หลักธรรมในการทำงาน คืออะไร

 การทำงานเป็นทีมจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานของแต่ละคนในทีม การบริหารงานเป็นทีมจำเป็นต้องรูปแบบการบริหารในลักษณะแนวนอน เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร การให้คุณค่าในภาวะผู้นำของทีมงานตามความสามารถของสมาชิกด้วยการมอบพลังอำนาจในงาน สร้างแรงยึดเกาะในหมู่สมาชิกให้เกิดความรักใคร่ปองดองกันและการเอื้ออาทรช่วยเหลือกันเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของงาน ดังนั้นจุดประสงค์ของการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการการทำงานเป็นทีมจึงต้องพิจารณาภาวะผู้นำของสมาชิกในทีมนอกเหนือไปจากภาวะผู้นำทีมด้วยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพจากทีมงาน

หลักธรรมในการบริหารตนเอง

            ธรรมช่วยทำให้มนุษย์รู้จักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั่นคือการดำเนินชีวิตที่นำมา ความสงบสุขมาสู่ตนและสังคมโดยส่วนรวม สถานที่ใดก็ตามที่ประกอบด้วยบุคคลที่ยึดหลักธรรม เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สถานที่นั้นจะสงบร่มเย็นมีแต่ความสุข ไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีการให้ร้ายป้ายสีกัน ไม่มีการอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน มีแต่ความเมตตา อภัยซึ่งกันและกัน แนะนำในสิ่งที่พึงกระทำและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่พึงกระทำ บุคลที่อยู่ในสถานที่นั้นย่อมเป็นสุข และทำให้สังคมเกิดความสงบสุขที่อยู่ในสถานที่นั้น

ก่อนที่จะนำหลักธรรมไปใช้ควรจะได้ทำความเข้าใจกับคำว่า "ธรรม" ก่อน ธรรม คือ สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมชาติ

หลักธรรมที่จะนำมาใช้ในการบริหารตนเอง มีดังนี้

        ๑. อิทธิบาท 4 เป็นธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งมี ๔ ประการด้วยกัน บุคคลผู้ใดยึดหลักอิทธิบาท ๔ ในการเรียน การทำงาน หรือการบริหารกิจการ ย่อมทำให้งานที่กำลังดำเนินอยู่หรือรับผิดชอบอยู่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์

เสถียรพงษ์ วรรณปก ( ๒๕๓๓: ๖๔-๖๕) ได้อธิบายความหมายของอิทธิบาท ๔ ในเรื่องการงานไม่อังกูร หรือ การทำงานไม่คั่งค้าง ไว้ดังนี้

        ฉันทะ แปลว่า ความพอใจ และถ้าจะให้เข้าใจง่ายต้องแปลว่า ความรักงาน หรือเต็มใจทำ เมื่อคนเรามีความรักงานเราก็ย่อมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเต็มที่

        วิริยะ คือ ความเพียรพยายามหรือแข็งใจทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฝืนใจทำแบบซังกะตาย แต่หมายถึงท่านทำงานด้วยความเข้มแข็ง กล้าสู้ไม่ว่างาน จะลำบาก มากมายเพียงใด พยายามทำเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก

        จิตตะ คือ ตั้งใจทำ หมายถึง คิดถึงงานที่ได้ลงมือทำไว้แล้วตลอดเวลา เราใจจดจ่อที่งานนั้น ไม่ทิ้งงานพยายามหาทางปรับปรุงให้งานก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่างานจะใหญ่ จะยาก จะมากแค่ไหน ก็สำเร็จลงได้ง่ายเพราะใจสู้งาน

        วิมังสา เข้าใจทำนั่นคือทำงานด้วยการใช้ปัญญา ทำงานอย่างฉลาด คนเราถึงจะรักงานเพียงใด พากเพียรเพียงใด เอาใจจดจ่ออยู่กับงานเพียงใด ถ้าขาดปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ แทนที่งานจะสำเร็จ อาจไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวัง

ดังนั้น ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานใด ๆ ก็ตามจะต้องประกอบด้วย พอใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และเข้าใจทำ หรือ ฉลาดทำ

*************************************************

        ๒. ฆราวาสธรรม เป็นหลักธรรมที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปจำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต เหมือนเป็นอาภรณ์ประดับกายที่มีค่า ทำให้เป็นคนที่มีลักษณะน่าเชื่อถือ น่าเคารพ น่าศรัทธา น่าไว้วางใจ เป็นหลักธรรมที่เสริม และไปด้วยกันดีกับอิทธิบาท 4 ทำให้เพิ่มพลังในการ ทำงานยิ่งกว่ารถยนต์ที่เติมน้ำมันเบนซินซูเปอร์เสียอีก ดังนั้น เราซึ่งควรมาศึกษารายละเอียดของฆราวาสธรรมว่ามีประการใดบ้างจึงขอยกคำสอนของหลวงพ่อทัตฺตชีโว วัดธรรมกาย ที่ได้เทศน์อบรมพุทธศาสนิกชน เกี่ยวกับฆราวาสธรรม ดังนี้

        ๒.๑ สัจจะ คิดทำอะไรให้จริงจังและจริงใจ ทุ่มหมดตัว ไม่ยั้ง ไม่เหยาะแหยะ ได้แก่

        ๒.๑.๑ จริงต่อหน้าที่ บุคคลไม่ว่าสถานะใดต้องมีหน้าที่ทุกคน เมื่อรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนแล้ว ก็รับผิดชอบและทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง

        ๒.๑.๒ จริงต่องาน เมื่อบุคคลมีหน้าที่ก็ต้องมีงานตามมาคนที่จริงต่อการงานไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ทุ่มทำงานในหน้าที่นั้นให้หมดตัว ไม่ต้องขยักไว้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรื่องการกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงคราวที่พระองค์จะตีเมืองจันทบุรี พระองค์ก็ทรงทุ่มเทหมดตัวเหมือนกัน เย็นวันนั้นพอพวกทหารกินข้าวกินปลาอิ่มกันดีแล้ว ก็ทรงสั่งให้เผาอาหารที่เหลือทิ้งให้หมด หม้อข้าวหมอแกงสั่งให้ทุบทิ้งไม่ให้มีเหลือ แล้วทรงรับสั่งอย่างเฉียบขาดว่า “คืนนี้ต้องตีเมืองจันท์ให้ได้แล้วเข้าไปกินข้าวในเมือง แต่ถ้าตีไม่ได้ก็ตายกันอยู่หน้าประตูเมืองจันทบุรี อดตายกันอยู่นี่นั่นแหละ”

        จากวิธีการทำงานของท่าน ก็คงจะเห็นได้ว่า ท่านทุ่มเทหมดตัว งานซึ่งสำเร็จดังใจหวัง ถ้าเราทำงานแล้วทุ่มหมดตัว งานก็ต้องสำเร็จเช่นกัน ทำงานแต่ละชิ้นต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าที่ดีสุดเท่าที่เวลาอำนวย ดีที่สุดสำหรับอุปกรณ์ที่หามาได้ในตอนนั้น ดีที่สุดเท่าที่งบประมาณกำหนดมาให้ เมื่อคิดว่าดีที่สุดแล้วก็ทุ่มทำเต็มที่ ฝึกให้เคยต่อไปก็จะเกิดความคล่องขึ้นเอง

        ๒.๑.๓ จริงใจต่อเวลา รู้จักใช้เวลาให้คุ้มค่า เรื่องไม่เป็นเรื่องไม่ควรทำเสียเวลาเปล่า เวลาที่ผ่านไปมันไม่ได้ผ่านไปเปล่า ๆ มันเอาอายุ เอาชีวิตของเราไปด้วย

        ๒.๑.๔ จริงต่อบุคคล นั่นคือคบกับใคร ก็คบกันจริง ๆ ไม่ใช่คบกันเพียงแต่มารยาท หรือต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา

        ๒.๑.๕ ตรงต่อความดี คือ จริงใจต่อคุณธรรมความดี จะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเพื่อน หรือทำตามหน้าที่ ต้องมีคุณธรรมกำกับด้วย อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน

แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันที่ตรัสรู้นั้นเมื่อท่านนั่งสมาธิบัลลังก์แล้ว ท่านก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานทุ่มชีวิตเลยว่า “แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด”

        ๒.๒ ทมะ คือ การข่มใจ เป็นการรู้จักบังคับใจต่อตัวเอง หรือฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อยไป เราในฐานะชาวพุทธ เราควรจะบังคับตัวเองหรือฝึกตนเองในการแก้นิสัย นิสัยใดที่รู้ว่าไม่ดีก็ต้องรีบแก้ เช่น นิสัยของความเกียจคร้าน ต้องฝืนใจให้ได้ ฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ช้าก็จะคุ้นจนไม่รู้สึกว่าฝืนใจทำงาน นิสัยเสียอื่น ๆ ก็เช่นกัน เมื่อได้ข่มใจฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อย ๆ ไป ก็ย่อมจะเป็นที่รักแก่คนทั่วไป ไม่มีพิษมีภัยกับใคร

        ๒.๓ ขันติ คือความอดทนเป็นลักษณะบ่งถึงความเข้มแข็งทางใจ ขันติมี ๔ ลักษณะ

        ๒.๓.๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ได้แก่ อดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนจะตก แดดจะร้อน อากาศจะหนาว หรือภูมิประเทศจะแห้งแล้งอย่างไรก็ทนได้ทั้งสิ้น

        ๒.๓.๒ อดทนต่อความทุกขเวทนา คือ ทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย

        ๒.๓.๓ อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ทนต่อการดูถูกว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรย การกระทำให้เจ็บอกเจ็บใจ

        ๒.๓.๔ อดทนต่ออำนาจกิเลส หมายถึง การไม่เอาแต่ใจตัว อดทนต่อสิ่งยั่วยวนหรือความฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ

        ๒.๔ จาคะ แปลว่า เสียสละ หมายถึง ตัดใจหรือตัดกรรมสิทธิ์ของตน ตัดความยึดถือ ความเสียสละมี 2 นัย

        ๒.๔.๑ สละวัตถุ หมายถึง การแบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ รวมทั้งการทำบุญให้ทานด้วย

        ๒.๔.๒ สละอารมณ์ หมายถึง ไม่ผูกโกรธใคร ใครจะทำให้โกรธ เราก็อาจจะดุด่าว่ากล่าวกันไป แต่ไม่ผูกใจโกรธไม่คิดจะตามจองล้างจองผลาญ

*************************************************

        ๓. อริยสัจ ๔ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการในการดำเนินชีวิตของบุคคลหรือการบริการกิจการต่าง ๆ มักจะประสบกับปัญหา และอุปสรรคนานาประการ ซึ่งถ้ามีหลักธรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเป็นหลักยึดเพื่อการประพฤติปฏิบัติบุคคลผู้นั้นก็ย่อมจะผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ และประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด สาระสำคัญยิ่งของอริยสัจ ๔ มีดังนี้

        ๓.๑ ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุนานาประการ

        ๓.๒ สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งเกิดจากตัณหาทั้งหลาย

        ๓.๓ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาให้หมดจะเป็นภาวะที่ปลอดทุกข์

        ๓.๔ มรรค คือ วิถีทางในการดับทุกข์ ได้แก่ ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกข์หมดไป นั่นคือ อริยมรรค ๘ ประการ

จากสาระสำคัญของอริยสัจ ๔ สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในการดำเนินชีวิตและการบริหารกิจการต่าง ๆ โดยการทำเป็นตารางแก้ปัญหาด้วยอริยสัจ ๔ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นพุทธวิธีในการแก้ปัญหา ดังนี้ปัญหา(ทุกข์)ความทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งมีมากมายหลายประการ

สาเหตุของปัญหา(สมุทัย)วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหามีอะไรบ้าง เกิดจากตัวบุคคลหรือเกิดจากระบบงาน

แนวทางแก้ไข(นิโรธ)หาทางแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุของปัญหา

วิธีแก้ไข(มรรค)ลงมือปฏิบัติแก้ไขทันที โดยทำเป็นขั้นตอน

ตารางแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4

*************************************************

        ๔. สังควัตถุ ๔ เป็นธรรมที่เสริมสร้างเสน่ห์ให้แก่ตนเอง ทำให้เป็นที่รักของคนทั่วไป ช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ซึ่งมีส่วนช่วยในการดำเนินงาน บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ สังควัตถุมี 4 ประการคือ

        4.1 ทาน คือ การให้ ซึ่งต้องมาจากจิตใจที่มีความเอื้อเฟือเผื่อแผ่ หรือ ความโอบอ้อมอารี การให้ดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งของ เงินทอง ความรู้ ความเข้าใจวิทยาการต่าง ๆ

        4.2 ปิยวาจา คือ การพูดจาที่น่ารัก น่านิยมยกย่อง พูดด้วยวาจาสุภาพ อ่อนโยนไพเราะ ชี้แจงด้วยเหตุผลแยบยลที่ทำให้เกิดประโยชน์และ สร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน

        4.3 อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์หรือทำประโยชน์แก่บุคคลอื่น ๆ นั่นคือประพฤติหรือกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน มีการช่วยเหลือกันโดยให้กำลังกายกำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์

        4.4 สมานัตถตา คือ การวางตนให้เหมาะสม วางตนเสมอต้นเสมอปลายมีกิริยาอัธยาศัยเหมาะสมกับฐานะหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน

กล่าวโดยสรุปสำหรับสังคหวัตถุ 4 คือธรรมที่ช่วยในการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย

        1. โอบอ้อมอารี

        2. วจีไพเราะ

        3. สงเคราะห์ประชาชน

        4. วางตนพอดี

นอกจากนี้ โคลงโลกนิติบางบทยังให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการใช้ ดังนี้

ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง

นบท่านท่านจักปอง นอบไหว้

รักท่านท่านควรครอง ความรัก เรานา

สามสิ่งนี้เว้นไว้ แด่ผู้ทรชน

*************************************************

        5. สัปปุริสธรรม 7 คือ ธรรมของคนดี ซึ่งก็คือธรรมของมนุษย์โดยทั่ว ๆ ไปนั่นเอง กนก จันทร์ขจร (2526: 202-203) กล่าวสั่งสัปปุริสธรรมไว้ได้ดังนี้ สัปปุริสธรรม 7 หรือ “ธรรมเป็นผู้ควรคำนับ 7 ประการ” เป็นธรรมของสัตตบุรุษ คือ ธรรมของคนดี คนที่สมบูรณ์แบบ หรือ มนุษย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกที่ดี มีคุณค่าอย่างแท้จริงของมนุษย์ชาติ ธรรมที่ทำให้คนเราเป็นสัตตบุรุษ หรือเป็นคนดี จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการดังนี้ คือ

        5.1 ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายความว่า เป็นผู้รู้จักธรรมหรือรู้จักเหตุคือ รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผลดี ผลเสีย เช่น รู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นคืออะไร มีอะไรบ้าง

        5.2 อัตตัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักผล หมายความว่า รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำ เช่น รู้ว่าข้อบัญญัตินั้น ๆ มีความหมายว่าอย่างไรเมื่อทำไปแล้วจะเกิดอะไรบ้าง

        5.3 อตัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักตน หมายความว่า รู้จักฐานะความเป็นอยู่ของตนจะได้วางตนให้เหมาะสมกับฐานะ

        5.4 มัตตัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายความว่า ให้รู้จักประมาณในการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารแต่พอควร

        5.5 กาลัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายความว่า รู้จักเวลาอันควรกระทำ หรือไม่ควรกระทำ คือ รู้จักกาละเทศะนั่นเอง

        5.6 ปริสัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน หมายถึง ชุมชนที่อยู่ร่วมกันอยู่เป็นหมู่คณะ และการกระทำที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อกันในชุมชนนั้น ๆ

        5.7 ปุคคลปโรปรัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล หมายถึง การรู้จักเลือกคบค้าสมาคมกับบุคคลดีมีประโยชน์ เช่น การคบมิตร ต้องรู้จักเลือกคบคนดีเพราะมิตรนั้น มีทั้งดีและชั่ว ถ้าคบคนดีก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แต้ถ้าคบกับคนชั่วก็จะพาตนชั่วไปด้วย

มีคำกลอนที่กล่าวเกี่ยวกับสัปปุริสธรรม ดังนี้

ดอกเอ๋ยดอกแก้ว

เมื่อบานแล้วกลิ่นกล้าลมพาหวน

หอมเวลาค่ำ ๆ คล้ายลำดวน

กลิ่นรัญจวนชื่นอุราในราตรี

เหมือนผู้ดีมีจรรยารู้กาละ

รู้เทศะสมาคมสมศักดิ์ศรี

รู้เหตุรู้ผลรู้บุคคลสามัคคี

รู้ตนดีรู้ประมาณรู้กาลเอย............

        นอกจากหลักธรรมที่ได้นำมากล่าวในบทเรียนนี้แล้ว ยังมีหลักธรรมอื่น ๆ ที่น่าจะได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้แก่ ทิศ 6 พรหมวิหาร 4 และมงคลชีวิต 38 ประการ เป็นต้น

3.2.3 นำหลักธรรมไปปฏิบัติเพื่อการบริหารตนเองในชีวิตประจำวัน

การบริหารตนเองโดยการใช้หลักธรรมควรดำเนินการดังนี้

ประการแรก ฝึกคิดดี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งจะต้องฝึกเรื่องต่อไปนี้

        1. มองโลกในแง่ดี เพราะมุมมองที่บุคคลจะมองวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมมีทั้งด้านดีและด้านร้าย จงฝึกที่จะมองแต่เฉพาะด้านดีด้านร้ายหัดละทิ้งบ้าง จะเป็นการลดความเครียด และจะทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ดี ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ให้มากขึ้นชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย

        2. รู้จักให้ ให้ในที่นี้หมายถึง ให้อภัย ให้ความเมตตากรุณา คนเราถ้ารักแต่ตัวเองจะไม่รู้จักให้ใคร จะมีแต่ความเครียดแค้นชิงชังอาฆาต พยาบาทจองเวรในเมื่อไม่ได้ดังใจ ถ้าเราพิจารณากันอย่างรอบคอบและทำใจได้ จะพบว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมปัจจุบันสามารถจะให้อภัยต่อกันได้

        3. รู้คุณค่าในตัวเอง ก่อนที่เราจะยอมรับความเด่นความดีของคนอื่น เราต้องรู้จักหามุมมองที่ดีของตัวเราเองด้วย มิฉะนั้นความรู้สึกต่ำต้อยจะเป็นปมด้อย ทำให้บุคคลขาดความเชื่อมั่น การงานต่าง ๆ ที่จะทำจะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ลองหาจุดเด่นของตนเองที่คนอื่น ๆ ก็ยอมรับ เช่น ความสามารถในงาน ความเป็นนักประสานที่ดี การมีมนุษยสัมพันธ์เยี่ยม เป็นต้น แล้วพัฒนาจุดเด่น ดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจุดด้อยของเราที่พัฒนาได้เราก็ไม่ควรทอดทิ้ง

        ประการที่สอง ฝึกทำดี นั่นคือ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งตนเองและผู้อื่น อยู่ในสถานที่ใดก็จะมีแต่คนรักเพราะไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ไม่เป็นบุคคลที่ทำลายบรรยากาศขององค์การหรือหน่วยงาน หรือจัดเป็นบุคคลที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม หรือไม่เป็นตัวแสบของหน่วยงาน การทำดีควรทำในกิจกรรมดังต่อไปนี้

        1. พูดจาปราศรัย ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ก่อเกิดกำลังใจ สร้างความสามัคคีไม่กล่าวจี้จุดอ่อนของบุคคล ไม่เอาปมด้อยของคนอื่นมาพูดทำนองตลกขบขัน เพราะผู้พูดอาจจะรู้สึกสนุกสนาน แต่ผู้ถูกวิจารณ์คงจะรู้สึกขมขื่น และปราศจากความสุข จึงควรพูดแต่ในสิ่งที่ดี เพื่อประสานประโยชน์ทำให้งานและ องค์การดำเนินไปด้วยดีและทีมงานทั้งหมดมีความสุข

        2. สงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บุคคลแต่ละบุคคล อย่ายึดติดอัตรามากเกินไปจะทำให้เป็นคนใจแคบ จะช่วยอะไรใครสักครั้งก็คิดมาก คิดละเอียด จนกระทั่งไม่ได้ช่วยเหลือใครเลย ทำให้เสียโอกาสในการทำประโยชน์ให้กับสังคมและตนเอง ซึ่งต้องพยายามตระหนัก หรือฝึกที่จะใช้หลักการเอาใจ เขามาใส่ใจเรา มาพิจารณาตลอดเวลา

        3. ประพฤติตนเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมโดยการลองวิเคราะห์ตนเองว่ามีบ่อยครั้งหรือไม่ที่เราไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเป็น เพราะกลัวคนจะรู้แล้วจะตำหนิเอาได้ ถ้าคำตอบออกมามีบ่อยครั้งก็แสดงว่าการทำดีของเรานั้นเราทำเพราะกลัว คนอื่นจะตำหนิจะว่าเราถ้าเราทำไม่ดี แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากความคิดที่เราอยากทำด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดังกล่าว เราก็ควรต้องฝึกที่อยากจะทำดี เพราะตัวเราเองอยากทำ เพราะทำแล้วเรารู้สึกมีความสุขไม่ว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม

        4. การสร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ทั้งพูดดี ทำกิจการงานดี ช่วยเสนอแนะความคิดเห็น ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความจริงใจ งานที่มอบหมายบรรลุจุดประสงค์ตามต้องการ ทำให้หมู่คณะทำงานด้วยความสุข ไม่ทำให้เกิดการแตกแยก แตกพวกแตกหมู่

        5. รู้จักการบริหารเวลา ในแต่ละวันทุก ๆ คนมีจำนวนเวลาเท่า ๆ กัน แต่การใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ไม่เท่ากัน

เทคนิควิธีในการบริหารเวลา เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในการทำงาน ดังนี้

        1. กำหนดเวลาให้กับงานแต่ละงานไม่ต้องมากนัก นั่นคือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จลงได้

        2.จัดลำดับงานตามความสำคัญหรือความเร่งด่วนซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตนเอง

        3. ถ้างานมากหรือเป็นงานใหญ่ จงแบ่งซอยงานใหญ่ให้เป็นงานย่อย ๆ เพื่อสะดวก ในการที่จะได้เลือกทำงานย่อยตามโอกาสที่เหมาะสม และขณะเดียวกันการทำงานย่อย ๆ ได้เสร็จ ก็จะเป็นกำลังใจให้ทำงานย่อยอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นโอกาสที่งานใหญ่จะสำเร็จจึงอยู่แค่เอื้อม

        4. ลงมือทำทันที เลิกนิสัยผลักวันประกันพรุ่งได้แล้ว งานใด ๆ ก็ตามถ้าได้เริ่มลงมือทำแล้ว โอกาสที่งานจะเสร็จย่อมเป็นไปได้อย่างมาก น่าสังเกตว่างานส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยจะเสร็จนั้น เพราะเรามักรีรอไม่เริ่มต้นที่จะลงมือทำสักที

        5.บังคับใจตนเองด้วยความอดทน เพื่อข่มความเกียจคร้านไม่ให้มีโอกาสแสดงออก

แล้วดำเนินงานที่ได้เริ่มต้นเอาไว้แล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้งานสำเร็จสมกับที่ตั้งใจไว้

สำหรับข้อสุดท้ายนี้ ต้องตั้งใจมีสัจจะทำอย่างจริงจังอย่าเผลอสติเป็นอันขาด เพราะถ้าเผลอสติเมื่อใดความเกียจคร้านที่แอบแฝงร่างเอาไว้ก็จะโชว์ตัวเต็มที่ และจะน๊อคเจ้าของจนโงศีรษะไม่ขึ้น ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นผู้แพ้ที่ไม่เคยชนะสักครั้ง