ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน พ.ศ. 2565มีอะไรบ้าง

ในวาระวันแรงงานแห่งชาติ TODAY Bizview ได้สรุปบทสัมภาษณ์ ‘ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์’ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กะเทาะต้นตอ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำ’ ของประเทศไทยที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นจากการสัมภาษณ์พิเศษในรายการ Bizview Tomorrow ทาง YouTube workpoint TODAY

วันนี้เส้นแบ่งคนรวยกับคนจนแยกชัดกันมากขึ้น จน ‘ดร.อรรถจักร์’ นิยามว่าประเทศไทยกำลังเป็น “สังคมขนมชั้น” ที่รัฐจรรโลงความเหลื่อมล้ำจนโครงสร้างนี้กำลังกดทับคนจน

เกิดเป็นชนชั้นใหม่ ที่เรียกว่า “ชนชั้นคนจนข้ามรุ่น” ไม่สามารถขยับสถานะได้

เท่านั้นไม่พอโครงสร้างนี้ยังกระทบต่อชนชั้นกลางจำนวนมากด้วยเช่นกัน

TODAY Bizview สรุปบทสัมภาษณ์ ดร.อรรถจักร์ มาให้ได้อ่านกันใน 20 ข้อ

1.สถานการณ์คนจนยุคโควิด-19 ลำบากกว่าเดิมมาก เพราะพึ่งพิงอะไรได้น้อยลง ทำให้ ‘ความฝันที่จะเลื่อนชนชั้นของคนจน’ โอกาสยิ่งหายไป

2.ความยากจนของไทย เป็น ‘สองหน้าของเหรียญเดียวกัน’ เพราะที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะแก้ปัญหาความยากจน ทำให้จำนวนคนจนตามดัชนีชี้วัดความยากจนลดลงได้ช่วงหนึ่ง แต่ความเหลื่อมล้ำกลับยิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย

3.’คนรวย 10%’ ในสังคมไทยไม่เดือดร้อนกับปัญหาจากโควิด-19 แต่คนจนกลับต้องอยู่ภายใต้วิกฤตและเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้สภาพชีวิตเหลื่อมล้ำมากขึ้น

4.ต้นทุนปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเนื้อแท้อันตรายมากกับทุกคน ทุกชนชั้น เพราะจะกระทบกับทั้งหมดของสังคม ‘สังคมจะเปราะบางมากขึ้น’ ใช้ความรุนแรงมากขึ้น ผู้คนเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ

5.สิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ คือการเยียวยาทั้งหลาย เป็นกระบวนการคล้าย ‘หยอดน้ำข้าวต้ม’ แบ่งข้าวให้คนพอยังชีวิตได้ แต่ไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำเลย

6.โครงการกู้เงินของรัฐ ไม่นำไปสู่การจ้างงาน หรือจ้างงานน้อย เมื่อไม่เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ‘สภาพการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในตลาด’ จึงไม่มี

7.วันนี้การวางโนบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำต้องคิดให้ทุกมิติมากขึ้น

8.หากไปดูในรายละเอียดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนในรัฐบาลยังมองไม่เห็นปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำแบบเข้าใจจริง ๆ ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในชนบทที่ทุกวันนี้ได้กลายร่างเป็น ‘สังคมผู้ประกอบการในชนบท’

[ กล่าวคือ สังคมแบบชาวนาล่มสลายนานแล้ว ชนบทดั้งเดิมที่มีกระท่อมชาวนา คอกควาย มีชาวนาทำนาแบบวันวานยังหวานอยู่ที่เคยเห็นบนรูปโปสการ์ด ส.ค.ส.ไม่มีแล้ว รวมทั้ง ความสัมพันธ์ทางสังคมแนวดิ่ง แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย เจียมเนื้อเจียมตัว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยอมจำนนต่ออำนาจเหนือ ฯลฯ ก็ลดลงจนเกือบไม่เหลือให้เห็น

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชนบทในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้ระบบการผลิตและระบบสังคมแบบสังคมชาวนาล่มสลายลง แล้วนำไปสู่การก่อรูปสังคมชนบทรูปแบบใหม่ขึ้นมา อาจเรียกว่าสังคมผู้ประกอบการในชนบท นั่นคือ การเกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมแนวระนาบ แทนที่ความสัมพันธ์แนวดิ่งในระบบอุปถัมภ์แบบเดิมที่เคยเป็นความสัมพันธ์หลักของสังคมชาวนา ]

9.รัฐจะต้องสร้างสังคมชนบท-เกษตรกร ให้เกิดพลังที่เรียกว่า ‘Rural Entrepreneur Society’ เพราะบริบทสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว

10.ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขณะนี้ ทำให้เกิดการ Disfunction ที่สะเทือนทุกฝ่าย

11.ตั้งคำถามถึง ‘กลุ่มทุน 200-300 กลุ่ม’ ในประเทศที่ดูดซับประโยชน์มากขึ้น หากจะยอมลงบ้างเพื่อร่วมสร้างสังคมที่เปราะบางให้เข้มแข็งขึ้น

12.อย่างไรก็ตามบทบาทรัฐไทยขณะนี้ได้ทำหน้าที่ ‘จรรโลงความเหลื่อมล้ำ’ เกื้อหนุนตระกูลใหญ่

13.แนวทางกำหนดนโยบายที่จะแก้เรื่องนี้ เมื่อไม่ได้แก้เชิงโครงสร้าง ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำยังคงเกิดอย่างเหนียวแน่น

14.สภาพวันนี้ ‘คนจนข้ามรุ่น’ รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทำให้เกิดชนชั้นคนจน ที่เลื่อนชนชั้นมาเป็นชนชั้นกลางไม่ได้

15.สังคมไหนทำให้ผู้คนสูญเสียความหวัง สังคมนั้นน่าห่วง

16.วันนี้ประเทศไทยกำลังเกิดภาพของ ‘สังคมขนมชั้น’ เป็นก้อนเรียงกันแต่แยกจากกันชัดเจน เปรียบเทียบกับการที่คนข้างบนสามารถเข้าถึงทรัพยากร เทคโนโลยีต่างๆ ไปสู่เมตาเวิร์สได้ แต่ชนชั้นล่างต้อง Survival ไม่มีโอกาสเข้าถึง ส่วนชนชั้นกลางอยู่ภาวะ ขึ้นไมไ่ด้ และก็พยายามไม่ให้ถูกผลักลงข้างล่าง ดังนั้น ในอนาคตจะเห็นเส้นแบ่งขัดขึ้น

17.ปัจจุบันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิด ‘รัฐบริษัทนิยมใหม่’ หรือรัฐผูกกับกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่

18.ต้องสร้างเมืองที่ทำให้เกิดความยุติธรรม ‘Justice City’ กล่าวคือ ต้องมีประชาธิปไตย รับความหลากหลาย นำไปสู่ความสมอภาคมากขึ้น โมเดลตัวอย่างคือ หลายประเทศทำได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านกระบวนการเสรีนิยมและประชาธิปไตย ทำให้รัฐต้องตอบสนองผู้คน และพลังอำนาจมากจากเบื้องล่าง ถ้าทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจหลักการนี้ว่ารัฐมีไว้เพื่อตอบสนองผู้คน ก็จะเห็นพัฒนาการของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

19.’คนรุ่นใหม่คือความหวัง’ ในแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอยู่ในหัวใจ 3 ประการ คือ คนรุ่นใหม่ เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจ คนรุ่นใหม่ มีมิติยอมรับความหลากหลายของคนในสังคมมาก และคนรุ่นใหม่ มีความกล้าหาญ ซึ่ง 3 ประการนี้ เมื่อขยับไปเรียนรู้และเข้าใจสังคม จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปได้มากที่สุด เพราะคนรุ่นใหม่เป็นความหวังเดียวของคนที่เหลือในสังคมไทยวันนี้

20.ดร.อรรถจักร์ ยังได้เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อเปลี่ยนโครงสร้่างสังคมเหลื่อมล้ำที่รัฐควรทำเร่งด่วน 3 ข้อ คือ

-แก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน

-สร้างสวัสดิการรวมหมู่ (ข้าราชการ – ประชาชน) ในทุกมิติ อย่างเสมอภาค จะกระตุ้นเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

-ปฏิรูปการศึกษาไทย โดยกระจายอำนาจในการศึกษา และให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง

ส่วนแนวทางเสริมอื่น ๆ อาทิ

-แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะต้องขยายการสร้างงานให้มากขึ้น

-ปรับการใช้งบประมาณภาครัฐ จากการกระจุกตัวในการใช้งบประมาณ

-ลดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ กับเงินฝาก

-สังคมไทยต้องมองเห็นปัญหาที่คนจนถูกกดทับด้วยโครงสร้าง ไม่ใช่เมตตาเพียงรายบุคคล

-พิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่เพื่อช่วยกระตุ้นแรงบริโภคสังคมขนาดใหญ่

ดูคลิปสัมภาษณ์เต็ม https://www.youtube.com/watch?v=GCCttKrVRyE&t=7s

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

[email protected]