เงินเดือน พยาบาลเอกชน 2565

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : รพ.เอกชนดาหน้าลงทุนรับเมดิคอลฮับ เปิดศึกแย่ง "แพทย์-พยาบาล" การันตีรายได้ต่อเดือน หมอรับเบาะ ๆ เดือนละ 2 แสน หนี รพ.รัฐงานหนัก-เสี่ยงถูกฟ้อง ลาออกปีละ 600-700 คน สภาการพยาบาลฯ เผยผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอ ผลพวง สธ.ไม่บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ รพช.กระอัก สมองไหลไม่หยุด กระทบคุณภาพการบริการ

เงินเดือน พยาบาลเอกชน 2565

ไม่เพียงเฉพาะการประกาศลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล (รพ.) ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งพฤกษา เรียลเอสเตท, อาร์เอสยู (ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) กลุ่มตระกูลพรประภา ขณะที่ทั้งกลุ่ม รพ.กรุงเทพ และ รพ.บำรุงราษฎร์ ก็ขยายการลงทุนเพื่อรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รพ.เอกชนหลายแห่งได้ทยอยลงทุนทั้งเปิดสาขาเพิ่ม และการขยายพื้นที่บริการ คาดว่าภายในอีก 1-2 ปีนี้มีจำนวนเตียงเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2,700 เตียง จากปัจจุบันที่มีประมาณ 35,000 เตียง ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นตาม คือ การแย่งบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์และพยาบาล

หมอ-พยาบาล สมองไหลต่อเนื่อง

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันแม้การผลิตแพทย์ พยาบาลจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอ การเปิด รพ.ใหม่ก็ต้องใช้วิธีการซื้อตัวมาจาก รพ.รัฐเป็นหลัก ต้องการของตลาด บุคลากรที่อยู่ในกลุ่มงานสนับสนุน อาทิ เอกซเรย์ กายภาพบำบัด ฯลฯ ก็ยังมีไม่เพียงพอ

"ทุกวันนี้บ้านเราผลิตหมอได้เพียงปีละประมาณ 2,500 คน ยังไม่เป็นตามเป้าที่จะผลิตให้ได้ปีละ 3,000 คน และในแต่ละปีมีหมอเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 600-700 คน ส่วนพยาบาลแม้จะผลิตออกมามาก แต่ก็เป็นอาชีพที่ไหลออกนอกระบบมาก"

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า การซื้อตัวแพทย์ พยาบาลเป็นทางออก ของ รพ.ที่เปิดใหม่ และที่เป็นปัญหาขาดมากสุด คือ พยาบาล และเทคนิเชียน และหากมี รพ.เปิดใหม่ เปิดพร้อม ๆ กันหลายแห่งก็จะทำให้การแย่งตัวกันมากขึ้น รพ.แต่ละแห่งหากเป็นขนาด 100 เตียง จะต้องใช้บุคลากรไม่ต่ำกว่า 300 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ประจำ ไม่ต่ำกว่า 25-30 คน พยาบาล 100-120 คน ที่เหลือเป็นพนักงานอื่น ๆ อาทิ ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ธุรการ เป็นต้น หรือหากเป็น รพ.ขนาด 200 เตียง ก็ต้องใช้คน เพิ่มขึ้นอีกมากกว่าเท่าตัว สำหรับกลุ่มธนบุรีได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ธรรมศาสตร์ สยาม ผลิตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร มารองรับ ซึ่งก็แก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง

งัดรายได้สูงจูงใจหมอ-พยาบาล

อดีตผู้บริหาร รพ.เอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงวิธีการดึงตัวแพทย์ พยาบาลจาก รพ.รัฐว่า สำหรับแพทย์หลัก ๆ จะเป็นการการันตีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน โดยมีการระบุเวลาทำงานไว้ชัดเจนว่าวันละกี่ชั่วโมง รายได้ขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท/เดือน ซึ่งไม่รวมค่าหัตถการทางการแพทย์ ค่าด็อกเตอร์ฟี ค่าผ่าตัด ฯลฯ จากปกติที่รายได้หมอ รพ.รัฐ ที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 70,000 บาท/เดือน

ส่วนพยาบาล รพ.เอกชนจะเสนอให้ เพิ่มจากเงินเดือนปกติขึ้นไปเดือนละ 10,000-20,000 บาท จากปกติที่เงินเดือนประมาณ 16,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และอายุการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการในแง่ของที่พัก ชุดทำงาน รวมถึง เงินโบนัสรายปี

"สำหรับพยาบาลที่มีประสบการณ์ 3-5 ปี ขึ้นไป รพ.เอกชนจะเสนอเงินพิเศษ หรือที่เรียกว่า เงินตกเขียว เช่น เซ็นสัญญาทำงาน 1 ปี จะได้รับ 50,000 บาท หรือทำสัญญา 2 ปี 1 แสนบาท แต่เดี๋ยวนี้เขาจับเซ็นสัญญา 3 ปีเลย ก็จะได้ 150,000 บาท เป็นการป้องกันไม่ให้ รพ.อื่นมาดึงตัวไป"

ถูกฟ้อง-ไม่ได้รับบรรจุเป็น ขรก.

ขณะที่ นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา แสดงความเห็นถึงปัญหาแพทย์สมองไหลจาก รพ.รัฐไป รพ.เอกชนว่า ปัญหาเรื่องการถูกฟ้องก็เป็นปัจจัยทำให้แพทย์มีความรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในการทำหน้าที่ เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดัน ให้แพทย์ออกไปจากระบบของราชการ ไปอยู่กับ รพ.เอกชนที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับ การร้องเรียน ตอนนี้การผลิตแพทย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ปีหลัง ๆ มานี้ผลิตได้ปีละ 2,300- 2,500 คน ซึ่งน่าจะเพียงพอกับความต้องการ แต่ที่เป็นปัญหา คือ ส่วนใหญ่แพทย์จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันแพทย์ประมาณ 55,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 50% และต่างจังหวัด 50%

ด้าน ผศ.อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาการพยาบาล ระบุว่า ปัจจุบันมีพยาบาลที่ลาออกจาก รพ.รัฐ ไปทำงานกับ รพ.เอกชนเป็นระยะ ๆ เนื่องจากภาคเอกชนมีการดึงตัวด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าภาครัฐ สำหรับในแง่ของการผลิต โรงเรียนการพยาบาลสามารถผลิตได้ปีละประมาณ 12,000 คน/ปี ซึ่งมากพอจะรองรับการเป็นเมดิคอลฮับ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่มีการรับบรรจุเป็นข้าราชการ พยาบาลจึงมีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว จึงมีจำนวนไม่น้อยที่ไหลไปอยู่กับ รพ.เอกชนที่มีรายได้ดี และงานไม่หนัก

รพ.รัฐอ่วม-ไม่มีหมอประจำ

นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย (รพช.) แสดงความเห็นว่า ปัญหาสมองไหลทำให้ปัจจุบัน รพ.รัฐขาดแพทย์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ รพ.ชุมชนที่เป็น รพ.ระดับอำเภอ ซึ่งทำให้แพทย์ พยาบาลมีปริมาณงานที่ล้นมือ เนื่องจากในแต่ละวันจะมีคนไข้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

"คนไข้มาก แต่แพทย์ พยาบาลมีน้อย งานหนัก ที่สำคัญคือ ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง ตอนหลัง ๆ มีปัญหาการฟ้องร้องมีมากขึ้น"

นพ.สรลักษณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ รพ.ชุมชนก็เจอปัญหาเรื่องของแพทย์จบใหม่จำนวนหนึ่งทำงานได้ 1 ปี เมื่อได้ใบเพิ่มพูนทักษะ ก็จะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง เมื่อจบแล้วก็จะย้ายไปอยู่ที่ รพ.ศูนย์ หรือ รพ.ประจำจังหวัด หรือบางคนก็ลาออกไปอยู่ รพ.เอกชน โดยยอมเสียค่าปรับเพียง 400,000 บาท ปัญหาเรื่องค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ที่ สธ.ทยอยลดงบประมาณในส่วนนี้ลงอย่างต่อเนื่องใน ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีส่วนให้หมอหลาย ๆ คน ไม่อยากอยู่ รพ.เล็ก ๆ ทุกวันนี้ รพ.ที่เปิดใหม่ ในหลาย ๆ จังหวัดก็ไม่มีแพทย์ประจำ ต้องโยกแพทย์จาก รพ.ใกล้เคียงไปตรวจคนไข้แทน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 - 9 เม.ย. 2560