รายงานเรื่องขัตติยพันธกรณี

รายงานเรื่องขัตติยพันธกรณี

เพื่อน ๆ คงเคยเรียนกันมาบ้างแล้วว่าประเทศไทยของเราต้องเสียดินแดนหลายต่หลายครั้งเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติไทยไว้ พระราชนิพนธ์เรื่องขัตติยพันธกรณีจะพาเพื่อน ๆ ย้อนอดีตไปยังเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งถือเป็น ๑ ในเหตุการณ์สูญเสียดินแดนที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของคนไทย

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจเหตุการณ์ ความรู้สึก และความคิดของประชาชนชาวสยามได้เป็นอย่างดี และจะอินมายิ่งขึ้น ถ้าได้ฟังการอธิบายและถอดคำประพันธ์จากครูดรีมแห่ง StartDee ดาวน์โหลดได้ที่แบนเนอร์ด้านล่างเลย

รายงานเรื่องขัตติยพันธกรณี

ความหมายของขัตติยพันธกรณี

ขัตติย หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พันธกรณี หมายถึง ข้อผูกมัด ข้อผูกพันต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกันเป็น ขัตติยพันธกรณี จึงแปลว่า เหตุอันเป็นข้อผูกพันหรือข้อผูกมัดของกษัตริย์

ผู้แต่งเรื่องขัตติยพันธกรณี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ลักษณะคำประพันธ์

แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพและอินทรวิเชียรฉันท์ โดยเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูวิธีการแต่งอินทรวิเชียรฉันท์ได้ที่บทเรียนเรื่อง มงคลสูตรคำฉันท์

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

ถ้าเป็นส่วนของบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจุดมุ่งหมายในการแต่งเพื่ออำลาเจ้านายพี่น้อง แต่ถ้าเป็นส่วนของพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะแต่งเพื่อปลอบประโลมให้คลายทุกข์และปลุกใจให้ลุกขึ้นสู้กับอุปสรรค

ขัตติยพันธกรณี มาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์ รศ.๑๑๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖) โดยเหตุการณ์ครั้งนี้มาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนทางด้านหลวงพระบาง ซึ่งเริ่มต้นจากการกระทบกระทั่งกันของกำลังทหารทั้งจากฝั่งไทยและฝรั่งเศส และทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้แทนทางการทูตของทั้ง ๒ ประเทศเจรจาเพื่อหาทางออกไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันที่ ๑๓ กรกฎาคม รศ. ๑๑๒ กองเรือรบของฝรั่งเศส ได้รุกล้ำเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล่นผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร จนในที่สุด เรือปืนของฝรั่งเศส ๒ ลำก็สามารถเข้ามาจอดและทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้ พร้อมทั้งยื่นคำขาดในการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดน และเรียกร้องค่าปรับ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลงเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม รศ. ๑๑๒ ด้วยการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ ซึ่งมีผลทำให้ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป และเสียอำนาจการปกครองคนในบังคับชาวอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จนทรงประชวรหนัก ไม่ยอมเสวยพระโอสถ ในระหว่างนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทโคลงและฉันท์ เพื่อระบายความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนไม่ทรงปรารถนาที่จะดำรงพระชนม์ชีพอีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งบทพระราชนิพนธ์ไปอำลาเจ้านายพี่น้องบางพระองค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในขณะนั้น เมื่อทรงได้รับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงนิพนธ์บทประพันธ์ถวายตอบทันที

เรื่องย่อและสรุปขัตติยพันธกรณี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องขัตติยพันธกรณี ด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวน ๗ บทด้วยกัน โดยบรรยายความกังวลใจ ที่ทรงประชวรอย่างหนักเป็นเวลานาน ด้วยโรคฝีสามยอด และไข้ส่า ทำให้เป็นที่หนักใจของผู้ที่ดูแลรักษา อีกทั้งยังบรรยายถึงความเจ็บปวดพระวรกายจากพระอาการประชวร จึงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จสวรรคต  แต่พระองค์ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากเป็นกษัตริย์ที่มีภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือการปกป้องรักษาบ้านเมืองจากประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง

หลังจากนั้น รัชกาลที่๕ ทรงบรรยายความรู้สึกด้วยอินทรวิเชียรฉันท์ โดยบรรยายถึงความรู้สึกเบื่อหน่าย หมดกำลังพระทัย เนื่องจากพระอาการประชวรที่ยาวนาน และยังมีความเจ็บทางใจที่เกิดจากการต้องป้องกันรักษาบ้านเมืองเอาไว้ อีกทั้งยังมีความกังวลใหญ่หลวงในพระทัย และทรงหวั่นเกรงว่าจะทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่ราษฎรจะกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุทำให้เสียบ้านเสียเมืองแก่ต่างชาติเช่นเดียวกับสมเด็จพระมหินทราธิราช และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (คำประพันธ์ใช่ว่า “ทวิราช” แปลว่า กษัตริย์สองพระองค์) ในช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ครั้ง รัชกาลที่๕ ไม่ต้องการจะเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทำให้เราต้องสูญเสียเอกราชไป

รายงานเรื่องขัตติยพันธกรณี
ภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอบคุณรูปภาพจาก matichon.co.th

ในส่วนของพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทอินทรวิเชียรฉันท์ โดยแต่งเพื่อถวายกำลังพระทัยรัชกาลที่๕ และถวายข้อคิดให้ตระหนักถึงสัจธรรม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเปรียบประเทศไทยเป็นเรือลำใหญ่ลำหนึ่ง อันมี รัชกาลที่๕ เป็นกัปตัน ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นใหญ่ในเรือ มีอำนาจสั่งลูกเรือ ซึ่งหมายถึงชาวสยาม โดยรัชกาลที่๕ ในฐานกัปตันมีหน้าที่นำพาลูกเรือให้รอดพ้นจากพายุคลื่นลมมรสุมต่าง ๆ 

ส่วนสัจธรรมที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงคือเรื่องของการทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นทั้งนั้น อีกทั้งยังทรงอาสาที่จะถวายชีวิตรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับสุภาษิตโบราณที่ว่า “อาสาเจ้าจนตัวตาย” นอกจากนั้น ยังได้ถวายพระพรให้รัชกาลที่๕ ทรงฟื้นจากอาการประชวรโดยเร็ว

แปลขัตติยพันธกรณี กับ StartDee

ส่วนที่ ๑ เป็นพระราชนิพนธ์ของร.๕

เจ็บนานหนักอกผู้

บริรักษ์ ปวงเฮย

คิดใครลาลลาญหัก 

ปลดเปลื้อง

ความเหนื่อยแห่งสูจัก 

พลันสร่าง

ตูจักสู่พบเบื้อง

หน้านั้นพลันเกษม

ด้วยความที่ร.๕ ทรงประชวรหนักมาเป็นเวลานาน จึงมีความคิดจะเสด็จสวรรคต (อยากลาตาย) ให้พ้นจากความเหน็ดเหนื่อย ไปสู่โลกหน้าที่มีแต่ความสบายกายสบายใจ มีความสุขมากยิ่งกว่า

---------------------------------

เป็นฝีสามยอดแล้ว

ยังราย ส่านอ

ปวดเจ็บใครจักหมาย 

ช่วยได้

ใช่เป็นแต่ส่วนกลาย

เศียรกลัด กลุ้มแฮ

ใครต่อเป็นจึ่งผู้ 

นั่นนั้นเห็นจริง

นอกจากร.๕ จะทรงประชวรด้วยโรคฝีสามยอดแล้ว ยังมีไข้ส่าเป็นระยะ ส่งผลให้พระองค์ทรงเจ็บปวดทรมานมากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะทั้งปวดทั้งกายและศีรษะ ผู้ที่ไม่เคยมีอาการแบบนี้ ย่อมไม่รู้ว่าความเจ็บปวดทรมานนั้นมันมากขนาดไหน

---------------------------------

ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง

บาทา อยู่เฮย

จึง บ อาจลีลา

คล่องได้

เชิญผู้ที่เมตตา

แก้สัตว์ ปวงแฮ

ชักตะปูนี้ให้

ส่งข้าอัญขยม

ร.๕ ทรงอธิบายว่า รู้สึกเหมือนมี “ตะปูดอกใหญ่” ตรึงเท้าทั้ง ๒ ข้างเอาไว้ ทำให้เดินไม่สะดวก หรือเดินไม่ได้ ใครที่สามารถดึงตะปูดอกใหญ่นี้ออกได้ ร.๕ จะทรงยินดีให้ดึงออกเป็นอย่างยิ่ง

---------------------------------

ชีวิตมนุษย์นี้

เปลี่ยนแปลง จริงนอ

ทุกข์และสุขพลิกแพลง

มากครั้ง

โบราณท่านจึงแสดง

เป็นเยี่ยง อย่างนา

ชั่วนับเจ็ดทีทั้ง

เจ็ดข้างฝ่ายดี

ชีวิตของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มีทั้งทุกข์และสุข ไม่มีใครที่สุขและทุกข์ได้อย่างถาวร สอดคล้องกับสำนวน “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน”

---------------------------------

เป็นเด็กมีสุขคล้าย

ดีรฉาน

รู้สุกรู้ทุกข์หาญ

ขลาดด้วย

ละอย่างละอย่างพาล

หย่อนเพราะ เผลอแฮ

คล้ายกับผู้จวนม้วย

ชีพสิ้นสติสูญ

ชีวิตของเด็กนั้นเหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน สุขและทุกข์ไปวัน ๆ อย่างไม่มีสติ ไม่ต่างกับคนที่ใกล้จะตาย โดยร.๕ ทรงพระราชนิพนธ์บทนี้เพราะหวังจะกลับไปเป็นเด็ก ที่ไม่ต้องมานั่งกังวลถึงปัญหา ไม่ต้องแก้ไข หรือมีความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ

---------------------------------

ฉันไปปะเด็กห้า

หกคน

โกนเกศนุ่งขาวยล

เคลิบเคลิ้ม

ถามเขาว่าเป็นคน

เชิญเครื่อง

ไปที่หอศพเริ้ม

ริกเร้าเหงาใจ

ร.๕ ทรงพบเจอเด็กจำนวน ๕-๖ คน ซึ่งทุกคนโกนผมและใส่เสื้อผ้าสีขาว ทำหน้าที่เชิญเครื่องที่หอศพ การพบปะเด็กในครั้งนี้ ทำให้ ร.๕ ทรงรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก

---------------------------------

กล้วยเผาเหลืองแก่ก้ำ

เกินพระ ลักษณ์นา

แรกก็ออกอร่อยจะ

ใคร่กล้ำ

นานวันยิ่งเครอะคระ

กลืนยาก

ทนจ่อซ่อมจิ้มจ้ำ

แดกสิ้นสุดใบ

กล้วยเผานั้นมีสีเหลืองแก่ยิ่งกว่าสีผิวของพระลักษณ์ (ตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์) ทำให้ในช่วงแรก ๆ ใคร ๆ ก็อยากกิน แต่หากทิ้งไว้นาน ๆ กลับแข็งและกลืนยาก ไม่ว่าจะใช้ส้อมจิ้มกี่ครั้ง ก็ยังไม่สามารถจิ้มเข้าไปในเนื้อกล้วยเผาได้

---------------------------------

เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์

มะนะเรื่องบำรุงกาย

ส่วนจิต บ มีสบาย 

ศิระกลุ้มอุราตรึง

แม้หายก็พลันยาก

จะลำบากฤทัยพึง

ตริแต่จะถูกรึง

อุระรัดและอัตรา

นอกจากความเจ็บป่วยทางกายจะยังคงดำเนินอยู่เรื่อย ๆ แล้ว ร.๕ ยังทรงรู้สึกไม่สบายใจอีกด้วย พระองค์ทรงคิดไม่ตกกับปัญหาต่าง ๆ ทำให้เกิดความกังวลใจและอัดอั้นตันใจอยู่เป็นประจำ ดูแล้วคงไม่หายไปโดยง่าย

---------------------------------

กลัวเป็นทวิราช

บ ตริป้องอยุธยา

เสียเมืองจึงนินทา

บ ละเว้น ฤ วางวาย

คิดใดจะเกี่ยงแก้

ก็ บ พบซึ่งเงื่อนสาย

สบหน้ามนุษย์อาย

จึงจะอุดแลเลยสูญฯ

ร.๕ ทรงกลัวว่าตัวพระองค์เองจะกลายเป็นเช่นเดียวกับสมเด็จพระมหินทราธิราช และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (ทวิราช) ซึ่งประเทศไทยเราสูญเสียเอกราชในช่วงที่พระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์นี้ขึ้นครองราชย์ ไม่ว่าพระองค์จะทรงครุ่นคิดแก้ไขปัญหานี้เพียงใด ก็ไม่พบทางออก ทำให้ทรงกลัวว่าจะเป็นที่น่าอับอายในสายตาของประชาชนทั่วไป

ส่วนที่ ๒ เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ขอเดชะเบื้องบาท

วรราชะปกศี-

โรตม์ข้าผู้มั่นมี

มะนะตั้งกตัญญู

ได้รับพระราชทาน

อ่านราชนิพันธ์ดู

ทั้งโคลงและฉันท์ตู

ข้าจึงตริดำริตาม

อันพระประชวรครั้ง

นี้แท้ทั้งไผทสยาม

เหล่าข้าพระบาทความ

วิตกพ้นจะอุปมา

ประสาแต่อยู่ใกล้

ทั้งรู้ใช่ว่าหนักหนา

เลือดเนื้อผิเจือยา

ให้หายได้ชิงถวาย

กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ตัวพระองค์เองเป็นผู้มีใจกตัญญู ได้อ่านบทพระราชนิพนธ์ของร.๕ แล้วจึงคิดได้ว่า หลังจากที่ร.๕ ทรงประชวรหนักนั้น ประชาชนชาวไทยทุกคนก็วิตกกังวลเป็นอย่างมากจนเกินกว่าที่จะกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ หากตัวกรมพระยาดำรงราชานุภาพเองประทับอยู่ใกล้ ๆ ก็พร้อมที่จะยอมถวายเลือดและเนื้อของตัวเองมาทำเป็นพระโอสถให้ ขอเพียงแต่ช่วยให้ร.๕ มีพระอาการดีขึ้นได้

---------------------------------

ทุกหน้าทุกตาตู

บ พบผู้จะพึงสบาย

ปรับทุกข์ทุรนทุราย

กันมิเว้นทิวาวัน

ดุจเหว่าพละนา-

วะเหว่ว้ากะปิตัน

นายท้ายฉงนงัน

ทิศทางก็คลางแคลง

ไม่มีประชาชนคนใดมีความสุขเลย เวลาเจอหน้ากันก็มักปรับทุกข์เรื่องพระอาการประชวรของ ร.๕ ว่ารู้สึกเหมือนกับเป็นลูกเรือ และนายท้ายเรือที่สับสนงงงัน ไม่รู้จะแล่นเรือไปในทิศทางใด เพราะขาดกัปตันเรืออย่างพระมหากษัตริย์ที่คอยควบคุมดูแลลูกเรือและนายท้ายเรืออยู่เสมอ

---------------------------------

นายกลประจำจักร

จะใช้หนักก็นึกแหนง

จะรอก็ระแวง

จะไม่ทันธุรการ

อึดอัดทุกหน้าที่

ทุกข์ทวีทุกวันวาร

เหตุห่างบ่ดียาน

อันเคยไว้น้ำใจชน

นอกจากนายท้ายเรือแล้ว ช่างกลประจำเรือเองก็ไม่รู้จะทำเช่นไรดี เพราะไม่มีกัปตันเรือคอยช่วยชี้แนะ จะมัวแต่มารอก็ย่อมไม่ทันการณ์ เรียกได้ว่าทุกคนทุกหน้าที่ต่างก็อึดอัดและมีความทุกข์ เพราะขาดผู้นำเรืออย่าง ร.๕

---------------------------------

ถ้าจะว่าบรรดารกิจ

ก็ไม่ผิด ณ นิยม

เรือแล่นทะเลลม

จะเปรียบต่อก็พอกัน

ธรรมดามหาสมุทร

มีคราวหยุดพายุผัน

มีคราวสลาตัน

ตั้งระลอกกระฉอกฉาน

การทำงานต่าง ๆ ก็เหมือนกับการเดินเรือ โดยตามธรรมชาติแล้ว มหาสมุทรย่อมมีทั้งคราวที่สงบเงียบ และคราวที่มีพายุและคลื่นสูง เปรียบได้กับปัญหาในการทำงานนั่นเอง

---------------------------------

ผิวพอกำลังเรือ

ก็แล่นรอดไม่ร้าวราน

หากกรรมจะบันดาล

ก็คงล่มทุกลำไป

ชาวเรือก็ย่อมรู้

ฉะนี้อยู่ทุกจิตใจ

แต่ลอยอยู่ตราบใด

ต้องจำแก้ด้วยแรงระดม

โดยปกติ หากเรือมีพละกำลังมากพอ ก็ย่อมแล่นได้อย่างไม่มีปัญหา แต่หากมีพายุพัดผ่านมา ก็อาจทำให้เรือใหญ่นั้นล่มได้ ดังนั้น ในขณะที่เรือยังคงลอยอยู่ได้ ชาวเรือทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา

---------------------------------

พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังไม่จบ เพื่อน ๆ สามารถไปเรียนต่อกันได้ที่แอปพลิเคชัน StartDee ได้เลยนะ หรือจะไปอ่านบทเรียนสนุก ๆ อื่น ๆ ต่อได้ที่ ขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา, ไตรภูมิพระร่วง ตอนมนุสสภูมิ, กาพย์เห่เรือ สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ