ผลของอารมณ์และ ความเครียด ต่อสุขภาพ

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ผลของอารมณ์และ ความเครียด ต่อสุขภาพ

แฟ้มภาพ

คนส่วนใหญ่มักไม่แน่ใจว่าความเครียดคืออะไร อย่างใดจึงเรียกว่าเครียด หรือรู้ตัวได้อย่างไรว่าตนเองเครียด บางคนอาจจะโดนความเครียดรุมเล่นงานโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ 

การที่จะรู้ว่าตนเองหรือคนรอบข้างเครียดหรือไม่ ลองสำรวจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตามปกติดูว่ามีอะไรผิดแปลกไปบ้าง ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการแสดงออกทางอารมณ์ คนที่เครียดมักจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหร้ายมากกว่าที่เคยเป็น ระงับอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ หากเป็นยามปกติเมื่อมีสิ่งมากระทบจิตใจ ส่วนมากมักจะควบคุมตนเองได้ รู้จักคิดกลั่นกรองหาเหตุผล แต่ตอนที่อยู่ในภาวะเครียด ความควบคุมตนเองจะน้อยลง ฉะนั้น บางครั้งจะแสดงออกรุนแรงมากกว่าที่ตนเองเคยเป็น โกรธง่าย โมโหง่าย ฉุนเฉียวง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้มากขึ้น 

สำหรับการแสดงออกทางกาย ความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสารทุกข์ออกมาคือ อะดรีนาลิน สตีรอยด์ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เข้าสู่กระแสหมุนเวียนเลือดจะนำไปสู่อวัยวะสำคัญต่างๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ รวนเรไปหมด

ผลของความเครียด

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งในขณะเกิดความเครียดนั้นส่งผลสู่อวัยวะสำคัญๆของร่างกาย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการทำงาน ดังนี้

  1. หัวใจ ปกติหัวใจจะเต้นประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที พอเกิดความเครียดหัวใจจะเต้นแรงขึ้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ดังนั้นผู้ที่เครียดจะรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรงจนรู้สึกได้ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก เมื่อหัวใจเต้นมากกว่าปกติสักพักจะเหนื่อย 
  2. หลอดเลือด ความเครียดจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวตีบตัน ทำให้อวัยวะต่างๆได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่พอ เช่น หากเกิดกับสมอง ทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดหัว เวียนหัว หากเกิดกับหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นโรคหัวใจ และเมื่อหลอดเลือดตีบมากๆ จะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง ฮอร์โมนสารทุกข์ยังกระตุ้นให้ไขมันที่สะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆหลุดออกมา เมื่อไขมันหลุดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไขมันอุดตันหลอดเลือด 
  3. ตับ กรดไขมันที่ถูกกระตุ้นออกมา หากผ่านมายังตับ ตับจะเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่เครียดมากๆจะเป็นโรคเบาหวาน
  4. กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อทุกส่วนจะหดเกร็ง จะสังเกตได้ว่าคนที่เครียดหน้าตาจะเขม็งเกร็ง การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่
  5. หลอดลม ปกติหลอดลมจะมีขนาดใหญ่ เมื่อเกิดความเครียดหลอดลมจะหดเล็กลง ทำให้ต้องหายใจแรงๆ ดังนั้น คนที่เครียดจะมีอาการถอนหายใจเพราะหายใจออกโดยแรง
  6. ระบบทางเดินอาหาร พอเครียดทางเดินอาหารตั้งแต่คอหอย ลำไส้ กระเพาะอาหารจะหดลง ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และเป็นสาเหตุให้ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น เป็นสาเหตุของลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล
  7. นอนไม่หลับ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งตัว หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง ใจคอฟุ้งซ่าน จึงเกิดอาการนอนไม่หลับ
  8. สมรรถภาพทางเพศลดลง
  9. มะเร็ง ฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งจากความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง สังเกตได้ว่าคนที่เครียดจะไม่สบายง่าย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เป็นแผลในปาก เมื่อภูมิต้านทานลดลง ฮอร์โมนสารทุกข์เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติ จนเจริญเติบโตเป็นเนื้องอกมะเร็งในที่สุด

ที่กล่าวมาล้วนเป็นผลของความเครียดต่อร่างกาย หากไม่ได้รับการบำบัดหรือคลายเครียด ความเครียดอาจจะสะสมทำให้เป็นโรคจิตโรคประสาทได้ หากเป็นไม่มากก็อาจแค่วิตกกังวล นอนไม่หลับ แต่ถ้าเป็นมากก็อาจจะเป็นโรคประสาทได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 และสภาวะความผันผวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน จนเกิดความเครียดสะสมและส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน ดังนั้นการทำความเข้าใจและรู้วิธีรับมือกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี

มารู้จักโรคเครียดกันก่อน

              โรคเครียด คือ ภาวะการเผชิญกับความกดดันจากเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ โดยร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยสภาวะการสู้หรือหนี (Fight-or-Flight) ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ กล้ามเนื้อหดตัว และความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดจะรู้สึกกังวล ฟุ้งซ่าน หวาดระแวงกับสถานการณ์กระตุ้น และอาจถึงขั้นฝันร้ายได้ โดยปกติจะมีอาการประมาณหนึ่งเดือน แต่หากนานกว่านั้นอาจจะกลายเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD ได้

อาการของโรคเครียด

โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทันทีหลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งแบ่งระดับอาการได้ 4 ระดับ

1.        ความเครียดต่ำ - รู้สึกเบื่อหน่าย ตอบสนองเชื่องช้า ขาดแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต

2.        ความเครียดระดับปานกลาง – อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ร่าเริงแจ่มใส วิตกกังวล ระดับนี้ยังเป็นความเครียดในระดับปกติ สามารถหากิจกรรมช่วยผ่อนคลายได้

3.        ความเครียดระดับสูง - เป็นความเครียดที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์รุนแรง เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ปวดท้อง นอนไม่หลับ เป็นต้น

4.        ความเครียดระดับรุนแรง – ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่าง ๆ เช่น มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์

ผลกระทบของความเครียดต่อร่างกาย ความรู้สึกและพฤติกรรม

โดยทั่วไปความเครียดมักเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน และสะสมจนแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ

•       ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

o   กล้ามเนื้อหดตัว ทำให้ปวดหลัง ปวดต้นคอ มีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นตามกล้ามเนื้อ

o   ร่างกายตื่นตัวมาก ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น มือเท้าเย็น เหงื่อออกตามฝ่ามือ เวียนศีรษะ ปวดไมเกรน หายใจไม่สุดและเจ็บหน้าอก

o   อ่อนเพลีย และแรงขับทางเพศลดลง

o   ปวดท้องและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

o   มีปัญหาการนอน ฝันร้าย นอนไม่หลับ นอนไม่เต็มอิ่ม

o   ผมร่วง

o   หนังตากระตุก

•       ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

o   วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน

o   รู้สึกกดดันอยู่เสมอ และตื่นตัวง่ายกว่าปกติ

o   ไม่มีสมาธิ รวมถึงไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ชอบทำก็ตาม

o   ซึมเศร้า รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว

o   อารมณ์แปรปรวนง่าย

•       ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม

o   รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ

o   โกรธง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวและก้าวร้าวรุนแรง

o   สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ

o   ปลีกวิเวก ไม่เข้าสังคม ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง

o   ทำกิจกรรมต่าง ๆ และเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง

o   มึนงงหลงลืม ไม่มีสติหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง สมาธิสั้น

วิธีการรักษาและการป้องกัน

·       สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจว่าแตกต่างไปจากปกติหรือไม่

·       ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าใจ และมองหาพลังบวกจากสิ่งที่เกิดขึ้น

·       ฝึกทักษะการสื่อสาร บอกความต้องการและความรู้สึกกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น

·       ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวให้ได้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น

·       หากิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและผ่อนคลายความเครียด

·       หากไม่สามารถจัดการความเครียดด้วยตัวเองได้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินระดับอาการและรับการรักษาที่เหมาะสม

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการรับมือและจัดการความเครียดแตกต่างกันออกไป และพลังใจก็คือเชื้อเพลิงสำคัญในการขับเคลื่อนพลังกาย การหมั่นสำรวจและดูแลจิตใจของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลบำรงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stress

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3LwROCn

·       โรงพยาบาลเพชรเวช
https://bit.ly/3qKJcQT

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3LwROCn