โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อเมริกา

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อเมริกา

สถานีวิทยุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NPR) รายงานว่าในสหรัฐฯ กำลังหันมาใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีใหม่เพื่อทำให้สามารถเน้นการใช้พลังงานแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำเพิ่มมากขึ้น ในบางแห่งของประเทศยังมีพลังงานทดแทนที่ถูกมากจนกระทั่งทำให้พวกเขาลดรายจ่ายการการผลิตพลังงานด้วยแหล่งผลิตเดิม เช่น พลังงานนิวเคลียร์

เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์และส่งผลให้โรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ไม่ทำกำไรจำนวนหนึ่งปิดตัวลง

ในตอนที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว พลังงานนิวเคลียร์ดูจะเป็นกลายเป็นกระแสใหม่ ซึ่งตัวมันเองก็สร้างกระแสได้พอสมควร เพราะโรงไฟฟ้าเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นพลังงานที่สะอาด ปลอดภัย และพึ่งพาได้ อีกทั้งยังปราศจากคาร์บอน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังกลายเป็นแหล่งพลังงานถึงร้อยละ 20 ของสหรัฐฯ ด้วย

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ที่มีการเริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์ ผู้คนในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ก็ต้องต่อสู้กับปัญหาใหญ่อย่างเรื่องค่าใช้จ่าย ถ้าสามารถทำให้พลังงานนิวเคลียร์มีราคาถูกได้จะเปรียบเสมือนกับค้นพบสมบัติในระดับตำนานเลยทีเดียว แต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีแต่จะเพิ่มรายจ่ายเกินงบ และหลังจากที่เกิดกรณีภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะประเทศญี่ปุ่นจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิก็ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นหลายล้านดอลลาร์ไปกับวัสดุอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเพื่อทำให้ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่าๆ ทำงานต่อไปได้

ไมค์ ทูว์มีย์ โฆษกบริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 'เอนเทอจี นิวเคลียร์' กล่าวว่า "มันคงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากสำหรับบริษัทใดๆ ก็ตามที่ต้องการจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียรแห่งใหม่"

เอนเทอจี มีโรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วและไม่ทำกำไรอยู่แห่งหนึ่งในรัฐเวอร์มอนต์และมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่งที่ขาดทุนในรัฐนิวยอร์กและแมซซาชูเซตต์

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อเมริกา

ที่มา : Milada Vigerova, Stocksnap, CC0 1.0

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของสหรัฐฯ (Nuclear Regulatory Commission) ระบุว่ามีโรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์  รวมทั้งหมด 19 แห่ง ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนยกเลิกทำการซึ่งมีอยู่ 5 แห่งที่ยกเลิกทำการไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

สาเหตุหลักที่มีการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องเป็นเพราะว่าโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานก๊าซมีราคาถูกกว่าและสามารถผลิตไฟฟ้าขายได้ในราคาไม่แพง

แต่ ไมเคิล ชไนเดอร์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ก็กล่าวว่าไม่เพียงแค่พลังงานก๊าซเท่านั้น พลังงานนิวเคลียร์ยังถูกกดดันเรื่องราคาจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย พลังงานทดแทนเหล่านี้มีราคาถูกมากในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ในระดับที่ถึงขั้นตัดราคาพลังงานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติได้

"พวกเราเริ่มมองเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดพลังงานที่มีการแข่งขันสูงซึ่งเป็นการทิ้งพลังงานนิวเคลียร์ไว้อย่างโดดเดี่ยว" ชไนเดอร์กล่าว

เกินกว่า 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกเลยในสหรัฐฯ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งสุดท้ายที่มีการตั้งในสหรัฐฯ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในรัฐเทนเนสซีเมื่อปี 2537 (มีการคาดการณ์กันว่าอีกหน่วยหนึ่งจากโรงไฟฟ้าเดียวกันกำลังจะเปิดทำการเพิ่มภายในปีนี้)

มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนหนึ่งกำลังก่อสร้างในทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการกำกับควบคุมตลาดพลังงานอย่างเข้มงวดทำให้ผู้มีอำนาจทางการในพื้นที่นั้นไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทำให้เกิดการปฏิวัติตลาดพลังงานในพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ แต่วงในของอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์เองก็มีผู้เชี่ยวชาญที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าสหรัฐฯ มาถึงจุดที่การตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่จะถือว่าเป็นสิ่งที่แพงเกินไปแล้ว

"พวกเราคิดว่าราคาค่าใช้จ่ายของพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่ในตอนนี้ไม่สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีพลังงานทดแทน พลังงานปราศจากคาร์บอน และการเก็บรักษาพลังงาน ที่มีอยู่ในตลาดได้" โจ โดมินเกซ รองประธานบริหารด้านกิจการการกำกับดูแล กิจการเกี่ยวกับรัฐบาล และนโยบายสาธารณะของบริษัทเอ็กเซลอน บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ที่ประกาศแผนการปิดโรงงานปฏิกรณ์แห่งหนึ่งในนิวเจอร์ซี

โดมินเกซเปิดเผยอีกว่ามีโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่กำลังขาดทุนในอิลินอยส์และนิวยอร์ก ซึ่งกำลังมีการพิจารณาว่าจะทำการปิดโรงไฟฟ้าเหล่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าพวกเขาไม่มีแผนการเปิดโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งใหม่ในตอนนี้

บริษัทอย่างเอ็กเซลอนและเอนเทอร์จี หวังว่ารัฐบาลจะยอมให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โรงไฟฟ้าที่เหลือ ในแบบเดียวกับที่รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือแก่พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนนี้ โดยทางบริษัทเหล่านี้เปิดเผยว่าการผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านโครงข่ายพลังงานแห่งชาติ

แต่ขณะเดียวกัน NPR ก็ระบุว่าโรงปฏิกรณ์ในอเมริกากำลังเก่าลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยโรงไฟฟ้าเหล่านี้อยู่มากว่า 35 ปีแล้ว ในขณะที่กำลังมีการลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติและเริ่มหันมาใช้พลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ "พลังงานแห่งอนาคต" ในแบบเก่ากำลังเริ่มถูกกลืนจาก "พลังงานแห่งอนาคต" ในแบบใหม่

เรียบเรียงจาก

Unable To Compete On Price, Nuclear Power On The Decline In The U.S., NPR, 07-04-2016

http://www.npr.org/2016/04/07/473379564/unable-to-compete-on-price-nuclear-power-on-the-decline-in-the-u-s

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไฟเขียวสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในกลุ่มอาหรับ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไฟเขียวสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Barakah ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกในประเทศกลุ่มอาหรับและใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 12 ปี โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UN’s International Atomic Energy Agency: IAEA) และรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานตรงตามข้อตกลงขององค์การระหว่างประเทศ โดยใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 24.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อโรงงานไฟฟ้านี้เปิดดำเนินการ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะกลายเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มประเทศกว่า 30 ประเทศที่เปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และยังเป็นประเทศใหม่ที่สร้างและเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าประเภทนี้ในรอบ 3 ทศวรรษ โดยโรงงานล่าสุดสร้างขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2533

กว่าที่หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ โครงการนี้ต้องผ่านการตรวจสอบถึง 185 รอบ และตรวจสอบใบอนุญาตกว่า 14,000 หน้า และขอข้อมูลเพิ่มเติมอีกกว่า 2,000 ชิ้นเกี่ยวกับการออกแบบโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ความปลอดภัยด้านภูมิศาสตร์ และอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานนี้เป็นไปตามข้อตกลงของภาครัฐ โดยใบอนุญาตนี้คาดว่าจะมีอายุ 60 ปี

โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Barakah ตั้งอยู่ในรัฐอาบูดาบี บริเวณชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,400 เมกะวัตต์ โดยเมื่อรวมทั้งโครงการที่ประกอบด้วยโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 แห่งแล้ว จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมด 5,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 25 % ของความต้องการพลังงานของทั้งประเทศ และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 21 ล้านตันต่อปี

สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การพัฒนาโครงการนี้ถือเป็นตัวแทนของการสร้างความสงบสุขและมีความโปร่งใส เนื่องจากมีการร่วมงานกับหน่วยงานต่างประเทศ และสร้างความมั่นใจว่าการพัฒนาครั้งนี้เกิดจากความต้องการผลิตพลังงานเพิ่มเติม รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

นอกเหนือจากความสำเร็จของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว ซาอุดิอาระเบียก็มีความต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เช่นเดียวกันด้วย

ที่มา : https://www.cnbc.com/2020/02/17/uae-gets-green-light-to-operate-the-arab-worlds-first-nuclear-power-plant.html