การ ขุด เจาะ ปิ โต ร เลี่ยม จะได้ เชื้อเพลิง ซากดึกดำบรรพ์ ชนิด ใด

ประวัติการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย

  • การสำรวจพบปิโตรเลียมครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ในปี พ.ศ.2461 เมื่อชาวบ้านฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบน้ำมันไหลซึมขึ้นมาบนพื้นดิน
  • ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อธิบดีกรมรถไฟหลวง ได้ทรงว่าจ้างนักสำรวจธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ให้ค้นหาน้ำมันและถ่านหิน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ฟืนสำหรับรถจักรไอน้ำในกิจการรถไฟ โดยได้สำรวจทุกภาคของประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2462 จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2466 ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่สำรวจพบน้ำมันดิบในชั้นทรายน้ำมันดิน (Tar Sand) แต่การเจาะสำรวจในขณะนั้นใช้อุปกรณ์เจาะสำรวจส่วนใหญ่เป็นไม้ จึงเจาะได้ไม่ลึกมาก และการเดินทางขณะนั้นยังไม่มีถนนทางไป อ.ฝาง ดังนั้นบ่อน้ำมันดิบนั้นจึงไม่เหมาะแก่การลงทุนพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์
  • ในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหมได้จ้างนักธรณีวิทยาชาวสวิสมาสำรวจเพิ่มเติมในแอ่งฝางอีกครั้งหนึ่ง แต่การเจาะสำรวจก็ยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ
  • ในปี พ.ศ. 2481 กรมทางหลวงแผ่นดินจึงเข้ามาสำรวจค้นหาทรายน้ำมันรอบๆบริเวณที่มีน้ำมันซึมขึ้นมา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำทรายน้ำมันมาใช้ในการก่อสร้างถนนแทนยางมะตอย แต่โครงการนี้ก็ล้มเลิกไป
  • ปี พ.ศ. 2491 กรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) จึงเข้าไปสำรวจที่แอ่งฝางอีกครั้ง โดยใช้วิธีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนเพื่อกำหนดตำแหน่งของหลุมเจาะ ทำให้สามารถผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 20 บาเรล ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 พื้นที่นี้ก็ถูกโอนให้ไปอยู่ใต้การดำเนินงานของกระทรวงกลาโหมอีกครั้งหนึ่ง และสามารถทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 1,000 บาเรล
  • ความพยายามในการค้นหาน้ำมันดิบในที่ราบลุ่มภาคกลาง เริ่มต้นในปีพ.ศ. 2497 โดยกรมโลหกิจได้จ้างบริษัทสัญชาติอังกฤษบินสำรวจวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็กโลกและสำรวจค่าความโน้มถ่วง จากนั้นจึงวางแผนดำเนินงานและทำการเจาะสำรวจ 3 หลุม แต่ไม่พบปิโตรเลียมเลย
  • มิติใหม่ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเริ่มขึ้นในปีพ.ศ.2503 เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายโดยมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ โดยในปีพ.ศ. 2505 บริษัทยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด) ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ที่ราบสูงโคราช ในขณะเดียวกัน นายราฟาแอล ปัมเปลลี ได้รับสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตในบริเวณใกล้เคียงกัน ส่วนบริษัทกัลฟ์ ออยล์ ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบๆ กรุงเทพมหานคร
  • ต่อมาในปีพ.ศ.2508 กรมโลหกิจได้จัดทำหลักเกณฑ์การยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้น และในปี
    พ.ศ.2511 ได้แบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็นแปลงๆ ทั้งบนบกและในทะเล เพื่อความสะดวกในการขอสัมปทาน
    • ทั้งนี้ พื้นที่สัมปทานนั้นถูกจัดสรรไว้เหมือนเป็นพื้นที่ศึกษาและสำรวจแหล่งปิโตรเลียม เป็นพื้นที่ที่มีการประเมินแล้วว่ามีโอกาสที่จะพบปิโตรเลียม เพราะมีการศึกษาทางธรณีวิทยาเบื้องต้นแล้วพบว่ามีองค์ประกอบของปิโตรเลียมตามที่กล่าวไว้ข้างต้น (หินต้นกำเนิด หินกักเก็บ และหินปิดกั้น) แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่จะประสบความสำเร็จในการค้นพบปิโตรเลียม
  • ปีพ.ศ.2514 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ทำให้เอกชนสนใจแหล่งปิโตรเลียมกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งปีพ.ศ.2516 ได้พบก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมากครั้งแรกในอ่าวไทยในหลุมผลิตของ บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด ชื่อว่า “แหล่งเอราวัณ” ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยเอกชนภายใต้กฎหมายแร่

  • รัฐบาลได้ตระหนักว่าการสำรวจค้นหาปิโตรเลียมนั้นมีความเสี่ยงและต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งยังขาดแคลนเทคโนโลยีรวมทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนี้ จึงได้มีนโยบายให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนสำรวจ ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2500-2502 จึงได้ให้สิทธิในการสำรวจปิโตรเลียมแก่บริษัทไทย 2 บริษัทคือ บริษัทถ่านศิลา จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจพื้นที่ แม่สอด จังหวัดตาก และบริษัทไทยยิปซั่ม จำกัด ได้สิทธิในพื้นที่ของนครสวรรค์ พิจิตร และเพชรบูรณ์ ซึ่งได้เจาะสำรวจ 1 หลุม แต่ไม่พบปิโตรเลียม
  • ในปีพ.ศ. 2505 บริษัทน้ำมันต่างชาติเข้ามาขอและได้สิทธิในการค้นหาน้ำมันในประเทศไทย คือ บริษัทยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ จำกัด ได้สิทธิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริษัทกัลฟ์ออยล์ ได้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งทั้งสองบริษัทได้เจาะหลุมสำรวจบริษัทละหลุม แต่ไม่พบปิโตรเลียมเลย และได้คืนพื้นที่ทั้งหมดในเวลาต่อมา
  • ปีพ.ศ. 2508 รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาเจนีวา (ปีค.ศ.1958) ซึ่งเป็นการให้โอกาสแก่ทุกประเทศที่อยู่ติดทะเลสามารถกำหนดเขตทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และเขตไหล่ทวีปเพื่อใช้สิทธิ์และบริหารจัดการทรัพยากรนอกชายฝั่งทะเลได้ ต่อมาในปีพ.ศ. 2511 ก่อนที่จะประกาศเขตไหล่ทวีปต่อสหประชาชาติ รัฐบาลไทยได้กำหนดเขตแปลงสัมปทานในทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามันน้ำตื้น และเปิดให้บริษัทน้ำมันต่างชาติ เข้ามาร่วมประมูลแข่งขันขอสิทธิการสำรวจและผลิต ภายใต้กฎหมายแร่
  • จนกระทั่งปีพ.ศ. 2514 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับแรก และอนุญาตให้บริษัทที่ได้สิทธิไปก่อนตั้งแต่ปีพ.ศ.2511นั้นกลายมาเป็นผู้รับสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายปิโตรเลียม

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับที่หนึ่ง

  • ตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินงานภายใต้กฎหมายใหม่ ได้มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในหลุมสำรวจในอ่าวไทยหลายหลุม ส่วนน้ำมันดิบที่พบมากในทะเลของอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้น ในเขตของไทยกลับพบในปริมาณที่น้อยมาก ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการเห็นชอบให้มีการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณผ่านท่อใต้ทะเลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในปีพ.ศ. 2524 หลังจากที่ต้องใช้เวลานานมากในการต่อรองราคาและการเตรียมการพัฒนา

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้เงื่อนไขของสัญญาที่เรียกว่า “ไทยแลนด์สอง”

  • ในปีพ.ศ.2524 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มีการค้นพบน้ำมันดิบโดยบริษัทไทยเชลล์ฯ ที่จังหวัดกำแพงเพชร และก๊าซธรรมชาติโดยบริษัทเอสโซโคราชฯที่จังหวัดขอนแก่น รัฐบาลไทยมีความคิดว่า พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (พ.ศ.2514) ที่ร่างขึ้นมาตอนที่ยังไม่มั่นใจว่าจะมีการค้นพบปิโตรเลียมในประเทศไทย อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว จึงมีความพยายามที่จะแก้ไขดัดแปลงเพื่อให้รัฐได้ผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น ประกอบทั้งในขณะนั้นราคาน้ำมันโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ  แต่การปรับปรุงกฎหมายนั้นจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้นในการเปิดให้มีการยื่นประมูลเพื่อขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งใหม่ จึงยังคงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิม แต่ได้เพิ่มข้อกำหนดพิเศษแนบท้ายสัญญาสัมปทาน นั่นคือ ผู้รับสัมปทานจะสามารถหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้เพียงไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าของปิโตรเลียมที่บริษัทขายได้ในปีนั้นๆ เท่านั้น 
  • ภายใต้กติกาไทยแลนด์ทูนี้ มีบริษัทได้รับสัมปทานเพิ่มขึ้นอีก 7 ราย ปรากฏว่าไม่มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม
    ที่มีขนาดใหญ่เลย อีกทั้งราคาน้ำมันโลกก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจแต่อย่างใด บริษัทที่เข้ามาดำเนินการภายใต้กติกาจึงไม่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้เลย รัฐบาลจึงมีความคิดในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ที่สามารถบังคับใช้ได้กับแหล่งทั้งขนาดเล็กจนถึงใหญ่ แหล่งที่มีการผลิตสูงเกินปกติ และแหล่งที่ผลิตในขณะที่ราคา
    น้ำมันโลกสูงมาก

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายใหม่ที่เรียกว่า “ไทยแลนด์สาม”

  • พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2532 ได้กำหนดค่าภาคหลวงให้เป็นแบบขั้นบันได ขึ้นกับอัตราการผลิตต่อแปลง โดยอยู่ในอัตรา 5-15 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมยังคงเป็นร้อยละ 50 เหมือนเดิม แต่ได้กำหนดภาษีตัวที่สอง ซึ่งเป็นภาษีที่จะเรียกเก็บเมื่อบริษัทมีกำไรสูงเกินควร โดยบริษัทอาจต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นได้สูงถึงร้อยละ 75 ของกำไรของบริษัทในแปลงสัมปทานแปลงนั้นๆ และกฎหมายฉบับนี้ยังคงบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน

“.....ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ การกำเนิดต้องใช้เวลาหลายล้านปีจึงไม่สามารถสร้างเพิ่มได้ในเวลาอันสั้น นี่คือเหตุผลที่เราจัดปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรที่ทดแทนไม่ได้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตน้ำมันเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าเพิ่มเติมจากประเทศอื่น ซึ่งน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นในประเทศส่วนมากมาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางถึง 80% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินไทยที่ต้องเสียให้ต่างประเทศมากถึง 5-6 หมื่นล้านบาทต่อเดือน…..”