สกุลเงินในสมัยสุโขทัยใช้สกุลเงินใด

ไทยผลิตเงินตราขึ้นใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย! เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใครในโลก!!

เผยแพร่: 7 ก.ค. 2563 17:31   โดย: โรม บุนนาค

สกุลเงินในสมัยสุโขทัยใช้สกุลเงินใด

ในสมัยโบราณกาลนานมา เมื่อเริ่มมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน คนยุคนั้นใช้ทั้ง ลูกปัด เปลือกหอย อัญมณี แม้แต่เมล็ดพืช เป็นสื่อกลาง และได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ สำหรับชนชาติไทย ข้อมูลของกองกษาปณ์กล่าวว่า มีการนำโลหะมาใช้เป็นเงินตราตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรียกว่า “เงินพดด้วง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนเงินตราใดในโลก แสดงให้เห็นถึงความเจริญของชาติไทยที่ได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เอง และใช้ต่อมาเป็นเวลายาวนานราว ๖๐๐ปี จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการนำเงินเหรียญและเงินกระดาษตามแบบตะวันตกมาใช้

เงินพดด้วง ทำขึ้นจากแท่งเงิน ทุบปลายงอเข้าหากัน แล้วตอกตราแผ่นดินประจำรัชกาลลงไป มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง จึงเรียกกันว่า “เงินพดด้วง” แต่ชาวต่างประเทศกลับเรียกว่า “เงินลูกปืน” (BULLET MONEY)
เงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย มีตราประทับไว้มากกว่า ๒ ดวง เป็นสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เงินพดด้วงก็ยังมีลักษณะคล้ายกับของกรุงสุโขทัย แต่ตรงปลายที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนพดด้วงสุโขทัย ตราที่ประทับเป็นตราจักรและตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น
ในสมัยกรุงธนบุรี ก็ยังใช้เงินพดด้วง ซึ่งผลิตขึ้นใช้เพียง ๒ ชนิด คือ ตราตรีศูล และตราทวิวุธ

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เงินพดด้วงประทับตราจักร ซึ่งเป็นตราแผ่นดิน กับประทับตราประจำรัชกาล คือ รัชกาลที่ ๑ ตราบัวอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ ตราครุฑ รัชกาลที่ ๓ ตราปราสาท รัชกาลที่ ๔ ตรามงกุฎ รัชกาลที่ ๕ ตราพระเกี้ยว
ส่วนเบี้ย ซึ่งใช้เป็นเงินตราในสมัยก่อนเหมือนกัน เป็นเปลือกหอยขนาดเล็ก พ่อค้าต่างชาติได้นำมาจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ ใช้เป็นเงินตราซื้อสินค้าไทย และขายหอยเบี้ยให้ไทย ใช้แก้ความขัดสนที่ไม่มีเงินตราแลกเปลี่ยน แต่เงินเบี้ยเป็นเงินที่มีค่าต่ำสุดในระบบเงินตรา เหมือนเศษสตางค์ มีอัตราแลกเปลี่ยน ๑๐๐ เบี้ยต่อ ๑ อัฐ หรือ ๑ สตางค์ครึ่งเท่านั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายกับไทยมากขึ้น จนเงินพดด้วงที่ทำด้วยมือไม่ทันกับความต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้ผลิตเหรียญกษาปณ์เงินด้วยเครื่องจักรที่นำมาจากประเทศอังกฤษ ในปี ๒๔๐๑ จึงเริ่มผลิตเหรียญบาท สลึง และเฟื้อง ต่อมาเมื่อนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงกษาปณ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงกษาปณ์สิทธิการ” ผลิตได้จำนวนมาก ทั้งยังผลิตเงินตราราคาต่ำด้วยดีบุกด้วยเพื่อใช้แทนเบี้ยหอย

สำหรับเงินกระดาษ หรือ ธนบัตร เพื่อใช้ชำระในมูลค่าสูงๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้โปรดเกล้าให้พิมพ์ออกมาใช้ตั้งแต่ปี ๒๓๙๖ เรียกว่า “หมาย” มีมูลค่าตั้งแต่ เฟื้อง สลึง บาท ตำลึง ชั่ง อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ใบพระราชทานเงินตรา หรือ “เช็ค” ขึ้นด้วย แต่ทว่าเงินกระดาษ รวมทั้งเช็คพระราชทานที่ไม่เคย “เด้ง” ก็ไม่ได้รับความนิยม จึงมีใช้เฉพาะในรัชกาลที่ ๔ เท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการเงินครั้งสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่ามาตราเงินของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยุ่งยาก ในปี ๒๔๔๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงใหม่ โดยใช้เป็น บาท และสตางค์ เท่านั้น คือ ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท อันเป็นมาตราเงินไทยที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่าง คือโปรดเกล้าฯให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพยายามจะนำธนบัตรซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่า “เงินกระดาษหลวง” ออกมาใช้ในปี ๒๔๓๖ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม จนในปี ๒๔๔๕ เมื่อมีระบบธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้น มีการซื้อขายกันเป็นเงินจำนวนมาก การใช้เหรียญกษาปณ์จึงยุ่งยากในการนับ ธนบัตรได้รับความนิยม จึงโปรดเกล้าฯให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติประกาศเลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๔๗ เป็นต้นมา

เราใช้เงินกระดาษกันอย่างจริงจังมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นเวลา ๑๐๐ กว่าปีแล้ว แต่วันนี้เงินกระดาษก็ทำท่าว่าจะหมดอนาคต เพราะเงินอิเล็กทรอนิกส์กำลังแทรกเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกที เห็นทีว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีก ซึ่งก็เป็นธรรมดาของโลก ใครที่ตกขบวนตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง อย่างกดลงทะเบียนเวปคนไทยไม่ทิ้งกัน หรือเยียวยาเกษตรกรไม่เป็น ระวังถึงตอนนั้นแม้มีเงินก็อาจจะอดข้าวได้ เพราะกดไม่เป็น

การซื้อขายแลกเปลี่ยนในสมัยโบราณ หรือที่เรียกว่าระบบมาตราเงินของไทยนั้น มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนมาถึงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เบี้ย หอย พดด้วง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง เหรียญทองคำ จนมาถึงเหรียญกษาปณ์ ซึ่งมีมูลค่าและอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่างกันดังนี้

ในสมัยสุโขทัย  1 ชั่ง = 20  ตำลึง  1 ตำลึง = 4 บาท  1 บาท= 4 สลึง  1 สลึง = 2 เฟื้อง  ถัดจากเฟื้องมาก็เป็นเบี้ย โดย 1 เฟื้อง= 400 เบี้ย

ในสมัยอยุธยา มาตราเงินคงเป็นแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย แต่ 1 เฟื้องหนึ่งเท่ากับ 800 เบี้ย เงินที่ใช้มาแต่โบราณเป็นเงินกลม เรียกว่า เงินพดด้วง ในสมัยสุโขทัยมีขนาด 1 ตำลึง และ 1 บาท สมัยอยุธยาใช้เงินพดด้วงอย่างเดียว มีสี่ขนาดคือ 1 บาท 2 สลึง 1 สลึง และ 1 เฟื้อง

สมัยรัตนโกสินทร์ มาตราเงินคงเป็นอย่างเดียวกับสมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยรัชกาลที่4 โปรดให้ตั้ง            โรงกษาปณ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2403  และทำเงินตราใหม่เป็นรูปแบบกลมเรียกกันว่า เงินเหรียญ มีทั้งหมด 4 ขนาดคือ  1 บาท 2 สลึง และขนาด 1 เฟื้อง  โดยทำเหรียญขนาด 1 ตำลึง กึ่งตำลึง  และกึ่งเฟื้อง ไว้ด้วย แต่ไม่ได้นำไปใช้ในท้องตลาด ต่อมาในปี พ.ศ.2405 โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเหรียญดีบุก เป็นเงินปลีกขึ้นใช้แทนเบี้ยอีกสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "อัฐ"  กำหนดให้ 8 อัฐ เป็น 1 เฟื้อง  ขนาดเล็กเรียกว่า "โสฬส"  กำหนดให้ 16 โสฬส เป็น 1 เฟื้อง

พ.ศ.2406  โปรดให้ทำเหรียญทองคำขึ้นสามขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "ทศ" ราคา 10 อัน ต่อ 1 ชั่ง คือ อันละ 8 บาท  ขนาดกลางเรียกว่า "พิศ" ราคาอันละ 4 บาท  ขนาดเล็กเรียกว่า "พัดดึงส์" ราคาอันละ 10 สลึง

ต่อมาในปี พ.ศ.2408  โปรดให้ทำเหรียญทองแดงขึ้นใช้เป็นเงินปลีกมีสองขนาด  ขนาดใหญ่เรียกว่า "ซีก" สองอันเป็น 1 เฟื้อง และขนาดเล็ก เรียกว่า "เสี้ยว" สี่อันเป็น 1 เฟื้อง