โรคทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง

Home > โรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก – Pediatric Respiratory Disease


เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอบจึงมีส่วนสำคัญในการเป็นผู้ปกป้องดูแลสุขภาพของเด็ก อวัยวะหรือโครงสร้างในระบบการหายใจในเด็กยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ หากเกิดการเจ็บป่วยบางอย่างอาจส่งผลต่อการทำงานของปอดในระยะยาว สถาบันกุมารเวชพร้อมให้การดูแล ตรวจวินิจฉัยและรักษา ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบการหายใจและทางเดินหายใจ โดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ปัญหาและโรคระบบการหายใจที่พบบ่อยในเด็ก

● โรคหวัด
● คอหรือทอนซิลอักเสบ
● ภูมิแพ้เยื่อบุจมูกอักเสบ
● โรคไซนัสอักเสบ
● หลอดลมอักเสบ
● ปอดอักเสบติดเชื้อ หรือ ปอดบวม
● ไอเรื้อรัง
● หอบบ่อย หรือเป็นซ้ำ
● โรคหืด
● หายใจมีเสียงดัง หรือ หายใจครืดคราด
● นอนกรน นอนหายใจเสียงดัง
● ต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์โต
● ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
● ตรวจสมรรถภาพปอด

“การติดเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างท่วงทัน โดยจากสถิติพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถตรวจพบได้สามอันดับแรกของการติดเชื้อแบบรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี”


กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ


นอกจากการดูแลที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญต่อสุขอนามัย และการจัดสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ นอกจากนี้ในปัจจุบัน มีวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและให้เด็กๆ มีสุขภาพแข็งแรง และลดภาวะแทรกซ้อนได้มาก

Package

แพ็กเกจวัคซีนไอพีดี (IPD)
แพ็กเกจวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
แพ็กเกจผ่าตัดทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ในผู้ป่วยเด็ก
แพ็กเกจตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

แชร์บทความ

แม่และเด็ก

5 กลุ่มโรค ที่มากับหน้าฝน

กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

1.โรคไข้หวัดธรรมดา (Common Cold)

     เป็นโรคที่พบบ่อยมาก ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งมักพบเป็นหวัดได้บ่อยถึงปีละ 6 – 8 ครั้ง เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอนุบาล จึงมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่มาก ยิ่งเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น และอาจเจ็บป่วยจนถึงขั้นเป็นหวัดเรื้อรังหรือเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมปอด ไซนัสและหูชั้นกลางอักเสบตามมาได้ โรคหวัดจะพบได้บ่อยในช่วง 2 – 3 ปีแรกที่เข้าโรงเรียนใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยอนุบาล เมื่ออายุเกิน 6 ปี ก็จะเป็นหวัดน้อยลงเหลือเพียงปีละ 2 -3 ครั้ง เชื้อที่เป็นสาเหตุของหวัดส่วนใหญ่เป็นไวรัส อาการที่สำคัญคือ มีน้ำมูกใสๆไหล จาม คัดจมูก บางคนครั่นเนื้อครั่นตัว อาจมีอาการไอตามมาทีหลังได้ อาการไข้มักจะไม่สูงมากและเป็นอยู่ไม่เกิน 3 วัน อาการหวัดมักจะหายไปเองใน 3 – 4 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน

อาการ

  • มีอาการไม่รุนแรง อาจมีไข้ (แต่ไข้สูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) อาจปวดศีรษะ (ไม่มาก) ปวดเมื่อยตัว แสบตา คัดจมูก จาม ไอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล อาจมีอ่อนเพลีย (แต่ไม่มาก)
  • บางครั้งอาจมีอาการเจ็บคอ ปวดท้อง อาเจียน หรือ ท้องเสียได้บ้าง
  • อาการแตกต่างกันได้มากในแต่ละครั้งของการเป็นหวัด แต่โดยทั่วไปอาการไม่มาก
  • ปกติมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการป่วยนานกว่านั้น อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ควรพาไปพบพบแพทย์โดยเร็ว

การติดต่อ

  • ไข้หวัดในเด็กส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไวรัสมีหลากหลายชนิด แต่กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) และ โคโรนาไวรัส (Coronaviruses)
  • ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ จากการไอ จาม รับน้ำมูก น้ำลาย หรือสัมผัสเชื้อโรคจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น การเล่นกับคนเป็นหวัด โทรศัพท์ จับราวบันได กดปุ่มกดลิฟต์ และ ของเล่น เป็นต้น

แหล่งที่มา : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

2.ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ลักษณะโรค

    เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่ง ในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

สาเหตุ

  • เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมี 3 ชนิด คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด

การติดต่อ

  • ติดต่อทางการหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด จากการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
  • ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก เช่น โรงเรียน โรงงาน

ระยะฟักตัว ประมาณ 1-3 วัน

ระยะติดต่อ

  • ในผู้ใหญ่ สามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ และจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการ
  • ในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการ ก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

อาการ

  • อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด ( 38 องศาเซลเซียส ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะสูงกว่านี้)
  • ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก
  • อาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ
  • ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ
  • อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์
  • บางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นเวลานาน หญิงตั้งครรภ์ระยะที่ 2 หรือ 3 ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่สูง

แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรค


3.คออักเสบ/ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (acute pharyngitis/ tonsillitis/ Pharyngotonsillitis)

    คออักเสบ/ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pharyngitis/ Tonsillitis/ Pharyngotonsillitis) หมายถึง การติดเชื้อของบริเวณคอหอย ทั้งบริเวณที่เป็น Nasopharynx และ Oropharynx และ/หรือต่อมทอนซิล โรคทอนซิลอักเสบพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 3-14 ปี พบน้อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

สาเหตุและระบาดวิทยา

    สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่พบบ่อย ได้แก่ Adenovirus, Influenza Virus, Para Influenza Virus, Rhinovirus, Respiratory Syncytial Virus (RSV) ไวรัสอื่นที่พบรองลงมา คือ Coxsackievirus, Echovirus, Herpes Virus, Epstein-Barr

Virus (EBV)

    กลุ่มแบคที่เรีย เชื้อที่พบบ่อยที่สุด คือ Group A Beta-hemolytic Streptococci (GABHS) พบเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 20 ถึง 40 ที่พบรองลงมา ได้แก่ Group C, Group G streptococci และ Anaerobe มีรายงานว่าพบเชื้อ Fusobacterium Necrophorum ในวัยรุ่น

    กลุ่ม Atypical pathogen ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ Mycoplasma Pneumoniae, Chlamydophila (or Chlamydia) Pneumoniae แต่พบได้ไม่บ่อย

ลักษณะอาการทางคลินิก

    อาการที่สำคัญ คือ ไข้ และเจ็บคอ แต่ในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการได้ จะมาด้วยอาการน้ำลายไหลผิดปกติ หรือไม่รับประทานอาหาร ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบร่วมได้ ขึ้นกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • ถ้าเป็นจากเชื้อไวรัส จะพบอาการนำคล้ายโรคหวัด คือ มีน้ำมูก คัดจมูก จาม อาจพบตาแดง น้ำตาไหล เสียงแหบ เด็กบางรายอาจตรวจพบมีแผลในปากหรือเปืนตุ่มน้ำใส ผื่นตามตัว หรือมีคลื่นไส้อาเจียนท้องเสียร่วมด้วย
  • ถ้าเป็นจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะ GABHS จะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ที่เป็น Streptococcal Pharyngitis อาจตรวจพบจุดเลือดออกที่เพดานอ่อน การดำเนินโรคเป็นอย่างรวดเร็ว เกณฑ์ที่ช่วยในการวินิจฉัยเชื้อ GABHS จากอาการทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีอาการไม่เกิน 3 วัน หากมีอาการตามข้อต่อไปนี้มากกว่า 4 ข้อ โดยเรียงตามลำดับจากอาการที่พบว่าสัมพันธ์กับ GABHS จากมากไปน้อย ได้แก่

1) ทอนซิลอักสบเป็นหนอง หรือทอนซิลบวมแดงจัด

2) ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอส่วนหน้าบวมและกดเจ็บ

3) ไข้สูง > 38 “ซ

4) ไม่มีอาการไอ

5) อายุ 3-14 ปี

  เชื้อก่อโรคบางชนิดมีลักษณะเฉพาะที่ช่วยในการวินิจฉัย หรือมีอาการร่วมในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

การรักษา

  1. การรักษาตามอาการ ได้แก่
  • การลดไข้ ในกรณีมีไข้ ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้ เช่นเดียวกับการติดเชื้ออื่นๆ
  • การบรรเทาอาการเจ็บดอ อาจให้เป็นน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาว สำหรับยาอมต่างๆ มักมียาชาเป็นส่วนประกอบ เช่น Lozenges ยาพ่นคอ Xylocaine Gel หรือยากลั้วคอมักมี Antiseptics ไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือลดอาการ ไม่ควรใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะอาจเกิดการสำลักได้ ในกรณีที่เด็กกลืนลงไปในปริมาณมาก อาจจะอาเจียนหรือมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาท ระบบหัวใจ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเล็ก
  1. การให้ยาต้านจุลชีพ การใช้ยาต้านจุลชีพในการติดเชื้อไวรัสพบว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการหวังผลป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน หรือลดระยะเวลาของอาการแสดง นอกจากนั้นการใช้ยาต้านจุลชีพใน Non-Exudative Pharyngotonsillitis 

    พบว่ามีผลไม่แตกต่างจากยาหลอก

ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการลุกลามของเชื้อไปยังบริเวณใกล้เคียง (Suppurative Complications) ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสU, Peritonsillar Abscess (Quinsy), Para/retro Pharyngeal Abscess และการลุกลามของเชื้อไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึกของบริเวณคอหรือไปส่วนอื่น ๆ พบมีรายงานผู้ป่วย Endophthalmitis กรณีนี้ต้องส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ตา หู คอ จมูก ต่อไป ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ได้แก่ Septicemia, Empyema, Meningitis
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลจากการเกิดปฏิกิริยาทางระบบอิมมูนทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ (Non-Suppurative Complication) ได้แก่ Acute Glomerulonephritis, Rheumatic Fever และ Rheumatic Heart Disease

แหล่งที่มา : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

4.หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

โรคหลอดลมอักเสบ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศที่หายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม มีเสมหะในหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อาจหายใจมีเสียงดังหวีดได้ อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัว ซึ่งควรวินิจฉัยแยกโรคจากโรคปอดบวม (Pneumonia) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย

สาเหตุ
1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) จะมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส เหมือนไข้หวัด เช่น Rhinovirus, Adenovirus, Corona Virus, Influenza Virus, Parainfluenza Virus, Respiratory Syncytial Virus (RSV) มีเพียงร้อยละ 10 ที่เกิดจากเชื้อ Bordetella Pertussis, Chlamydia Pneumoniae, Mycoplasma Pneumoniae ส่วนใหญ่มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นหวัด แล้วมีอาการไอ มีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบของโพรงจมูก หรือเป็นหวัด ควรรับการรักษา หรือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหลอดลมอักเสบ
2. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) มีอาการเกิน 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด (Asthma) หรือเกิดจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) คือ มีอาการไอ มีเสมหะมากกว่า 3 เดือน/ปี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือสัมผัสกับมลภาวะ (Air Pollution) หรือสารระคายเคืองจากการประกอบอาชีพ (Occupational Irritants) เช่นฝุ่น, ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังนี้ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ได้แก่ Streptococcus Pneumoniae, Hemophilus Influenzae, Moraxella Catarrhalis ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว

อาการที่ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์

 – มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์
 – มีอาการไอเป็นเลือดร่วมด้วย
 – มีอาการที่สงสัยว่า อาจเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย
 – มีอาการไอมาก จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ
 – ในกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุ การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ (Rib Fracture) มีอาการเจ็บหน้าอก เวลาไอ, หายใจ หรือ มีการเคลื่อนไหวทรวงอก หรืออาจทำให้ถุงลม หรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตกออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax or Hemothorax) เกิดอาการหอบเหนื่อยทันที หลังๆ การไอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคทำอย่างไร
    ทำได้โดย แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยใช้ที่ฟังปอด ฟังหลอดลม ว่ามีการตีบแคบของหลอดลมหรือไม่ และให้การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการไอ การที่เสมหะมีสีขาว หรือเขียว ไม่ได้ช่วยแยกว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
การส่งตรวจภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) อาจช่วยวินิจฉัยแยกโรคปอดอักเสบได้ เนื่องจากอาการไอ อาจเป็นอาการเดียวของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ ที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ นอกจากนั้นผู้สูงอายุที่เป็นโรคปอดอักเสบ อาจมีอาการที่ไม่จำเพาะได้ เช่น เบื่ออาหาร, ล้มง่าย, ทรงตัวไม่อยู่, ซึม, ปัสสาวะราด ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการไอมาก หรือมีอาการที่ไม่จำเพาะดังกล่าว ควรได้รับการส่งตรวจภาพรังสีทรวงอกทุกราย

การรักษา

    โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน ถ้าปฏิบัติตนถูกต้อง (ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ การรับประทานยาต้านจุลชีพในผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา, มีปฏิกิริยาระหว่างยาต้านจุลชีพ และยาที่ผู้สูงอายุรับประทานประจำได้, เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น หรือทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ) เช่น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น, สารระคายเคืองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การอักเสบในหลอดลมเป็นมากขึ้น
  • ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็นและแห้ง ซึ่งจะทำให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง และยังสามารถกระตุ้นเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการไอมากขึ้นได้
  • ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หมวก หรือผ้าพันคอ เวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน
  • ควรหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหลอดลมอักเสบด้วย เนื่องจากถ้าผู้ป่วยยังมีภูมิต้านทานต่อโรคดี ผู้ป่วยมักจะไม่เป็นหลอดลมอักเสบ เมื่อใดเป็นหลอดลมอักเสบ แสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง ได้แก่ เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ, ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้ การหาสาเหตุเหล่านี้มีความสำคัญ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้หาและไม่หลีกเลี่ยง นอกจากจะทำให้หายช้าแล้ว อาจทำให้เป็นหลอดลมอักเสบซ้ำได้อีก
  • รักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ อาจรับประทานยาลดไข้ Paracetamol หรือ Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs), ถ้ามีอาการไอมาก จนรบกวนการนอน หรือเป็นที่น่ารำคาญ อาจรับประทานยาลดหรือระงับอาการไอ (Cough Suppressants or Antitussives เช่น Dextromethorphan, Codeine) หรือยาขยายหลอดลม (Bronchodilator) , ถ้ามีเสมหะมาก อาจรับประทานยาขับเสมหะ (Expectorants) หรือ ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
  •  การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ (Antibiotic) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ถ้าหลอดลมอักเสบเฉียบพลันนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งควรสงสัย ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการไอ และไม่ดีขึ้นภายใน14 วัน หรือผู้ป่วยมีโรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อน) นอกจากนั้นถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อ Bordetella Pertussis (ทำให้เกิดโรคไอกรน) เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน, ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน, ผู้ป่วยที่อาการไอเกิดขึ้นติดกันเป็นชุดๆ หรือ ในช่วงสุดท้ายของการไอ มีเสียงดังวู๊ป หรือวู้ ก็ควรให้ยาต้านจุลชีกลุ่ม Macrolides เพื่อลดการแพร่ระบาด หรือผู้ป่วยสูงอายุ (เช่น มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคปอดอักเสบ ก็ควรให้ยาต้านจุลชีพ


การป้องกัน

  • โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน

– ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง ได้แก่ เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ, ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้

– หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก (การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) อย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง

– ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น, สารระคายเคืองต่างๆ

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าให้การรักษาไม่ถูกต้อง การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia)ได้ หรือจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพองได้

แหล่งที่มา : ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ประเทศไทย


5.ปอดอักเสบหรือปอดบวม
(Pneumonitis)

ลักษณะโรค

  • ปอดอักเสบ เป็นโรคที่พบได้ประมาณร้อยละ 8-10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากสาเหตุหลัก 2 กลุ่ม คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า

สาเหตุ อาจเกิดได้ทั้งจากไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา

อาการ

  • ไข้ ไอ หายใจเร็ว อาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก มี Chest Retraction, Nasal Flaring หรือ อาการอื่นๆ ของภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ฟังเสียงปอดอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Tine or Medium Crepitations) อาจได้ยินเสียง Rhonchi ร่วมด้วย ในกรณีที่พยาธิสภาพเป็นแบบ Consolidation อาจได้ยินเสียง Bronchial Breath Sound
  • อาจมีอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด อาเจียน ซึม โดยเฉพาะเด็กเล็ก

การป้องกัน

  • ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ใช้ผ้าปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะไม่ควรพาเด็กเล็กๆ ไปในสถานที่ดังกล่าว
  • ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนที่แนะนำ คือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ