาษีจึงเสด็จมาโปรดทั้งสองพระองค์ให้เมตตากรุณาและหมั่นทำแต่ความดี เพื่อที่ภายภาคหน้าจะได้ไปสวรรค์ พระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกเลื่อมใส จึงออกบวชบำเพ็ญธรรม และได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ในท้ายที่สุด

๏ ภุมราการุญสุนทรไว้หวังสั่งสอนเด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน ๏ ก ข ก กา ว่าเวียนหนูน้อยค่อยเพียรอ่านเขียนผสมกมเกย ๏ ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ยไม้เรียวเจียวเหวยกูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว ๏ หันหวดปวดแสบแปลบเสียวหยิกซ้ำช้ำเขียวอย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ ๏ บอกไว้ให้ทราบบาปกรรมเรียงเรียบเทียบทำแนะนำให้เจ้าเอาบุญ ๏ เดชะพระมหาการุญใครเห็นเป็นคุณแบ่งบุญให้เราเจ้าเอย ฯ.

บทส่งท้ายของกวีเล่าถึงจุดประสงค์ในการแต่งกาพย์พระไชยสุริยาที่ตั้งใจให้เป็นตำราอ่านเขียนสำหรับเด็ก พร้อมสั่งสอนให้ตั้งใจศึกษา รู้จักเกรงกลัวครูอาจารย์ แนะนำเรื่องบุญบาป และหากผู้ใดเห็นว่ากาพย์เรื่องพระไชยสุริยานี้มีประโยชน์ก็ขอให้แบ่งบุญนั้นให้กวีด้วย



คุณค่าและข้อคิดจากกาพย์พระไชยสุริยา

นอกจากจะเป็นบทเรียนเขียนอ่านสำหรับเด็กที่สนุกสนาน สอดแทรกคุณธรรมและคำสอนทางศาสนา กาพย์พระไชสุริยายังมีคุณค่าในแง่อื่น ๆ อีกมาก เช่น

๑. สะท้อนรูปแบบของหนังสือสำหรับเด็กหัดอ่านเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่ออ่านจบจะได้เรียนรู้ฉันทลักษณ์ของกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ได้เรียนรู้ตัวสะกดครบทุกมาตรา ทั้งแม่ ก กา แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม และแม่เกย 

๒. สะท้อนค่านิยมการเคารพพระรัตนตรัย พ่อแม่ และครูบาอาจารย์ ดังที่ปรากฎในบทนำนี้

๏ สะธุสะจะขอไหว้พระศรีไตรสรณาพ่อแม่แลครูบาเทวดาในราศี

 

๓. สะท้อนอัจฉริยภาพของกวีในการแต่งบทเรียนที่สนุกและคำนึงถึงลำดับการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น การทบทวนตัวสะกดในมาตราก่อนหน้า การสอดแทรกข้อคิดและคติธรรมลงไปในบทเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในเส้นเรื่องหลักตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ

๔. มีการประมวลพรรณไม้และชื่อสัตว์ป่ามาให้เด็ก ๆ ได้รู้จัก เช่น

๏ ไกรกร่างยางยูงสูงระหงตลิงปลิงปริงประยงค์คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง

 

๏ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดินเหมือนอย่างนางเชิญพระแสงสำอางข้างเคียง

 

๕. มีการใช้วรรณศิลป์โดยใช้ภาพพจน์ประเภทสัทพจน์ (เลียนเสียงธรรมชาติ) ทำให้ผู้อ่านได้ยินเสียงธรรมชาติ เช่น

๏ ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดังเพียงฆ้องกลองระฆังแตรสังข์กังสะดานขานเสียง
๏ ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋งเพลินฟังวังเวงอีเก้งเริงร้องลองเชิง

 

๖. มีการเล่นสัมผัสพยัญชนะเพื่อความไพเราะ เช่น

๏ ขึ้นกงจงจำสำคัญทั้งกนปนกันรำพันมิ่งไม้ในดง

 

๗. สร้างจินตภาพให้ผู้อ่านได้เห็นภาพตาม โดยเฉพาะในบทพรรณา เช่น 

 ๏ วันนั้นจันทรมีดารากรเป็นบริวารเห็นสิ้นดินฟ้าในป่าท่าธารมาลีคลี่บานใบก้านอรชร

 

นอกจากนี้กาพย์เรื่องพระไชยสุริยายังแฝงแนวคิดและประเด็นอื่น ๆ อย่างศาสนาและการเมืองไว้ในเนื้อเรื่องด้วย และอีกความโดดเด่นที่เรามองข้ามไปไม่ได้ก็คือการใช้กาพย์พระไชยสุริยาเป็นบทสวดในการสวดโอ้เอ้วิหารราย ซึ่งเป็นการสวดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมทีการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้นใช้มหาชาติคำหลวงเป็นบทสวด จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ก็ได้มีการ สวดรอบศาลารายรอบพระอุโบสถในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๑๒ ศาลา ซึ่งกรมธรรมการ (หน่วยงานที่รับผิดชอบการสวดในขณะนั้น) มีจำนวนข้าราชการในกรมค่อนข้างน้อย และผู้ฟังก็ไม่ค่อยสนใจการสวดเทียบมูลบทนัก รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าให้นักเรียนโรงทานมาสวดตามหนังสือกาพย์เรื่องพระไชยสุริยาของสุนทรภู่ การสวดโอ้เอ้วิหารรายจึงใช้กาพย์เรื่องพระไชยสุริยาเป็นบทสวดมาจนถึงทุกวันนี้ ว่าแต่การสวดโอ้เอ้วิหารรายจะเป็นอย่างไร ? ถ้าเพื่อน ๆ สนใจก็ตามไปสวดโอ้เอ้วิหารรายกับครูหนึ่งในแอปพลิเคชัน StartDee ได้เลย !

ใบ งาน ถอดคำประพันธ์กาพย์พระ ไชย สุริยา

ขอบคุณข้อมูลจาก:

  1. ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)

Reference: 

“พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร).” Wikipedia, Wikimedia Foundation, 25 Aug. 2020, th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%28%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2_%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A3%29. 

พระสุนทรโวหาร (ภู่). th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%28%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%88%29#cite_note-thingsasian-2.